free web tracker, fire_lady เลซิติน เสริมสร้างความจำ • สุขภาพดี

เลซิติน เสริมสร้างความจำ

เลซิติน (Lecithin) เป็นสารประกอบระหว่างกรดไขมันจำเป็น ฟอสฟอรัส และวิตามินบี 2 ตัว ได้แก่ โคลีน (Choline) และอินอสซิตอล (Inositol) เราสามารถพบเลซิตินได้ในทุกเซลล์ของสิ่งมีชีวิตไม่ว่าจะเป็นพืชหรือสัตว์ สำหรับร่างกายมนุษย์จะพบมากในอวัยวะสำคัญ เช่น หัวใจ ตับ ไต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมองมีเลซิตินเป็นส่วนประกอบถึง 30% ซึ่งเลซิตินจำเป็นต่อการควบคุมขบวนการต่างๆ ภายในเซลล์ให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยปกติแล้วเราได้รับเลซิตินจากอาหารทั่วไปอยู่แล้ว แต่อาจไม่เพียงพอต่อร่างกาย

เลซิตินพบได้ตามธรรมชาติจาก 2 แหล่งที่สำคัญคือ

ร่างกายมนุษย์ สามารถผลิตเลซิตินขึ้นได้เองที่ตับ สารตั้งต้นที่ร่างกายใช้ผลิตเลซิติน เช่น กรดไขมันจำเป็น วิตามินบี และสารอาหารสำคัญอื่นๆ หากร่างกายได้รับสารอาหารต่างๆ เหล่านี้ไม่เพียงพอ จะส่งผลให้ร่างกายสร้างเลซิตินไม่เพียงพอ

แหล่งอาหารธรรมชาติ พบได้ทั้งในพืชและสัตว์โดยจะพบมากในไข่แดง ถั่วเหลือง เมล็ดทานตะวัน ถั่วลิสง จมูกข้าวสาลี เป็นต้น ส่วนใหญ่อาหารเหล่านี้มักจะให้ไขมันโคเลสเตอรอลสูงด้วย

การรับประทานเลซิตินเสริมจึงมีความจำเป็นอย่างมาก ซึ่งปัจจุบันเลซิตินมักจะสกัดได้จาก ไข่แดง และถั่วเหลือง ซึ่งถั่วเหลืองจะเป็นแหล่งที่ดีในการสกัดเลซิติน เพราะปราศจากไขมันโคเลสเตอรอลและยังอุดมไปด้วยโปรตีนที่มีคุณค่าต่อร่างกายมากกว่า ซึ่งร่างกายของเราต้องการเลซิตินวันละ 6 กรัมส่วน Choline ต้องการวันละ 0.6-1 กรัม สมัยก่อนไม่ค่อยพบว่ามีการขาดสารเลซิติน แต่ปัจจุบันคนนิยมรับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ จึงอาจจะทำให้เกิดการขาดสารเลซิติน

เลซิติน ช่วยเสริมความจำป้องกันสมองเสื่อม

จากการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของอเดลล์ เดวิส นักโภชนาการชาวสหรัฐได้รายงานว่าในร่างกายของคนที่มีสุขภาพดีจะมีสารเลซิตินอยู่ในสมองถึง 30% ของน้ำหนักทั้งหมด เลซิตินจึงมีความสำคัญต่อสมอง ซึ่งในปี 1975 นักวิทยาศาสตร์แห่งสถาบันเทคโนโลยี Massachusetts ค้นพบว่าโคลีนในเลซิตินเป็นสารจำเป็นที่ร่างกายจะนำไปใช้เพื่อสร้างสารสื่อประสาท (Neurotransmitters) ที่เรียกว่า อะเซทิลโคลีน (Acetylcholine) ซึ่งช่วยในการส่งข้อมูลระหว่างเซลล์สมองแต่ละเซลล์ และระหว่างสมองกับการสั่งงานไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย และช่วยทำหน้าที่ในการถ่ายทอดข้อมูลและความรู้สึกเพื่อให้แสดงพฤติกรรมต่างๆ ได้ตามความต้องการของสมอง

นอกจากนั้นปัจจุบันการรักษาทางการแพทย์ได้ใช้เลซิตินในการบำบัดโรคทางสมองต่างๆ เช่น พาคินสัน อัลไซเมอร์ ซึ่งเป็นโรคทางสมองที่เกิดจากเซลล์ประสาทขาดสาร Acetylcholine หรือคนชราที่ป่วยเป็นโรคความจำเสื่อมพบว่าบางคนอาจจะมีอาการดีขึ้นเมื่อได้รับประทานเลซิตินวันละ 25 กรัม เป็นเวลาหลายๆ เดือนติดต่อกัน และการศึกษาในผู้ที่เป็นโรคความจำเสื่อมระยะเริ่มแรก พบว่าการให้โคลีนเป็นระยะเวลา 6 เดือนจะช่วยให้ความจำดีขึ้นได้ หรือการให้โคลีนร่วมกับยาที่ใช้รักษาก็จะทำให้มีการพัฒนาความสามารถที่ต้องใช้ความจำด้วย

