free web tracker, fire_lady “ตับแข็ง” แม้ไม่กินเหล้า…คุณก็มีความเสี่ยงเป็นได้ • สุขภาพดี

ตับแข็ง แม้ไม่กินเหล้า...คุณก็มีความเสี่ยงเป็นได้

โรคตับแข็ง

ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ แต่โรคภัยก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ วันนี้ดิฉันมีโอกาสไปเยี่ยมพี่ชายของเพื่อนซึ่งป่วยเป็นโรค"ตับแข็ง" ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ดิฉันได้ฟังเรื่องราวของเขาแล้วรู้สึกว่าหลายคนกำลังเข้าใจผิดคิดว่าคนเป็นโรคตับแข็งต้องเกิดจากการดื่มสุราเท่านั้น จึงขออนุญาตแบ่งปันประสบการณ์ของเขา เพื่อเป็นประโยชน์แก่เพื่อน ๆ กัน

แชร์เรื่องราว...เป็นโรคตับแข็ง แบบไม่ทันตั้งตัว

พี่เอปัจจุบันอายุ 38 ปี ไม่ดื่มเหล้าไม่สูบบุหรี่ ป่วยเป็นโรคตับแข็งมาหลายปีแล้ว ย้อนไปก่อนที่พี่เอจะตรวจเจอโรคนี้ พี่เอเป็นชายหนุ่มสุขภาพแข็งแรง ไม่ค่อยเจ็บป่วยแม้กระทั่งหวัดยังไม่ค่อยเป็นเหมือนชาวบ้านเค้า...จนวันหนึ่งอยู่ๆ ก็มีอาการหน้ามืด ซีด ไม่มีแรง เหนี่อยง่าย ขาบวม เลยตัดสินใจไปโรงพยาบาล

จากผลวินิจฉัยของแพทย์ทำให้พี่เอรับรู้ถึงหายนะที่มาเยือนกับตัวเอง นั่นคือเขาเป็นโรคตับแข็งจากไวรัสตับอักเสบซี ความน่ากลัวของมันยังไม่หมดเพียงเท่านี้ แต่ตับแข็งที่เป็นนั้นมีโอกาสพัฒนาเป็นโรคมะเร็งตับ... คำว่ามะเร็ง ทำให้พี่เอพูดไม่ออกเพราะไม่คิดว่าคนที่แข็งแรงมาตลอดอย่างเขาจะเฉียดใกล้กับโรคนี้ ด้วยความที่พี่เอมีอาชีพค้าขาย จึงยุ่งอยู่ตลอดเวลา เรื่องตรวจสุขภาพประจำปีนี่ไม่เคยมีอยู่ในสมองเลย ทำให้กว่าจะรู้ว่ามีโรคร้ายอยู่ในตัวก็เกือบสายไปเสียแล้ว วันนั้นพี่เอไม่ได้กลับบ้านเพราะคุณหมอสั่งแอดมิททันที

จากการซักประวัติ...พี่เอเคยผ่าตัดเนื่องจากประสบอุบัติเหตุตั้งแต่ยังเด็ก และได้รับเลือดที่คาดว่าจะมีเชื้อไวรัสตับอักเสบซีอยู่ในนั้น เนื่องจากในสมัยก่อนยังไม่มีการตรวจกรองไวรัสชนิดนี้ ผู้ป่วยโดยมากจะไม่ค่อยรู้ตัวว่าติดเชื้อ จนกระทั่งมันแสดงอาการเด่นชัด ทำให้บางรายมารักษาช้าและเสียชีวิตก็มี

โดยปกติตับจะมีหน้าที่หลัก ๆ คือการผลิตโปรตีน การเก็บสะสมสารสำคัญ การสร้างสารช่วยทำให้เลือดแข็งตัว เมื่อตับเสียหายตับจะสามารถฟื้นฟูตัวเองได้ แต่กรณีที่พี่เอป่วยจากไวรัสตับอักเสบซีแบบเรื้อรัง ทำให้ตับถูกทำลายบ่อย ๆ จนเซลล์ตับเสียหาย เกิดผังผืดขึ้นทดแทน หรือที่ทางการแพทย์เรียกว่าอาการตับแข็ง

