free web tracker, fire_lady “น้ำมันละหุ่ง” สมุนไพรสรรพคุณดี สารพัดประโยชน์ • สุขภาพดี

น้ำมันละหุ่ง” สมุนไพรสรรพคุณดี สารพัดประโยชน์

น้ำมันละหุ่ง สรรพคุณ ประโยชน์

เชื่อว่าหลายคนอาจเคยได้ยินชื่อ “น้ำมันละหุ่ง” แต่อาจจะมีบางคนที่ไม่รู้จักว่าน้ำมันละหุ่งคืออะไร ได้มาจากไหน และใช้ทำอะไรได้บ้าง ดังนั้นวันนี้เรามาทำความรู้จักกับน้ำมันละหุ่ง น้ำมันเพื่อสุขภาพกันค่ะ

ข้อมูลน่ารู้ของละหุ่ง

ข้อมูลของต้นละหุ่ง

ชื่อสามัญ         Castor, Castor bean, Castor oil plant

ชื่อวิทยาศาสตร์  Ricinus communis L. จัดอยู่ในวงศ์ยางพารา (EUPHORBIACEAE)

ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ  ละหุ่งแดง ละหุ่งขาว มะละหุ่ง (ภาคกลาง), มะโห่ง มะโห่งหิน (ภาคเหนือ), ปี่มั้ว (จีน) เป็นต้น

ลักษณะของละหุ่ง

ต้นละหุ่ง มีถิ่นกำเนิดในแอฟริกาตะวันออก แต่ปัจจุบันประเทศบราซิล อินเดีย และประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก ละหุ่งเป็นไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงของต้นได้ถึง 6 เมตร โดยละหุ่งแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ ละหุ่งขาว และละหุ่งแดง โดยต้นละหุ่งขาวจะมีลำต้นและก้านใบเป็นสีเขียว ส่วนละหุ่งแดงจะมีลำต้นและก้านใบเป็นสีแดง ส่วนยอดอ่อนและช่อดอกเป็นสีนวลขาว

ใบละหุ่ง มีลักษณะเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปฝ่ามือ มีแฉกประมาณ 6 - 11 แฉก ปลายแฉกแหลม ใบมีขนาดกว้างประมาณ 15 เซนติเมตรและยาวประมาณ 60 เซนติเมตร ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย ปลายจักเป็นต่อม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10 - 20 เซนติเมตร โคนใบเป็นแบบก้นปิด มีเส้นแขนงของใบเรียงจรดปลายจักที่มีขนาดใหญ่ ส่วนก้านใบยาวประมาณ 10 - 30 เซนติเมตร หูใบเชื่อมติดกันลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม มีความยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร ติดตรงข้ามกัน โอบรอบกิ่ง และร่วงได้ง่าย

ดอกละหุ่ง ออกดอกเป็นช่อบริเวณปลายกิ่งหรือปลายยอด ดอกมีทั้งตัวผู้และตัวเมียอยู่ในช่อเดียวกัน โดยดอกตัวผู้จะอยู่ช่วงบน ส่วนดอกตัวเมียจะอยู่ช่วงล่าง ดอกมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ ดอกร่วงได้ง่าย โดยต้นละหุ่งจะเริ่มออกดอกเมื่อมีอายุประมาณ 40 - 60 วัน

ลักษณะของต้นละหุ่ง

ผลละหุ่ง มีลักษณะเป็นผลแห้งแบบแคปซูล ลักษณะเป็นทรงรี ยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร ผลมีพู 3 พู ลักษณะเป็นรูปไข่ มีสีเขียว ยาวประมาณ 1 - 1.5 เซนติเมตร ผิวของผลมีขนคล้ายหนามอ่อนๆ ทั้งผลคล้ายผลเงาะ มีเมล็ดเป็นทรงรี และจะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ภายในประมาณ 140 - 160 วัน

เมล็ดละหุ่ง มีลักษณะเป็นรูปทรงรี เปลือกเมล็ดมีสีน้ำตาลแดงประขาวหรือเป็นจุดสีน้ำตาลปนเทา เนื้อในเมล็ดมีสีขาว มีโปรตีนที่มีพิษ ภายในเนื้อเมล็ดจะมีน้ำมันอยู่ภายใน โดยน้ำมันจากเมล็ดละหุ่งจะมีลักษณะเป็นของเหลว ข้น เหนียว ใส ไม่มีสี หรือมีสีเหลืองอ่อนๆ น้ำมันมีกลิ่นเล็กน้อย มีรสเฝื่อน มันเอียน และเผ็ดเล็กน้อย