และสำหรับสภาพสังคมในปัจจุบันมนุษย์ส่วนใหญ่จะมีความเครียดสูง หลงลืม หงุดหงิด นอนไม่หลับ และอารมณ์เสียง่าย ซึ่งเป็นอาการเริ่มต้นของโรคเส้นประสาทเสื่อมพบว่าอาการดังกล่าวอาจบำบัดได้โดยการรับประทานเลซิติน

เลซิติน บำรุงตับลดการทำลายเซลล์ตับ

สาระสำคัญที่พบในเลซิตินคือ ฟอสฟาทิดิลโคลีน (Phosphatidylcholine) เป็นสารที่มีความสำคัญเนื่องจากเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเยื่อหุ้มเซลล์ทุกชนิดในร่างกาย รวมทั้งเซลล์ตับ นอกจากนั้นฟอสฟาทิดิลโคลีนยังมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระช่วยป้องกันการเกิดความผิดปกติจากยา แอลกอฮอล์ สารเคมี สารพิษต่างๆ ที่มีส่วนในการทำลายตับ ดังนั้นฟอสฟาทิดิลโคลีนในเลซิตินจึงมีบทบาทในการช่วยซ่อมแซมเซลล์ตับได้

การใช้เลซิตินในการบรรเทาโรคตับชนิดต่างๆ

โรคตับจากแอลกอฮอล์ จากรายงานทางการแพทย์ของ Lieber และคณะในปี ค.ศ. 2003 ซึ่งเป็นการศึกษาทั้งหมด 20 ศูนย์ในอเมริกา โดยมีผู้ป่วยเข้าร่วมการศึกษาทั้งหมด 789 รายจะได้รับฟอสฟาทิดิลโคลีน จากผลการตรวจชิ้นเนื้อของตับที่ 24 เดือนหลังจากการรักษาพบว่าผู้ป่วยโรคตับจากแอลกอฮอล์ที่ได้รับฟอสฟาทิดิลโคลีน มีแนวโน้มที่ดีและค่าเอมไซม์ของตับดีขึ้น

โรคตับจากยา จากการศึกษาทางการแพทย์พบว่ามีการศึกษาการป้องกันตับอักเสบในผู้ป่วยที่รับยาต้านวัณโรค จำนวนคนไข้ 340 คนโดยได้รับยาต้านวัณโรคร่วมกับฟอสฟาทิดิลโคลีน 900 มิลลิกรัมต่อวัน เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับฟอสฟาทิดิลโคลีนพบว่ากลุ่มคนไข้ที่ได้รับยาต้านวัณโรคร่วมกับฟอสฟาทิดิลโคลีนไม่พบค่าความผิดปกติของเอมไซม์ของตับเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับฟอสฟาทิดิลโคลีน กลับพบว่าค่าเอมไซม์ของตับสูงขึ้นกว่าปกติ

โรคตับจากภาวะไขมันพอกตับ

ไขมันพอกตับหรือที่เรียกว่า Nonalcoholic fatty liver disease (NAFLD) หมายถึงภาวะที่มีไขมันอยู่ในเซลล์ตับโดยที่คนนั้นไม่ได้ดื่มสุรา เซลล์ไขมันนี้จะไม่ก่อให้เกิดการเสียหายหรืออักเสบกับตับในระยะแรก แต่ก็มีผู้ป่วยบางส่วนที่ไขมันทำให้เกิดการอักเสบของตับจนในที่สุดก็จะเป็นตับแข็ง Cirrhosis

เลซิตินช่วยลดการเกิดภาวะไขมันพอกตับได้เพราะ

  • โคลีนในเลซิตินเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการทำงานของเซลล์ โดยเฉพาะเซลล์ตับพบว่าหากขาดโคลีนจะทำให้เกิดภาวะไขมันพอกตับได้
  • โคลีนจะมีผลในการเร่งเผาผลาญไขมันที่ตับ ทำให้ไขมันถูกนำไปใช้เป็นพลังงานมากขึ้น
  • เลซิตินมีผลในการช่วยลดไขมันในเลือดโดยเฉพาะไขมันโคเลสเตอรอลที่เป็นตัวการสำคัญในการทำให้เกิดภาวะไขมันพอกตับ ดังนั้นการรับประทานเลซิตินจะทำให้ลดโอกาสเกิดภาวะไขมันพอกตับได้

