free web tracker, fire_lady “สารตะกั่ว” โลหะหนักอันตราย สารเคมีร้ายที่พบได้ในชีวิตประจำวัน • สุขภาพดี

สารตะกั่ว” โลหะหนักอันตราย สารเคมีร้ายที่พบได้ในชีวิตประจำวัน

สารตะกั่ว-อันตราย

"ตะกั่ว" เป็นโลหะหนักมีพิษชนิดหนึ่งที่เรามักได้ข่าวการปนเปื้อนอยู่เสมอๆ เนื่องจากตะกั่วถูกนำมาใช้ประโยชน์หลายอย่าง จึงสามารถพบการปนเปื้อนตั้งแต่อาหาร แหล่งน้ำ อากาศ พื้นดินและผลิตภัณฑ์ต่างๆมากที่เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน ดังนั้นในแต่ละวันคนเราจึงเสี่ยงที่จะได้รับสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกายได้ไม่ยาก เรามาดูกันดีกว่าถ้าร่างกายได้รับสารตะกั่วมากเกินไป จะส่งผลร้ายอะไรต่อร่างกายได้บ้าง?

สารตะกั่วคือ?

ตะกั่ว (Lead) คือแร่ธาตุชนิดหนึ่งที่สามารถพบได้ตามธรรมชาติ เป็นโลหะหนัก มีพิษ และไม่มีความจำเป็นใดๆ ต่อร่างกาย มีลักษณะเป็นโลหะอ่อนนุ่ม ยืดได้ สีน้ำเงินปนเทา ทึบแสงและวาวนิดๆ แบบโลหะ มีจุดหลอมเหลวต่ำ อ่อนตัวสูงและขยายตัวได้ง่ายเมื่อรับความร้อน จึงนำมาตีขึ้นรูปได้ง่าย

ตะกั่วในสภาวะปกติมีสถานะเป็นของแข็ง สามารถนำมาผสมกับโลหะต่างๆ ได้หลายชนิด มีประโยชน์หลายด้าน เช่น สีทาบ้าน กระสุน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แบตเตอรี่ เป็นต้น สำหรับแหล่งผลิตตะกั่วที่สำคัญของประเทศไทยได้แก่ กาญจนบุรี ตาก แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เป็นต้น

สารตะกั่วมักพบในผลิตภัณฑ์ใด

ปัญหาการได้รับสารพิษจากตะกั่วเป็นปัญหาใหญ่มากสำหรับระบบสาธารณะสุขในปัจจุบัน เพราะเป็นสารปนเปื้อนได้ง่ายทั้งในน้ำ ดิน อากาศ อาหาร รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในแต่ละปีจึงผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจากการได้รับสารตะกั่วเกินขนาด แต่ว่าเราสามารถหลีกเลี่ยง โดยการระมัดผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อไปนี้

1. ภาชนะที่ทำจากอลูมิเนียมหรือสังกะสี เช่น หม้อ กระทะ ช้อน โดยเฉพาะที่มีลักษณะบางๆหรือร้อนเร็ว ความเสี่ยงที่ตะกั่วจะปนเปื้อนมากับอาหารเมื่อใช้กับอาหารหรือเครื่องปรุงที่มีความเป็นกรดและด่างสูง เช่น ใช้ช้อนตักน้ำส้มสายชู มะนาว น้ำปลา น้ำเกลือ เป็นต้น

2. ภาชนะที่ต้องบัดกรีด้วยสารตะกั่ว เช่น หม้อก๋วยเตี๋ยว หม้อต้มน้ำเต้าหู้ ตู้ทำน้ำเย็น จากการศึกษาวิจัยพบว่าภาชนะเหล่ามีตะกั่วปนเปื้อนได้ง่ายไม่ว่าจะอยู่ในอุณหภูมิหรือต่ำ ดังนั้นจึงห้ามบัดกรีภาชนะหรืออุปกรณ์เหล่านี้ด้วยตะกั่วเด็ดขาด

3. ภาชนะใส่อาหารที่ไม่ได้มาตรฐาน เช่น ถ้วยจานชามที่เคลือบสีสดใส ภาชนะที่ผลิตจากพลาสติกหรือเซรามิกแต่ราคาถูก ไม่มีมาตรฐานในการผลิต มีความเสี่ยงมากที่จะมีสารตะกั่ว