สายพันธุ์ละหุ่งที่ปลูกในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 2 พวก คือ พันธุ์พื้นเมือง เช่น ลายขาวดำ ลายแดงเข้ม ลายหินอ่อน เป็นต้น ละหุ่งพวกนี้เมื่อเพาะปลูกแล้วจะปล่อยทิ้งไว้ให้ติดผลใช้ระยะเวลานาน 5 - 6 ปี หรือนานกว่านั้น แต่ในปัจจุบันได้มีการผลิตพันธุ์ลูกผสม ชื่อว่า “อุบล90” ซึ่งเมล็ดมีน้ำมันสูง มีอายุการปลูกสั้นเพียง 75 - 100 วัน แต่ยังไม่ได้รับความนิยมนัก เนื่องจากมีราคาแพงกว่าพันธุ์พื้นเมือง

22 สรรพคุณดีๆ ที่ห้ามพลาดของละหุ่ง

1. ใบสดช่วยแก้เลือดลมพิการ
2. ใบสดนำมาเผาใช้พอกแก้อาการปวดศีรษะได้
3. รากละหุ่งมีรสจืด ใช้ตำเป็นยาพอกเหงือกแก้อาการปวดฟัน
4. รากใช้สุมเป็นถ่านทำเป็นยากินแก้พิษไข้เซื่องซึมได้
5. ใบสดช่วยแก้อาการปวดท้อง
6. ใบสดช่วยขับลมในลำไส้
7. น้ำมันละหุ่งมีฤทธิ์เป็นยาระบายอุจจาระหรือยาถ่ายอย่างอ่อนสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ มักใช้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคท้องเดินเฉียบพลันที่เกิดจากอาหารเป็นพิษ เพื่อช่วยในการพิษออกมา และยังนำมาใช้ในการทำความสะอาดลำไส้ก่อนการเอ็กซเรย์ลำไส้และกระเพาะอาหารอีกด้วย โดยน้ำมันละหุ่งนี้ต้องสกัดเอาเฉพาะน้ำมันเท่านั้น และไม่ให้ติดส่วนที่เป็นพิษ
8. ใบสดหรือรากนำมาต้มกินมีฤทธิ์เป็นยาระบายเช่น
9. ใบสดช่วยแก้อาการช้ำรั่วหรืออาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
10. ใบสดช่วยขับระดูของสตรี
11. ใบสดใช้ห่อกับก้อนอิฐแดง เผาไฟ ใช้ประคบแก้ริดสีดวงทวาร
12. รากใช้ปรุงเป็นยาสมานแผลได้
13. เมล็ดนำมาตำใช้เป็นยาพอกแผลได้
14. ใบสดนำไปเผาไฟใช้พอกรักษาแผลเรื้อรังได้
15. ใบสดใช้ตำพอกเป็นยารักษาฝีได้
16. ยาขี้ผึ้งน้ำมันละหุ่งที่มีความเข้มข้นร้อยละ 5 - 10 สามารถนำมาใช้ทารักษาผิวหนังอักเสบได้
17. น้ำมันจากเมล็ดผสมกับน้ำมันงา ทำเป็นยาใช้ทาแก้กระดูกหัก กระดูกแตกได้
18. ใบสดนำไปเผาไฟใช้พอกแก้อาการปวดบวมหรือปวดตามข้อได้
19. เมล็ดละหุ่งนำมาทุบแล้วเอาจุดงอกออก ใช้ต้มกับนมครึ่งหนึ่ง แล้วต้มกับน้ำเพื่อทำลายพิษ ใช้รับประทานแก้อาการปวดข้อปวดหลังได้
20. ใบสดช่วยขับน้ำนมของสตรี
21. ใบสดมีรสจืดและขื่น มีฤทธิ์เป็นยาฆ่าแมลงบางชนิดได้
22. โปรตีนจากละหุ่ง ส่วนหนึ่งของโปรตีน Ricin ซึ่งเป็นพิษคือ dgA สามารถจับกับ Antibody ของไวรัสเอดส์ได้ เมื่อพบเซลล์ไวรัส มันจะปล่อย Ricin ไปยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัส โดยมีความสามารถในการเลือกจับเฉพาะเซลล์ที่มีไวรัสเท่านั้น

