free web tracker, fire_lady “น้ำมันดอกทานตะวัน” เนื้อบางเบา ไขมันต่ำ ให้คุณค่าทางโภชนาการสูง • สุขภาพดี

"น้ำมันดอกทานตะวัน" เนื้อบางเบา

ไขมันต่ำ ให้คุณค่าทางโภชนาการสูง

สรรพคุณ ประโยชน์ของน้ำมันดอกทานตะวัน

ปัจจุบันนอกจากน้ำมันพืชที่สกัดได้จากปาล์ม ถั่วเหลือง งาดำ และรำข้าวแล้ว ยังมีน้ำมันพืชอีกชนิดหนึ่งที่น่าสนใจ นั่นก็คือ "น้ำมันพืชจากเมล็ดดอกทานตะวัน"  เวลาที่เรารับประทานเมล็ดดอกทานตะวัน จะพบว่ามีทั้งความอร่อยมัน และรู้สึกถึงน้ำมันที่อยู่ในเมล็ดทานตะวัน ซึ่งน้ำมันดังกล่าวนี่เองที่ถูกสกัดออกมาเป็นน้ำมันดอกทานตะวันบริสุทธิ์ สีใสๆ อย่างที่เราเห็นจำหน่ายในท้องตลาด....งั้นอย่ารอช้า เรามาทำความรู้จักกับน้ำมันดอกทานตะวันกันเลยว่าเป็นอย่างไร จะ Healthy Healthy กับสุขภาพมากน้อยแค่ไหน?

"น้ำมันเมล็ดดอกทานตะวัน" คืออะไร?

"น้ำมันเมล็ดดอกทานตะวัน" (Sunflower Oil) ได้มาจากการนำเมล็ดดอกทานตะวันมาบีบอัดให้เหลือแต่น้ำมัน น้ำมันเมล็ดทานตะวันนั้นมีเนื้อบางเบาและไร้กลิ่น  แต่ไม่เป็นที่นิยมแม้จะมีประโยชน์มาก เพราะมีราคาค่อนข้างสูง จึงเหมาะสำหรับคนรักสุขภาพ รัก Healthy Healthy จริงๆ 

วิธีสกัดน้ำมันจากเมล็ดดอกทานตะวัน

การสกัดน้ำมันจาเมล็ดดอกทานตะวัน สามารถทำได้เหมือนการสกัดน้ำมันจากเมล็ดพืชอย่างอื่น กล่าวคือ อาจทำได้ 2 วิธี ดังนี้

1. กรรมวิธีพื้นบ้าน โดยการนำเมล็ดทานตะวันไปคั่วให้ร้อนแล้วนำไปคั้น เนื่องจากว่าความร้อนจะทำให้สามารถคั้นน้ำมันออกจากเมล็ดได้ง่ายกว่า ควรแผ่วัตถุให้มีพื้นที่กว้างๆ เพราะจะได้สามารถคั้นน้ำมันออกมาได้เต็มประสิทธิภาพกว่า เมื่อได้น้ำมันออกมาแล้ว ให้มันไปกรองเอากากออก ทิ้งไว้ให้ตกตะกอนใสๆ

2. การบีบน้ำมันโดยใช้ความดันสูง ต้องนำเมล็ดดอกทานตะวันที่แกะเปลือกแล้ว ล้างให้สะอาดแล้วนำไปบด จากนั้นจึงนำไปผ่านความร้อนเพื่อให้ไขมันแยกส่วนออกมาจากเมล็ดได้ง่ายก่อนนำเข้าเครื่องบีบอัดน้ำมันซึ่งมีความดันสูง ความดันเหล่านี้นี่เองจะช่วยบีบให้น้ำมันไหลออกมา เมื่อบีบอัดจนเต็มที่แล้วจึงแยกกากออกจากน้ำมัน

ประโยชน์ของน้ำมันดอกทานตะวัน

ในเมล็ดดอกทานตะวันนั้นนั้นจะอุดมไปด้วยน้ำมัน และวิตามินอี (Vitamin E) จำนวนมาก น้ำมันที่ได้จากเมล็ดทานตะวันจะมี

1. น้ำมันดอกทานตะวันมีกรดไลโนเลอิกสูง ถึง 44-75 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมีความจำเป็นต่อร่างกาย ซึ่งสามารถป้องกันการแข็งตัวของหลอดเลือด ป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจตายเฉียบพลัน ส่วนวิตามินอีนั้นก็จะทำหน้าที่เป็นตัวต้านอนุมูลอิสระ คอยดักจับและทำลายของเสีย ช่วยให้ผิวพรรณเต่งตึง ลดไขมันในเส้นเลือด มีสารต้านเซลล์เกิดมะเร็ง ป้องกันการเป็นหมัน การแท้งบุตร

