free web tracker, fire_lady “โรคสะเก็ดเงิน” สาเหตุ อาการของผิวหนังเป็นผื่นแดง ลอกอย่างเรื้อรัง • สุขภาพดี

โรคสะเก็ดเงิน” สาเหตุ อาการของผิวหนังเป็นผื่นแดง และลอกอย่างเรื้อรัง

โรคสะเก็ดเงิน สาเหตุ อาการ

อาการคันสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย บางคนก็มีอาการคันรุนแรงและเรื้อรัง ทำให้เกิดโรคผิวหนังเรื้อรังได้ “โรคสะเก็ดเงิน” (Psoriasis) ก็ถือเป็นโรคผิวหนังเรื้อรังอย่างหนึ่งที่เกิดจากการแบ่งตัวผิดปกติของเซลล์ผิวหนังอย่างรวดเร็ว โดยการกระตุ้นของสารเคมีจากเซลล์เม็ดเลือดขาวที่เรียกว่า ลิมโฟไซต์ (Lymphocytes) ชนิดเซลล์ที (T-cell) ทำให้เกิดการอักเสบจนเกิดเป็นผื่นหนาขนาดใหญ่ มีลักษณะเป็นสีเงินและแดงที่ผิวหนังทั่วร่างกาย สามารถเกิดได้ในทุกเพศทุกวัย

สาเหตุของโรคสะเก็ดเงิน

โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดว่าเกิดจากอะไร แต่เป็นสภาวะที่ภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติจนทำให้เซลล์ผิวหนังมีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว และร่างกายไม่สามารถควบคุมการแบ่งตัวได้ ทำให้ผิวหนังเกิดทับซ้อนกันจนหนาขึ้น แตกเป็นขุย คาดว่ากลไกที่ทำให้เกิดโรคอาจมาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ

1. ระบบภูมิคุ้มกัน โดยปกติเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดที่เรียกว่า ลิมโฟไซต์ชนิดเซลล์ที จะทำลายสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย แต่เมื่อเกิดความผิดปกติจึงทำให้เซลล์เม็ดเลือดขาวทำหน้าที่ผิดไปด้วย โดยจะเข้าไปทำลายเซลล์ผิวหนังแทน

2. กรรมพันธุ์ ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้หรือเป็นโรคผิวหนังอื่นๆ มีโอกาสเสี่ยงมากที่จะเป็นโรคสะเก็ดเงิน

3. การบาดเจ็บบริเวณผิวหนัง เมื่อผิวหนังถูกทำลายหรือได้รับบาดเจ็บ โดนแมลงกัด ผิวหนังไหม้ การสัก หรือการเสียดสีบริเวณผิวหนังมากเกินไป

4. การติดเชื้อบางชนิด เชื้อบางชนิดสามารถกระตุ้นให้ผิวหนังได้รับความเสียหายได้ โดยเฉพาะเชื้อบริเวณลำคอและระบบทางเดินหายใจ เช่น เชื้อหวัด ปอดบวม หลอดลมอักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบ หรือเชื้อเอชไอวี

5. ยาบางประเภทอาจส่งผลให้มีการพัฒนาของโรคได้ เช่น ยาลิเทียม (Lithium) ใช้รักษาโรคไบโพลาร์และโรคทางจิต ยารักษาภาวะความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจอย่างยาในกลุ่มเบต้า บล็อกเกอร์ (Beta Blocker) หรือยาในกลุ่มเอซีอี อินฮิบิเตอร์ (ACE Inhibitors) ยาอินโดเมทาซิน (Indomethacin) ที่เป็นยาต้านการอักเสบ เป็นต้น

6. น้ำหนัก ผู้ที่เป็นโรคอ้วนหรือมีปัญหาน้ำหนักเกิน จะเกิดรอยพับหรือรอยย่นบริเวณผิวหนัง ทำให้มีโอกาสเกิดโรคนี้ได้มากกว่าคนทั่วไป

7. ความเครียด ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ มีผลทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายต้องตอบสนองต่อความเครียดที่เกิดขึ้นมากกว่าปกติ

8. การดื่มแอลกอฮอล์ อาจเป็นตัวกระตุ้นให้อาการกำเริบมากขึ้น

9. ผู้ที่สูบบุหรี่และผู้ที่ได้รับควันบุหรี่ มีโอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคนี้สูงขึ้น ส่วนในรายที่มีอาการอยู่แล้วอาจทำให้อาการแย่ลง

ชนิดของโรคสะเก็ดเงิน

หากจำแนกประเภทของโรคสะเก็ดเงินพบว่ามีอยู่หลายชนิด แต่ที่พบได้บ่อยมีดังนี้

ชนิดของโรคสะเก็ดเงิน

1. โรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นหนาหรือปื้นหนา (Plaque Psoriasis/Psoriasis Vulgaris) เป็นชนิดที่พบมากที่สุด บริเวณผิวหนังจะมีลักษณะเป็นผื่นแดงหนาคลุมด้วยสีเงิน ส่วนใหญ่มักเกิดกับผิวบริเวณข้อศอก หัวเข่า และหนังศีรษะ

2. โรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นขนาดเล็ก (Guttate Psoriasis) เป็นชนิดที่มักเกิดกับเด็กและวัยรุ่น ลักษณะผิวหนังจะเป็นจุดสีชมพูขนาดเล็กและอาจกลายเป็นผื่นหนาสีแดงได้ เกิดได้บ่อยที่แขน ขา หรือตามลำตัว

3. โรคสะเก็ดเงินชนิดที่มีตุ่มหนอง (Pustular Psoriasis) เป็นชนิดที่เกิดได้มากในวัยผู้ใหญ่ บริเวณผิวหนังมีตุ่มหนองสีขาวกระจายเป็นวงกว้างและเกิดการอักเสบจนแดง มักพบตามแขนขา และอาจเกิดการแพร่กระจายไปทั่วลำตัวได้ บางรายอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ไข้ขึ้น รู้สึกคัน และไม่อยากอาหาร 

4. โรคสะเก็ดเงินชนิดเกิดตามข้อพับ (Inverse Psoriasis/Intertriginous Psoriasis) บริเวณผิวหนังจะเป็นผื่นแดง มีความเรียบและเงา มักเกิดขึ้นตามข้อพับและซอกต่าง ๆ ตามร่างกาย เช่น รักแร้ ขาหนีบ หรือรอบอวัยวะเพศ 

5. โรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นแดงลอกทั่วตัว (Erythrodermic Psoriasis) เป็นชนิดที่รุนแรงและพบได้น้อย โดยผิวหนังจะเกิดผื่นแดงขนาดใหญ่และลอกอย่างรุนแรง ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกคันและเจ็บ

อาการของโรคสะเก็ดเงิน

โดยปกติแล้วอาการของโรคสะเก็ดเงินอาจแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับชนิดของโรคที่เป็น แต่ลักษณะและอาการที่พบได้บ่อย มีดังนี้

1. มีผื่นแดงนูน เกิดการอักเสบของผิวหนัง
2. ผิวหนังแดง ตกสะเก็ดเป็นขุยสีขาว
3. ผิวแห้งมาก อาจถึงขั้นแตกและมีเลือดออก
4. รู้สึกเจ็บ คัน หรือแสบร้อนบริเวณที่เกิดผื่น
5. เล็บมือและเท้าหนาขึ้น มีรอยบุ๋ม และผิดรูปทรง
6. หนังศีรษะลอกเป็นขุย
7. ปวดตามข้อต่อและเกิดอาการบวมตามข้อต่อ

ผู้ป่วยอาจมีอาการเหล่านี้เพียงบางอาการหรืออาจเป็นทั้งหมดก็ได้ แต่มักจะเกิดกับผิวหนังได้ทั่วร่างกาย อาการของโรคอาจคงอยู่นานหลายวันไปจนถึงหลายสัปดาห์ แล้วค่อยๆ บรรเทาลง แต่เมื่อมีสิ่งกระตุ้นก็อาจทำให้อาการของโรคกลับมาใหม่ อย่างไรก็ตามในรายที่ไม่พบอาการกำเริบก็ไม่ได้แปลว่าหายขาดจากโรคสะเก็ดเงิน แต่อยู่ในช่วงระยะสงบของโรคจึงทำให้ไม่แสดงอาการออกมา

ภาวะแทรกซ้อนของโรคสะเก็ดเงิน

นอกจากอาการของโรคสะเก็ดเงินที่เราพบแล้ว ผู้ป่วยยังสามารถมีภาวะแทรกซ้อนของโรคสะเก็ดเงินได้ ดังนี้

1. โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน เป็นโรคที่มีการอักเสบของข้อต่อร่วมกับผื่นผิวหนังสะเก็ดเงินไปพร้อมกัน
2. โรคมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
3. การติดเชื้อ โดยเฉพาะการติดเชื้อบริเวณผิวหนังที่เกิดการอักเสบ
4. โรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งอาจเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยารักษาโรคสะเก็ดเงินบางตัว
5. ผลข้างเคียงหลังการรักษา เช่น ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีการส่องไฟอาจเสี่ยงต่อโรคมะเร็งผิวหนัง
6. ปัญหาทางด้านจิตใจ ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล เกิดความลำบากในการใช้ชีวิต เนื่องจากสภาพร่างกายภายนอกที่เกิดโรค

การวินิจฉัยโรคสะเก็ดเงิน

ในเบื้องต้นแพทย์จะสอบถามอาการ ประวัติการเจ็บป่วย รวมไปถึงการตรวจร่างกายและบริเวณผิวหนังที่เกิดความผิดปกติ ในบางรายที่อาการไม่ชัดเจนแพทย์อาจตรวจเพิ่มเติมโดยการเก็บตัวอย่างจากผิวหนังไปตรวจวิเคราะห์ จะทำให้รู้ถึงสาเหตุการเกิดของโรคและชนิดของโรคที่ชัดเจน เพื่อช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนในรายที่พบว่าเป็นโรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน (Psoriatic Arthritis) อาจต้องมีการตรวจเลือดหรือเอกซเรย์เพื่อหาชนิดของโรคไขข้อกระดูก

