free web tracker, fire_lady “โรคภูมิแพ้อากาศ” รู้สาเหตุ-อาการ รักษาถูกวิธี อาการดีขึ้นชัวร์ • สุขภาพดี

โรคภูมิแพ้อากาศ” รู้สาเหตุ-อาการ รักษาถูกวิธี อาการดีขึ้นชัวร์

โรคภูมิแพ้อากาศ สาเหตุ อาการ

โรคภูมิแพ้กำเริบจนทนไม่ได้ หมอก็ขอให้หนีจากกรุงเทพไป ที่เลือกมาจังหวัดนี้ เพราะเห็นว่าอากาศดีกว่าที่ใด” โรคภูมิแพ้อากาศเป็นโรคหนึ่งที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจและมีความไวต่อสภาพอากาศอย่างยิ่ง ดังนั้นใครที่คิดว่าโรคนี้ไม่ใช่โรคร้ายแรงแล้วจะปล่อยไว้เฉยๆ ควรเปลี่ยนความคิดเสียใหม่

โรคภูมิแพ้อากาศ คือ?

โรคภูมิแพ้อากาศ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “จมูกอักเสบจากภูมิแพ้” (Allergic Rhinitis) คือ การอักเสบของเนื้อเยื่อจมูกเมื่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ในอากาศ เช่น ฝุ่นละออง ไรฝุ่น เกสรดอกไม้ แมลงสาบ ควันบุหรี่ เป็นต้น ซึ่งมักทำให้ผู้ป่วยมีอาการจาม คัดจมูก คันจมูก น้ำมูกไหล และเจ็บคอ โรคนี้ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่หากเกิดร่วมกับหอบหืดหรือมีอาการแพ้อย่างรุนแรง (Anaphylaxis) อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการที่แย่ลงเรื่อยๆ ได้

สาเหตุของโรคภูมิแพ้อากาศ

โรคภูมิแพ้อากาศเกิดจากการอักเสบของเนื้อเยื่อจมูก หู ตา ไซนัส และลำคอ ซึ่งเป็นปฏิกิริยาการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันต่อสารก่อภูมิแพ้ เพื่อกำจัดสารก่อภูมิแพ้ในอากาศออกจากร่างกาย โรคนี้แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่

  • ภูมิแพ้อากาศที่เป็นเฉพาะฤดูกาล (Seasonal Allergic Rhinitis) ภูมิแพ้ชนิดนี้ทำให้สารก่อภูมิแพ้เกิดขึ้นหรือกระจายในอากาศเพิ่มขึ้นในบางฤดูกาล เช่น ภูมิแพ้เกสรดอกไม้
  • ภูมิแพ้อากาศที่เป็นตลอดทั้งปี (Perennial Allergic Rhinitis) ผู้ป่วยจะได้รับสารก่อภูมิแพ้เข้าสู่ร่างกายได้จากสภาพแวดล้อมทั่วไป เช่น ภูมิแพ้ไรฝุ่น เชื้อรา หรือแมลงสาบ เป็นต้น
สาเหตุโรคภูมิแพ้อากาศ

นอกจากนี้ผู้ที่มีคนในครอบครัวเคยเป็นภูมิแพ้หรือเป็นหอบหืดจะเสี่ยงเป็นโรคนี้สูงขึ้น รวมทั้งวัยเด็กอาจเสี่ยงต่อการเป็นภูมิแพ้อากาศสูงกว่าวัยผู้ใหญ่ และเด็กผู้ชายก็มีความเสี่ยงสูงกว่าเด็กผู้หญิง โดยอายุเฉลี่ยจะเริ่มที่ประมาณ 8 – 11 ปี และยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่อาจกระตุ้นให้อาการของโรคแย่ลง ได้แก่

1. การได้รับควันบุหรี่ สารเคมี ควัน หรือมลพิษในอากาศ
2. อยู่ในที่ที่มีอากาศเย็น มีความชื้น หรือมีลมพัด
3. การได้รับสเปรย์แต่งผม หรือน้ำหอมที่มีกลิ่นฉุน

