free web tracker, fire_lady 5 โรคที่เกิดจากแมว…อันตรายที่มาพร้อมกับความน่ารัก • สุขภาพดี

5 โรคที่เกิดจากแมว...อันตรายที่มาพร้อมกับความน่ารัก

โรคที่เกิดจากแมว

"แมว" เป็นสัตว์ที่เหมือนเพื่อนของคน จัดเป็นสัตว์เลี้ยงที่ใกล้ชิดมนุษย์รองลงมาจากสุนัขเลยก็ว่าได้ การเลี้ยงแมวส่วนใหญ่มักเลี้ยงในบ้าน จึงคลุกคลีกับคนค่อนข้างมาก เรียกว่ากอดหอมกัน นอนด้วยทุกวันสำหรับคนรักแมว แต่เคยระวังไหมว่า...แมวเป็นสัตว์มีขนและค่อนข้างซุกซน จึงง่ายต่อการสะสมและแพร่เชื้อของโรคบางโรค ซึ่งบางโรคค่อนข้างอันตราย มาดูกันดีกว่าว่า นอกจากความน่ารักมุ้งมิ้งของแมวแล้ว โรคที่เกิดจากแมวเหมียวแสนน่ารัก ที่ผู้เลี้ยงแมวต้องพึงระวัง จะมีโรคอะไรบ้าง

โรคร้าย อันตรายที่มากับแมว

1. โรคภูมิแพ้ หอบหืด

สำหรับใครที่ไม่ได้เป็นโรคภูมิแพ้มาตั้งแต่ต้น ไม่ต้องกังวล เพราะขนแมวไม่ได้ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ แต่ถ้าใครเป็นภูมิแพ้อยู่แล้ว ขนแมวเป็นเพียงอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ภูมิแพ้กำเริบได้ง่ายขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้วขนแมวไม่ใช่สาเหตุเดียวที่ทำให้โรคกำเริบ เศษผิวหนังหรือขี้ไคลแมวต่างหากที่ทำให้เกิดอาการภูมิแพ้มากยิ่งกว่า นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่นๆ ที่ไม่ใช่มาจากแมวโดยตรง แต่เจ้าเหมียวเป็นคนทำ เช่น แมวไปกัดแมลงสาบ แมวไปคลุกฝุ่นแล้วมาเล่นกับเจ้าของ แมวไปเล่นกับแมวตัวอื่น เป็นต้น

วิธีป้องกันและแก้ไข

  • อาบน้ำแมวบ้างเพื่อลดการสะสมของไรขนและขี้ไคล
  • เลี้ยงแมวแบบระบบปิดเพื่อไม่ให้ไปคลุกคลีกับแมวตัวอื่นๆ นอกบ้าน
  • พยายามรักษาความสะอาดของบ้านเพื่อไม่ให้แมลงสาบมาอาศัยอยู่
  • หลีกเลี่ยงการนำแมวมานอนบนเตียงกับเจ้าของ
  • ไม่ควรไปเล่นกับแมวที่ไม่ใช่แมวตัวเอง
  • คำแนะนำเกือบทั้งหมดที่กล่าวมานี้ค่อนข้างทำได้ยากในทางปฏิบัติสำหรับคนรักแมว ดังนั้นหากไม่สามารถทำได้ คงต้องทำใจว่าโรคภูมิแพ้จะไม่ไปจากคุณง่ายๆ ไม่ว่าจะเปลี่ยนหมอ เปลี่ยนยาหรือเปลี่ยนวิธีการรักษาแล้วก็ตาม จึงอยากแนะนำให้ดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงแทน นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว ออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาอย่างสม่ำเสมอ (แบบไม่หักโหม) เมื่อร่างกายแข็งแรงแล้ว จะช่วยป้องกันไม่ให้ภูมิแพ้กำเริบได้ในระดับหนึ่ง

