free web tracker, fire_lady “ตาบอดสี” ไม่ใช่เรื่องแค่นี้อีกต่อไป…ผลกระทบหนักในชีวิตประจำวัน • สุขภาพดี

ตาบอดสี” ไม่ใช่เรื่องแค่นี้อีกต่อไป...ผลกระทบหนักในชีวิตประจำวัน

ตาบอดสี

ความผิดปกติของสายตาสามารถเกิดขึ้นได้โดยที่เราอาจหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะบางครั้งก็เกิดขึ้นจากปัจจัยที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน อย่างปัญหาสายตาปัญหาหนึ่งที่อาจพบได้ไม่บ่อยนักคือ “ตาบอดสี” (color blindness) แต่ก็ทำให้การดำเนินชีวิตประจำวันเป็นไปด้วยความลำบากไม่น้อย ตาบอดสี เป็นภาวการณ์มองเห็นสีบางสีได้ไม่ชัดเจนหรือผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง มักพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ซึ่งสีที่คนมักเป็นตาบอดสี คือ สีเขียว สีเหลือง สีส้มและสีแดง ส่วนภาวะตาบอดสีทุกสีจะพบได้น้อยมาก

โดยปกติแล้วการมองเห็นสีของดวงตาจะต้องอาศัยเซลล์หลังจอตา 2 ชนิดเป็นส่วนสำคัญในการแยกสีที่เรามองเห็น คือ เซลล์รูปแท่ง ที่มีความไวต่อการรับแสงแบบสลัว ใช้สำหรับการมองเห็นในเวลากลางคืน สีที่มองเห็นจะเป็นสีในโทนดำ ขาว และเทาเท่านั้น ส่วนอีกชนิดคือ เซลล์รูปกรวย ที่มีความไวในการรับแสงที่สว่างกว่าและสามารถแยกแสงสีต่างๆ ได้อย่างชัดเจน โดยเซลล์รูปกรวยนี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิดย่อย คือ เซลล์รูปกรวยชนิดที่ไวต่อแสงสีแดง สีเขียว และสีน้ำเงิน ซึ่งในคนปกติจะมีเซลล์รูปกรวยครบทั้ง 3 ชนิด จึงทำให้คนปกติสามารถมองเห็นสีได้หลายโทนสี

กลไกการมองเห็นสีของตา

การที่เรามองเห็นสีต่างๆ ได้ เพราะภายในจอตามีเซลล์รับรู้การเห็นสี ส่วนเราจะเห็นเป็นสีอะไรนั้นขึ้นอยู่กับว่ามีแสงสีอะไรมากระทบกับตาเรา สำหรับคลื่นแสงที่คนเรามองเห็นได้ เป็นคลื่นแสงที่มีความยาวคลื่นขนาด 400 - 700 นานอมิเตอร์ โดยคลื่นแสงขนาด 400 - 700 นานอมิเตอร์ จะให้สีออกมาต่างๆ กัน โดยอาจแจงคลื่นขนาด 400 - 700 ออกเป็น 7 สี เช่น Sir Isaac Newton เป็นคนแรกที่ใช้แก้วปริซึมแยกแสงแดดซึ่งเป็นแสงสีขาวออกมาเป็นสีรุ้งนับได้ 7 สี ได้แก่ ม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลือง แสด แดง แต่ในความเป็นจริงคลื่นแสงขนาด 400 - 700 นานอมิเตอร์ อาจจำแนกให้ละเอียดได้ถึง 100 สีหรือมากกว่านั้น

การเห็นสีนอกจากจะเกิดจากคลื่นแสงสีต่างๆ มากระทบตาเราแล้ว ยังอยู่ที่เซลล์รับรู้การเห็นสีในจอตา โดยจอตาของคนเรามีเซลล์รับรู้การเห็นอยู่ 2 ชนิด คือ

1. รอด (Rod) มีลักษณะเป็นแท่ง มีอยู่ประมาณ 125 ล้านเซลล์ในดวงตาแต่ละข้าง ซึ่งจะกระจายอยู่บริเวณขอบๆ ของจอตา ทำหน้าที่ในการมองเห็นในที่สลัวๆ และจะเห็นเป็นภาพขาวดำ ซึ่งเซลล์รูปแท่งนี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการเห็นสี

2. โคน (Cone) มีลักษณะเป็นรูปกรวย โดยคนเราจะมีประมาณ 6 - 7 ล้านเซลล์ในดวงตาแต่ละข้าง จะพบหนาแน่นบริเวณจอตาส่วนกลางที่เรียกว่า จุดภาพชัด ทำหน้าที่ในการมองเห็นในที่ที่มีแสงสว่าง ทำให้มองเห็นทั้งภาพขาวดำและภาพสี โดยเซลล์รูปกรวยในตามีอยู่ 3 ชนิด คือ

  • เซลล์รูปกรวยสีแดง มีอยู่ในตาข้างละประมาณ 3 ล้านเซลล์
  • เซลล์รูปกรวยสีเขียว มีจำนวนพอ ๆ กับเซลล์รูปกรวยสีแดง
  • เซลล์รูปกรวยสีน้ำเงิน มีอยู่ในตาข้างละประมาณ 1 ล้านเซลล์

