free web tracker, fire_lady อาชาบำบัด (Hippo Therapy)...ขี่ม้ารักษาโรค • สุขภาพดี

อาชาบำบัด (Hippo Therapy)...

ขี่ม้ารักษาโรค

อาชาบำบัด

หลายคนอาจจะยังไม่คุ้นเคยและเพิ่งเคยได้ยินเกี่ยวกับ “อาชาบำบัด” หรือการขี่ม้าเพื่อบำบัดรักษาโรค ซึ่งเจ้าอาชาบำบัดนี้เพิ่งจะเข้ามามีบทบาทและใช้เกี่ยวกับการรักษาในประเทศไทยได้ไม่นานอาชาบำบัด หรือ Hippo Therapy นั้นมีมานานมากแล้ว จากประวัติศาสตร์มีการค้นพบว่าการรักษาและบำบัดด้วยการขี่ม้านั้น มีมาตั้งแต่ยุคสมัยกรีกโบราณ โดยที่มาของคำว่า Hippo Therapy มาจากคำว่า Hippo ในภาษากรีกที่แปลว่า “ม้า” รวมเข้ากับคำว่า Therapy ที่แปลว่า “การบำบัดรักษา”

ในปัจจุบันได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของการรักษา โดยเปลี่ยนจากม้าเป็นสัตว์พาหนะอื่นๆ เช่น ช้าง วัว และลา เป็นต้น มีการให้คำศัพท์และนิยามเกี่ยวกับอาชาบำบัดใหม่เป็น Riding Therapy หรือการขี่เพื่อบำบัดรักษานั่นเอง

ประโยชน์ของการรักษาด้วยอาชาบำบัด

การรักษาด้วยอาชาบำบัดมีการวิจัยเกี่ยวกับการรักษาประเภทนี้มากมาย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ การรักษารูปแบบนี้มักจะนำไปรักษาผู้ป่วยที่ขาดความมั่นใจในตัวเอง โรคทางสมอง สภาวะผิดปกติทางจิตใจ นอกจากนี้ยังมีผลการรักษาเชิงกายภาพด้วย การรักษาด้วยอาชาบำบัดเริ่มแพร่หลายในยุโรปยุคกลางและเข้าสู่อเมริกาเหนือในช่วงปี ค.ศ. 1960 (ประมาณปี พ.ศ. 2503) โดยโรคและการบำบัดที่มีผลต่อการรักษาด้วยอาชาบำบัดมีดังต่อไปนี้

การรักษาเชิงกายภาพบำบัด (Physical Therapy)

การรักษาด้วยอาชาบำบัดในยุคแรกจะเน้นด้านกายภาพบำบัดเป็นหลัก โดยส่วนมากจะให้ผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับกล้ามเนื้ออ่อนแรงและการทรงตัว รวมไปถึงผู้ป่วยที่ต้องการทำกายภาพบำบัดเชิงกายภาพจากโรคและการรักษาอื่นๆ เพราะการขี่ม้าจะช่วยกระตุ้นกล้ามเนื้อและข้อต่อส่วนต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ส่งผลทำให้ผู้ป่วยมีการพัฒนาการทางกล้ามเนื้อ ข้อต่อและรูปแบบของร่างกายเชิงกายภาพได้ดีขึ้น

การรักษาผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติด้านจิตใจ (Mental Therapy)

สำหรับผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางด้านจิตใจที่สามารถรักษาให้หายได้ด้วยอาชาบำบัด จะเป็นผู้ป่วยในกลุ่ม ผู้ที่มีสมาธิสั้น ขาดความมั่นใจ กลัวการเข้าสังคมและเพิ่มบุคลิกภาพ

ผู้ป่วยที่มีสมาธิสั้น

การขี่ม้าจำเป็นต้องใช้สมาธิในการขี่ค่อนข้างสูง เพราะการทรงตัวในขณะม้าเดินหรือวิ่งนั้น ทำได้ค่อนข้างยาก สัญชาตญาณของผู้ขี่จะเกิดขึ้นแบบอัตโนมัติและจะมุ่งไปที่การขี่และการทรงตัวเป็นหลัก ซึ่งเป็นการฝึกความอดทนและเพิ่มสมาธิของผู้ป่วย ฝึกให้สามารถใช้สมาธิกับกิจกรรมที่ทำได้นานขึ้น

เพิ่มบุคลิกภาพให้ดีขึ้น

การทรงตัวบนหลังม้าจะส่งผลโดยตรงกับบุคลิกภาพของผู้ขี่ทำให้บุคลิกภาพดีขึ้น และอีกหนึ่งประโยชน์ก็คือ ทำให้มีรูปร่างที่ดีและสมส่วนมากขึ้น เพราะการขี่ม้าจะสามารถกระตุ้นกล้ามเนื้อได้ทุกส่วนอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนั้นการคลุกคลีกับม้าถือเป็นการฝึกความคุ้นเคยให้กับผู้ป่วยที่กลัวการเข้าสังคมได้เป็นอย่างดี

บำบัดผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางด้านสมอง

ถือว่าเป็นอีกหนึ่งอาการที่อาชาบำบัดมีผลในการรักษาค่อนข้างดี โดยอาการผิดปกติทางสมองที่นิยมรักษากันด้วยวิธีนี้จะมีอยู่ 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ เด็กที่มีความพิการทางสมอง (Cerebral palsy) และ เด็กที่มีพัฒนาการทางสมองล่าช้า (Developmental delayed)