อาการของโรคภูมิแพ้อากาศ

อาการของโรคภูมิแพ้โดยทั่วไปมักไม่ค่อยแตกต่างจากอาการของโรคหวัดธรรมดา ซึ่งอาการของโรคภูมิแพ้อากาศจะมี ดังนี้

อาการโรคภูมิแพ้อากาศ
  • มีอาการจาม ไอ หรือรู้สึกเจ็บคอ
  • รู้สึกคันจมูก ปาก หู ตา ผิวหนัง หรือบริเวณอื่นๆ
  • มีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล มีเสมหะ และไม่รับรู้กลิ่น
  • ปวดศีรษะ
  • ปวดหูหรือหูอื้อ
  • น้ำตาไหล ตาแดง ตาบวม หรือขอบตาคล้ำ
  • รู้สึกอ่อนเพลีย ง่วงซึม รู้สึกไม่สบายตัว หรือหงุดหงิดง่าย
  • ผิวหนังแห้งและคันคล้ายเป็นผื่นผิวหนังอักเสบ หรือเป็นลมพิษ

โดยปกติผู้ป่วยมักจะจาม คัดจมูก คันจมูก และมีน้ำมูกไหลทันทีเมื่อสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ในอากาศ แต่บางอาการมักเกิดขึ้นเมื่อสัมผัสกับสารดังกล่าวเป็นเวลานานๆ หรือในปริมาณมาก อาการป่วยจะไม่รุนแรง ยกเว้นบางรายที่มีอาการแพ้รุนแรงอยู่แล้วซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้นหากมีสัญญาณของอาการแพ้รุนแรง เช่น กระสับกระส่าย สับสน ผิวหนังเป็นผื่นคัน หน้าบวม ชีพจรเต้นเบา หอบ พูดไม่ชัด และช็อก ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

ภาวะแทรกซ้อนของโรคภูมิแพ้อากาศ

นอกจากอาการของโรคภูมิแพ้อากาศที่ผู้ป่วยจะต้องประสบแล้วนั้น ผู้ป่วยอาจจะต้องประสบกับภาวะแทรกซ้อนของโรคภูมิแพ้อากาศด้วยซึ่งมีอาการ ดังนี้

1. หอบหืดกำเริบ หรือมีอาการของภูมิแพ้และหอบหืดแย่ลง
2. เยื่อบุตาอักเสบ
3. มีอาการไซนัสอักเสบเฉียบพลันหรือเรื้อรัง
4. หูชั้นกลางอักเสบ หรือท่อยูสเตเชียนซึ่งเป็นท่อที่เชื่อมต่อระหว่างหูชั้นกลางกับโพรงหลังจมูกทำงานผิดปกติ
5. ปวดศีรษะบ่อยๆ
6. ฟันสบลึกจากการหายใจทางปากเป็นเวลานานๆ
7. มีปัญหาเกี่ยวกับการนอน เช่น นอนหลับยาก ตื่นกลางดึกบ่อยๆ หรือหยุดหายใจขณะนอนหลับ

การวินิจฉัยโรคภูมิแพ้อากาศ

แพทย์จะวินิจฉัยผู้ป่วยจากประวัติทางการแพทย์และการตรวจร่างกาย โดยอาจตรวจเลือดหรือวิเคราะห์ภาพถ่ายรังสีเพิ่มเติมในบางราย โดยมีการตรวจวินิจฉัย ดังนี้

1. การตรวจจมูก โดยผู้ป่วยอาจมีรอยย่นในแนวนอนบริเวณกลางจมูก มีน้ำมูก และผนังกลางจมูกเอียงหรือทะลุ

2. การตรวจหู ตา และคอ โดยผู้ป่วยอาจมีเยื่อแก้วหูผิดปกติ มีเยื่อบุตาบวมแดง มีน้ำตามาก มีรอยย่นที่ใต้หนังตาล่าง และมีรอยคล้ำใต้ตา

3. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยแพทย์อาจทดสอบภูมิแพ้ต่อสารก่อภูมิแพ้บนผิวหนัง และอาจตรวจเลือดวัดปริมาณเม็ดเลือดขาวอีโอซิโนฟิลและอิมมูโนโกลบูลิน อี ซึ่งเป็นสารภูมิต้านทานที่ตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ในเลือด

การรักษาโรคภูมิแพ้อากาศ

ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้อากาศควรดูแลตัวเองและหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ในอากาศ รวมทั้งควรไปปรึกษาแพทย์ ซึ่งการรักษาส่วนใหญ่อาจใช้ยาดังนี้

วิธีรักษาโรคภูมิแพ้อากาศ

1. ยาต้านฮิสตามีน เช่น ลอราทาดีน เซทิริซีน เฟ็กโซเฟนาดีน ไดเฟนไฮดรามีน เด็สลอราทาดีน ลี และโวเซทิริซีน เป็นต้น โดยจะใช้ยาในกลุ่มนี้เพื่อลดการหลั่งสารฮิสตามีนซึ่งทำให้เกิดอาการแพ้ โดยผู้ป่วยควรระมัดระวังผลข้างเคียงของยา โดยเฉพาะอาการง่วงนอนหลังจากการใช้ยา

2. ยาลดน้ำมูก เช่น ออกซีเมทาโซลีน ซูโดเอฟีดรีน จะใช้ยาในกลุ่มนี้เพื่อลดอาการคัดจมูกและลดความดันที่ไซนัส หากมีปัญหาสุขภาพอื่นๆ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นโรคหลอดเลือดสมอง มีภาวะวิตกกังวล ความดันโลหิตสูง หรือกระเพาะปัสสาวะทำงานผิดปกติควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา

3. ยาหยอดตาและยาพ่นจมูก จะใช้ยาในกลุ่มนี้เพื่อลดการอักเสบและลดการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันที่มากเกินไป โดยการเลือกชนิดของยาหยอดตาและยาพ่นจมูก รวมทั้งระยะเวลาในการใช้ยาควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาเพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีที่สุด

4. ยายับยั้งลูโคไตรอีน จะใช้ยานี้ในการยับยั้งสารลูโคไตรอีนที่ร่างกายหลั่งออกมา เมื่อเกิดการอักเสบซึ่งกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ได้

5. วัคซีนภูมิแพ้ โดยแพทย์จะฉีดสารก่อภูมิแพ้เข้าสู่ร่างกายหรือให้ผู้ป่วยอมยาจนกว่าผู้ป่วยจะมีอาการแพ้ที่ทุเลาลงหรือหายขาด ซึ่งแพทย์จะใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่รักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล ทั้งนี้ต้องระวังอาการแพ้รุนแรงที่อาจเกิดขึ้นด้วย ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรปรึกษาแพทย์ให้ดีก่อนรับการรักษานี้

การป้องกันการเกิดโรคภูมิแพ้อากาศ

วิธีการป้องกันการเกิดโรคภูมิแพ้อากาศที่ดีที่สุดคือ การหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ในอากาศนอกจากนี้ผู้ป่วยภูมิแพ้อากาศควรดูตัวเองด้วยวิธีต่างๆ ดังต่อไปนี้

1. ดูแลสุขลักษณะภายในบ้านให้สะอาด เช่น ทำความสะอาดพื้นด้วยการถู ซึ่งดีกว่าการกวาดที่ทำให้ฝุ่นละอองฟุ้งกระจาย หรืออาจใช้เครื่องดูดฝุ่นที่มีแผ่นกรองประสิทธิภาพสูงแทนการกวาด และควรซัก
เครื่องนอนในน้ำร้อนทุกสัปดาห์ เป็นต้น

2. หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีการฟุ้งกระจายของเกสรดอกไม้ หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ควรอาบน้ำทันที
หลังกลับเข้าบ้าน

3. หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยง หากมีสัตว์เลี้ยงต้องทำความสะอาดบ้านเป็นประจำ ล้างมือและซักเสื้อผ้าทันทีหลังจากสัมผัสกับสัตว์เลี้ยง และไม่นำสัตว์เลี้ยงขึ้นเตียงนอน

4. หากเดินทางด้วยรถยนต์ควรปิดกระจกให้สนิท หรือหากเดินทางด้วยรถจักรยานหรือรถจักรยานยนต์ควรสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันสารก่อภูมิแพ้ในอากาศ

5. รับประทานยาต้านฮิสตามีนตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อป้องกันอาการภูมิแพ้กำเริบ

สมุนไพรรักษาโรคภูมิแพ้อากาศ

โดยส่วนใหญ่แล้วสมุนไพรที่นำมาใช้ในการรักษาโรคภูมิแพ้อากาศจะมีสรรพคุณช่วยยับยั้งการอักเสบของจมูก ช่วยบรรเทาอาการคัดจมูก แก้น้ำมูกไหล และบรรเทาอาการเจ็บคอ ซึ่งมีสมุนไพรดังต่อไปนี้

1. ฟ้าทะลายโจร โดยใช้ใบและกิ่งของฟ้าทะลายโจรมาตากแห้งแล้วบดเป็นผง ผสมกับน้ำผึ้งปั้นเป็นเม็ดลูกกลอน รับประทานทานเช้า – เย็น จะช่วยบรรเทาอาการคัดจมูก และแก้เจ็บคอได้

2. หอมแดง ใช้หอมแดงประมาณ 4 – 5 หัว ทุบพอแตกต้มกับน้ำ 1 ลิตร พอเดือดก็ยกลง สูดไอระเหยเข้าทางจมูกประมาณ 5 – 10 นาที จะช่วยบรรเทาอาการคัดจมูก ทำให้รู้สึกโล่งจมูก

3. ตะไคร้ ใช้ตะไคร้ประมาณ 3 – 4 ต้น ทุบพอแตก ต้มกับน้ำ 1 ลิตร นำมาจิบไปเรื่อยๆ จะช่วยลดอาการน้ำมูกไหล และช่วยให้หายใจได้สะดวกขึ้น

4. กระเทียม นำกระเทียมประมาณ 6 – 7 กลีบ มารับประทานสดๆ พร้อมกับมื้ออาหาร จะช่วยแก้คัดจมูก
และช่วยบรรเทาอาการหลอดลมอักเสบได้

5. ขิง โดยนำขิงแก่ 1 หัว มาหั่นบางๆ ต้มกับน้ำ 1 ลิตร แล้วนำมาจิบเรื่อยๆ ขณะยังอุ่น จะช่วยลดน้ำมูกได้ดี และช่วยให้หายใจโล่งมากขึ้น

6. หญ้าใต้ใบ ใช้ต้นหญ้าใต้ใบสดประมาณ 3 – 4 ต้น หั่นเป็นท่อนๆ ต้มกับน้ำ 1 ลิตร กรองด้วยผ้าขาวบาง
นำมาดื่มเช้า – เย็น จะช่วยให้น้ำมูกแห้ง และทำให้หายใจได้โล่งมากขึ้น

ได้รู้ถึงสาเหตุ อาการ และวิธีดูแลรักษาโรคภูมิแพ้อากาศกันไปแล้ว...จะเห็นว่าจากอาการป่วยเพียงเล็กน้อยอาจกลายเป็นเรื่องลุกลามใหญ่โตได้ หากไม่ได้รับการรักษาหรือการดูแลตัวเองที่ถูกต้องตั้งแต่แรกๆ ดังนั้นไม่ว่าจะป่วยเป็นโรคอะไรก็ตามหากรู้ตั้งแต่เนิ่นๆ และรีบรักษาให้ถูกต้อง โรคที่เป็นก็จะไม่รุนแรงและสามารถหายได้