free web tracker, fire_lady รู้เท่าทัน “ไวรัสซิกา” ภัยเงียบจากยุงลาย โรคร้ายไร้วัคซีน • สุขภาพดี

รู้เท่าทัน "ไวรัสซิกา" ภัยเงียบจากยุงลาย โรคร้ายไร้วัคซีน

ไวรัสซิกา Zika virus

"เชื้อไวรัส" เป็นเชื้อโรคที่ปัจจุบันยังไม่มีวิธีกำจัดอย่างเด็ดขาด หากใครเจ็บป่วยเนื่องจากเชื้อไวรัสแล้ว ทำได้อย่างมากก็คือรักษาตามอาการ ซึ่งหากไม่ใช่โรคร้ายแรงอะไรก็ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวนัก แต่กับ กระแสเชื้อวรัสซิก (Zika virus) นั้น ความน่ากลัวของมันมีเหนือกว่าเชื้อไวรัสชนิดอื่น ดังนั้น จึงมีกระแสข่าวออกมาว่า กรมควบคุมโรคพยายามปิดบังข้อมูลเกี่ยวกับมีคนไทยป่วยด้วยเชื้อโรคนี้เอาไว้ เพราะเกรงว่าคนไทยจะตื่นตระหนกเกินความเป็นจริง และเพื่อไม่ให้ตัวเราเองพลอยตื่นตระหนกกับข่าวลือที่อาจเกิดขึ้นในช่วงนี้ เราจึงควรมาทำความรู้จักไวรัสซิก้า ภัยเงียบจากยุงลาย โรคร้ายไร้วัคซีนให้ดียิ่งขึ้น

ต้นกำเนิดของ "ไวรัสซิกา" (Zika virus)

จากข้อมูลที่บันทึกไว้ของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวถึงโรคไข้ซิกานี้ว่า “ไวรัสซิกาถูกแยกเชื้อครั้งแรกในปีพ.ศ.2490 จากน้ำเหลืองของลิง rhesus ที่ใช้ในการศึกษาไข้เหลืองในป่าชื่อซิกา ประเทศยูกันดา และแยกเชื้อได้จากคนในปีพ.ศ.2511 ณ ประเทศไนจีเรีย”

และมีข้อมูลอีกว่า ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2494 ถึง 2535 มีข้อบ่งชี้ทางน้ำเหลืองวิทยาว่ามีการติดเชื้อไวรัสซิกา ในประเทศกลุ่มแอฟริกาได้แก่อูกันดา แทนซาเนีย  อียิปต์  อัฟริกากลาง สาธารณรัฐเซียร์ราลีโอน และกาบอง ในส่วนของเอเชียมีรายงานพบในประเทศอินเดีย  มาเลเซีย  ฟิลิปปินส์  ไทย  เวียดนาม และอินโดนีเซีย

"ไวรัสซิกา" นี้เคยมีการแพร่ระบาดมาแล้วเมื่อหลายปีก่อน แม้แต่ในประเทศไทยเอง และล่าสุดปี 2556 มีหญิงชาวแคนาดามาเที่ยวเมืองไทยในช่วงเดือนม.ค.-ก.พ.56 เมื่อกลับถึงประเทศเพียง 4 วันก็เริ่มป่วยด้วยโรคนี้จึงเป็นที่โจษขานกันว่า เชื้อโรคนี้ฝังตัวอยู่ในประเทศไทย

ไวรัสซิกา...อันตรายที่เกิดจากยุงลาย ทำลายระบบสมอง

ข้อมูลของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ระบุว่า "ไข้ซิกา" เกิดจากยุงลายเป็นพาหะนำโรค เป็นเชื้อไวรัสตระกูลเฟลวิไวรัสที่ส่งผลต่อการทำงานของสมอง

หากหญิงตั้งครรภ์ได้รับเชื้อ มีโอกาสเสี่ยงสูงจะทำให้ทารกที่อยู่ในครรภ์มีความผิดปกติตั้งแต่แรกเกิด มีภาวะศีรษะเล็กแต่กำเนิด แคระแกร็น มีพัฒนาการช้า และอันตรายที่น่ากลัวก็คือ ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนหรือยาสำหรับรักษาโรคไข้ซิกาเฉพาะ ทำได้เพียงแค่ควบคุมและลดปริมาณในการขยายตัวของยุงลายโดยการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์เพื่อลดความเสี่ยงและลดการแพร่กระจายของโรคเท่านั้น

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคไข้ไวรัสซิกา

เนื่องจากพาหะของไข้ซิกาคือยุงลาย เมื่อยุงลายที่มีเชื้อนี้อยู่ในตัว เมื่อมากัดเราก็จะแพร่เชื้อโรคนี้ผ่านทางเลือด นอกจากนั้น การแพร่โรคนี้ยังเกิดขึ้นได้กรณีหญิงที่ป่วยเป็นโรคนี้และกำลังตั้งครรภ์อยู่ก็จะถ่ายทอดเชื้อโรคเข้าสู่ทารกในครรภ์

