free web tracker, fire_lady “ไตรกลีเซอไรด์” ไขมันตัวร้าย มีมากไป อันตรายถึงชีวิต!! • สุขภาพดี

"ไตรกลีเซอไรด์" ไขมันตัวร้าย มีมากไป อันตรายถึงชีวิต!!

ไตรกลีเซอไรด์ คือ

ร่างกายคนเรามีไขมันอยู่หลายชนิด หนึ่งในนั้นคือ “ไตรกลีเซอไรด์” จัดเป็นไขมันตัวร้ายที่ต้องระมัดระวังอย่างมาก ไม่ควรปล่อยให้สะสมในร่างกายมากเกินไปเพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด อีกทั้งเพิ่มความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมอีกด้วย เพื่อห่างไกลโรคที่มากับไขมันตัวร้ายนี้ เราไปทำความรู้จัก ไตรกลีเซอไรด์ให้มากขึ้นดีกว่าค่ะ

ไตรกลีเซอไรด์ คือ?

ไตรกลีเซอไรด์คือ ไขมันที่มีอนุภาคขนาดเล็กที่ตับสังเคราะห์ขึ้นมา ซึ่งนอกจากร่างกายจะสร้างขึ้นเองได้แล้ว เรายังได้รับไตรกลีเซอไรด์มาจากการรับประทานอาหารที่มีไขมันประเภทนี้เข้าไป โดยปกติร่างกายสามารถกำจัดไตรกลีเซอไรด์ออกได้หมดในเวลาเพียงไม่นานหลังจากรับประทานอาหาร แต่หากทานมากเกินกว่าที่ร่างกายจะกำจัดได้ ไตรกลีเซอไรด์จะเข้าไปสะสมพอกพูนอยู่ตามเนื้อเยื่อไขมัน ทำให้เกิดความอ้วน ไตรกลีเซอไรด์ 1 กรัมให้พลังงาน 9 กิโลแคลอรี่ ไขมันชนิดนี้สามารถละลายอยู่ในเลือด นอกจากนี้ยังถูกดูดซึมและสะสมอยู่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย หากไตรกลีเซอไรด์สะสมอยู่เป็นจำนวนมาก อาจเสี่ยงเป็นโรคอันตรายร้ายแรงได้หลายโรคเลยทีเดียว

ค่าปกติของไตรกลีเซอไรด์

ในผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงปกติ ระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดจะอยู่ที่ 50-150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ดังนั้นหากงดอาหารก่อนตรวจระดับไตรกลีเซอไรด์มานาน 8-12 ชั่วโมงแล้วผลที่ได้มากกว่า 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร นั่นหมายความว่ามีไขมันชนิดนี้สะสมอยู่ในปริมาณมาก ซึ่งอาจเกิดจากการรับประทานอาหารหรือเกิดจากร่างกายมีปัญหาในการกำจัดไตรกลีเซอไรด์ก็ได้

อันตรายของไตรกลีเซอไรด์สูง

การที่ร่างกายมีปริมาณไตรกลีเซอไรด์สะสมอยู่ในปริมาณมาก ทำให้มีความเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันมากยิ่งขึ้น เพราะทำให้เลือดเหนียวข้นมากขึ้นจากการที่ไขมันละลายอยู่ในเลือดมากเลือดจะเกาะตัวกันเป้นลิ่มและอุดตันอยู่ในหลอดเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก หลอดเลือดแดงเสื่อมได้ง่าย จึงทำให้อาจเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด โรคเส้นเลือดในสมองแตกจนเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตหรือเสียชีวิตได้ สำหรับผู้หญิงการมีไตรกลีเซอไรด์สูงๆ เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม เพราะจะไปกระตุ้นฮอร์โมนเอสโตรเจนเพิ่มมากขึ้น สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เป็นมะเร็งเต้านมได้ง่ายขึ้น

สาเหตุที่ไตรกลีเซอไรด์สูง

1.พฤติกรรมการทานอาหารที่ไม่ถูกต้อง โดยทานอาหารที่มีไขมันประเภทนี้มากเกินไป เช่น อาหารทอดๆหรืออาหารที่มีน้ำตาลสูง

2.ไม่ออกกำลังกาย ทำงานที่ต้องนั่งอยู่กับที่นานๆ

3. ดื่มสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ

4. ความเจ็บป่วยบางอย่างที่อาจส่งผลต่อระดับไตรกลีเซอไรด์ เช่น ป่วยเป็นโรคเบาหวาน

5. ความผิดปกติทางร่างกาย เช่น ร่างกายมีเอนไซม์ที่ช่วยย่อยไตรกลีเซอไรด์น้อยเกินไป

ไตรกลีเซอไรด์ต่ำอันตรายไหม?

แล้วเคยสงสัยไหมว่า หากร่างกายมีไตรกลีเซอไรด์ต่ำเกินมาตฐานจะมีอันตรายหรือไม่...คำตอบคือไม่อันตราย เพราะหากไตรกลีเซอไรด์ต่ำ ค่าเอสดีแอล(HDL) หรือไขมันดีจะสูงขึ้น ซึ่งหากไขมันดีเพิ่มมากขึ้นจะทำหน้าที่เปรียบเสมือนรถขนขยะ(คอเลสเตอรอล)ออกไป ไม่ให้สะสมในหลอดเลือด

วิธีตรวจหาค่าไตรกลีเซอไรด์ทำอย่างไร?