เลซิติน ช่วยลดไขมันโคเลสเตอรอล ป้องกันโรคสมองและหัวใจขาดเลือด

เนื่องจากคุณสมบัติของไขมันโคเลสเตอรอลที่ไม่ละลายรวมตัวกับน้ำ ทำให้ไขมันโคเลสเตอรอลไม่ละลายในเลือด แต่จะนับตัวเป็นก้อนตะกอนอยู่ตามผนังเส้นเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดหลอดเลือดอุดตัน โรคสมองและหัวใจขาดเลือดตามมาได้ในที่สุดซึ่งเลซิตินจะมีคุณสมบัติช่วยทำให้ไขมันโคเลสเตอรอลและน้ำรวมตัวกันได้ดีขึ้น ส่งผลให้ไขมันโคเลสเตอรอลไม่เกาะติดกับผนังเส้นเลือดจนเกิดการอุดตัน และช่วยเพิ่มระบบไหลเวียนเลือดได้ดีขึ้น นอกจากนั้นเลซิตินยังช่วยลดปริมาณไขมันโคเลสเตอรอลในเลือด โดยช่วยในกระบวนการเผาผลาญไขมันของตับ ส่งผลให้ร่างกายมีการนำไขมันไปใช้เป็นพลังงานได้ดีขึ้น

นอกจากนั้นเลซิตินยังมีส่วนช่วยลดการดูดซึมและเพิ่มการขับถ่ายไขมันโคเลสเตอรอลทางอุจจาระ และช่วยเพิ่มสัดส่วนของไขมันเอช ดี แอล โคเลสเตอรอล (HDL-Cholesterol) ที่เป็นไขมันชนิดดีที่มีหน้าที่นำพาไขมันที่สะสมและอุดตันตามผนังเส้นเลือดกลับไปทำลายที่ตับ ส่งผลช่วยลดระดับไขมันโคเลสเตอรอลได้อีกทางหนึ่ง

เลซิติน ประโยชน์ด้านอื่นๆ ต่อสุขภาพ

เลซิตินเป็นองค์ประกอบของเยื่อบุผิวของเซลล์ เพราะร่างกายจะนำเลซิตินไปใช้ในการสร้างเยื่อบุผิวเซลล์ต่างๆ เช่น เซลล์เม็ดเลือด เซลล์กล้ามเนื้อ เซลล์ผิวหนัง รวมถึงเซลล์ของอวัยวะต่างๆ

  • ช่วยป้องกันการเกิดนิ่วในถุงน้ำดี ในผู้ที่มีภาวะไขมันโคเลสเตอรอลในเลือดสูง
  • ช่วยในกระบวนการดูดซึมวิตามินที่ละลายในไขมันได้ดีขึ้นการรับประทานเลซิติน จะช่วยให้ร่างกายสามารถนำวิตามินที่ละลายในไขมัน เช่น วิตามินเอ ดี อี และ เค ดูดซึมและนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • ช่วยควบคุมน้ำหนักของร่างกาย เพราะเลซิตินจะช่วยทำให้ไขมันกระจายตัวเป็นอนุภาคเล็กๆ ที่แขวนลอยในน้ำ ซึ่งจะทำให้ร่างกายเผาผลาญไขมันโคเลสเตอรอลได้ดีขึ้น

เลซิตินที่ดีต้องปลอดสารฟอกสี

ปัจจัยสำคัญในการเลือกสารอาหารจากธรรมชาติคงต้องคำนึงถึงคุณภาพและความปลอดภัยที่จะได้รับเป็นสำคัญซึ่งการเลือกเลซิตินที่บริสุทธิ์ต้องสกัดจากถั่วเหลือง และเป็นวัตถุดิบ เกรดเอ ที่ปราศจากสารฟอกสี การแต่งสี แต่งรส เนื่องจากสารฟอกสีเป็นสารที่มักนิยมใช้ในขบวนการผลิตเลซิติน ซึ่งเป็นอันตรายก่อให้เกิดภาวะตับอักเสบ และตับแข็งได้ถ้ารับประทานต่อเนื่องในระยะยาว ดังนั้นจึงควรเลือกเลซิตินที่ผลิตภายใต้มาตรฐานการผลิตยาระดับสากลที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจาก

GMP ของประเทศไทย

BfArm ของประเทศเยอรมัน

TGA ของประเทศออสเตรเลีย

ทำให้มั่นใจในคุณภาพของเลซิตินว่าได้ผ่านการคัดสรรและขั้นตอนการผลิตที่ได้มาตรฐาน ทำให้สามารถมั่นใจในเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยในการรับประทาน และมั่นใจได้ว่าได้รับเลซิตินที่บริสุทธิ์ ปราศจากสารฟอกสี สารแต่งสี และรส เพื่อการส่งเสริมสุขภาพที่ดีและความปลอดภัยต่อร่างกายในระยะยาว

บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวกับสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย

Click here to add a comment

Leave a comment: