free web tracker, fire_lady สิวอุดตัน...ปัญหาที่มีทางออก • สุขภาพดี

สิวอุดตัน...ปัญหาที่มีทางออก

สิวอุดตัน

ใครไม่เคยเจอปัญหาของ "สิว" คงเป็นไปไม่ได้แน่ ๆ แต่จะเป็นมากเป็นน้อยและเป็นสิวแบบไหนก็เท่านั้น โดยทั่วไปที่พบมี 2 ประเภท คือ สิวอุดตัน และ สิวอักเสบ แต่สิวอุดตันเป็นสิวที่เราพบได้มากกว่า 70% ในทุกกลุ่มอายุและทุกเพศ แม้ว่าส่วนใหญ่สิวอุดตันนั้นมีลักษณะเป็นเม็ดเล็ก ๆ แต่ก็สร้างความรำคาญให้แก่เราได้ไม่น้อยเลย

ลักษณะและชนิดของสิวอุดตัน

หากเรามองเพียงผิวเผินอาจรู้สึกว่าสิวอุดตันดูจะไม่มีปัญหามากนัก เนื่องจากมองเห็นไม่ชัดเหมือนสิวอักเสบอย่างสิวเสี้ยน สิวหนอง สิวหัวช้าง เป็นต้น ทว่ามันก็ทำให้ผิวหน้าไม่เรียบเนียน เวลาสัมผัสแล้วรู้สึกได้ว่าผิวขรุขระ และถ้ายิ่งปล่อยไว้ไม่หาทางเยียวยา...จากที่เป็นแค่สิวอุดตันอาจก่อให้เกิดสิวอักเสบขึ้นได้ เราสามารถจำแนกสิวอุดตันออกเป็น 3 ชนิด ดังนี้

1 สิวอุดตันที่มองไม่เห็น หรือบางครั้งเรียกว่า สิวผด มีลักษณะเป็นเม็ดเล็ก ๆ ไม่มีหัวสิว เกิดจากการอุดตันของ รูขุมขนเล็กน้อยเท่านั้นซึ่งอาจหายไปเองได้ แต่ถ้าไม่หายและมีการกระตุ้นของต่อมไขมันก็จะส่งผลให้มีการผลิตน้ำมันและเซลล์ชั้นขี้ไคลเพิ่มขึ้น จนพัฒนากลายเป็นสิวที่มองเห็นได้ รวมทั้งหากมีแบคทีเรียอาจกลายเป็นสิวอักเสบ มักมองเห็นได้ชัดเจนตอนที่มีเหงื่อออกมาก ๆ เนื่องจากอากาศร้อน

2 สิวหัวเปิด หรือสิวหัวดำ เป็นสิวอุดตันที่มองเห็นได้ชัดเจนมีลักษณะเป็นตุ่มนูนเล็ก ๆ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.1-3 มิลลิเมตร แต่มีรูเปิดออก ประกอบกับมีไขมันและเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วรวมอยู่จึงกลายเป็นสีดำ เมื่อส่องกระจกและสังเกตดี ๆ จะเห็นจุดดำอยู่ตรงกลาง ซึ่งเป็นที่มาของชื่อสิวหัวดำที่สามารถบีบออกได้แต่ต้องทำอย่างถูกวิธี ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นสิวอักเสบได้

3 สิวหัวปิด หรือสิวหัวขาว มีลักษณะทั่วไปเหมือนกับสิวหัวดำ แต่ต่างกันตรงที่ไม่มีหัวสิวออกมาให้เรากดได้ เนื่องจากท่อเปิดเล็กมากจนมองไม่เห็น ตัวสิวยังอยู่ข้างในและเป็นสีขาว สิวชนิดนี้เกิดจากการอุดตันสะสมอยู่ในท่อเปิดของต่อมไขมันและรูขุมขน และส่วนใหญ่จะพัฒนากลายไปเป็นสิวอักเสบซึ่งมักมีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดสิวอุดตัน

สาเหตุหลักของการเกิดสิวอุดตันมาจากต่อมไขมันผลิตน้ำมันออกมามากเกินไป โดยมีฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยซึ่งเป็นตัวควบคุมการเจริญเติบโตและการสร้างน้ำมัน เมื่อร่างกายผลิตฮอร์โมนแอนโดรเจนขึ้นมาแล้วมันจะไปกระตุ้นให้เกิดการผลิตน้ำมัน แต่ถ้าผลิตมากเกินความต้องการก็ทำให้สะสมอยู่ในรูขุมขน ประกอบกับได้รวมตัวกับเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วหรือขี้ไคลตามรูขุมขนด้วยจึงส่งผลให้เป็นสิวอุดตัน เนื่องจากน้ำมันมีความข้นหนืดจนไม่สามารถขับออกสู่ผิวหนังภายนอกได้นั่นเอง ทั้งนี้บริเวณที่มีต่อมไขมันอยู่มาก ได้แก่ ใบหน้า หนังศีรษะ ส่วนบนหน้าอกและแผ่นหลัง

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยภายนอกอื่น ๆ ที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดสิวอุดตันได้อีก ดังนี้