การตรวจหาไตรกลีเซอไรด์ทำได้โดยการเจาะเลือด โดยใครที่ต้องการเจาะเลือดเพื่อหาปริมาณไตรกลีเซอไรด์นี้ต้องงดอาหารเป็นเวลา 12 ชั่วโมงก่อนเจาะ

การควบคุมระดับไตรกลีเซอไรด์

หากไตรกลีเซอไรด์ในร่างกายสูง มีความเสี่ยงในการเป็นโรคร้ายมากมาย ซึ่งบางโรคเป็นอันตรายจนถึงแก่ชีวิต ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยที่มีไตรกลเซอไรด์สูงหรือผู้ที่มีสุขภาพร่างกายปกติ ควรใส่ใจดูแลสุขภาพตัวเอง เพื่อไม่ให้ไขมันตัวร้ายมาทำลายร่างกายได้ ส่วนวิธีควบคุมไตรกลีเซอไรด์มีดังนี้

1. ควบคุมการทานอาหาร ทานอาหารให้ถูกสัดส่วนและครบถ้วน 5 หมู่โดยเน้นโปรตีน วิตามินและเกลือแร่ อย่าทานอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลมากเกินไป เพราะถ้ามากกว่าที่ร่างกายต้องการ น้ำตาลจะเปลี่ยนรูปไปเป็นไขมันและสะสมอยู่ตามร่างกาย

2. งดหรือลดอาหารหวาน เช่น เครื่องดื่มสำเร็จรูปจำพวกน้ำผลไม้กล่อง น้ำอัดลม ชา กาแฟ ขนมขบเคี้ยวต่างๆ ลูกอม เบเกอรี่ ไอศกรีม ขนมไทยอย่าง ฝอยทอง เป็นต้น

3. แบ่งมื้ออาหาร โดยแบ่งเป็น 3-4 มื้อ ไม่ควรอดมื้อใดมื้อหนึ่ง อาหารจำพวกแป้ง เช่น ข้าว ไม่ควรทานเกินมื้อละ 2-3 ทัพพี หากไม่ใช่นักกีฬาที่ต้องกำลังมาก มื้อเช้าทานให้อิ่มเพราะสมองและร่างกายต้องการพลังงานมากจากสารอาหารที่ร่างกายรับเข้าไป มื้อกลางวันหรือมื้อที่สามลดลงมาเล็กน้อย ส่วนมื้อสุดท้ายควรทานแค่ประมาณครึ่งหนึ่งของมื้อเช้าเพราะร่างกายไม่ต้องใช้พลังตลอดทั้งวันแล้ว

4. ลด ละ เลี่ยงอาหารมันๆ เช่นอาหารที่ใช้น้ำมันปรุงเยอะ ใช้น้ำมันทอดซ้ำ เป็นต้น แต่ถ้าเป็นน้ำมันที่ได้มาจากปลาทะเลสามารถทานได้ เพราะช่วยเพิ่มไขมันดีให้ร่างกาย ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่ควรทานมากเกินไปและเมื่อทานไขมันที่ได้จากปลาทะเลแล้ว ต้องลดปริมาณการทานไขมันโดยรวมด้วยเช่นกัน

5. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ช่วยให้อัตราการเผาผลาญในร่างกายดีขึ้น ทำให้ร่างกายแข็งแรง ป้องกันการเจ็บป่วย หากใครต้องนั่งทำงานนานๆ แนะนำให้ขยับขาขยับแขนระหว่างทำงาน หรือลุกไปยืดเส้นยืดสายบางสักนิดจะดีกว่านั่งอยู่ตลอดทั้งวัน

6. เลิกสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ เป็นอีกข้อสำคัญที่ลืมไม่ได้โดยเด็ดขาด เพราะการไม่ดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่จะช่วยให้ตับลดการสังเคราะห์ไตรกลีเซอไรด์ลง ทำให้ไขมันในเลือดถูกกำจัดออกไปมากขึ้น เป็นการป้องกันการสร้างไตรกลีเซอไรด์เพิ่มในร่างกายนั่นเอง

7. ยารักษาโรค สำหรับใครที่ต้องทานยาอยู่เป็นประจำต้องระมัดระวัง เพราะการทานยาบางชนิดมีผลทำให้ระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดเพิ่มได้ เช่น ยาคุมกำเนิดบางชนิด ฮอร์โมนเพศหญิง ยาขับปัสสาวะ ใครที่ทานยาเหล่าควรปรึกษาแพทย์และเช็คระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดอย่างสม่ำเสมอ

จะเห็นได้ว่า "ไตรกลีเซอไรด์" ไม่ใช่ไขมันที่ทำให้อ้วนเท่านั้น เพราะยังส่งผลเสียต่อร่างกายอย่างมาก และเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคอื่นๆ ได้อีกหลายโรค ดังนั้นดูแลสุขภาพตัวเองให้แข็งแรงกันดีกว่า เพื่อไม่ให้เจ้าไขมันตัวร้ายมาทำลายเราได้ค่ะ