2. โรคเชื้อราแมว หรือโรคกลาก

ผิวหนังและขนของแมวเป็นแหล่งสะสมฝุ่นละอองและสปอร์ของเชื้อราได้เป็นอย่างดี โดยสังเกตได้ง่ายๆ ว่า หากแมวมีอาการขนร่วงเป็นหย่อมๆ คัน ผิวหนังเป็นสะเก็ด นั่นแสดงว่าแมวเป็นเชื้อรา ซึ่งเชื้อรานี้สามารถติดต่อจากแมวมาสู่คนได้โดยการสัมผัส รวมทั้งยังติดต่อจากคนสู่คนได้ด้วย เมื่อได้รับเชื้อแล้ว จะใช้เวลาเพาะเชื้อราวๆ 2-18 วัน โดยมีอาการคือ ผิวหนังขึ้นผื่นเป็นวงแดง คัน รอบวง เป็นขุยสีขาว วงสีแดงนี้จะเพิ่มจำนวนขึ้นในเวลา 2-3 วัน อาจมีการลุกลามไปทั่วร่างกายจากการเกาแล้วไปสัมผัสส่วนอื่น หรือแพร่เชื้อโดยสัมผัสตัวผู้อื่น ดังนั้นหากใครเลี้ยงแมวแล้วเป็นกลากบ่อยๆ ถึงแม้จะรักษาหายแล้วแต่ยังกลับมาเป็นโดยไม่ค่อยซ้ำที่ ให้ลองสังเกตดูว่าแมวชอบไปนอนทับเสื้อผ้าหรือเปล่า

วิธีป้องกันและแก้ไข

  • นำเสื้อที่มีขนแมวติดไปซัก หรือพยายามกำขัดขนแมวให้ติดเสื้อผ้าน้อยที่สุด
  • อาบน้ำให้แมวด้วยแชมพูกำจัดเชื้อรา
  • รักษาความสะอาดอุปกรณ์เครื่องใช้ของแมว
  • ไม่ใช้ข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวเช่น เสื้อผ้า ชุดชั้นใน ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ร่วมกับผู้ป่วย

3. โรคท็อกโซพลาสโมสิส (Toxoplasmosis)

โรคท็อกโซพลาสโมซิส เป็นโรคที่หลายคนอาจไม่ค่อยคุ้นหูนัก แต่ถ้าบอกว่า "โรคเชื้อราขึ้นสมอง" คงจะพอเริ่มคุ้นๆ กันบ้าง โรคนี้เป็นโรคที่ติดต่อจากเชื้อปรสิต Toxoplasma gondii นอกจากเชื้อนี้จะเกิดกับสัตว์ตระกูลแมวแล้ว ยังพบเชื้อนี้ได้ในสัตว์ชนิดอื่นๆ หากแมวไปสัมผัสกับสัตว์อื่น เช่น สุนัข นก หนู รวมถึงคนด้วย

โดยเชื้อนี้มีวงจรชีวิตและสืบพันธ์อยู่ภายในลำไส้ของแมว ซึ่งแมวจะปล่อยเชื้อนี้ออกมาเพียง 1 ครั้งในชีวิต ส่วนการติดเชื้อสามารถรับเชื้อได้จากหลายรูปแบบเช่น การเก็บอุจาระแมวแล้วไม่ล้างมือ การทำสวนที่ดินปนเปื้อนอุจจาระแมว การทานอาหารสุกๆ ดิบๆ การทานผักผลไม้ที่เปื้อนดินหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ 

วิธีป้องกันและแก้ไข

  • ใส่ผ้าปิดปาก ถุงมือ และล้างมือทุกครั้งที่เก็บอุจจาระแมวและหลังจากทำสวน
  • ล้างทำความสะอาดผักผลไม้สดทุกครั้งก่อนรับประทาน
  • แยกเขียงที่ใช้หั่นผักและหั่นเนื้อสัตว์
  • นำอุจจาระแมวหรือกระบะอุจจาระแมวไปตากแดดก่อนทิ้ง
  • ไม่ทานอาหารเนื้อสัตว์ที่สุกๆ ดิบๆ
  • สำหรับโรคท็อกโซพลาสโมซิสนั้น ใครเลี้ยงและกำลังตั้งครรภ์อ่อนๆ ไม่แนะนำให้แก้ปัญหาด้วยการนำแมวไปทิ้ง แต่ควรแยกกันอยู่กับแมวก่อนจนกว่าจะคลอด ส่วนอุจจาระแมวให้คุณพ่อบ้านคอยเก็บทิ้งให้ก่อน เพราะการนำแมวไปปล่อยไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง

4. โรคพิษสุนัขบ้า

ถึงแม้ว่าโรคพิษสุนัขบ้าส่วนใหญ่ติดเชื้อมาจากสุนัข แต่ว่าจริงๆ แล้วโรคนี้สามารถติดต่อได้จากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดรวมถึงแมวด้วย การติดเชื้อจะติดโดยการถูกแมวหรือสัตว์ที่มีเชื้อมากัด ข่วนหรือเลีย โดยเชื้อโรคจะส่งผ่านทางน้ำลาย หากติดเชื้อไปจนถึงระยะที่เชื้อปรากฏอาการแล้ว จะเสียชีวิตทุกรายเนื่องจากยังไม่มียาตัวใดรักษาได้

วิธีป้องกันและแก้ไข

  • นำแมวไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นประจำทุกปี
  • เลี้ยงแมวด้วยระบบปิดป้องกันการติดเชื้อมาจากแมวภายนอก
  • ไม่เล่นกับแมวจรจัดหรือแมวที่ไม่รู้จัก
  • ไม่ยั่วแหย่แมวเพื่อป้องกันไม่ให้ถูกแมวกัด
  • ไม่แยกแมวกัดกันด้วยมือเปล่า
  • หากถูกกัดให้กักแมวไว้ดูอาการ 10 วัน รีบล้างแผลด้วยน้ำเปล่าและสบู่ทันที จากนั้นรีบไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีน
  • หากอยู่ในพื้นที่แพร่ระบาด ควรฉีดวัคซีนป้องกันถึงแม้จะยังไม่ถูกกัดก็ตาม

5. โรคติดเชื้อจากบาดแผล

แมวเป็นสัตว์นักล่าและมีความซุกซนมากๆ จึงมักคาบกัดสัตว์อื่นมาเล่นมากินอยู่เสมอเช่น นก หนู แมลงสาบ  ดังนั้นในปากแมวจึงอุดมไปด้วยเชื้อโรคเลยทีเดียว บางคนถูกแมวกัด แม้จะเป็นแผลเล็กๆ แต่ก็เป็นหนองได้ เพราะในปากแมวมีเชื้อโรคเยอะ กัดแล้วมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายๆ ดังนั้นหากถูกแมวกัดต้องทำความสะอาด ใส่ยาและคอยสังเกต หากแผลบวมแดง ปวดแสบร้อน ให้ไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกวิธี

วิธีป้องกันและแก้ไข

  • หลีกเลี่ยงการถูกแมวกัด ข่วน (ข้อนี้น่าจะปฏิบัติได้ยากสำหรับคนรักแมว)
  • เมื่อโดนกัด ให้ล้างแผลให้สะอาด ใส่ยา ติดตามอาการของแผล
  • สำหรับคนที่เลี้ยงแมวและโดนแมวกัดเป็นประจำ ต้องฉีดยาบาดทะยักทุกๆ 10 ปี

จาก 5 โรคที่เกิดจากแมว จะเห็นว่าคนรักแมวทั้งหลายต้องพึงระวัง แต่อย่าหวาดวิตกจนต้องนำแมวไปปล่อย เพราะนั่นไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา เพียงแค่คอยระมัดระวังอย่าให้แมวกัดหรือข่วนบ่อยๆ คอยรักษาความสะอาดและพาเจ้าเหมียวไปฉีดวัคซีนอย่างสม่ำเสมอ เพียงเท่านี้ก็สามารถลดโอกาสการติดเชื้อได้เกือบร้อยเปอร์เซนต์แล้วจ้า