  • การล้างหน้าไม่สะอาดหรือล้างบ่อยเกินไป และการล้างหน้าที่รุนแรง
  • ปัญหาผิวแพ้ง่าย โดยเฉพาะถ้ามีผิวมันร่วมด้วย
  • การแพ้เครื่องสำอาง รวมถึงผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผมที่มีส่วนผสมบางชนิดอาจกระตุ้นให้เกิดสิวอุดตัน
  • อาการเครียดจะส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดไม่ดี
  • ฮอร์โมนเกิดการเปลี่ยนแปลงในช่วงใกล้หรือหมดประจำเดือน
  • การใช้ยาที่มีส่วนผสมของสารสเตียรอยด์ (Steroid) หรือใช้ยาเพรดนิโซโลน (Prednisolone) เป็นประจำ
  • การบีบสิวเองอย่างไม่ถูกวิธี อาจทำให้เกิดการแตกภายในรูขุมขนจนเป็นเหตุให้เกิดสิวอุดตัน

แนวทางป้องกันและรักษาสิวอุดตัน

1 ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ล้างหน้าและเครื่องสำอางที่เหมาะกับสภาพผิว ไม่มีส่วนผสมของน้ำหอม ไม่มีน้ำมันอ่อนโยนต่อผิวหรือระบุว่าไม่ก่อให้เกิดสิวอุดตัน (Non Comedogenic) ถ้ามีตัวยาที่ช่วยป้องกันสิวด้วยก็จะดี

2 รักษาความสะอาดของใบหน้า เช่น ล้างหน้าให้สะอาดอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ก่อนจะใช้มือสัมผัสใบหน้าควรแน่ใจว่าสะอาด ฯลฯ

3 หลีกเลี่ยงพฤติกรรมการเช็ด นวด หรือถูหน้าแรง ๆ ไม่บีบหรือแกะสิว ไม่ล้างหน้าบ่อยเกินไป เป็นต้น

4 ลดอาหารที่มีไขมันสูงเพราะอาจทำให้เกิดสิวง่าย เช่น ขนมหวาน ไอศกรีม เค้ก คุกกี้ น้ำหวาน ฯลฯ เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์มากขึ้นโดยเฉพาะผักและผลไม้ ดื่มน้ำสะอาดอย่างเพียงพอทุกวัน

5 ไม่เครียด พักผ่อนให้เพียงพอ และที่สำคัญคือควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ

6 ในกรณีที่มีสิวอุดตันเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ การใช้ยาเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยได้ดี แต่อาจมีผลข้างเคียงจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนเลือกใช้ โดยกลุ่มยาที่ใช้กันคือยารับประทานกลุ่ม Retinoids เช่น Roaccutane Isotretinoin Adapalene ฯลฯ สารสกัดในกลุ่ม AHA และ BHA ยาในกลุ่มเบนซอยล์เพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) ยาทาสิวในกลุ่ม Tretinoin (Retin-A) ยา อาซีลาอิก แอซิด (Azelaic Acid) หรือกลุ่มยาลอกขุยและที่ทำให้ผิวแห้ง เช่น Salicylic acid Resorcinol Sulphur Aluminium oxide ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่มีคุณสมบัติลดไขมันและกำจัดสิ่งสกปรกที่ฝังลึกตามรูขุมขนได้ดี และลดโอกาสการเกิดสิวอุดตันให้น้อยลง

7 การรักษาสิวอุดตันยังมีอีกหลายวิธี เช่น การกดสิว การทำเลเซอร์ การลอกหน้า การทำทรีตเมนต์ การทำไอออนโตฟอรีซีส (Iontophoresis) ฯลฯ ซึ่งเหมาะกับคนที่มีปัญหาเรื่องสิวอุดตันเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ การดูแลรักษาด้วยวิธีในข้างต้นไม่ได้ผล แต่ก็ต้องได้รับการดูแลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เพราะหากทำไม่ถูกวิธีจะยิ่งทำให้เกิดสิวอุดตันมากขึ้นกว่าเดิม

8 นอกจากนี้มีผักสมุนไพรที่ช่วยรักษาสิวอุดตันได้ดีเช่นกัน โดยจะทำให้สิวอุดตันค่อย ๆ ยุบตัวลงจนเห็นหัวสิวให้กำจัดออกง่ายขึ้น และยังลดรอยดำจากสิวได้ด้วย อาทิ

  • น้ำมะนาว ใช้แต้มบนสิวอุดตัน ทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที แล้วล้างออก
  • มะเขือเทศ ฝานมะเขือเทศหนาพอประมาณแล้วใช้ถูให้ทั่วใบหน้าประมาณ 15 นาที แล้วล้างออก
  • หอมแดง หั่นหอมแดงเป็นแว่นบาง ๆ ขยี้เล็กน้อยแล้วนำมาใช้ถูใบหน้าประมาณ 15 นาที แล้วล้างออก
  • น้ำผึ้ง ใช้น้ำผึ้งพอกหน้าสัปดาห์ละ 4 ครั้ง ประมาณ 3 นาที
  • ว่านหางจระเข้ คนที่มีผิวมันสามารถใช้ทาใบหน้าได้เลย ส่วนคนผิวแห้งให้ผสมกับน้ำมันมะกอกเล็กน้อย แล้วแช่ตู้เย็นไว้ใช้พอกหน้า

ได้รู้จักและทราบถึงสาเหตุและวิธีการรักษาสิวอุดตันกันไปแล้ว ลองเลือกวิธีที่เหมาะสมกับสภาพผิวของตัวเองกันดูในกรณีที่เป็นน้อย แต่ถ้าเป็นมากแล้วจำเป็นต้องรักษาด้วยวิธีการใช้ยาหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ก็ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนดีกว่า เพื่อความปลอดภัยและเพื่อให้เห็นผลที่ดีที่สุด

บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับ "สิว"