โรคตับแข็งระยะสุดท้าย

พี่เอเป็นโรคตับแข็งระยะสุดท้าย ควบคุมภาวะแทรกซ้อนของโรคไม่ได้ ซึ่งวิธีการรักษาคือต้องผ่าตัดเปลี่ยนตับ โดยปกติหลังผ่าตัดจะสามารถมีชีวิตอยู่ได้มากกว่า 5 ปี แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับร่างกายของผู้ป่วยและการดำรงชีวิตหลังผ่าตัดด้วย ซึ่งต้องทำการลงทะเบียนขอรับบริจาคจากผู้ป่วยสมองตาย และต้องรอรับบริจาคตามคิว ทั้งนี้ระยะเวลาที่จะได้รับบริจาคไม่สามารถบอกได้ว่านานแค่ไหน เพราะนอกจากจะตามคิวแล้ว เลือดของผู้ป่วยสมองตายที่บริจาคและขนาดตับต้องเข้ากันได้กับผู้ขอรับบริจาค จึงจะสามารถผ่าตัดเปลี่ยนตับได้ ในกรณีของพี่เอถือว่าโชคดีมากที่รอคิวเพียงแค่ 2 เดือนก็ได้รับการติดต่อให้มาผ่าตัดเนื่องจากเป็นโรงพยาบาลเอกชนคิวจะสั้นกว่าโรงพยาบาลของรัฐมาก แต่ค่าใช้จ่ายแพงกว่ามหาศาลอย่างแน่นอน

ก่อนหน้าที่จะได้รับการผ่าตัดพี่เอใช้เวลารักษาโรคตับแข็ง และไวรัสตับอักเสบ C มาประมาณ 3 ปี ซึ่งผลข้างเคียงคือร่างกายบวมน้ำ โดยเฉพาะที่เท้า มีอาการอาหารไม่ย่อย อ่อนเพลียง่าย พี่เอทานยาตามแพทย์สั่ง และต้องคอยระมัดระวังเรื่องอาหาร เน้นทานน้อย ๆ โดยแบ่งย่อยเป็นหลาย ๆ มื้อในแต่ละวัน พี่เอจะเลือกทานเฉพาะอาหารที่ย่อยง่าย เช่น ปลา ผัก ผลไม้

หลังผ่าตัดพี่เอบอกดิฉันว่าทรมานมาก ร่างกายมีอาการบวมทั้งมือและขา พยาบาลทำการสวนปัสสาวะให้และตรวจเลือดทุก ๆ 4 ชัวโมงจนนิ้วพังไปหมด พี่เอต้องพยายามที่จะขยับเขยื้อนร่างกาย เช่น นั่งหลังตรง เพื่อให้ระบบย่อยอาหารได้ทำงาน ในระหว่างนี้หมอได้ห้ามเยี่ยมเพราะต้องกำจัดเชื้อโรค สิ่งที่ทรมานที่สุดคือตื่นขึ้นมาแล้วไม่สามารถทำอะไรได้ ต้องนอนลืมตาปริบ ๆ อยู่ทั้งวันทั้งคืน ต้องนอนแบบหลับ ๆ ตื่น ๆ เพราะพยาบาลจะเข้ามาตรวจเข้ามาเช็คอยู่แทบจะตลอดเวลา จนกระทั่งผ่านไปได้สิบกว่าวันก็ได้รับอนุญาตให้ออกจากห้องไอซียูมาอยู่ห้องปกติเพื่อดูอาการ จนกว่าจะตรวจจนแน่ใจว่าตับทำงานได้ดีและไม่มีโรคแทรกซ้อนพี่เอถึงจะได้รับอนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาล

รู้ไว้ใช่ว่า...ภาวะโรคตับแข็ง

ในบ้านเรายังมีการให้ความรู้เรื่องโรคตับแข็งน้อยมาก แม้กระทั่งตัวดิฉันที่ปกติเป็นคนชอบอ่านหนังสือ ยังไม่เคยรู้เลยว่า...นอกจากสาเหตุของการดื่มสุราที่ทำให้เป็นโรคตับแข็งแล้ว ยังเกิดได้จากการถ่ายเลือดและไวรัสตับอักเสบชนิดต่าง ๆ ดิฉันจึงได้รวบรวมข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้มาให้ทุกท่านได้อ่านเพื่อระวังดูแลป้องกันตนเอง และคอยเตือนคนใกล้ชิดให้ห่างไกลจากโรคนี้ค่ะ

