free web tracker, fire_lady “ถั่วพู” สรรพคุณ-ประโยชน์ของถั่วพู ผักดีๆ เจ๋งๆที่หลายคนมองข้าม • สุขภาพดี

ถั่วพู” สรรพคุณ-ประโยชน์ของถั่วพู ผักดีๆ เจ๋งๆที่หลายคนมองข้าม

ถั่วพู สรรพคุณ-ประโยชน์

ถั่วพู” ผักในตระกูลถั่วอีกชนิดหนึ่งที่หลายๆ คนไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก แต่เมื่อไปเดินตลาดทีไรกลับพบผักชนิดนี้บนแผงผักทุกครั้งไป จริงๆ แล้วถั่วพูเป็นพืชที่มีประโยชน์และคุณค่าทางโภชนาการต่อร่างกายสูงมากอีกชนิดหนึ่ง ว่าแต่มีประโยชน์ในเรื่องใดบ้างมาทำความรู้จักถั่วพูกันให้มากขึ้นดีกว่า

ที่มาของ “ถั่วพู”

ถั่วพู เป็นพืชชนิดหนึ่งที่อยู่ในวงศ์ถั่ว มีชื่อเรียกท้องถิ่นอื่นๆ เช่น ถั่วพูตะขาบ ถั่วพูจีน เป็นต้น จัดเป็นพืชเขตร้อนโดยมีถิ่นกำเนิดที่ประเทศในเขตร้อนและทวีปเอเชียในประเทศแถบเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งประเทศไทยด้วย แต่ในปัจจุบันถั่วพูสามารถปลูกได้ที่รัฐฟลอริด้าในประเทศสหรัฐอเมริกา ถั่วพูมีมากกว่า 100 สายพันธ์ทั่วโลก ส่วนในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วไปทุกภูมิภาค

ก่อนหน้านี้ถั่วพูจะเพาะปลูกกันเฉพาะรับประทานภายในครอบครัว แต่ปัจจุบันถั่วพูมีการปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจกันมากขึ้น เนื่องจากผู้คนนิยมนำมารับประทานทั้งแบบดิบและแบบสุก เพราะรสชาติกรอบ มัน อร่อย สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลากหลาย จึงมีความต้องการเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของถั่วพู

ราก มีลักษณะเป็นปมหรือหัวอยู่ใต้ดิน มีไรโซเบียมที่อยู่ปมรากเป็นจำนวนมากเหมือนพืชตระกูลถั่วทั่วๆ ไป รากทำหน้าที่สะสมสารอาหาร มีรากแขนงเล็กน้อย ส่วนล่างของหัวจะเป็นรากที่แทงลึกลงไปใต้ดิน รากของถั่วพูสามารถนำมารับประทานได้เช่นเดียวกันกับฝัก

ลำต้น เป็นไม้ล้มลุก อายุหลายปี มีลักษณะเป็นเถาไม้เลื้อยแต่ไม่มีเนื้อไม้โดยเกาะหรือเลื้อยพันตามวัสดุอื่นๆ ลำต้นกลม เปลือกลำต้นส่วนล่างมีสีเขียวหรือเขียวอมม่วง ส่วนยอดมีสีเขียว สามารถแตกกิ่งก้านได้เป็นจำนวนมาก เพาะพันธุ์ได้ง่ายโดยใช้เมล็ดและกล้า เจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็วยกเว้นเฉพาะกับพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง

ใบ ถั่วพูเป็นพืชใบเลี้ยงคู่ โดยเป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย 3 ใบ ใบย่อยที่เป็นคู่จะมีขนาดที่ใกล้เคียงกันและมีก้านใบสั้น ส่วนใบที่อยู่ระหว่างใบย่อยทั้งสองจะมีขนาดใหญ่กว่าและมีก้านใบที่ยาวออกมา ใบย่อยมีรูปร่างหลายแบบ เช่น รูปไข่ รูปหอก เป็นต้น โคนใบกว้าง กลมและเบี้ยว ส่วนปลายใบแหลม ผิวใบและขอบใบเรียบ สีเขียวสด มีเส้นกลางใบและเส้นแขนงที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน

ดอก ดอกออกเป็นช่อตามซอกใบ ในหนึ่งช่อประกอบไปด้วยดอกย่อย 3-12 ดอกแต่ดอกที่บานจะมีเพียง 2-4 ดอกเท่านั้น กลีบเลี้ยงสีเขียวเชื่อมติดกันเป็นหลอดคล้ายรูประฆัง กลีบดอกมีหลายสีขึ้นอยู่กับสายพันธุ์เช่น ขาว ม่วงแดง แดง น้ำเงิน เป็นต้น ดอกถั่วพูเป็นดอกสมบูรณ์เพศ สามารถผสมเกสรได้ในดอกตัวเองซึ่งปกติมักจะบานในตอนเช้า ส่วนสีที่พบเห็นได้บ่อยคือ ถั่วพูดอกสีขาวอมม่วง และดอกสีม่วง

