free web tracker, fire_lady "หัวเราะบำบัด" สร้างสุขภาพกาย เสริมสุขภาพใจ • สุขภาพดี

หัวเราะบำบัด

สร้างสุขภาพกาย เสริมสุขภาพใจ

หัวเราะบำบัด

แหม เห็นชื่อเรื่องแล้วคงมีหลายคนที่สงสัยล่ะสิว่า การหัวเราะเนี่ยสามารถช่วยดูแลสุขภาพร่างกายได้อย่างไร แล้ว "การหัวเราะบำบัด"จะใช่การหัวเราะทั่วไปที่เรามักแสดงออกกันเสมอเมื่อเจอเรื่องตลกหรือเปล่า ตามไปดูคำตอบพร้อมกันเลยดีกว่าค่ะ

ศาสตร์แห่งการหัวเราะบำบัด

การหัวเราะมี 2 ประเภท คือ การหัวเราะแบบธรรมชาติ และ การหัวเราะแบบบำบัด ซึ่งทั้ง 2 วิธีนี้มีความแตกต่างกัน การหัวเราะโดยธรรมชาติต้องมีสิ่งเร้าให้เกิดอารมณ์ขัน เช่น การฟังเรื่องตลก ได้เห็นเรื่องแปลกประหลาดที่คาดไม่ถึง ฯลฯ แต่การหัวเราะบำบัดเป็นการทำให้ตัวเราหัวเราะได้เองโดยไม่มีสิ่งมากระตุ้นอารมณ์ขัน นั่นคือเราต้องหัวเราะอย่างรู้สึกตัวและเป็นผู้กระทำให้การหัวเราะดำเนินไปอย่างเป็นธรรมชาติ

การหัวเราะบำบัดถือเป็นการออกกำลังกายแบบหนึ่งที่เน้นให้ระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายทำงานขับเคลื่อนไปได้ตามปกติ ซึ่งต้องฝึกการหายใจให้ถูกต้องไปพร้อมกับการเคลื่อนไหวของร่างกาย ก็จะช่วยให้ระบบต่าง ๆ ขับเคลื่อนได้ดีขึ้น นอกจากนี้การหัวเราะบำบัดที่ถูกต้องได้ผลดีกว่าการออกกำลังกายทั่วไป โดยผลการศึกษาวิจัยในต่างประเทศพบว่า การออกกำลังกายครึ่งชั่วโมงต่อวัน เท่ากับการหัวเราะ 5 นาที และถ้าออกกำลังกายด้วยอุปกรณ์ 10 นาที เท่ากับการหัวเราะ 1 นาที เห็นได้ว่าการหัวเราะมีอัตราการเผาผลาญดีมาก หากหัวเราะอย่างต่อเนื่องก็จะยิ่งส่งผลดีต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจ

ผลที่ได้จากการฝึกหัวเราะบำบัด

1 ระบบหายใจ การหายใจเข้าออก การกลั้นหายใจ และการหัวเราะในระหว่างฝึกจะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนถ่ายออกซิเจนในร่างกายและฟอกเลือดให้สะอาด จากเลือดดำกลายเป็นเลือดแดง ส่งผลให้เซลล์ประสาท หัวใจ ปอดแข็งแรง รวมทั้งช่วยขับของเสียเกี่ยวกับโรคทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด ไซนัส กรน ภูมิแพ้ หอบหืด โรคปอด โรคหัวใจ ฯลฯ ได้ดีขึ้น

2 ระบบไหลเวียนโลหิต การหัวเราะบำบัดเป็นการออกกำลังกายแทบทุกส่วนของร่างกายทำให้อวัยวะได้เคลื่อนไหวเป็นจังหวะ ช่วยให้หัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3 ระบบย่อยอาหารและการขับถ่าย ช่วยบริหารอวัยวะส่วนท้องให้เกิดการเคลื่อนไหว อาทิ กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ตับ ไต ระบบย่อยอาหารและการขับถ่ายทำงานดีขึ้น

4 ระบบทำงานของต่อมไร้ท่อ ช่วยให้เซลล์ประสาททุกส่วนได้ขยับ ทำให้ระบบต่อมไร้ท่อทำงานเป็นปกติ ร่างกายจะหลั่งสารเอ็นดอร์ฟินออกมา ทำให้อารมณ์ดีและมีความคิดสร้างสรรค์