4. สีผสมอาหารและสีที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม เช่น สีย้อมผ้า สีทาบ้าน สีสังเคราะห์ต่างๆ สีเหล่านี้มักพบโลหะหนักหลายชนิดปนเปื้อนอยู่ในปริมาณมากไม่ว่าจะเป็นตะกั่ว ปรอท สารหนู พลวง แคดเมียม โครเมียม เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสีทาบ้าน พบว่ามีสารตะกั่วอยู่สูงมาก สารเหล่านี้เป็นอันตรายต่อร่างกายแม้จะได้รับเพยงเล็กน้อยก็ตาม

5. กระดาษที่มีการพิมพ์ ไม่ว่าจะหนังสือพิมพ์หรือหนังสือใดๆ ก็ตามที่มีภาพ ลวดลายหรือตัวหนังสือ อาจจะมีสารตะกั่วปนเปื้อนอยู่ ดังนั้นห้ามเอาใช้ห่ออาหารเด็ดขาด

6. ของใช้และของเล่นเด็ก โดยเฉพาะสินค้าที่นำเข้ามาจากประเทศจีน กลุ่มของใช้และของเล่นเด็ก มักจะมีราคาถูกมากและไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงมีสีสันจัดจ้านเพื่อดึงดูดความสนใจของเด็ก ดังนั้นต้องระมัดระวังในการเลือกให้ดีๆ เพราะร่างกายของเด็กสามารถดูดซึมสารตะกั่วได้มากกว่าผู้ใหญ่หลายเท่า

7. เครื่องสำอางและอาหาร เช่น ลิปสติก คอนซีลเลอร์ ที่มีราคาถูกมากๆ สารตะกั่วอาจจะปนเปื้อนมาในระหว่างขั้นตอนการผลิตหรือกับวัสดุที่ใช้ผลิต

8. ขยะ เช่น ถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่ วงจรไฟฟ้า เป็นต้น

ประโยชน์ของสารตะกั่ว (ที่ต้องใช้สารตัวนี้เพื่ออะไร)

ตะกั่วเป็นวัสดุสำคัญที่นำมาใช้ในอุตสาหกรรมหลายประเภท โดยอาจจะใช้เป็นโลหะตะกั่วเพียงอย่างเดียวหรือนำมาผสมกับโลหะชนิดอื่นๆ อุตสาหกรรมที่ต้องใช้สารตะกั่ว เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า หม้อน้ำรถยนต์ แผงวงจรอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ หัวกระสุน ลูกตะกั่วที่ใช้กับแหและอวน กระดาษ ภาชนะบางชนิด ท่อน้ำ แผงกั้นรังสี แบตเตอรี่ ยาง น้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันหล่อลื่น สีสังเคราะห์ เป็นต้น

การรับสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกาย

สารตะกั่วสามารถถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ทางผิวหนัง การหายใจ การรับประทานอาหารขึ้นอยู่กับว่าได้รับการปนเปื้อนของตะกั่วในรูปแบบใด โดยปกติตะกั่วเกือบทั้งหมดถูกขับออกจากร่างกายทางอุจจาระ ปัสสาวะ เหงื่อและน้ำนม แต่ถ้าได้รับในปริมาณมากจนร่างกายไม่สามารถกำจัดได้หมด ตะกั่วจะสะสมอยู่เกือบทุกส่วนของร่างกาย เช่น กระดูก เล็บ ผม ฟัน ไขกระดูก ระบบประสาท ตับ ไต เป็นต้น แต่ที่พบการสะสมมากที่สุดคือกระดูก

ผลข้างเคียง-โทษ-อันตรายของสารตะกั่ว

ผลข้างเคียงของการได้รับสารตะกั่วขึ้นอยู่ปริมาณและระยะเวลาที่ได้รับ ดังนี้

พิษเฉียบพลัน  เกิดจากการรับประทานในปริมาณหรือสูดดมไอจากสารตะกั่วอย่างเข้มข้นเข้าไป ซึ่งจะปรากฏความเป็นพิษได้ในทันที อาการคือ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องอย่างรุนแรง ท้องเสีย คอแห้ง กระหายน้ำ มือเท้าชา เป็นตะคริว ปวดศีรษะอย่างรุนแรง กล้ามเนื้ออ่อนแรง ชัก หมดสติและอาจจะเสียชีวิตได้ใน 1-2 วัน แต่การเกิดพิษแบบเฉียบพลันพบได้ไม่บ่อยนัก

