free web tracker, fire_lady “การบูร” กับสรรคุณ ประโยชน์และโทษที่คาดไม่ถึงของการบูร • สุขภาพดี

การบูร” กับสรรคุณ ประโยชน์และโทษที่คาดไม่ถึงของการบูร

การบูร-สรรพคุณ ประโยชน์ โทษ

ยาดม ยาหอม พิมเสนน้ำ เป็นสิ่งที่หลายๆ คนคุยเคยกันไม่น้อยไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง บางคนอาจจะพกไว้เพราะชอบกลิ่นที่หอมเย็น ช่วยให้สดชื่นแก้ง่วงเหงาหาวนอน หรือบางคนมีติดตัวไว้เพราะเมารถเมาเรือบ่อยๆ เจ้ากลิ่นเย็นๆ ที่ว่านี่ก็ช่วยได้ไม่น้อยเลยทีเดียว มีส่วนผสมหลายอย่างที่ทำให้เกิดกลิ่นนี้ขึ้น ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ “การบูร” (camphor) นั่นเอง หลายๆ คนดมกันมาตั้งนานแล้วแต่ก็ยังไม่รู้ว่าการบูรนั้นทำมาจากอะไร รูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร สำหรับใครที่อยากรู้จักสรรพคุณ ประโยชน์ และโทษของการบูรมากยิ่งขึ้นสามารถติดตามกันได้ในบทความนี้

การบูรคืออะไร?

การบูร ชื่อวิทยาศาสตร์ Cinnamomum camphora (L.) J.Presl  อยู่ในวงศ์อบเชย พบได้ในหลายประเทศในเอเชียเช่น จีน ไทย ญี่ปุ่น เป็นต้น มีการกระจายพันธุ์ไปหลายพื้นที่ทั่วโลกอย่างสหรัฐอเมริกา บราซิล อินเดียหรืออียิปต์ การบูรมีชื่อเรียกตามท้องถิ่นหลายชื่อเช่น อบเชยญวน(ไทย), เจียโล่(จีนแต้จิ๋ว), จางมู่(จีนกลาง) เป็นต้น

การบูรเป็นผลึกของแข็งสีขาวขุ่น ที่สกัดมาจากต้นการบูร ผลึกการบูรจะแทรกอยู่ตามเนื้อไม้ทั่วทั้งต้น แต่จะพบมากที่สุดในแก่นของรากและลำต้น ส่วนที่อยู่ตรงโคนจะพบมากกว่าส่วนที่อยู่สูงขึ้นไป ลักษณะเป็นเกล็ดกลมๆ สีขาว อาจจะจับตัวกันเป็นก้อนอย่างหลวมๆ หรือแตกเป็นเม็ดร่วนๆ ก็ได้ มีรสร้อน กลิ่นหอมเย็น ระเหิดง่ายหากวางทิ้งไว้ มักถูกสกัดนำมาใช้ประโยชน์ในด้านยาสมุนไพรต่างๆ

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของการบูร

ลำต้น การบูรเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สามารถสูงได้ถึง 30 เมตร เปลือกลำต้นหยาบแตกเป็นร่องๆ มีสีน้ำตาลอมเทา ส่วนกิ่งเป็นสีเขียวหรือน้ำตาลอ่อน เนื้อไม้มีสีน้ำตาลแดง ใบเป็นทรงพุ่มหนาทึบแผ่กว้าง ผลึกการบูรส่วนใหญ่สกัดได้จากส่วนรากและลำต้น ส่วนกิ่งและใบหรือยอดอ่อนมีการบูรน้อยมาก

ใบ ใบเป็นใบเดี่ยว มีลักษณะยาวเรียว รูปไข่ โคนใบและปลายใบแหลม ใบอ่อนมีสีแดงอมเขียว ใบแก่หน้าใบสีเขียวเข้มแต่ท้องใบเป็นสีเขียวอมเทา แผ่นใบหนาเรียบเป็นมันและค่อนข้างเหนียว ขอบใบเรียบ เส้นใบออกมาจากโคนไปแล้วแตกออกเป็น 3 เส้น