สาเหตุ อาการไข้ซิกา

อาการของโรคไข้ซิกา

เมื่อไวรัสซิกาผ่านเข้าสู่ร่างกายทางกระแสเลือด เชื้อโรคจะใช้เวลาฟักตัวประมาณ 3-12 วัน ขึ้นอยู่กับแต่ละคน อาการในเบื้องต้นนั้น ส่วนใหญ่จะไม่รู้ว่าเป็นไข้ไวรัสซิก้า เนื่องจากมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ โดยจะมีไข้ มีผื่นแดงขึ้น ปวดเมื่อยตามข้อต่อ กล้ามเนื้อ รู้สึกอ่อนเพลีย เยื่อบุตาอักเสบ มีตาแดง รวมถึงมีอาการปวดศีรษะต่อมน้ำเหลืองโต หรืออุจจาระร่วงซึ่งค่อนข้างจะเหมือนอาการไข้หวัดทั่วๆ ไป ซึ่งบางคนก็มีอาการหนัก จึงเป็นเหตุให้บางครั้งผู้ป่วยเลือกที่จะรับประทานยาเองมากกว่าไปพบแพทย์ในทันที บางทีกว่าจะรู้ก็มีอาการแทรกซ้อนอย่างอื่นแล้ว

วิธีป้องกันตนเองให้ห่างไกล "ไวรัสซิกา"

อันตรายจากไวรัสซิกา ที่รุนแรงมาก มักเกิดกับทารกในครรภ์ที่ได้รับเชื้อนี้ผ่านทางมารดา เพราะกระทบต่อระบบสมอง ทำให้เกิดมาพิการทางสมอง ศีรษะขนาดเล็ก พัฒนาการช้า ดังที่กล่าวมาแล้ว ดังนั้น การป้องกันโรคซึ่งมียุงลายเป็นพาหะของโรค จึงป้องกันเริ่มแรกที่

1. ระมัดระวังไม่ให้ยุงกัด ให้ลดความเสี่ยงในเรื่องนี้ตั้งแต่กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบริเวณบ้าน น้ำขังตามภาชนะต่างๆ แม้แต่เศษขยะที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และอยู่ในห้องที่มีมุ้งลวดเพื่อป้องกันยุงอีกส่วนหนึ่ง หากมีความเสี่ยงที่จะถูกยุงกัดให้ทายากันยุง ใส่เสื้อผ้าที่ปกคลุมไม่ให้มีพื้นที่ผิวให้ยุงกัด

2. ห่างไกลพื้นที่เสี่ยง ถ้าอยู่ในบ้านเรา การป้องกันอาจทำได้ไม่ยาก แต่สำหรับคนที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ ต้องเช็คดุหน่อยว่า ที่นั่นกำลังมีโรคไข้ซิการะบาดอยู่หรือไม่ ถ้าพื้นฐานสุขภาพของคุณไม่แข็งแรงนัก เลี่ยงได้ก็เลี่ยงจะปลอดภัยที่สุด แต่หากจำเป็นก็ป้องกันให้ดี เสื้อผ้า และยาป้องกันยุง เสื้อผ้าแนวมิดชิดเพื่อป้องกันยุงกัดแต่สำหรับหญิงตั้งครรภ์ความจริงคือควรเลี่ยงอย่างยิ่งที่จะเดินทางไปประเทศที่เสี่ยง แต่ถ้าจำเป็นจริงๆ ก็ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อจะได้รู้จักระมัดระวังป้องกันควบคุมโรคไข้ซิกาอย่างถูกวิธี

และที่สำคัญหากมีอาการเหล่านี้คือ มีไข้ ผื่นแดงๆ ขึ้นตามตัว ตาแดง ปวดข้อ หรืออาการที่สงสัยว่าอาจเป็นโรคนี้ โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ ควรรีบปรึกษาแพทย์และเข้ารับการรักษาทันที

ความแตกต่างระหว่าง "ไข้ซิกา" กับไข้อื่นๆ

แม้ว่าไข้ที่เกิดจากไวรัสซิกาจะมีความคล้ายคลึงกับอาการไข้อื่นๆ ก็จริง แต่ก็มีความแตกต่างระหว่างโรคติดเชื้อไวรัสซิกา โรคไข้เลือดออก และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย ในที่นี้จะเปรียบเทียบเฉพาะโรคที่มียุงลายเป็นพาหะเหมือนๆ กัน

โรคติดเชื้อไวรัสซิกานั้นมีอาการไข้ไม่ต่างจากไข้เลือดออก หรือ ไข้ปวดข้อยุงลาย แต่เบากว่าและไม่ค่อยจะบ่งบอกชัดเจนว่านี่คืออาการจากการติดเชื้อไวรัสซิกา ต่างจากโรคอื่นที่ไข้สูงเป็นเอกลักษณ์ชัดเลย และอาการปวดเมื่อยจะตามมาของโรคต่างๆ ทำนองเดียวกัน เพียงแต่ไข้ปวดข้อจะเน้นไปที่ข้อมากกว่าโรคอื่น ความหนักของโรคขั้นสูงสุดนั้น ไข้เลือดออกสามารถทำให้เสียชีวิตได้ ส่วนไข้ปวดข้อยุงลาย หากมีอาการหนักๆ จะถึงขั้นเดินไม่ได้เลยทีเดียว ส่วนโรคติดเชื้อไวรัสซิกา มีอาการทำลายการทำงานของสมอง ยิ่งถ้าเกิดกับทารกในครรภ์ที่ได้รับเชื้อแล้ว นั่นเหมือนตายทั้งเป็น ไม่ใช่เฉพาะกับตัวทารกเท่านั้น แต่มีผลกับคนเป็นพ่อเป็นแม่ด้วย

แต่ที่สุดแล้ว โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสที่ยังไม่มีทางรักษาให้หายขาดอย่างไวรัสซิกานั้น การป้องกันและระมัดระวังตัวเองอย่าให้เป็นนั้น เป็นหนทางที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน

บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวกับโรคภัยใกล้ตัว