free web tracker, fire_lady “ผักชี” สรรพคุณ-ประโยชน์ของผักชี แค่โรยหน้าอาหาร สุขภาพก็ดีแล้ว • สุขภาพดี

"ผักชี" สรรพคุณ-ประโยชน์ของผักชี แค่โรยหน้าอาหาร สุขภาพก็ดีแล้ว

สรรพคุณ ประโยชน์ของผักชี

จะกินข้าวต้มก็มีผักชี กินก๋วยเตี๋ยวก็มีผักชี กินแกงจืดแกงเผ็ดก็มีผักชี กินยำหรือกินน้ำพริกก็มีผักชีอีก เอาเป็นว่าเกือบทุกเมนูอาหารที่เรากินอยู่ทุกวันต้องมีผักชีโรยหน้าอยู่เสมอ จนเป็นที่มาของสำนวนว่า ผักชีโรยหน้า (หมายถึง การทำความดีเพียงผิวเผิน) เพราะผักชีนั้นมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว และมีลักษณะของใบที่มีสีเขียวสด รูปร่างสวยงาม เราจึงนิยมนำมาใช้ประกอบอาหารและเพื่อตกแต่งอาหารให้มีหน้าตาน่ากินยิ่งขึ้น...อีกทั้งสรรพคุณและประโยชน์ของผักชีมีอีกมากมายอย่างที่คาดไม่ถึงกันเลยทีเดียว

มารู้จักที่มาของผักชีกันเถอะ

ผักชี เป็นพืชล้มลุกอายุสั้น ที่อยู่ในวงศ์ (APIACEAE หรือ UMBELLIFERAE) หรือวงศ์ผักชีนั่นเอง โดยมีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ในแถบเมดิเตอร์เรเนียน พื้นที่ที่พบว่าปลูกมากเช่น ทวีปอเมริกาใต้ ทวีปยุโรป อินเดีย เป็นต้น ส่วนในไทยจะมีแหล่งเพาะปลูกใหญ่ๆ ที่ จ.ราชบุรี นครปฐม ผักชีเป็นพืชที่สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปีแต่จะเจริญเติบโตได้ดีที่สุดในช่วงอากาศหนาว ผักชีเป็นผักที่มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว จึงนิยมนำมาประกอบอาหารและตกแต่งจานอาหารให้น่ารับประทานอยู่เสมอ ดังนั้นผักชีจึงจัดเป็นผักอีกชนิดหนึ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับครัวของคนไทย

ลักษณะของผักชี

ราก : เป็นระบบรากแก้ว มีลักษณะกลมอวบ ค่อนข้างยาว สีน้ำตาลอ่อน มีรากฝอย กลิ่นหอม นิยมนำมาทำเป็นเครื่องเทศสำหรรับหมักอาหารหรือปรุงน้ำซุป

ลำต้น : เป็นก้านกลมเล็กๆ สีเขียว ด้านในกลวง มีก้านใบแตกออกมาเป็นระยะๆ ค่อนข้างอ่อน มีกลิ่นหอม

ใบ : เรียงคล้ายขนนก ใบค่อนข้างกลมแต่ขอบใบหยักจึงมีลักษณะคล้ายกับพัด ใบที่อยู่บริเวณโคนต้นจะมีขนาดใหญ่และสีเขียวจัดกว่าใบที่อยู่บริเวณยอด กลิ่นหอม

ดอก : ออกเป็นช่อ ดอกย่อยสีขาวอมชมพู

ผล : หรือเรียกอีกอย่างว่าลูกผักชี เป็นส่วนของผล ผลอ่อนเป็นสีเขียว ผลแก่สีน้ำตาล ภายในมีเมล็ด 2 เมล็ด

ชนิดของผักชี

ผักชีพันธุ์พื้นเมือง :  มีลักษณะ ต้นมีขนาดเล็กเล็ก ใบบาง ออกดอกเร็ว อายุสั้น กลิ่นหอมแรง

ผักชีพันธุ์แอฟริกา : ต้นใหญ่ใบหนา กลิ่นหอมน้อยกว่าผักชีพันธุ์พื้นเมือง และอายุยืนกว่า

ผักชี...สรรพคุณทางยา ประโยชน์ทั้งใบ ราก ต้น เมล็ด

นอกจากนี้ต้นของ "ผักชี" (Coriander) ยังสามารถนำมาใช้ทำเป็นอาหารได้ทุกส่วน ทั้งใบ ลำต้น ราก และเมล็ด ส่วนใหญ่มักใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องแกงหรือน้ำซุปเพื่อให้มีกลิ่นหอม โดยประโยชน์จากผักชีที่ช่วยแต่งกลิ่นแต่งหน้าอาหารให้หอมน่ากินแล้ว ยังมีสารอาหารสำคัญๆ ที่มีคุณค่าต่อร่างกายซ่อนอยู่อีกมากเชียวนะ

สรรพคุณทางยาของผักชีนั้นมีมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว ตั้งแต่ส่วนของใบผักชีที่มีฤทธิ์เผ็ดร้อนจึงช่วยขับเหงื่อ ทำให้ระบบย่อยอาหารดีและเจริญอาหาร ส่งผลดีต่อระบบขับถ่าย ขับเสมหะ แก้หวัด แก้ไอ บรรเทาอาการปวดหัว บำรุงกระดูกและกล้ามเนื้อ มีสารต้านมะเร็ง แบคทีเรีย และเชื้อรา กระตุ้นการทำงานของเลือด และช่วยปรับระดับความดันโลหิตให้เป็นไปอย่างปกติ

สรรพคุณของผักชี

สรรพคุณทางยาของผักชี

ต่อมาคือรากผักชีมีสรรพคุณช่วยขับพิษไข้ในหัดและอีสุกอีใส ส่วนเมล็ดผักชีหรือลูกผักชีก็มีสรรพคุณทางยาที่ไม่น้อยไปกว่าส่วนอื่น มีคุณสมบัติช่วยย่อยอาหาร บรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน ลดอาการปวดฟัน และในเมล็ดผักชียังมีน้ำมันหอมระเหยที่สามารถช่วยต้านเชื้อแบคทีเรีย ยับยั้งการเกิดเซลล์มะเร็งได้ด้วย อย่างไรก็ดี มีข้อห้ามในการกินผักชีอยู่นิดหน่อยว่า ควรกินในปริมาณที่พอดี อย่ากินมากไปเพราะจะทำให้กลิ่นตัวแรงได้

10 สรรพคุณของผักชี ประโยชน์เพื่อการรักษาโรค

1. สรรพคุณของผักชีช่วยบำรุงลำไส้ ใครที่มีปัญหาเกี่ยวกับลำไส้ ท้องเสียหรือโรคอุจจาระร่วง หากกินผักชีเป็นประจำจะช่วยได้ เพราะในผักชีมีฤทธิ์ช่วยต่อต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราในลำไส้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังช่วยให้การทำงานของลำไส้ดีกว่าเดิมอีกด้วย

2. ประโยชน์ของผักชีต่อการดูแลปอด การกินผักชีเป็นประจำยังเป็นผลดีต่อปอด เพราะจะช่วยลดความชื้นและมูกในร่างกาย ทำให้ลดโอกาสของการเกิดโรคภูมิแพ้ หรือคนที่มีอาการไอเรื้อรังและมีเสมหะ ก็จะช่วยลดเสมหะให้น้อยลง

3. ผักชีมีสารต้านอนุมูลอิสระ หากอยากได้รับสารต้านอนุมูลอิสระก็อย่าลืมกินผักชี ซึ่งจะช่วยให้เลือดมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ทำหน้าที่ดูแลและป้องกันร่างกายจากความเสื่อม ยับยั้งการติดเชื้อ บรรเทาอาการอักเสบ ที่สำคัญช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งปอด

4. ผักชีช่วยต้านการเกิดโรคมะเร็งได้หลายชนิด โดยน้ำมันหอมระเหยจากทุกส่วนของผักชีนั้นมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยยับยั้งสารก่อมะเร็งอย่างในควันบุหรี่ ควันไฟ ควันธูป ควันจากยาจุดกันยุง ควันจากการเผาขยะ เป็นต้น

5. ประโยชน์ของผักชีต่อฮอร์โมนเพศหญิง  ผักชีเป็นผักอีกชนิดหนึ่งที่มีสารไฟโตเอสโตรเจนซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิงอยู่มาก การกินผักชีจึงช่วยทำให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ บรรเทาอาการปวดประจำเดือน และยิ่งในผู้หญิงวัยทองจะช่วยลดอาการร้อนวูบวาบ แก้ภาวะซึมเศร้าได้เพราะกลิ่นหอมของผักชี

6. ผักชีมีสรรพคุณช่วยบำรุงเลือด เพราะอุดมไปด้วยวิตามินบี 12 ธาตุเหล็ก และกรดโฟลิกที่สูง ซึ่งมีคุณสมบัติในการช่วยบำรุงเลือดโดยตรง กระตุ้นการทำงานของเลือด ประกอบกับในผักชีก็มีวิตามินซีมากจึงทำให้สามารถดูดซึมเอาธาตุเหล็กมาใช้ได้มากขึ้น เป็นผักที่เหมาะกับคนเป็นโรคโลหิตจางหรือมีปัญหาเลือดจาง

7. ผักชีเป็นยาช่วยขับปัสสาวะที่ดีชนิดหนึ่ง รวมทั้งยังลดอาการบวมน้ำ ช่วยกระตุ้นการทำงานของไตให้ทำงานอย่างปกติ บำรุงไต และแก้อาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ปวดหัว

8. สรรพคุณของผักชีต่อการบำรุงตับ ในส่วนของเมล็ดผักชีมีสรรพคุณช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของตับ โดยจะเพิ่มการหลั่งน้ำดีในตับทำให้ช่วยกำจัดไขมันหรือของเสียออกจากร่างกายได้ดี และเพิ่มไขมันดีมากขึ้น จึงช่วยลดปัญหาไขมันในเลือดสูง

9. เมล็ดสดของผักชียังสามารถช่วยแก้โรคริดสีดวงทวาร ด้วยการนำเมล็ดสดมาบดผสมกับเหล้าดื่มวันละ 5 ครั้ง ส่วนเมล็ดแห้งของผักชีนอกจากนำมาใช้เป็นเครื่องเทศ หากนำมาต้มกับน้ำดื่มจะช่วยบำรุงกระเพาะอาหารและลำไส้

10. ใบผักชีช่วยรักษาบรรดาสิวได้ โดยมีขั้นตอนอยู่ว่า ให้นำผักชีสัก 1 กำมือ ล้างน้ำให้สะอาดแล้วปั่นกับน้ำเล็กน้อยในเครื่องปั่นน้ำผลไม้จนละเอียด กรองด้วยผ้าขาวบางเอาเฉพาะน้ำผักชี ใช้ทาใบหน้าทิ้งไว้จนแห้ง แล้วล้างออกด้วยน้ำเปล่า เท่านี้ทั้งสิวอุดตัน สิวเสี้ยน สิวอักเสบจะค่อยๆ หาย รูขุมขนก็เล็กลงด้วย

วิธีทำน้ำผักชี

วัตถุดิบ

  • ผลไม้ เช่น แคนตาลูป แอปเปิ้ล เป็นต้น
  • ผักชี 2-3 ก้าน
  • น้ำตาล หรือน้ำผึ้ง
  • เกลือป่นเล็กน้อย
  • มะนาว
วิธีทำน้ำผักชี

วิธีทำ

1. นำผลไม้ที่ต้องการมาปอกเปลือกแล้วล้างให้สะอาดแล้วหั่นชิ้น หากเป็นแอปเปิ้ลไม่ควรปอกเปลือกเพราะสารอาหารจะอยู่ที่เปลือกเป็นส่วนมาก แค่ล้างน้ำก็เพียงพอ

2. นำมาปั่นแล้วใส่ผักชีที่ล้างสะอาดแล้วลงไป

3. ปั่นให้ละเอียดผสมน้ำผึ้งและเกลือลงไปตามชอบแล้วชิมรส หรือหากต้องการความเย็นชื่นใจก็ใส่น้ำแข็งก้อนลงไปปั่นด้วยก็ได้เช่นกัน

การทำน้ำผักชี ไม่ควรทำโดยใช้ผักชีในปริมาณมากเพียงชนิดเดียว ควรปั่นรวมกับผักหรือผลไม้ชนิดอื่น ใช้ผักชีน้อยๆ เพราะผักมีโพแทสเซียมสูงมาก หากรับประทานมากเกินไปจะทำให้ไตทำงานหนัก นอกจากนี้ยังส่งผลต่อการทำงานของหัวใจอีกด้วย

ข้อแนะนำ-ควรระวังในการทานผักชี

1. การทานผักชีมากเกินไป จะทำให้กลิ่นตัวแรงขึ้น ตาลาย และลืมง่าย

2. ผักชีมีโพแทสเซียมสูง ผู้ที่เป็นโรคที่เกี่ยวกับไต ไม่ควรทานในปริมาณมาก

3. สำหรับผู้ที่แพ้พืชชนิดอื่นที่อยู่ในวงศ์ผักชี เช่น แพ้กระเทียม คื่นช่าย หอมใหญ่ ควรระวังการแพ้ผักชีด้วยเช่นกัน

เมื่อได้รู้ถึงสรรพคุณและประโยชน์ของผักชีกันไปแล้ว...ต่อไปอย่าคิดว่าก็แค่ ผักชีโรยหน้า แล้วเขี่ยทิ้ง เพราะนั่นคือการทิ้งสิ่งที่มีประโยชน์และมีคุณค่าทางสารอาหารต่อร่างกายไปอย่างน่าเสียดาย ส่วนใครที่ชอบกินผักชีอยู่แล้วก็ต้องขอแสดงความยินดีด้วย เพราะนี่คือการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ปลอดภัยจากโรคภัยไข้เจ็บที่ดีและง่ายมากๆ เลยล่ะ

บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวกับสรรพคุณ...ประโยชน์ของผัก สมุนไพร