2. น้ำมันดอกทานตะวันมีกรดไขมัน CLA (Conjugated Acid) คือกรดไขมันที่ร่างกายไม่สามารถผลิตเองได้ มีประโยชน์มากในการเร่งการเผาผลาญไขมันสะสมตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยจะเพิ่มโฮโมนที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ที่ช่วยในการเผาผลาญไขมันสะสม โดยการกระตุ้นร่างกายให้มีการใช้เป็นพลังงานได้อย่างเต็มที่ พร้อมทั้งลดปริมาณการเกิดไขมันสะสมที่จะเกิดใหม่ด้วย

ด้วยประโยชน์ของกรดไขมัน CLA ที่มีในน้ำมันเมล็ดดอกทานตะวัน ทำให้มีการนำไปใช้เป็นส่วนผสมของอาหารเสริม แต่ก็ต้องระมัดระวังในการบริโภค เนื่องจากยังไม่มีการทำวิจัยมาว่า ในแต่ละวันนั้นร่างกายควรได้รับสารอาหารชนิดนี้มากเท่าไร และในผู้บริโภคบางคนอาจเกิดอาหารแพ้ได้อีกด้วย

ความแตกต่าง "น้ำมันดอกทานตะวัน" กับน้ำมันพืชชนิดอื่นๆ

ในสมัยก่อน ดอกทานตะวันจะนิยมปลูกเพื่อเป็นพืชดอก และในเวลาต่อมาจึงได้มีการนำเมล็ด จากดอกทานตะวันมาบริโภคและเริ่มทดลองมาสกัดเป็นน้ำมันเมล็ดดอกทานตะวันเพื่อใช้ในการบริโภค โดยคุณสมบัติที่โดดเด่นของน้ำมันจากเมล็ดทานตะวัน คือ เป็นน้ำมันที่มีคุณค่าทางอาหารสูง มีกรดลิโนเลอิกสูงมากตามที่ได้กล่าวมาแล้ว อีกทั้งน้ำมันดอกทานตะวันมีค่าความไม่อิ่มตัว (Degree of unsaturated) ของกรดไขมัน (วัดโดยใช้ค่า Iodine Value) อยู่สูงใกล้เคียงกับของน้ำมันถั่วเหลือง โดยน้ำมันถั่วเหลืองมีค่าประมาณ 134 ส่วนของน้ำมันดอกทานตะวัน มีค่าประมาณ 132 และยังพบว่าไม่มีคอเรสเตอรอลอีกด้วย ผู้บริโภคสามารถมั่นใจได้ว่า น้ำมันดอกทานตะวันปลอดภัยต่อสุขภาพได้ใกล้เคียง กับน้ำมันถั่วเหลืองแน่นอนหรืออาจจะดีกว่า เพราะมีคุณค่าทางอาหารมากกว่า

ในปัจจุบันหากนำ "น้ำมันดอกทานตะวัน"มาใช้แทนน้ำมันชนิดอื่น คิดว่ายังไม่เหมาะด้วยหลายปัจจัยเนื่องจากยังมีราคาค่อนข้างสูงกว่า น้ำมันพืชทั่วๆ ไป ทั้งนี้เนื่องจากเกษตรกรยังไม่ปลูกดอกทานตะวันเพื่อการสกัดน้ำมันมากนัก อีกทั้งข้อด้อยของน้ำมันจากเมล็ดทานตะวันยังมีอยู่ คือ เป็นน้ำมันที่มีความคงทนกับความร้อนค่อนข้างต่ำ หากนำมาผัดที่ไม่ผ่านความร้อนมากถือว่าดีมาก แต่หากน้ำมาใช้ทอดที่ต้องใช้อุณหภูมิสูง น้ำมันดอกทานตะวันอาจแปรสภาพจากเป็นน้ำมันที่มีคุณค่าทางอาหารมาก กลับกลายเป็นโทษทำให้เกิดสารก่อมะเร็งได้

ทางที่ดีผู้บริโภคควรเลือกน้ำมันให้เหมาะสมแก่การใช้งาน ประเภทของการประกอบอาหาร ของท่านเป็นหลัก...ไม่ควรเฉพาะเจาะจงเลือกใช้น้ำมันชนิดได้ชนิดหนึ่งเท่านั้น

แม้"น้ำมันดอกทานตะวัน" อาจยังไม่เหมาะที่ใช้ในการประกอบอาหาร แต่สามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้คือ นำไปแปรรูปเพื่อทำผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น เนยกามารีน น้ำมันสลัด และกากที่เหลือจากการทำน้ำมันสามารถนำไปผสมเป็นอาหารสัตว์ได้ดีเนื่องจากอุดมด้วยโปรตีนถึง 30-40% ทีเดียว

บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวกับน้ำมันประกอบอาหาร