ผล มีลักษณะเป็นฝัก เป็นรูปขอบขนาน มี 4 แฉก หากตัดขวางจะเป็นรูปสี่เหลี่ยมโดยมี 4 ปีก ปีกมีลักษณะบางๆ และเป็นหยักคล้ายฟันเลื่อย ฝักมีหลายสีขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ เช่น สีเขียว สีม่วง สีเหลือง เป็นต้น ผิวฝักมีทั้งแบบเรียบและหยาบ ในฝักจะมีเมล็ดอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อแก่ฝักจะเป็นสีน้ำตาลเข้มและแตกออก

เมล็ด คล้ายเมล็ดถั่วเหลืองแต่มีรูปทรงที่กลมมากกว่า เมล็ดอ่อนมีหลายสีขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ส่วนเมล็ดแก่ที่แห้งจะมีสีน้ำตาล ผิวเปลือกเมล็ดแข็ง เป็นมันวาว ที่เมล็ดมีตาต้นอ่อนติดอยู่ เมล็ดอ่อนสามารถรับประทานได้

12 สรรพคุณ ประโยชน์ของถั่วพู

1. ถั่วพูมีสรรพคุณช่วยบำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง ลดอาการอ่อนเพลีย บรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย ทำให้สุขภาพแข็งแรงโดยจะรับประทานฝักอ่อนหรือนำเมล็ดแก่ไปตากแห้งแล้วมาบดชงกับน้ำดื่มก็ได้เช่นกัน

2. ถั่วพูมีสรรพคุณช่วยบำรุงกระดูกและฟัน เนื่องจากถั่วพูมีแคลเซียมและฟอสฟอรัสสูง

3. ถั่วพูมีสรรพคุณช่วยลดไข้ แก้อาการตัวร้อน ครั่นเนื้อครั่นตัว แก้อาการคลื่นไส้อาเจียน

4. ถั่วพูมีฤทธิ์เย็นจึงช่วยแก้ร้อนใน กระหายน้ำ

5. ถั่วพูช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้สะดวก เพราะถั่วพูมีใยอาหารสูง ทำให้อุจจาระนิ่ม ช่วยลดและป้องกันอาการท้องผูก

6. ถั่วพูมีสรรพคุณช่วยป้องกันมะเร็งร้าย การรับประทานถั่วพูบ่อยๆ ในปริมาณที่เหมาะสมจะช่วยลดและป้องกันการเกิดเซลล์มะเร็ง

7. ถั่วพูมีประโยชน์นำมารับประทานได้ทั้งแบบสุกและดิบ โดยเป็นพืชเพียงไม่กี่ชนิดที่สามารถรับประทานได้แทบทุกส่วน ซึ่งส่วนที่ผู้คนนิยมนำมารับประทานก็คือฝักอ่อนนั่นเอง ถั่วพูสามารถประกอบอาหารได้หลายชนิดเช่น ยำถั่วพู ถั่วพูผัดกะปิ ถั่วพูผัดน้ำมันหอย หรือจะนำไปต้มจิ้มน้ำพริก หรือนำไปรับประทานเป็นเครื่องเคียงกับขนมจีนก็ได้

8. ถั่วพูมีแคลเซียมสูง และมีอัตราการขัดขวางการดูดซึมต่ำมาก ดังนั้นร่างกายจึงสามารถนำแคลเซียมจากถั่วพูไปใช้ได้มากถึงกว่า 50%เลยทีเดียว

9. หัวใต้ดินของถั่วพูสามมารถนำมาต้มหรือทำเป็นขนมหวานได้ ในหัวถั่วพูมีโปรตีนสูงมากถึงร้อยละ 20-30% นอกจากต้มหรือทำขนมหวานยังสามารถนำมาหั่นเป็นแว่นบางๆ แล้วทอดรับประทานคล้ายๆ กับมันฝรั่งได้อีกด้วย

10. ในเมล็ดถั่วพู มีน้ำมันอยู่สูง สามารถสกัดออกมาเป็นน้ำมันพืชสำหรับใช้ประกอบอาหารได้ น้ำมันถั่วพูเมื่อรับประทานไม่ก่อให้เกิดคอเลสตอรอลในเลือด ทั้งยังช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระและชะลอความเสื่อมของเซลล์ในร่างกายได้ นอกจากประกอบอาหาร น้ำมันถั่วพูยังถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางอีกด้วย

11. ถั่วพูใช้ประโยชน์เป็นอาหารสัตว์ เนื่องจากถั่วพูเป็นพืชที่สามารถเพาะปลูกและเจริญเติบโตได้ง่าย ทั้งยังมีสารอาหารสูงมากกว่าหญ้าหลายเท่าตัว เมื่อปลูกให้สัตว์เลี้ยงกินจะทำให้สัตว์นั้นเจริญเติบโตได้ดีและสุขภาพแข็งแรง