พิษของละหุ่งที่ต้องระวัง

เมล็ดมีพิษมาก การรับประทานเพียง 2 - 3 เมล็ด อาจทำให้ปากและคอไหม้พอง มีอาการคลื่นไส้อาเจียน มีไข้ ไอ หายใจลำบาก แน่นหน้าอก เหงื่อออกมาก กระหายน้ำ เจ็บคอ กล่องเสียงอักเสบ ม่านตาขยาย มีอาการอ่อนเพลีย ปอดบวม ตัวเขียวคล้ำ เนื้อตาย เยื่อบุจมูกอักเสบ ท้องเสียอย่างรุนแรง มีเลือดออกในกระเพาะอาหาร อุจจาระมีเลือด ตับและไตถูกทำลาย ความดันโลหิตลดต่ำลง และหากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เสียชีวิตได้ภายใน 36 - 72 ชั่วโมง เนื่องจากระบบการไหลเวียนโลหิตล้มเหลว

การสกัดเอาน้ำมันออกจากเมล็ดนั้น ต้องใช้วิธีการบีบออกโดยไม่ผ่านความร้อน หรือใช้วิธีการที่เรียกว่า “บีบเย็น” (Cold pressed) เพื่อไม่ให้โปรตีนที่เป็นพิษติดออกมาด้วย หากพิษนั้นปนเปื้อนในอาหารและน้ำดื่มจะมีความเป็นพิษสูง ยังไม่มีวัคซีนป้องกันและไม่มีวิธีการรักษาแบบเฉพาะเจาะจง

การนำละหุ่งมาใช้ประโยชน์

1. น้ำมันละหุ่ง มีกรดริซิโนเลอิก (Ricinoleic Acid) ซึ่งมีฤทธิ์เป็นยาถ่าย มักใช้ในขนาด 15 - 60 ml. ก่อนการผ่าตัด หรือการฉายรังสีบริเวณทวารหนักหรือปลายลำไส้ใหญ่
2. น้ำมันละหุ่ง (Castor oil) มีกรดไขมัน Ricinoleic ซึ่งมีคุณสมบัติเฉพาะตัวสูง นิยมนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตเรซิ่น น้ำมันหล่อลื่น น้ำมันเบรกรถยนต์ จาระบี น้ำมันชักเงา น้ำยารักษาหนัง น้ำมันผสมสี หมึกพิมพ์ ใช้ทำสีทาบ้าน สีโป๊วรถ ขี้ผึ้งเทียม พลาสติก เส้นใยเทียม หนังเทียม ฉนวนไฟฟ้า สกี ล้อเครื่องบิน และยังใช้เป็นอาหารสัตว์ได้อีกด้วย ส่วนน้ำมันละหุ่งที่ผ่านกรรมวิธีทำให้บริสุทธิ์แล้วสามารถนำมาผลิตใช้เป็นยารักษาโรค ยาระบาย เครื่องสำอางชนิดต่างๆ และสบู่ เป็นต้น
3. ลำต้นของละหุ่งสามารถนำมาใช้ในการทำเยื่อกระดาษได้
4. กากของเมล็ดละหุ่งสามารถนำมาใช้ทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ได้ เพราะอุดมไปด้วยธาตุ N, P, K แต่ไม่เหมาะแก่การนำมาเลี้ยงสัตว์
5. การปลูกต้นละหุ่งเป็นแนวรอบสวนไร่นาสามารถช่วยป้องกันหรือขับไล่แมลงศัตรูพืชได้ เช่น แมงกะชอน ปลวก หนู ไส้เดือนฝอย เป็นต้น

"ละหุ่ง" ถือเป็นพืชสมุนไพรที่สามารถนำทุกส่วนมาใช้ประโยชน์ได้ อีกทั้งน้ำมันละหุ่งก็นับว่ามีประโยชน์ไม่น้อย ดังนั้นการใช้ของที่มีประโยชน์อยู่แล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุด คือ การใช้อย่างถูกต้องและเหมาะสม

เรียบเรียงข้อมูลโดย : เว็บ sukkaphap-d.com