อาชาบำบัด2

-เด็กที่มีความพิการทางสมอง CP (Cerebral Palsy) อาการของเด็กประเภทนี้จะเกิดในรูปแบบของการสั่งงานหรือมีการเคลื่อนไหวร่างกายที่ผิดปกติ เป็นผลที่เกิดมาจากสมองที่ไม่สมบูรณ์หรือมีความพิการ ไม่ว่าจะเป็นอาการเกร็งที่หน้า แขนขาชักกระตุก การเคลื่อนไหวลำตัวและส่วนอื่นๆ มีการติดขัด หรือแม้แต่การพูดที่ผิดปกติ ในทางการแพทย์แล้วเด็กกลุ่มนี้ยังไม่จัดเป็นเด็กพิเศษ เพราะส่วนมากจะยังมีสติปัญญาดีเหมือนกับคนปกติ การใช้อาชาบำบัดเพื่อรักษาเด็กกลุ่มนี้จะส่งผลได้ดีมาก เพราะม้าจะมีการเคลื่อนไหวและก้าวเดินใกล้เคียงกับมนุษย์มาก ทำให้เด็กมีการรับรู้และการปรับสมดุลของการเคลื่อนไหวให้ดีขึ้นตามจังหวะการก้าวเดินของม้า นอกจากนั้นการขี่ม้ายังส่งผลต่อกล้ามเนื้อแทบทุกส่วนของร่างกาย ส่งต่อระบบประสาทการรับรู้ทั่วร่างกายช่วยลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อลงได้ ซึ่งถือว่าเป็นกายภาพบำบัดที่ได้ผลดีอีกรูปแบบหนึ่ง

-เด็กที่มีพัฒนาการทางสมองล่าช้า (Developmental delayed) พัฒนาการทางสมองล่าช้าหรือที่รู้จักกันในชื่อ กลุ่มเด็กที่ป่วยเป็นออทิสติก และกลุ่มเด็กดาวน์ซินโดรม เด็กกลุ่มนี้นอกจากจะมีพัฒนาการทางสมองที่ล่าช้าแล้ว ถ้าขาดการดูแลในเรื่องสุขภาพและการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ก็จะมีพัฒนาการทางด้านร่างกายที่ช้าตามไปด้วย (เด็กที่ป่วยเป็นโรคนี้ส่วนมากจะมีแขนขาที่มีขนาดไม่พอดีกับร่างกาย) อาชาบำบัดจึงถือได้ว่าเป็นวิธีการบำบัดที่ดีมากสำหรับเด็กกลุ่มนี้ เพราะการขี่ม้าจะกระตุ้นกล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกายทำให้มีการพัฒนาได้ตามปกติ ยังส่งผลทำให้เด็กมีความอยากรู้อยากเห็นและมีพัฒนาการทางสมองดีขึ้นด้วย อีกทั้งการได้คลุกคลีกับม้ายังเสริมสร้างพัฒนาการด้านการเรียนรู้ กระตุ้นประสาทการรับรู้และการปรับตัวเข้ากับสังคมของเด็กได้อย่างดีเยี่ยม

ตัวอย่างการวิจัย “การรักษาด้วยอาชาบำบัด”

ในปี พ.ศ. 2547 ภาควิชากายภาพบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ได้ทำการวิจัยร่วมกับ สาขาวิชาคลินิกม้า คณะสัตวแพทย์ ได้เริ่มวิจัยและศึกษาเกี่ยวกับ “อาชาบำบัด” โดยเริ่มทำการบำบัดเด็กที่มีความพิการทางสมอง จำนวน 2 ราย มีการจัดตารางการบำบัดติดต่อกันเป็นเวลาทั้งสิ้น 8 สัปดาห์ ให้เด็กทำการบำบัดสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที ผลที่ได้รับออกมาในทางที่ดีมาก เพราะเด็กทั้ง 2 ราย มีการตอบสนองทั้งทางด้านจิตใจและกายภาพที่ดีขึ้น นอกจากนั้นความแข็งแรงของกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ดีขึ้น มีความยืดหยุ่นเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด การเคลื่อนไหวในภาวะปกติดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญก็คือ เด็กมีความกระตือรือร้นในการเข้ารับการบำบัดในสัปดาห์ต่อไปมาก ภาวะความเครียดของเด็กน้อยลง มีการยิ้มแย้มและตอบสนองกับคนรอบข้างได้เป็นอย่างดี

คำแนะนำเกี่ยวกับการรักษาด้วยอาชาบำบัด

  • มีอาการป่วยบางอาการที่ไม่สามารถรักษาด้วยอาชาบำบัดได้
  • ต้องมีแพทย์ผู้เชียวชาญอยู่ด้วยเสมอเมื่อทำการบำบัด
  • การรักษาต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ

ปัจจุบันการรักษาด้วยอาชาบำบัดในประเทศไทยยังไม่แพร่หลายมากนักและมีเพียงศูนย์การแพทย์ไม่กี่แห่งเท่านั้นที่มีการบำบัดรักษาด้วยวิธีนี้ ทำให้ค่าใช้จ่ายในการบำบัดรักษาค่อนข้างสูง แต่ถึงอย่างนั้นการบำบัดรักษาด้วยอาชาบำบัดก็เป็นหนึ่งในวิธีการที่ได้ผลดีเยี่ยม

บทความอื่นๆ เกี่ยวกับ "ธรรมชาติบำบัด"