12. ต้นถั่วพูช่วยบำรุงดิน เนื่องจากที่ปมรากของถั่วพูมีไรโซเบียมอยู่ ซึ่งไรโซเบียมนี้สามารถดึงไนโตรเจนจากอากาศได้ จึงเป็นการเพิ่มไนโตรเจนให้กับพื้นดิน ทำให้ดินมีธาตุอาหารเพิ่มมากขึ้นรวมทั้งสามารถปลูกเพื่อใช้คลุมหน้าดิน ช่วยเก็บความชุ่มชื้นให้ผิวดิน ป้องกันหน้าดินถูกชะล้างได้เป็นอย่างดี

เมนูแนะนำแสนอร่อยจากถั่วพู

1.ยำถั่วพู จัดเป็นเมนูเด็ดที่พลาดไม่ได้กันเลยสำหรับถั่วพู วิธีทำก็ง่าย โดยนำถั่วพูกรอบๆ ลวกพอสุกนำไปแช่น้ำเย็นแล้วนำมาคลุกเคล้ากับน้ำยำรสจัดจ้าน ใส่กุ้งลวกกับหมูสับ คลุกให้เข้ากัน โรยหน้าด้วยหอมและกระเทียมเจียว หมึกทอด เม็ดมะม่วงหิมพานต์ พริกขี้หนูทอด รับประทานพร้อมไข่ต้มยางมะตูม จะทานเล่นๆ หรือทานเอาอิ่มก็ได้ทั้งนั้น

2.ถั่วพูผัดกะปิกุ้งสด เป็นอีกเมนูแนะนำที่ทำจากถั่วพูโดยนำพริกขี้หนูสวน พริกชี้ฟ้า หอมแดงและกะปิมาโขลกให้เข้ากัน นำเครื่องแกงที่ได้ไปผัดกับไฟปานกลางพอสุกหอม ใส่กุ้งลงไป ผัดให้เข้ากันจากนั้นตามด้วยถั่ว ผัดพอสุกเช่นกัน ปรุงรสตามใจชอบ

3. ไข่เจียวถั่วพู เมนูง่ายๆ ที่เปลี่ยนจากไข่เจียวธรรมดาๆ ให้อร่อยมากขึ้นด้วยการใส่ถั่วพูเพิ่มลงไป ทานกับข้าวสวยร้อนๆ สักจาน เหยาะน้ำปลาหอมๆ รับรองอร่อยอย่าบอกใคร

ยำถั่วพู เมนูอร่อย

ข้อควรระวังในการรับประทานถั่วพู

ในถั่วพูมีสารชนิดหนึ่งมีมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ทริปซิน ทำให้โปรตีนไม่ย่อยหรือย่อยได้น้อยลง จึงส่งผลต่อการเจริญเติบโตของร่างกายนั่นเอง ดังนั้นหากจะรับประทานถั่วพูให้ได้โปรตีนมาก ควรทำถั่วพูให้สุกก่อนรับประทาน

วิธีเลือกซื้อ และการเก็บรักษาถั่วพู

เลือกถั่วพูที่เพิ่งเก็บใหม่ๆ สีเขียวสด ไม่ช้ำ ไม่มีตำหนิ ส่วนการเก็บรักษาก็เลือกถั่วพูฝักที่เสียออก พันด้วยกระดาษ เก็บใส่กล่องแช่เย็นเอาไว้ ไม่ควรเอาไว้ข้างนอกเพราะถั่วพูจะเปลี่ยนจากสีเขียวสดเป็นสีเหลือง เหี่ยว ไม่กรอบ ไม่น่ารับประทาน และแนะนำว่าก่อนรับประทานควรนำถั่วพูไปแช่น้ำแข็งก่อน จะทำให้ถั่วพูกรอบอร่อยมากขึ้น

จบกันไปแล้วสำหรับใครที่ต้องการรู้จักสรรพคุณและประโยชน์ของถั่วพูให้มากขึ้น คงเข้าใจแล้วว่าถั่วพูฝักเล็กๆ หน้าตาธรรมดาๆ นี้มีประโยชน์มากอย่างคาดไม่ถึง ใครที่ปลูกถั่วพูไว้ในบ้านแต่ไม่ได้สนใจเจ้าผักชนิดนี้มากนักคงหันมาสนใจมากขึ้น หากใครที่อยากลองรับประทานถั่วพูก็นำมาประกอบเมนูอาหารง่ายๆ อย่างยำถั่วพูกุ้งสดแซบๆ รสชาติจัดจ้าน รับรองว่าได้ทั้งประโยชน์และความอร่อยไปเต็มๆ