ดอก ดอกออกเป็นช่อตามง่ามใบ ดอกหนึ่งช่อมีดอกย่อยไม่มาก ดอกมีสีขาวอมเหลือง กลีบดอกรวมมี 6 กลีบ ผิวกลีบด้านนอกเรียบด้านในมีขน มีเกสรตัวผู้ 9 ก้านเรียงเป็นวง วงละ 3 ก้าน วงที่อยู่ในสุดเป็นหมัน ก้านเกสรตัวผู้มีขน ส่วนตัวเกสรตัวเมียค่อนข้างกลม ก้านสั้นประมาณ 1 มิลลิเมตรและไม่มีขน มีใบประดับแต่หลุดร่วงได้ง่าย

ผล มีลักษณะเป็นทรงกลม ผิวเรียบ ผลอ่อนมีสีเขียวเข้ม ผลสุกเป็นสีดำ ด้านในมีเนื้อและเมล็ด 1 เมล็ด ที่จุกผลคือส่วนที่เคยเป็นฐานดอกมาก่อน

ลักษณะของการบูร

สรรพคุณของการบูร

1. การบูรใช้แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย โดยอาจจะผสมทำเป็นขี้ผึ้งแล้วนำมาทาถูกนวดในบริเวณที่มีอาการ แก้เคล็ดขัดยอก บวม ฟกช้ำ ปวดตามข้อ เส้นเอ็นและกล้ามเนื้อ ข้อมือข้อเท้าพลิกจากการเล่นกีฬาหรืออุบัติเหตุต่างๆ

2. การบูรช่วยบรรเทาปวดและแก้พิษจากการถูกแมลงสัตว์กัดต่อย ช่วยให้ปวดและบวมน้อยลง

3. การบูรช่วยขับเหงื่อ ขับลม บรรเทาอาการท้องอืดท้องเฟ้อ จุกเสียดแน่น บำรุงธาตุ ทำให้เลือดลมไหลเวียนได้ดี

4. การบูรมีสรรพคุณแก้ไข้ ลดเสมหะในปากและลำคอ สูดดมทำให้จมูกโล่งขึ้น แก้ไอ บรรเทาอาการหวัด คัดจมูก

5. การบูรช่วยขับปัสสาวะ ขับน้ำเหลือง แก้ปวดท้องจากท้องร่วง ปวดบิดและท้องเสียแบบไม่ติดเชื้อ แก้โรคกระเพาะหรือลำไส้อักเสบ

6.การบูรมีสรรพคุณรักษาโรคผิวหนังบางชนิด เช่น กลาก เกลื้อน ผดผื่นและอาการคันๆ ทั่วๆ ไปตามผิวหนัง ช่วยลดรอยแตกให้ผิวหนัง

7. การบูรมีสรรพคุณช่วยในเรื่องกระตุ้นและบำรุงหัวใจ

8. การบูรใช้เป็นยาแก้ปวด เช่น ปวดฟัน เป็นยาระงับประสาท มีฤทธิ์ในการระงับเชื้ออย่างอ่อน

9. การบูรใช้เป็นยาสมานแผล รักษาแผลเปื่อยตามผิวหนัง

ประโยชน์ของการบูร

1. การบูรใช้เป็นส่วนผสมในยาหอมต่างๆ น้ำมันไพล พิมเสนน้ำ ช่วยให้สดชื่น แก้ลม วิงเวียนศีรษะ หน้ามืดตาลาย บรรเทาอาการหวัด คัดจมูก เมารถ เป็นต้น

2. ประโยชน์ของการบูรช่วยไล่มดและแมลง โดยการนำการบูรไปวางในตู้หรือตามซอกหลืบต่างๆ ในห้อง ช่วยกลิ่นอับในห้อง หรือจะนำมาใส่ในรองเท้าเล็กน้อยก็ช่วยลดกลิ่นอับในรองเท้าได้เช่นกัน

3. การบูรสามารถนำมาแต่งกลิ่นอาหารและขนม เช่น ลูกกวาด เยลลี่ คุกกี้ ขนมเค้ก ไส้กรอก ข้าวหมกไก่ หรือนำไปผสมในเครื่องเทศสำหรับปรุงอาหารอย่างเครื่องแกงมัสมั่น ผงกระหรี่ เครื่องพะโล้ เป็นต้น

4. การบูรมีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อโรคบางชนิด เช่น เชื้อแบคทีเรีย Escherichia coli, Staphylococcus aureus ซึ่งเป็นเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารและระบบอื่นๆ ในร่างกาย จึงช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย อีกทางหนึ่งด้วย

5. การบูรใช้ประโยชน์เป็นยาชาเฉพาะที่ ช่วยกระตุ้นการทำงานของหัวใจและระบบประสาทส่วนกลาง

โทษของการบูร

1. ควรระมัดระวังในการรับประทานการบูร เนื่องจากโดยปกติแล้วหากรับประทานในปริมาณเพียงเล็กน้อย ร่างกายสามารถขับออกทางปัสสาวะได้ แต่ถ้าหากรับประทานเกินครั้งละ 2 กรัมจะส่งผลต่อระบบอวัยวะในร่างกายหลายระบบ เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน กระตุก ชัก กล้ามเนื้อสั่น สมองทำงานบกพร่องและสับสนหรืออาจจะหมดสติได้ ขึ้นอยู่กับปริมาณที่รับประทานเข้าไป ถ้าหากรับประทานเกินครั้งละ 3.5 กรัม อาจทำให้เสียชีวิตได้

2. ผู้ที่เป็นโรคท้องผูก ริดสีดวงทวาร ปัสสาวะแสบขัดเป็นเลือด หรือสตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทาน

3. น้ำมันการบูรที่มีสีเหลืองหรือน้ำตาลห้ามใช้ เนื่องจากมีความเป็นพิษ

ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากการบูร

1. การบูรหอม เป็นผลิตภัณฑ์ที่พบได้ทั่วไปตามร้านขายสมุนไรหรือตามงานโอท็อปต่างๆ ราคาไม่แพง มีคุณสมบัติในการไล่มดแมลง โดยนำมาวางหรือแขวนไปตามตู้หรือซอกต่างๆ ในบ้าน การบูรหอมสามารถทำเองได้ง่าย เนื่องจากมีส่วนผสมแค่เล็กน้อยคือ การบูร พิมเสนและยูคาลิปตัส เริ่มจากทุบพิมเสนและการบูรให้ละเอียด นำมาผสมให้เข้ากันแล้วหยดยูคาลิปตัสลงไปให้ส่วนผสมเกาะตัวกัน จากนั้นนำกระดาษสามาทำเป็นภาชนะ โดยอาจจะทำเป็นกรวยขนาดเล็กหรือทำเป็นรูปสัตว์ต่างๆ แล้วใส่ส่วนผสมที่ได้ลงไป ปิดมุมต่างๆให้เรียบร้อยเพื่อไม่ให้ส่วนผสมรั่วออกมา มัดหรือใช้เชือกสั้นๆ ติดเป็นห่วงโดยใช้ปืนกาวยิง รอให้แห้ง จากนั้นนำไปแขวนหอมๆ ได้เลย

2. น้ำมันการบูร ได้มาจากการกลั่นด้วยไอน้ำจากเนื้อไม้การบูร น้ำมันหอมระเหยที่มีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะ เมารถเมาเรือ ช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสดชื่นและตื่นตัวมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังนำมาใช้ทาในบริเวณที่ปวดเมื่อยหรืออักเสบตามกล้ามเนื้อ ผิวหนังและข้อกระดูกต่างๆ หรือใช้รักษาโรคผิวหนังบางชนิดอย่างน้ำกัดน้ำโดยนำน้ำมันการบูรเล็กน้อยผสมกับน้ำมันโจโจ้บาร์แล้วนำมาทาบริเวณที่เป็น ช่วยรักษาได้เป็นอย่างดีทีเดียว

น้ำมันการบูร

นับว่าสรรพคุณและประโยชน์ของการบูรมีมากทีเดียวและเป็นที่น่าแปลกใจไม่น้อยว่า เจ้าเกล็ดการบูรสีขาวๆ นี้สกัดมาจากต้นไม้นั่นเอง สำหรับใครที่อยากได้การบูรไปใช้ประโยชน์ต่างๆ ในบ้าน สามารถหาซื้อได้ไม่อยากนักแต่ควรใช้อย่างระมัดระวังและควรเก็บให้พ้นมือเด็กๆ เพราะการบูรถึงแม้จะมีประโยชน์แต่ว่าโทษก็รุนแรงมากเช่นกัน