ความสำคัญ และหน้าที่ของตับ

ตับเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกาย มีหน้าที่ในการสร้างโปรตีน และสร้างสารที่ช่วยให้เลือดแข็งตัวหากร่างกายเกิดเลือดออก ตับสร้างฮอร์โมนที่จำเป็นบางชนิด สร้างน้ำย่อยในการย่อยอาหาร สะสมอาหาร วิตามินแร่ธาตุ กำจัดสารพิษที่อาจหลุดเข้าไปในกระแสเลือด และอื่นๆ อีกมากมาย โดยปกติตับจะสามารถซ่อมแซมตนเองได้เมื่อมีการบาดเจ็บ

หน้าที่ของตับ

ภาวะโรคตับแข็ง

คืออาการที่ตับถูกทำลายบ่อยครั้งและได้สร้างผังผืดขึ้นมาแทนเซลล์ที่ตาย ทำให้ตับเสียหายไม่สามารถทำงานได้เป็นปกติเหมือนเดิม

อาการของโรคตับแข็ง

ผู้ป่วยจะมีอาการ ตัวซีดเหลือง ดีซ่าน อ่อนเพลียง่าย น้ำหนักลด ขาบวม ท้องโต เลือดออกรุนแรงในกระเพาะอาหาร คันที่ผิวหนัง มีอาการทางสมอง ฟกช้ำ เลือดออกง่าย มีอาการไวต่อผลข้างเคียงของยาเนื่องจากตับไม่สามารถกรองสารพิษได้

สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการตับแข็งมีดังนี้


1. ติดเชื้อไวรัสตับอับเสบ ชนิด A, B, C

2. การดื่มสุราอย่างหนักติดต่อกันหลายปี

3. การกินอาหารไขมันสูง

4. การได้รับสารพิษ

5. ภาวะท่อน้ำดีอุดตัน

6. ภาวะหัวใจล้มเหลวหลายครั้ง ติดต่อกัน

7. การรับประทานยาบางชนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน

8. เกิดโรคตับอักเสบจากภูมิต้านทานตนเอง

วิธีการดูแลรักษาอาการตับแข็ง

1 รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และเป็นอาหารที่ย่อยง่าย ไม่มีไขมัน รสจืด กินไข่ขาวเพื่อสร้างโปรตีน นมถั่วเหลือง แต่ต้องระวังปริมาณไม่ให้มากเกินไป

2 รับประทานยาตามแพทย์สั่ง

3 ออกกำลังกายเบา ๆ พักผ่อนให้เพียงพอ

4 ในรายที่อาการหนักต้องทำการผ่าตัดเปลี่ยนตับ

5 ห้ามดื่มสุรา

ทั้งนี้โรคตับแข็งในปัจจุบันเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ การรักษาเป็นเพียงการชะลออาการเท่านั้น ถึงแม้ว่าจะมีการผ่าตัดเปลี่ยนตับในผู้ป่วยระยะสุดท้าย ก็เป็นเพียงการยื้อชีวิตเท่านั้น ดังนั้นการดูแลรักษาสุขภาพตนเองจึงเป็นสิ่งสำคัญ การตรวจสุขภาพเป็นประจำก็ช่วยให้เราสามารถรู้ถึงอาการของโรคได้ทันท่วงที และเมื่อมีบุตรหลานคุณควรพาไปฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันไวรัสประเภทต่าง ๆ ให้ครบ เพื่อป้องกันการเกิดโรคตับแข็งจากเชื้อไวรัสตับอักเสบก่อนที่จะสายเกินไป

แหล่งที่มา www.mahachaihospital.com

                      www.bumrungrad.com

บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวกับ โรคภัยใกล้ตัวที่อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่รู้ตัว