พิษเรื้อรัง

  • พิษต่อระบบประสาท ได้แก่ สมองและเซลล์ประสาทถูกทำลาย เศร้าซึม สับสน กระวนกระวาย ความจำเสื่อม มือเท้าไม่มีแรง ชัก หมดสติ อาจเสียชีวิตได้
  • พิษต่อระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง เบื่ออาหาร การหลั่งน้ำย่อยทำงานผิดปกติ
  • พิษต่อระบบโลหิต ได้แก่ ยับยั้งการผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดมีขนาดเล็ก ถูกทำลาย อายุสั้นและแตกได้ง่าย
  • พิษต่อระบบสืบพันธุ์ ได้แก่ สำหรับผู้ชาย เซลล์อสุจิจะน้อย อ่อนแอและอายุสั้น ส่วนผู้หญิงรังไข่จะทำงานผิดปกติ ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ดังนั้นจึงมีผลทำให้มีลูกยากหรือเป็นหมันไปในที่สุด
  • พิษต่อไต ได้แก่ ไตทำงานผิดปกติ ขนาดเล็กลง รูปร่างเปลี่ยนและอาจจะไตวายได้
  • ปริมาณตะกั่วกับความเป็นพิษ

  • มากกว่า 10 ไมโครกรัม/เดซิลิตร หากตั้งครรภ์จะคลอดก่อนกำหนด  น้ำหนักตัวน้อย ทารกมีพัฒนาการทางสมองและร่างกายช้า
  • 15-25 ไมโครกรัม/เดซิลิตร ในเด็กจะมีพัฒนาการช้าลง ส่วนผู้ใหญ่จะมีระดับโปรโตไฟรินในเม็ดเลือดแดงมากขึ้น
  • 25-50ไมโครกรัม/เดซิลิตร ความดันโลหิตสูง ระบบประสาททำงานน้อยลง โรคไตเรื้อรัง
  • 50-60 ไมโครกรัม/เดซิลิตร ระบบทางเดินอาหารเริ่มมีปัญหา ฮีโมโกลบินน้อยลง ระบบประสาทตอบสนองน้อยลง
  • 60-70 ไมโครกรัม/เดซิลิตร  ระบบสืบพันธุ์ถูกทำลาย ระบบประสาทส่วนกลางเริ่มมีความผิดปกติ
  • 70-80 ไมโครกรัม/เดซิลิตร ระบบทางเดินอาหารมีปัญหามากขึ้น ท้องผูก ปลายประสาทเสื่อม
  • 80-100 ไมโครกรัม/เดซิลิตร สมองเสื่อม ซีด โลหิตจาง โรคไตเรื้อรัง
  • การตรวจสอบสารตะกั่ว

    สำหรับการตรวจสอบปริมาณสารตะกั่วในคน สามารถตรวจได้จากการตรวจเลือด อุจจาระและปัสสาวะ เพราะตะกั่ว เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะไปจับกับตะกั่วที่อยู่ในเลือดและถูกกำจัดออกมาทางการขับถ่าย

    การตรวจสอบการปนเปื้อนของตะกั่วในผลิตภัณฑ์ชนิดต่างๆ สามารถทำได้ง่ายๆ คือ ใช้ชุดกระดาษตรวจสอบสารตะกั่ว โดยนำกระดาษที่อยู่ในชุดมาชุบกับน้ำกลั่นแล้วนำไปกดกับพื้นผิวของสิ่งที่ต้องการตรวจสอบประมาณ 2 นาที กระดาษจะเปลี่ยนสี สามารถตรวจสอบได้ทั้งอาหาร ของเล่น จานชามเซรามิก พลาสติก ตู้น้ำเย็น ภาชนะอลูมิเนียมและสังกะสีต่างๆ เป็นต้น

    เมื่อดูจากกรายการสิ่งที่สามารถปนเปื้อนสารตะกั่วได้ง่ายนั้น ส่วนใหญ่ก็คือข้าวของเครื่องใช้ที่ใช้กันในชีวิตประจำวันนี่เอง เรียกได้ว่าหลีกเลี่ยงได้ยากพอสมควร เอาเป็นว่าหากเป็นอาหารถ้าทำทานเองจะปลอดภัยที่สุด แต่ถ้าเป็นอาหารสำเร็จรูปที่ได้มาตรฐาน มักจะมีการกำหนดมาตรฐานปริมาณการปนเปื้อนของตะกั่วไว้อยู่แล้ว ส่วนผลิตภัณฑ์ต่างๆก็เลือกใช้ของที่มีคุณภาพ ซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ หากผลิตภัณฑ์ใดอาจจะมีตะกั่วอยู่ก็ปฏิบัติตามข้อแนะนำที่มากับผลิตภัณฑ์นั้นๆ ค่ะ