free web tracker, fire_lady โรคกรดไหลย้อน • สุขภาพดี

โรคกรดไหลย้อน

โรคกรดไหลย้อน หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า GERD เป็นภาวะที่ของเหลวในกระเพาะอาหารไหลย้อนไปสู่หลอดอาหารทำให้หลอดอาหารอักเสบและเป็นแผล โดยของเหลวที่ไหลย้อนนี้ประกอบด้วยกรดและเปปซิน (pepsin) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ย่อยโปรตีนในกระเพาะอาหาร เชื่อว่ากรดเป็นส่วนประกอบที่อันตรายที่สุดของของเหลวที่ไหลย้อน การไหลย้อนของกรดเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งทั้งในคนปกติและผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อน แต่ในผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนนั้นของเหลวที่ไหลย้อนจะมีกรดมากกว่าและไหลย้อนไป ณ ระดับที่สูงกว่าในหลอดอาหาร รวมทั้งกรดคงอยู่ในหลอดอาหารนานกว่า

อาการของโรคกรดไหลย้อน

อาการที่พบบ่อยในโรคกรดไหลย้อนคือ รู้สึกปวดแสบปวดร้อนบริเวณลิ้นปี กลางหน้าอก รู้สึกเปรี้ยวปาก ขมในปากและคอ และมีอาการท้องอืด จุกเสียด แน่นท้อง แต่บางรายอาจมีอาการอื่นๆ ที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นโรคร้ายแรงอื่นได้ เช่น อาการเจ็บหน้าอกที่ไม่ได้เกิดจากโรคหัวใจ เสียงแหบเรื้อรัง เสียงเปลี่ยน ไอเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุและปวดตามขอบของกระดูกหน้าอก หรือการกลืนติดขัดเหมือนมีก้อนอะไรมาจุกบริเวณคอ ซึ่งอาการเหล่านี้ใกล้เคียงกับอาการโรคหัวใจ โรคหืด หรือโรคกระดูกอ่อนซี่โครงอักเสบ ดังนั้นผู้ที่มีอาการดังกล่าว ควรให้แพทย์ทำการวินิจฉัยอย่างถี่ถ้วน เพื่อรักษาให้ถูกกับโรคที่เป็น

ดูแลตัวเองอย่างไร ห่างไกลโรคกรดไหลย้อน

  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติและพยายามลดน้ำหนักส่วนเกิน ผู้ที่มีน้ำหนักเกินและผู้ที่เป็นโรคอ้วนมีโอกาสเป็นโรคกรดไหลย้อนมากกว่าผู้ที่มีน้ำหนักปกติ
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมื้อใหญ่ เนื่องจากการรับประทานอาหารเป็นจำนวนมากในครั้งเดียว เป็นการเพิ่มปริมาณการหลั่งกรดมากเกินปกติ
  • หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น เช่น อาหารที่มันหรือมีไขมันมาก ช็อกโกแลต กาแฟ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ อาหารที่มีสะระแหน่ (มินท์) เป็นส่วนประกอบหรือมีรสมินท์ อาหารเผ็ด ผลไม้รสเปรี้ยว เช่น ส้ม มะนาว และอาหารที่มีมะเขือเทศเป็นส่วนประกอบหลัก เนื่องจากอาหารเหล่านี้ลดประสิทธิภาพของกล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง (lower esophageal sphincter) เป็นผลให้กรดไหลย้อนสู่หลอดอาหารได้ง่าย
  • หยุดสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่ทำให้กล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารส่วนล่างอ่อนแอลง และเพิ่มโอกาสในการเกิดกรดไหลย้อน
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารในช่วงระยะเวลา 3 ชั่วโมงก่อนนอน เพื่อให้ท้องว่างและการผลิตกรดลดลง ไม่ควรนอนหลังจากรับประทานอาหารทันที
  • ยกระดับศีรษะเวลานอนให้สูงกว่าส่วนอื่นๆ ของร่างกาย เพื่อป้องกันการเกิดกรดไหลย้อน
  • การยืนตัวตรงหรือนั่งหลังตรง ช่วยทำให้อาหารและกรดไม่ไหลย้อนกลับไปที่หลอดอาหาร
  • หลีกเลี่ยงการงอตัว ก้มตัว ในขณะที่กระเพาะอาหารเต็ม
  • หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าหรือเข็มขัดที่รัดแน่น เพื่อป้องกันการเกิดแรงกดต่อกระเพาะอาหารและกล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง

ยาในการรักษาโรคกรดไหลย้อน

กลุ่มยาลดกรด(Antacids)

ยาลดกรดที่มีส่วนผสมของ sodium alginate ซึ่งเป็นสารประกอบไฮโรคอลลอยด์ รวมกับ calcium carbonate และ sodium bicarbonate มีประสิทธิภาพดีในการลดการไหลย้อนกลับ โดยทำหน้าที่เป็นเสมือนตัวกั้นไม่ให้กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นไปที่หลอดอาหาร ควรรับประทานยาลดกรด 1 ชั่วโมงหลังอาหาร หรือก่อนเริ่มมีอาการ ยาลดกรดเป็นยาที่มีระยะเวลาการออกฤทธิ์สั้น

กลุ่มยาต้านการไหลย้อน(Antireflux)

Histamine-2 recepteor blocker อาจเรียกว่า H2-blocker หรือ H2-antagonist เช่น cimetidine, famotidine, ranitidine และ nizatidine ช่วยยับยั้งการหลั่งกรดโดยยับยั้งการทำงานของฮิสทามีนในการกระตุ้นเซลล์สร้างกรด

Proton pump inhibitor (PPI) เช่น omeprazole, esomeprazole, lansoprazole, rabeprazole และ pantoprazole ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่ช่วยในกระบวนการ active transport ของโปรตอนเข้าไปในทางเดินอาหาร ส่งผลให้การหลั่งกรดในกระเพาะอาหารลดลง ทั้งนี้การยับยั้งการหลั่งกรดด้วยกลุ่มยานี้มีผลสมบูรณ์กว่าและนานกว่าการใช้ H2-blocker

กลุ่มยารักษาโรคกระเพาะ (Antiulcerants)

ยาเคลือบกระเพาะอาหาร (coating agent) เช่น surcralfate ทำหน้าที่เคลือบเยื่อบุและแผล เป็นด่านป้องกันเสริมในการป้องกันกรดในกระเพาะอาหาร ยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์โดยการเพิ่มการผลิต prostaglandin ซึ่งทำการยับยั้งเปปซิน (pepsin) ที่มีอยู่ในกระเพาะอาหาร และจับกับเกลือน้ำดี (bile salt) ที่หลั่งจากตับ ทำให้สามารถป้องกันการบาดเจ็บของผนังกระเพาะอาหารจากกรดน้ำดี

บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวกับโรคภัยใกล้ตัว

Click here to add a comment

Leave a comment: