free web tracker, fire_lady “ดอกบัว” สรรพคุณ-ประโยชน์ เป็นอาหารที่มีคุณค่า เป็นยาก็ช่วยต้านโรค • สุขภาพดี

"ดอกบัว" สรรพคุณ-ประโยชน์ เป็นอาหารที่มีคุณค่า เป็นยาก็ช่วยต้านโรค

สรรพคุณ ประโยชน์ของดอกบัว

ดอกบัว” เราสามารถพบเห็นดอกไม้ชนิดนี้กันได้มากก็ตามวัดวาอารามต่างๆ หรือในงานพิธีสำคัญทางศาสนา แต่ประโยชน์ของดอกบัวนั้นไม่ได้มีเพียงแค่เป็นดอกไม้มงคลเท่านี้นะ เพราะดอกบัวยังเป็นไม้ดอกไม้ประดับที่สวยงาม แถมมีคุณค่าทางสารอาหารอยู่มากมายจึงใช้เป็นอาหารได้ด้วย ที่น่าสนใจอีกข้อคือมีสรรพคุณช่วยทำให้สุขภาพดีและแข็งแรง ส่วนจะดีมากน้อยอย่างไร ไปติดตามกันเลยค่ะ

ลักษณะ และ ประเภทของดอกบัว

หากจำแนกชนิดดอกบัวตามพฤกษศาสตร์แล้ว ดอกบัวมี ๒ ประเภท คือ

1. บัวหลวง (ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Lotus ภาษาไทยใช้คำว่า “ปทุมชาติ”) ลักษณะของบัวหลวง มีลำต้นอยู่ใต้ดินแบบเหง้าและไหล เมื่อเป็นต้นอ่อนจะมีลักษณะเรียวยาวทอดอยู่ในตม แต่เมื่อโตเต็มที่จะมีต้นที่อวบอ้วนขึ้น มีข้อเป็นปล้องที่สามารถเกิดราก ใบ และแตกหน่อเป็นดอกใหม่ได้

ดอกบัวหลวง

ลักษณะของใบ เป็นใบเดี่ยว กลมใหญ่สีเขียวอมเทา ดอกสามารถชูได้เพียงสองหรือสามวันเท่านั้น ขอบใบยกผิวด้านบนมีขนอ่อน ๆ ทำให้เมื่อโดนน้ำจะไม่เปียกน้ำ เมื่อใบอ่อนใบจะลอยปิ่มน้ำ ส่วนใบแก่ชูพ้นน้ำ ก้านใบและก้านดอกมีหนาม ส่วนดอกเป็นดอกเดี่ยวขนาดใหญ่ชูสูงพ้นผิวน้ำ ประกอบด้วยกลีบเลี้ยง 4-6 กลีบ มีทั้งชนิดดอกซ้อนและไม่ซ้อน สีของกลีบดอกมีทั้งสีขาว สีขมพู และสีเหลือง (แล้วแต่สายพันธุ์) มีกลิ่นหอมอ่อนๆ บานในเวลากลางวัน มักพบดอกบัวชนิดนี้ในทางทวีปเอเชียตอนใต้และตะวันออกเฉียงใต้ ดอกบัวประเภทนี้มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนจึงปลูกได้ในประเทศไทย ประกอบกับกลีบดอกที่ใหญ่ สวยงาม คนไทยจึงนิยมนำดอกบัวหลวงจัดใส่แจกัน บูชาพระและใช้ประกอบในพิธีทางศาสนา

ดอกบัวสาย

2. บัวสาย (ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Water Lily ภาษาไทยใช้คำว่า “อุบลชาติ”) ลักษณะของบัวสาย มีลำต้นอยู่ใต้ดิน เป็นหัวหรือเป็นเหง้า ใบและดอกเกิดจากตาหรือหน่อ เติบโตขึ้นมาที่ผิวน้ำด้วยก้านส่งใบและยอด บางชนิดมีใบอยู่ใต้น้ำ ใบเป็นใบเดี่ยว โดยขอบใบมีทั้งแบบเรียบและแบบคลื่น ผิวใบด้านบนเรียบเป็นมัน ด้านล่างมีขนละเอียดหรืออาจไม่มี ดอกเป็นดอกเดี่ยวมีทั้งชนิดที่บานกลางคืนและบานกลางวัน บางชนิดมีกลิ่นหอม และมีสีสันแตกต่างกันไป เรามักพบบัวสายอยู่ในแถบเอเชีย ยุโรป อัฟริกา ออสเตรเลีย และบริเวณเขตร้อนของอเมริกา

ดอกบัวไหว้พระ ความหมาย?

"ดอกบัว" ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความดีงาม ความบริสุทธิ์ จึงไม่แปลกใจที่ส่วนใหญ่คนไทยมักนำดอกบัวไปจัดแจกันถวายพระ ใช้ในพิธีกรรรมต่างๆ หรือเป็นภาพวาด แกะสลักบนผนัง กำแพงวัด โดยมีความเชื่อว่า หากผู้ที่เลือกไม้มงคลอย่างดอกบัวเป็นดอกไม้ถวายพระ ผู้นั้นจะมีพลังสร้างสรรค์ และพบเจอแต่ความสำเร็จ ส่วนจะใช้ดอกบัวถวายพระกี่ดอกนั้นขึ้นอยู่กับความสวยงามของการจัดเรียงใส่ภาชนะ แต่หากอยากให้มีความหมาย ก็สามารถใช้ 3 ดอก (พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์) หรือใช้ 4 ดอก ( บัว 4 เหล่า บุคคล 4 ประเภท) ก็ไม่ว่ากันค่ะ

สรรพคุณทางยา คุณค่าของ “ดอกบัว”

ในด้านคุณประโยชน์ของดอกบัวที่มีต่อร่างกายนั้น ดอกบัวถือเป็นดอกไม้ที่เราสามารถนำไปใช้เพื่อรักษาและป้องกันโรคภัยต่างๆ ได้ทุกส่วนกันเลยทีเดียว ตั้งแต่ดอกบัว เม็ดบัว รากบัว ไหลบัว สายบัว ใบบัว เกสรบัว และดีบัว เพราะแต่ละส่วนของดอกบัวล้วนอุดมไปด้วยสารอาหารสำคัญอย่างเส้นใยอาหาร น้ำตาล วิตามินบีหลายชนิด เกลือแร่ต่างๆ โคลีน แคลเซียม เหล็ก โซเดียม สังกะสี เป็นต้น

ทำให้ดอกบัวมีสรรพคุณเป็นทั้งอาหารและยาที่ให้ประโยชน์มากมายแก่สุขภาพ โดยจะทำให้การทำงานของร่างกายโดยรวมสมบูรณ์และแข็งแรงจากภายในออกมาสู่ภายนอก ช่วยบำรุงอวัยวะต่างๆ ไม่ให้เสื่อมก่อนเวลาอันควร ลดความเสี่ยงที่จะเกิดอาการเจ็บป่วยให้น้อยลงหรือไม่มีเลยก็ได้

11 สรรพคุณของดอกบัว ประโยชน์ในการรักษาโรค

1. ดอกบัวเหมาะกับคนที่มีอาการอ่อนเพลีย เพิ่งหายจากอาการป่วยไม่สบาย หรือในหญิงตั้งครรภ์แล้วมีอาการแพ้ท้อง อาเจียนจนไม่มีแรง ให้กินเม็ดบัวอาจเป็นแบบสดหรือแบบแห้งก็ได้ เพราะเป็นแหล่งรวมของสารอาหารหลายชนิดสูง เพิ่มพลังงานให้ร่างกาย ทำให้กลับมามีแรงยิ่งขึ้น

2. ดอกบัวมีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการหวัด แก้อาการคัดจมูก น้ำมูกไหล และยังเป็นยาแก้ไอ แก้ไข้ ด้วยการหั่นใบบัวให้ละเอียด ตากแดดจนแห้ง จึงนำมาใช้มวนเพื่อสูดดมกลิ่น

3. ดอกบัวเกือบทุกส่วนมีคุณสมบัติที่ช่วยรักษาอาการท้องเสีย ท้องเดิน ท้องร่วง หรือมีอาการบิดเรื้อรัง ช่วยบรรเทาอาการอักเสบของลำไส้

4. ประโยชน์ของดอกบัวเป็นยาบำรุงร่างกายที่ดี ไม่ว่าจะเป็นกลีบดอก เม็ดบัว เกสรบัว ใบแก่หรือรากบัว ต่างก็มีสรรพคุณที่ช่วยบำรุงกำลัง ทำให้ร่างกายสดชื่น บำรุงเลือด บำรุงหัวใจ บำรุงตับ บำรุงไต บำรุงครรภ์ เป็นต้น

5. สรรพคุณของดอกบัวมีฤทธิ์ช่วยให้ร่างกายผ่อนคลายจากความเครียด มีอารมณ์หงุดหงิดหรือมีความวิตกกังวล ดูแลระบบประสาทและบำรุงสมอง ทำให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น ร่างกายได้พักผ่อนอย่างเต็มที่

6. ดอกบัวใช้เป็นยาช่วยรักษาแผลพุพอง ฝาดสมานแผล และยังมีสรรพคุณช่วยห้ามเลือด ทำให้เลือดหยุดไหลออกมาได้เร็วขึ้น

7. ดอกบัวมีสรรพคุณช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะเม็ดบัวที่เป็นแหล่งรวมของสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด จึงช่วยยับยั้งการเกิดโรคมะเร็งได้ ช่วยป้องกันไม่ให้เซลล์ของอวัยวะภายในร่างกายเสื่อมเร็ว รวมถึงในส่วนของผิวพรรณก็ไม่เหี่ยวย่น ริ้วรอยลดลง และชะลอความแก่

8. ดอกบัวถือเป็นยาโบราณที่มีฤทธิ์ช่วยลดความดันโลหิตสูง ขยายหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ และลดไขมันในเส้นเลือด จึงเป็นอาหารและยาที่ดีสำหรับคนที่มีอาการเกี่ยวกับโรคเหล่านี้

9. ดอกบัวมีสรรพคุณแก้อาการปวดหัว ปวดท้ายทอย วิงเวียน มึนงง มีอาการหน้ามืดคล้ายจะเป็นลม โดยการใช้เกสรบัวมาเป็นส่วนผสมในยาหอม เมื่อชงน้ำดื่มแล้วจะช่วยให้อาการดีขึ้น ทำให้ชุ่มชื่นใจ ช่วยชูกำลัง และยังช่วยขับเสมหะ

10. ดอกบัวในส่วนของดีบัวนั้นมีคุณสมบัติที่สามารถเพิ่มแรงบีบตัวของหัวใจ และลดไขมันที่ไปเกาะบริเวณผนังหลอดเลือดได้เป็นอย่างดี เสริมสร้างให้หัวใจแข็งแรงทำงานได้ดีขึ้น

11. ดอกบัวยังมีประโยชน์ทำเป็นอาหารได้ทั้งคาว อาทิ แกงส้มสายบัว ใส่ในแกงเลียงหรือผัดเผ็ด และเป็นผักจิ้มน้ำพริก ส่วนของหวาน เช่น เม็ดบัวเชื่อม ขนมหม้อแกงใส่เม็ดบัว น้ำรากบัว ฯลฯ นอกจากนี้ใบบัวยังใช้ห่ออาหารอย่างข้าวห่อใบบัว และแม้กระทั่งใช้ห่อสิ่งของก็ยังได้

แม้สรรพคุณและประโยชน์ของดอกบัวจะมีแทบทุกส่วน แต่อย่างไรก็ดี หากจะกินเป็นอาหารไม่ว่าส่วนไหนของดอกบัวควรระวังสารเคมีที่อาจปนเปื้อนมาด้วย ซึ่งจะส่งผลเสียต่อร่างกายได้ ก่อนซื้อจึงต้องแน่ใจว่าสะอาด รวมทั้งในกลุ่มคนที่แพ้เกสรดอกบัวอาจต้องระวังการใช้เกสรบัวด้วย และหากใครมีอาการท้องผูกเป็นประจำ แนะนำว่าควรเลี่ยงดอกไม้ชนิดนี้ดีกว่า แต่ถ้าใครที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงนี้ก็จัดการกับดอกบัวกันได้ตามใจชอบเลย

บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวกับดอกไม้น่ารู้...คู่สุขภาพดี