free web tracker, fire_lady “โรคพิษสุนัขบ้า” น่ากลัวกว่าที่คิด รักษาผิดหมดสิทธิ์รอด • สุขภาพดี

โรคพิษสุนัขบ้า” น่ากลัวกว่าที่คิด รักษาผิดหมดสิทธิ์รอด

โรคพิษสุนัขบ้า

โรคพิษสุนัขบ้า” (Rabies) หรือที่เรารู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า “โรคกลัวน้ำ” เป็นโรคไวรัสชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดการอักเสบเฉียบพลันของสมองในมนุษย์รวมทั้งในสัตว์เลือดอุ่นชนิดอื่นๆ ด้วย ซึ่งโรคนี้มีความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตทุกราย แต่เราอย่าเข้าใจผิดว่าโรคพิษสุนัขบ้านี้จะต้องเกิดจากสุนัขเพียงอย่างเดียว แต่สามารถเกิดจากสัตว์ได้อีกหลายชนิด ดังนั้นวันนี้เราจึงควรมาทำความเข้าใจสาเหตุของการเกิดโรค ลักษณะอาการ วิธีการรักษาโรค วิธีการป้องกัน และความเชื่อเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า เพื่อรู้เท่าทันโรคร้ายชนิดนี้กัน

สาเหตุของการเกิดโรคพิษสุนัขบ้า

โรคพิษสุนัขบ้านั้นไม่ว่าจะมนุษย์หรือสัตว์เลือดอุ่นทุกชนิดสามารถติดเชื้อไวรัสโรคพิษสุนัขบ้าและแสดงอาการออกมาได้ โดยทั่วไปไวรัสชนิดนี้จะอยู่ในสัตว์ เช่น ค้างคาว ลิง พังพอน หมา และแมว ซึ่งแมวมีความเสี่ยงสูงสุดต่อการแพร่เชื้อมาสู่มนุษย์ โดยปกติเราจะพบไวรัสชนิดนี้ในประสาทและน้ำลายของสัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า แพร่เชื้อมาสู่มนุษย์ด้วยการกัดแต่ไม่ใช่ทุกครั้งเสมอไป การแพร่ของโรคพิษสุนัขบ้าจากมนุษย์ไปสู่มนุษย์ด้วยกันจะพบได้ยาก การแพร่เชื้อเพื่อแสดงอาการนั้นคือ เมื่อเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าเข้าระบบประสาทนอกส่วนกลาง แล้วเดินทางเข้าประสาทนำเข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลาง เมื่อไวรัสเข้าสมองแล้ว จะทำให้เกิดอาการสมองอักเสบอย่างรวดเร็ว อาจมีอาการไขสันหลังอักเสบด้วย และเสียชีวิตมากกว่าร้อยละ 99 ของผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้

อาการของโรคพิษสุนัขบ้า 

อาการของผู้ป่วยที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าจะสามารถแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้

อาการโรคพิษสุนัขบ้า

1. ระยะอาการนำ ในระยะนี้ผู้ป่วยจะมีอาการต่างๆ ที่ไม่เหมือนกันในแต่ละคน ซึ่งอาจมีหลายอาการ เช่น มีไข้ต่ำ ๆ หนาวสั่น ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร เจ็บคอ คลื่นไส้อาเจียน และปวดท้อง และอาจจะมีอาการกระสับกระส่าย นอนไม่หลับร่วมด้วย ทั้งนี้การวินิจฉัยที่บริเวณบาดแผลว่ามีอาการปวด คัน ชา  โดยเริ่มที่บริเวณแผลแล้วจึงลุกลามไปทั่วแขนหรือขา

2. ระยะปรากฏอาการ โดยระยะนี้จะปรากฏอาการออกมาที่เกี่ยวข้องกับสมอง ซึ่งเป็นอาการเฉพาะของโรคนี้ โดยจะปรากฏอาการหลังระยะอาการนำประมาณ 2 – 10 วัน สามารถแบ่งอาการออกได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้

- แบบคลุ้มคลั่ง เป็นกลุ่มอาการที่พบได้บ่อยที่สุด โดยแรกๆ ผู้ป่วยจะมีอาการเพียงแค่สับสน เห็นภาพหลอน กระวนกระวาย แต่ต่อมาจะมีอาการหนักขึ้น เช่น จะมีอาการเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย จนถึงขั้นอยู่นิ่งไม่ได้ คลุ้มคลั่ง เอะอะอาละวาด น้ำลายไหล ซึม และเริ่มกลัวน้ำ คือ จะมีอาการปวดเกร็งกล้ามเนื้อคอเวลาดื่มน้ำทำให้กลืนน้ำไม่ได้ หากเป่าลมเข้าที่หน้าก็จะมีอาการผวา หรือแม้กระทั่งหายใจเข้าก็จะทำให้กล้ามเนื้อหลอดลมหรือกระบังลมหดเกร็งก่อให้เกิดความเจ็บปวด ซึ่งอาการเหล่านี้สามารถพบได้ในเกือบทุกราย และอาการเหล่านี้จะหายไปเมื่อผู้ป่วยเริ่มเข้าสู่ในระยะไม่รู้สึกตัว

- แบบอัมพาต เป็นกลุ่มอาการที่พบได้รองลงมาจากแบบแรก โดยผู้ป่วยจะมีอาการไข้ร่วมกับกล้ามเนื้อแขนขารวมถึงทั่วทั้งร่างกายอ่อนแรง กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ มีอาการกลัวน้ำกลัวลม แต่กลุ่มผู้ป่วยแบบนี้มักจะเสียชีวิตช้ากว่าแบบคลุ้มคลั่ง

- แบบแสดงอาการไม่ตรงต้นแบบ ผู้ป่วยแบบนี้จะพบเพียงบางรายเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่ถูกค้างคาวกัด ในระยะแรกผู้ป่วยจะมีอาการปวดประสาทหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง ต่อมากล้ามเนื้อซีกใดซีกหนึ่งเป็นอัมพาต มีอาการชัก เคลื่อนไหวผิดปกติ แต่ไม่มีอาการกลัวน้ำหรือกลัวลมแบบในสองกลุ่มแรก  แต่จะพบอาการผิดปกติของระบบประสาทแบบผู้ป่วยแบบคลุ้มคลั่ง

3. ระยะไม่รู้สึกตัว ระยะนี้ถือเป็นระยะสุดท้าย ไม่ว่าผู้ป่วยในกลุ่มแบบใดก็จะต้องเข้าสู่ระยะนี้กันทุกคน โดยจะหมดสติ ระบบหายใจและระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ไม่รู้สึกตัว และเสียชีวิต โดยทั่วไปผู้ป่วยที่ป่วยด้วยโรคพิษสุนัขบ้าจะเสียชีวิตเกือบทั้งหมด

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นก่อนถึงมือหมอ

ในกรณีที่ถูกสัตว์กัดที่มีความเสี่ยงต่อการที่จะติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ก่อนที่จะพาผู้ป่วยไปพบแพทย์นั้นอาจต้องมีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นก่อนเพื่อลดความรุนแรง ดังนี้

1. ล้างทำความสะอาดแผลด้วยน้ำเกลือและสบู่ในทันที และเช็ดแผลโดยใช้ 70 % แอลกอฮอล์ และน้ำยาโพวิดีนร่วมด้วย

2. รีบไปพบแพทย์ทันที

การรักษาโรคพิษสุนัขบ้าโดยแพทย์

หลังจากที่ให้การปฐมพยาบาลในเบื้องต้นแล้วนั้น เมื่อถึงมือแพทย์แพทย์จะให้การในวิธีต่างๆ ดังนี้

1. ทำแผลตามลักษณะที่ถูกกัด แต่โดยปกติแพทย์จะไม่เย็บแผลที่ถูกกัด ยกเว้นในกรณีที่ฉีกรุ่งริ่งก็จะเย็บไว้หลวมๆ

2. ให้ยาปฏิชีวนะป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย

3. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก

4. พิจารณากรณี แล้วให้วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าแบบการสร้างภูมิคุ้มกันต้านทาน

- ชนิดแอคทิพ จะทำให้ร่างกายเป็นผู้สร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรคเอง

เป็นวัคซีนที่เข้าไปกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรคพิษสุนัขบ้าเอง ในปัจจุบันจะฉีด 5 เข็ม โดยจะฉีดในวันแรก วันที่ 3 7 14 และ 30 ของการถูกกัด

- ชนิดแพสซิฟ เป็นสารภูมิคุ้มกันต้านทานที่ผลิตขึ้นเป็นตัวยา

เป็นสารภูมิคุ้มกันที่ทำมาจากเซรุ่มคน หรือเซรุ่มม้า โดยการฉีดสารภูมิคุ้มกันชนิดนี้รอบๆ แผลที่ถูกกัดให้มากที่สุด แล้วนำที่เหลือมาฉีดเข้ากล้ามเนื้อ โดยแพทย์จะฉีดสารภูมิคุ้มกันตั้งแต่วันแรกที่ฉีดวัคซีนหรือภายใน 7 วันหลังจากฉีดวัคซีน เพราะการฉีดวัคซีนเพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรคพิษสุนัขบ้าต้องใช้เวลา 10 – 14 วัน จึงจะมีระดับภูมิต้านทานเพียงพอ

อย่าเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า

มีหลายความเชื่อที่เราเคยได้ยินมาเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า แต่ก่อนที่เราจะเชื่อไปเสียทั้งหมดนั้น ควรพิจารณาก่อนว่าความเชื่อใดจริงหรือไม่จริง ดังนั้นวันนี้เราจึงเรื่องความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้ามาฝากกัน เพื่อจะได้ไม่เข้าใจผิดไปตลอด