5 ระบบพักผ่อนและผิวพรรณ ช่วยผ่อนคลายความเครียดที่สะสมมานาน ทำให้เส้นประสาท กล้ามเนื้อบริเวณใบหน้ามีความยืดหยุ่น ไม่แข็งตึงหรือเกร็งเกินไป ร่างกายผ่อนคลายทำให้นอนหลับสนิท ส่งผลให้ผิวพรรณดี ไม่เหี่ยวย่น และจิตใจสงบ มีสมาธิ

6 ระบบเจริญพันธุ์ ทำให้ร่างกายทุกส่วนได้เคลื่อนไหว ส่งผลให้สมองส่วนนอก ส่วนกลาง และส่วนในทำงานอย่างเป็นระบบ และยังช่วยพัฒนาอารมณ์รักและการมีเพศสัมพันธ์ ป้องกันการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ

7 ระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันและกระตุ้นการทำงานของเซลล์ประสาท กระดูก กล้ามเนื้อให้ทำงานเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ และช่วยทำลายสารอนุมูลอิสระที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคมะเร็ง

ฝึกหัวเราะบำบัดอย่างถูกต้อง

ท่าหัวเราะบำบัด

การหัวเราะตามธรรมชาติของคนเราอาจช่วยได้เพียงทำให้อารมณ์เบิกบาน จิตใจผ่อนคลาย ซึ่งต่างจากการหัวเราะบำบัดที่มีการฝึกท่าหัวเราะหลาย ๆ ท่าต่อเนื่อง 2-3 ชั่วโมง เพราะแต่ละท่ามีประโยชน์ต่างกัน ที่สำคัญต้องฝึกการหายใจเข้าออกให้ถูกต้องด้วยโดย "หายใจเข้าท้องพอง หายใจออกท้องยุบ" ซึ่งเป็นปัจจัยแรกที่ทำให้การหัวเราะบำบัดได้ผล และใช้การออกเสียง "โอ อา อู เอ" มาประยุกต์กับท่าทางการเคลื่อนไหวร่างกายไปพร้อม ๆ กัน

โอ อา อู เอ...4 ท่า หัวเราะบำบัด

ออกเสียงโอ : ท่าท้องหัวเราะ ยืนตัวตรง กางขาเล็กน้อย กางแขนออกไปด้านข้างลำตัว งอแขนเล็กน้อย กำมือทั้ง 2 ข้างโดยชูนิ้วหัวแม่มือขึ้น ตามองตรง สูดลมหายใจเข้าปอดลึก ๆ และกักลมไว้ ค่อย ๆ เปล่งเสียง "โอ โอะ ๆ ๆ..." แล้วปล่อยลมหายใจออกมาช้า ๆ พร้อมกับขยับแขนขึ้นลง

ท่านี้ช่วยให้กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ตับ ไต ได้เคลื่อนไหว ระบบทางเดินอาหารจึงทำงานดีขึ้น ช่วยบำบัดโรคลำไส้อักเสบ กระเพาะอาหาร ท้องผูก ท้องเสีย รวมถึงคนที่มีปัญหาเบื่ออาหาร หรืออ้วนและมีพุง

ออกเสียงอา : ท่าอกหัวเราะ ยืนตรง กางขาเล็กน้อย กางแขนออกไปข้างลำตัวเหมือนนกกระพือปีก หงายมือขึ้น ปล่อยมือตามสบาย ตามองตรง สูดลมหายใจเข้าลึก ๆ กักลมไว้ ค่อย ๆ เปล่งเสียง "อา อะ ๆ ๆ..." ดัง ๆ พร้อมกับปล่อยลมหายใจออกช้า ๆ และกระพือแขนขึ้นลง

ท่านี้ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณหน้าอก หัวใจ ปอด และไหล่ขยับเขยื้อน ช่วยบำบัดโรคความดัน โรคหัวใจ โรคปอด อาการเจ็บแน่นหน้าอก เส้นเลือดหัวใจตีบ โรคหัวใจขาดเลือด การเต้นของหัวใจทำงานปกติ การสูบฉีดและการไหลเวียนโลหิตดีขึ้น