ความสามารถในการเห็นและแยกแยะสีต่างๆ นอกจากอยู่ที่การทำงานของเซลล์รูปกรวยแล้วนั้น ยังมีปัจจัยอื่นๆ มาเกี่ยวข้อง เช่น

1. การปรับสภาพของดวงตา เช่น ถ้าอยู่ในที่สว่างมากจะมองเห็นสีเหลือง เหลืองอมเขียวสว่างกว่า ในทางตรงข้าม ถ้าอยู่ในที่สลัว จะเห็นสีน้ำเงินและสีเขียวสว่างกว่า

2. ความเมื่อยล้าและภาพติดตา เช่น ถ้าไฟสีแดงส่องเข้าตา ทำให้เซลล์รูปกรวยสีแดงถูกกระตุ้น เซลล์รูปกรวยสีแดงจึงเมื่อยล้า เซลล์รูปกรวยสีเขียวและสีน้ำเงินจึงทำงานได้ดีกว่า ทำให้มองเห็นสีแดงเป็นสีเขียว หรือน้ำเงินได้ และเมื่อปิดไฟสีแดงอาจยังมีภาพติดตาอยู่ จึงยังมองเห็นอะไรเป็นสีเขียว สีน้ำเงิน ทั้งๆ ที่ไม่มีแสงอะไร

3. สีข้างเคียง มีส่วนทำให้สีที่เรามองอยู่เปลี่ยนไป เพราะเซลล์รูปกรวยสีที่เรามองจะถูกกระตุ้น ในขณะที่เซลล์รูปกรวยสีเดียวกันในบริเวณใกล้เคียงจะถูกกด

4. ลักษณะเฉพาะบางอย่างภายในดวงตา เช่น แก้วตาจะดูดซึมสีม่วง สีน้ำเงินมาก เราจึงมองอะไรค่อนข้างออกเป็นสีเหลือง แตกต่างจากดวงตาที่ไม่มีแก้วตาจะมองเห็นสีม่วง สีน้ำเงินได้ชัดเจนขึ้น

สาเหตุของตาบอดสี

ตาบอดสีนั้นสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่ “กรรมพันธุ์” ถือเป็นสาเหตุหลักของอาการตาบอดสี หากบุคคลที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นตาบอดสี จะส่งผลไปยังรุ่นต่อไปโดยการถ่ายทอดผ่านยีนด้อยบนโครโมโซมเพศชนิดเอ็กซ์ (X) ซึ่งยีนโครโมโซมเพศนี้มีหน้าที่ในการกำหนดเพศชายหรือเพศหญิง เมื่อตาบอดสีเป็นการถ่ายทอดผ่านบนโครโมโซมเอ็กซ์ (X) จึงทำให้พบตาบอดสีในเพศชายได้มากกว่าเพศหญิง
นอกจากนี้ยังอาจเกิดการถ่ายทอดทางพันธุกรรมข้ามรุ่นได้

นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่นๆ  ที่ก่อให้เกิดอาการตาบอดสีได้ โดยเกิดได้จากสภาวะบางอย่างของร่างกาย เช่น

  • 1. อายุมากขึ้น อาจส่งผลให้เกิดการเสื่อมของเซลล์ได้
  • 2. โรคเกี่ยวกับดวงตาหรือการบาดเจ็บบริเวณจอตา เช่น โรคต้อหิน จอประสาทตาเสื่อม
    หรือการได้รับบาดเจ็บบริเวณดวงตา
  • 4. ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด   
  • 5. การได้รับสารเคมีบางชนิดเป็นระยะเวลานาน เช่น คาร์บอนไดซัลไฟด์และสไตรีน

อาการของตาบอดสี

ตาบอดสีในแต่ละคนอาจมีอาการแตกต่างกันออกไปตามชนิดของตาบอดสีที่เป็น แต่หากจะสังเกตว่าตนเองเป็นตาบอดสีหรือไม่อาจสังเกตได้จากอาการเหล่านี้

อาการของตาบอดสี

1. แยกแยะสีต่างๆ ได้ไม่ชัดเจน เช่น แยกความต่างของสีเขียวกับสีแดงไม่ได้ แต่แยกสีน้ำเงินกับสีเหลืองได้ง่าย

2. มองเห็นสีได้หลากหลายสี แต่บางสีมองเห็นต่างไปจากคนอื่น

3. มองเห็นเฉพาะบางโทนสีเท่านั้น

4. บางรายมองเห็นได้เฉพาะสีดำ ขาว และเทา แต่พบประเภทนี้ได้น้อยมาก

5. ตาบอดสีพบได้ตั้งแต่วัยเด็ก อาจสังเกตว่าเริ่มจดจำและบอกสีต่างๆ ไม่ถูกต้อง หรือเลือกสิ่งของที่มีสีต่างกันไม่ได้ ก็อาจจะมีแนวโน้มเป็นตาบอดสีได้สูงมาก

ชนิดของตาบอดสี

อาการตาบอดสีที่พบไม่ใช่ว่าทุกคนที่ประสบปัญหานี้ จะมีการมองเห็นสีที่ผิดเพี้ยนในรูปแบบที่เหมือนๆ กัน แต่ขึ้นอยู่กับว่าเป็นตาบอดสีในกลุ่มใด ซึ่งอาการตาบอดสีสามารถแบ่งออกเป็น 3 ชนิด ดังนี้

1. กลุ่มที่เห็นสีเดียว คือมีแต่เซลล์รูปแท่งไม่มีเซลล์รูปกรวยเลย หรือบางรายมีเซลล์รูปกรวยสีน้ำเงินชนิดเดียว จะเห็นเพียงภาพขาวดำ สายตามัวมาก ลูกตากลิ้งกลอกไปมาตลอดเวลา กลุ่มนี้ให้การรักษาโดยมุ่งที่การมองเห็นที่ดีขึ้น ไม่เน้นการเห็นสี เพราะเป็นไปไม่ได้

2. กลุ่มที่มีเซลล์รูปกรวย 2 ชนิด คือ ขาดเซลล์รูปกรวยอันใดอันหนึ่งไป เมื่อขาดเซลล์รูปกรวยสีแดง เรียกว่า "ตาบอดสีแดง" เมื่อขาดเซลล์รูปกรวยสีเขียว เรียกว่า "ตาบอดสีเขียว" และเมื่อขาดเซลล์รูปกรวยสีน้ำเงิน เรียกว่า "ตาบอดสีน้ำเงิน" ซึ่งตาบอดสีน้ำเงินนี้พบได้น้อยมาก

3. กลุ่มที่มีเซลล์รูปกรวยทั้ง 3 ชนิด แต่มีอย่างใดอย่างหนึ่งน้อยกว่าปกติ เป็นกลุ่มตาบอดสีที่พบได้บ่อยที่สุด ทั้งนี้ตาบอดสีตั้งแต่กำเนิดส่วนใหญ่จะพบพร่องสีแดงและพร่องสีเขียว ส่วนพร่องสีน้ำเงินพบน้อย

ภาวะแทรกซ้อนของตาบอดสี

ตาบอดสีโดยปกติไม่ค่อยพบภาวะแทรกซ้อน เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงร้ายแรง นอกจากนี้ยังอาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการในการเรียนรู้สำหรับเด็กที่มีอาการนี้

การวินิจฉัยตาบอดสี

การวินิจฉัยอาการตาบอดสีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสามารถทำได้โดยการใช้แผ่นภาพทดสอบตาบอดสี เพื่อดูความสามารถในการแยกแยะสี ซึ่งรูปแบบแผ่นภาพที่นิยมใช้ทดสอบมีอยู่ 2 แบบ ได้แก่

วิธีทดสอบตาบอดสี

1. แผ่นภาพอิชิฮะระ ลักษณะคือ ในแต่ละภาพจะมีจุดสีที่แตกต่างกัน แพทย์จะให้ผู้ป่วยมองหาตัวเลขบนแผ่นภาพนั้นๆ หากผู้ที่เป็นตาบอดสีจะไม่สามารถบอกตัวเลขจากภาพได้ถูกต้อง

2. การเรียงเฉดสี ผู้ป่วยจะต้องไล่เฉดสีที่กำหนดมาให้ โดยไล่ให้สีที่คล้ายกันอยู่ใกล้กันได้อย่างถูกต้อง

การรักษาตาบอดสี

ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้วว่าตาบอดสีมีสาเหตุหลักในการเกิดคือ “กรรมพันธุ์” จึงไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่อาจสวมแว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ที่มีเลนส์กรองแสงบางสีออกไป จะช่วยให้มองเห็นสีได้ชัดขึ้น แต่ไม่ถึงกับเหมือนคนปกติ แต่ในกรณีที่มีสาเหตุมาจากภาวะหรือโรคประจำตัวอื่นๆ แพทย์จะรักษาจากสาเหตุหลักของโรค เพื่อช่วยให้อาการโดยรวมดีขึ้น นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจใช้เทคนิคการจดจำตำแหน่งหรือใช้ป้ายสัญลักษณ์แทนการใช้สีในบางกรณี เพื่อช่วยให้ใช้ชีวิตประจำวันได้ง่ายขึ้น

ตาบอดสีไม่สามารถป้องกันการเกิดได้ แต่สามารถหลีกเลี่ยงหรือลดความเสี่ยงในการเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ในวัยเด็ก โดยในเด็กอายุประมาณ 3 - 5 ขวบ ควรได้รับการตรวจสายตาอย่างน้อย 1 ครั้งก่อนเข้าโรงเรียน แต่หากมีคนในครอบครัวเป็นตาบอดสีควรมีการตรวจเช็คสายตาอย่างสม่ำเสมอ และทุกคนควรสังเกตความผิดปกติของสายตาตนเองด้วย เมื่อสงสัยว่าอาจมีปัญหาเกี่ยวกับสายตาควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการแก้ไขอย่างถูกวิธี