1. โรคพิษสุนัขบ้าเกิดในเฉพาะหน้าร้อนเท่านั้น ความเชื่อแบบนี้เป็นความเชื่อที่ผิดในประเด็นแรก เพราะในความจริงเชื้อพิษสุนัขบ้ามีอยู่ตลอด ดังนั้นจึงสามารถเกิดได้ทุกหน้า เพียงแต่ในช่วงหน้าร้อนเกิดมากที่สุด เพราะง่ายต่อการแพร่เชื้อและการระบาด

2. เมื่อถูกสุนัขกัด ต้องใช้รองเท้าตบแผล ใช้เกลือ ขี้ผึ้ง หรือยาฉุนยัดแผล ความเชื่อนี้เราอาจเคยได้ยินมาจากคนสมัยโบราณ แต่เป็นความเชื่อที่ผิด เพราะนอกจากจะไม่ได้ช่วยให้หายแล้วนั้น อาจจะยิ่งทำให้แผลติดเชื้อหรือเกิดอาการอักเสบได้

3. หลังจากที่ถูกกัด ต้องไปรดน้ำมนต์ ความเชื่อนี้เป็นอีกหนึ่งความเชื่อที่ไม่เป็นจริง เพราะการรดน้ำมนต์ไม่สามารถรักษาแผลหรือโรคพิษสุนัขบ้าให้หายได้ แต่การรดน้ำมนต์อาจช่วยทำให้ผู้ป่วยสบายใจมากขึ้น หรืออาจช่วยเรียกขวัญกำลังใจหลังจากที่มีอาการตกใจจากการโดนสุนัขกัดได้

4. ฆ่าสุนัขตัวที่กัด แล้วเอาตับมาต้มรับประทาน จะไม่ป่วยเป็นโรคนี้ ความเชื่อนี้นอกจากจะไม่ช่วยให้โรคนี้หายแล้วนั้น การนำอวัยวะของสุนัขที่เราไม่ทราบเลยว่าสุนัขตัวนั้นมีการติดโรคหรือไม่ อาจยิ่งทำให้เราเกิดโรคอื่น ๆ หรือสร้างผลเสียให้กับร่างกายมากขึ้นกว่าเดิมก็ได้

5. เมื่อถูกสุนัขกัด ต้องตัดหูตัดหางสุนัขตัวนั้น สุนัขจะไม่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า อย่างที่ทราบกันดีโรคพิษสุนัขบ้ามีการแพร่เชื้อจากการกัด ซึ่งมีเชื้ออยู่ภายในน้ำลาย ดังนั้นการที่เราตัดหูตัดหางของสุนัขเห็นจะไม่เกี่ยวข้อง อีกทั้งอาจจะยิ่งเป็นการทรมานสัตว์เสียมากกว่า

6. คนท้องไม่ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า จริงๆ แล้วในคนที่ท้องร่างกายจะค่อนข้างมีภูมิต้านทานที่ต่ำ ดังนั้นการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในคนท้องจึงสามารถทำได้ เพียงแต่ต้องอยู่ภายใต้การปรึกษาหรือดูแลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

7. โรคพิษสุนัขบ้าเป็นเฉพาะในสุนัขเท่านั้น ความเชื่อเป็นความเชื่อที่ไม่เป็นความจริง เพราะเชื้อของโรคพิษสุนัขบ้านั้นพบได้ในสัตว์เลือดอุ่นทุกชนิด ทั้งสุนัข แมว หรือค้างคาว เป็นต้น

8. วัคซีนพิษสุนัขบ้าฉีดรอบสะดือ 14 เข็ม หรือ 21 เข็ม ถ้าหยุดฉีดต้องเริ่มใหม่ ความเชื่อนี้ก็เป็นอีกความเชื่อหนึ่งที่ผิด

จากข้อมูลของโรคพิษสุนัขบ้าที่ได้กล่าวมาทั้งหมด นับว่าเป็นโรคหนึ่งที่มีความน่ากลัวมาก ที่สำคัญหากใครโชคร้ายที่ต้องป่วยเป็นโรคนี้ มีโอกาสน้อยมากหรือแทบไม่มีโอกาสเลยที่จะหายหรือรอดชีวิต ดังนั้นโรคนี้จึงเป็นโรคหนึ่งที่ไม่ได้สำคัญที่การรักษา แต่การป้องกันหรือการหลีกเลี่ยงปัจจัยต่างๆ ที่ก่อให้เกิดโรคนี้มีความสำคัญมาก และอย่ามีความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับโรคนี้ เพราะไม่เช่นนั้นอาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงหรือความรุนแรงในกามรเกิดโรคนี้มากขึ้น