free web tracker, fire_lady ร่างกายต้องล้างพิษ (detox) อย่างสม่ำเสมอ จริงหรือ? • สุขภาพดี

ร่างกายต้องล้างพิษ (detox)

อย่างสม่ำเสมอ จริงหรือ?

ดีท็อกซ์ (Detoxification)

ดีท็อกซ์ หรือ Detoxification คือ วิธีการทำความสะอาดและขจัดสิ่งสกปรก ของเสีย กากอาหาร รวมทั้งสารพิษที่ตกค้างในอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอวัยวะในระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่าย ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นแหล่งเริ่มต้นของปัญหาสุขภาพต่างๆ เพราะสารพิษที่ปะปนมากับอาหารถูกนำเข้าสู่ร่างกายในปริมาณที่มากเกิน ส่วนมากจะใช้น้ำกาแฟ นํ้าสะอาด หรือนํ้าสมุนไพรต่างๆ สวนล้างเข้าไปในลำไส้ใหญ่ เพื่อให้ลำไส้สะอาด

การดีท็อกซ์ (Detoxification) มีความจำเป็นไหม?

แต่ตามปกติแล้วนั้นร่างกายเราจะสามารถขับของเสียต่างๆ ออกได้เองโดยวิธีธรรมชาติอยู่แล้ว ซึ่งมีอวัยวะที่ทำหน้าที่ขับของเสียโดยเฉพาะเช่น ลำไส้ใหญ่ ตับ ถุงนํ้าดี ไต ต่อมน้ำเหลือง ปอดและผิวหนัง ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นเลยที่ทุกคนจะต้องดีท็อกซ์ลำไส้ หรือทำความสะอาดลำไส้เป็นประจำ เนื่องจากอวัยวะแต่ละอย่าง ก็มีวิธีการขับของเสียออกจากร่างกายด้วยตัวมันเองอยู่แล้ว ซึ่งอวัยวะเหล่านั้นต่างก็มีหน้าที่ในการขับของเสียแต่ละชนิดแตกต่างกัน เราไปดูกันดีกว่าค่ะว่าอวัยวะส่วนไหน ขับของเสียออกอย่างไร และเราจะส่งเสริมประสิทธิภาพในการขับของเสียของอวัยวะเหล่านั้นได้อย่างไรบ้าง

1 การขับสารพิษทางไต ไตมีหน้าที่ขับน้ำและเกลือแร่ที่ล้นเกินออกทิ้งในรูปปัสสาวะ ของเสียที่ถูกขับออกทางไต ได้แก่ สารประกอบไนโตรเจน (BUN) (blood urea nitrogen) ครีอะตินีน (Cr) เกลือที่ล้นเกิน และสารพิษที่สามารถละลายน้ำได้ การเร่งการขับสารพิษออกทางไตสามารถทำได้ โดยการดื่มน้ำให้มากขึ้นกว่าปกติ เพราะน้ำจะเป็นตัวทำละลายที่ดี

2 การขับสารพิษทางอุจจาระ อาหารที่รับประทาน เมื่อผ่านการย่อยและถูกดูดซึมในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กแล้ว จะเหลือเป็นกากอาหาร และผ่านไปสู่ลำไส้ใหญ่ภายใน 6-8 ชั่วโมง กากอาหารจะต้องถูกขับออกจากลำไส้ภายใน 24 ชั่วโมง หากในแต่ละวันอาหารที่รับประทานมีสารเส้นใยเพียงพอ อุจจาระก็จะไม่คั่งค้างอยู่ในร่างกายให้เกิดสารพิษ แต่ถ้าอาหารที่กินเข้าไปมีสารเส้นใยไม่เพียงพอ เมื่อลำไส้ใหญ่ดูดเอานํ้าออกจากกากอาหารแล้ว จะเหลือสิ่งที่เป็นก้อนเหนียว มีลักษณะแข็ง ยากต่อการขับถ่าย บางครั้ง จะเป็นคราบตะกรันของอุจจาระติดกับผนังลำ ไส้ใหญ่ ซึ่งเป็นอาหารของแบคทีเรียตัวร้าย เช่น อีโคไล (Escherichia) คลอสตริเดียม (Clostridium) และซูโดโมแนส (Pseudomonas) สารเหล่านี้ จะสร้างสารเสียออกมาในรูปของสารที่มีกลิ่นเหม็นและอาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้การส่งเสริมประสิทธิภาพของระบบขับถ่าย สามารถทำได้โดยมีวิธีต่อไปนี้

  • กินอาหารที่มีเส้นใยเพียงพอ
  • ดื่มนํ้ามากๆ จะทำให้ร่างกายไม่ขาดนํ้า อุจจาระจะไม่แห้งแข็ง
  • เคลื่อนไหวร่างกายอย่างเพียงพอ เมื่อร่างกายได้เคลื่อนไหวลำไส้ก็จะเคลื่อนไหวไปด้วย
  • ฟังสัญญาณเตือนของร่างกาย เมื่อรู้สึกปวดอุจจาระหรือเมื่อตื่นนอน

3 การขับสารพิษทางผิวหนัง ผิวหนังมีหน้าที่ปกป้องอวัยวะภายใน และกล้ามเนื้อ นอกจากนั้น ผิวหนังมีหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย หากอุณหภูมิภายในร่างกายสูงขึ้น ผิวหนังจะระบายความร้อนออกทางรูเปิดของต่อมเหงื่อ ขับหยดเหงื่อพร้อมกับความร้อนออกไปนอกร่างกาย ทำให้อุณหภูมิร่างกายเย็นลง นอกจากนั้นเหงื่อยังนำสารพิษที่อยู่ในร่างกายออกไปด้วย สารพิษนั้นได้แก่ ยูเรีย (Urea) ซึ่งเป็นของเสียชนิดเดียวกับสิ่งที่ไตขับออกนอกร่างกายพร้อมด้วยสารเสียที่เกิดจากกระบวนการเมตาโบลิซึมในร่างกาย บางครั้งเมื่อร่างกายมีสารพิษคั่งค้างอยู่มากก็จะมีกลิ่นตัวแรงการขับสารพิษทางผิวหนังกระทำได้โดยการกระตุ้นการขับเหงื่อ การกระตุ้นการขับเหงื่อสามารถทำได้หลายวิธี เช่น อบความร้อน อบสมุนไพร อบซาวน่า แช่นํ้าร้อน อาบแดด เมื่ออุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น ร่างกายจะสั่งให้เลือดไปเลี้ยงผิวหนังมากขึ้น เอาน้ำจากเลือดไปกลั่น เป็น เหงื่อเพื่อระบายเอาความร้อนออก สารพิษที่ถูกกำจัดออกทางเหงื่อก็จะออกไปนอกร่างกายได้มากขึ้น

เห็นไหมคะว่าโดยปกติแล้วร่างกายของเราก็สามารถดีท็อกซ์ ขับสารพิษออกทางระบบต่างๆได้เป็นประจำทุกวันอยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นเลยที่คุณจะต้องไปสวนล้างลำไส้ทุกๆ สัปดาห์หรือทุกๆ เดือน ควรหันมาดูแลระบบต่างๆในร่างกายให้ทำงานตามปกติจะดีกว่าค่ะ

บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการดีท็อกซ์