ออกเสียงอู : ท่าคอหัวเราะ ยืนตรง กางขาเล็กน้อย แขนแนบลำตัวและยกตั้งฉากชี้ไปข้างหน้า งอนิ้วนางกับนิ้วก้อยเข้าหาตัว ยกนิ้วหัวแม่มือขึ้น ส่วนนิ้วชี้กับนิ้วกลางชี้ไปข้างหน้าลักษณะชิดกันเหมือนท่ายิงปืน ตามองตรง สูดลมหายใจเข้าลึก ๆ แล้วกักลมไว้ ค่อย ๆ เปล่งเสียง "อู อุ ๆ ๆ..." และปล่อยลมหายใจออกช้า ๆ พร้อมกับแทงมือไปข้างหน้า

ท่านี้จะกระตุ้นให้บริเวณลำคอสั่น บรรเทาอาการเจ็บคอ คออักเสบ ปวดคอ คนที่มีปัญหาจากการใช้เสียงเยอะ เช่น ครู นักร้อง ฯลฯ เพราะช่วยให้คอโล่งและรักษาโทนเสียงได้ดี

ออกเสียงเอ : ท่าใบหน้าหัวเราะ ยืนตามสบายแล้วค่อย ๆ ยกมือขึ้นมาตามถนัด สูดลมหายใจลึก ๆ และขยับทุกนิ้วทั้งหัวแม่มือ ชี้ กลาง นาง และก้อย ตามองตรง ระหว่างนั้นให้เปล่งเสียง "เอ เอะ ๆ ๆ..." ออกมาด้วย

ท่านี้ช่วยคลายความเครียด ลดอาการปวดศีรษะ ปวดสมอง เพราะเมื่อเปล่งเสียงเอ ใบหน้าจะมีลักษณะเหมือนกำลังฉีกยิ้มโดยอัตโนมัติ

จมูก ตา สมอง ไหล่ เอว...5 ท่า หัวเราะบำบัด

นอกจากท่าออกเสียงโอ อา อู เอ ยังมีท่าหัวเราะบำบัดที่น่าสนใจอีก ดังนี้

ท่าจมูกหัวเราะ ให้ย่นจมูกขึ้นและทำเสียง "ฮึ ๆ..." ในจมูกเหมือนม้า ท่านี้จะไล่สิ่งสกปรกในจมูกออกมา จึงช่วยบำบัดอาการภูมิแพ้ ไซนัส หวัด เป็นต้น

ท่าตาหัวเราะ ให้กะพริบตาถี่ ๆ กรอกตาขึ้นลงเป็นวงกลม แล้วเปล่งเสียง "อ่อย ๆ ๆ..." เล่นหูเล่นตา มองซ้ายทีขวาที ท่านี้จะช่วยให้มีน้ำหล่อเลี้ยงที่ตา ทำให้ดวงตาชุ่มชื้นและผ่อนคลาย

ท่าสมองหัวเราะ ให้ปิดปากแล้วเปล่งเสียง "อึ ๆ ๆ..." ซึ่งจะดันให้เกิดการสั่นสะเทือนขึ้นไปนวดสมอง เมื่อทำแล้วจะรู้สึกโล่งโปร่งสบาย

ท่าไหล่หัวเราะ ยืนตรง ส่ายไหล่ไปมาเหมือนกำลังว่ายน้ำท่าฟรีสไตล์ พร้อมเปล่งเสียง "เอ เอะ ๆ ๆ..." จะช่วยบริหารช่วงไหล่ ลดปัญหาเกี่ยวกับไหล่

ท่าเอวหรือก้นหัวเราะ พยายามให้ช่วงกลางลำตัวนิ่งอยู่กับที่ แล้วแขม่วท้องขมิบก้น พร้อมเปล่งเสียง "อู อุ ๆ ๆ..." จะช่วยบริหารบริเวณไขสันหลัง ก้น และสะโพก

สุดท้ายในระหว่างที่ฝึกทำท่าหัวเราะบำบัดนั้น ผู้ฝึกควรปลดปล่อยตัวเองทั้งทางกายและใจ ไม่เกร็งหรือวิตกกังวล เพื่อให้ร่างกายได้รับผลที่ดีได้มากที่สุดนั่นเอง...ได้เทคนิคท่าต่างๆ ของการหัวเราะบำบัดแล้ว อย่าลืมลองนำไปปฎิบัติตามกันดูนะคะ

บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวกับ "ธรรมชาติบำบัด"