การรักษาโรคสะเก็ดเงิน

โรคสะเก็ดเงินนั้นไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ทำได้เพียงบรรเทาอาการให้ดีขึ้น ซึ่งมีวิธีการรักษาได้เป็นหลายวิธี ดังนี้

1. ยาทาภายนอก เป็นยาในรูปแบบครีมและน้ำมัน โดยจะทาบริเวณผิวหนังที่มีอาการโดยตรง เช่น ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ ยาทาในกลุ่มกรดวิตามินเอ ยาแอนทราลิน ยาในกลุ่มสารเลียนแบบวิตามินดี กรดซาลิซิลิก มอยส์เจอร์ไรเซอร์ ยาในกลุ่มยับยั้งแคลซินูริน หรือยาโคลทาร์ วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง 

2. ยารับประทานและยาฉีด เป็นวิธีที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปานกลางถึงรุนแรง ก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้ แพทย์จึงแนะนำให้ใช้ยาในระยะสั้น โดยยาที่ใช้มีหลายกลุ่ม ได้แก่ ยากลุ่มเรตินอยด์ ยาไซโคลสปอริน ยาเมโธเทรกเซท และยากลุ่มสารชีวภาพ วิธีนี้มักใช้ในผู้ป่วยที่รักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล  

3. การส่องไฟ (Phototherapy) เป็นวิธีการรักษาที่ใช้รังสีอัลตราไวโอเลต เอ (UVA) และรังสีอัลตราไวโอเลต บี (UVB) ช่วยฆ่าเซลล์เม็ดเลือดขาวที่กระตุ้นให้เซลล์ผิวหนังมีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปานกลางจนถึงขั้นรุนแรง

ผู้ป่วยที่มีอาการปานกลางจนถึงรุนแรงมักต้องใช้วิธีการรักษาหลายวิธี จึงจะช่วยลดอาการลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ผู้ป่วยควรดูแลเรื่องการรับประทานอาหาร ระมัดระวังการรับประทานวิตามินเสริม หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่ รวมไปถึงการลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

การป้องกันโรคสะเก็ดเงิน

ทางที่ดีที่สุดในการป้องกันโรคสะเก็ดเงิน คือ ต้องพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นการเกิดโรค โดยสามารถทำได้ตามคำแนะนำต่อไปนี้

1. ไม่ควรเครียด เพราะเมื่อเกิดความเครียดจะทำให้ร่างกายเกิดการอักเสบ ซึ่งเป็นผลมาจากปฏิกิริยาตอบสนองจากร่างกาย ดังนั้นจึงควรหาวิธีการผ่อนคลาย เช่น ออกกำลังกาย ปรึกษากับคนรอบข้าง หรือนั่งสมาธิ เป็นต้น

2. หลีกเลี่ยงการรับประทานยาบางชนิด เพราะยาบางชนิดส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เช่น ยาลิเทียม ยาต่อต้านมาลาเรีย ยาลดความดันโลหิต ยาในกลุ่มลดการอักเสบ ผู้ที่ใช้ยาในกลุ่มนี้ควรปรึกษาแพทย์ก่อน

3. ดูแลผิวหนังไม่ให้เกิดการบาดเจ็บ เพราะผิวหนังที่ได้รับการบาดเจ็บอาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดโรคขึ้นได้ ดังนั้นจึงควรมีการปกป้อง เช่น ทาครีมกันแดดก่อนออกแดด ฉีดสเปรย์ป้องกันแมลง และเมื่อเกิดความผิดปกติบริเวณผิวหนังควรพบแพทย์เพื่อรักษา

4. ดูแลร่างกายไม่ให้ติดเชื้อ เพราะเมื่อร่างกายได้รับเชื้อต่าง ๆ จะทำให้เกิดการอักเสบบริเวณที่ได้รับเชื้อ จึงควรดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ล้างมือบ่อยๆ และไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย

5. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในสัดส่วนที่เหมาะสมในแต่ละวัน เพราะการเลือกรับประทานอาหารยังสามารถช่วยลดความเสี่ยงของโรคอ้วนที่เป็นปัจจัยกระตุ้นการเกิดโรคสะเก็ดเงินได้

"โรคสะเก็ดเงิน" เป็นโรคที่ปรากฏอาการภายนอกจึงสร้างความไม่มั่นใจและความวิตกกังวลให้แก่ผู้ป่วยอยู่ไม่น้อย ดังนั้นผู้ที่มีปัญหาผิวหนังหรือป่วยเป็นโรคนี้ควรรักษาความสะอาด และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อให้อาการของโรคทุเลาลงและไม่เป็นที่กังวลใจอีกต่อไป