free web tracker, fire_lady “ยาดม” ยาหลอดเล็กๆ ที่มากสรรพคุณและประโยชน์ • สุขภาพดี

ยาดม” ยาหลอดเล็กๆ ที่มากสรรพคุณและประโยชน์

ยาดม สรรพคุณ ประโยชน์

ในปัจจุบัน “ยาดม” ถือเป็นยาชนิดหนึ่งที่คนไทยเรานิยมพกพากัน ซึ่งโดยปกติแล้วยาดมใช้เพื่อบรรเทาอาการหวัด คัดจมูก หน้ามืดตาลาย วิงเวียนศีรษะ บางครั้งหลายคนก็ไม่ได้มีอาการเหล่านี้แต่ก็พกยาดมไว้ติดตัว ยาดมในสมัยนี้มีการปรับปรุงให้มีความทันสมัย ขนาดกะทัดรัด นอกจากนี้ยาดมยังเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ก็นิยมหันมาสูดยาดมทดแทนการสูบบุหรี่

รู้จักกับ "ยาดม"

ยาดม ส่วนใหญ่จะประกอบด้วย เมนทอล การบูร พิมเสน น้ำมันหอมระเหยและอื่นๆ เช่น น้ำมันสะระแหน่ น้ำมันเขียว น้ำมันกานพลู หรือน้ำมันยูคาลิปตัส และนอกจากนี้ยังมีน้ำมันระเหยยากที่ช่วยในการละลาย เช่น น้ำมันงา น้ำมันแร่ หรืออาจมีสารสกัดจากสมุนไพรบ้าง เมนทอลหรือเรียกว่าเกล็ดสะระแหน่ การบูรและพิมเสน รวมถึงน้ำมันหอมระเหยเหล่านี้จะทำให้เกิดความรู้สึกเย็น ซ่า ในโพรงจมูก รู้สึกสดชื่น ตื่นตัว แต่การสูดดมสารเหล่านี้บ่อยๆ อาจทำให้เยื่อเมือกบุทางเดินจมูกที่สัมผัสกับกลิ่นเข้มข้นเกิดการระคายเคืองได้

ส่วนประกอบหลักและสรรพคุณของยาดม

1. เมนทอลหรือเกล็ดสะระแหน่ มีลักษณะเป็นผลึกสีขาว กลิ่นหอมเย็น มีอยู่ในน้ำมันหอมระเหยที่ได้จากใบมิ้นต์ มีประโยชน์ในการขับลม มักใช้แต่งกลิ่นและแต่งรสยา เช่น ยาเคลือบกระเพาะอาหาร ยาชาเฉพาะที่อย่างอ่อนๆ ลดการบวมของหลอดเลือดที่จมูก และลดอาการปวด เป็นต้น สารนี้เมื่อสัมผัสกับผิวหนังทำให้รู้สึกเย็น แต่ในความเข้มข้นสูงและใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน สารนี้อาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองบริเวณทางเดินหายใจ หรืออาจทำให้เกิดอาการปอดอักเสบได้

ข้อควรระวังในการใช้เมนทอล

2. การบูร มีลักษณะเป็นเกล็ดมันวาว สีขาว กลิ่นหอมเย็นฉุน เดิมสกัดจากต้นการบูร แต่ปัจจุบันเป็นสารสังเคราะห์ การบูรถูกดูดซึมทางผิวหนังได้ดี และรู้สึกเย็นเมื่อสัมผัสกับผิวหนัง มีฤทธิ์เป็นยาชาและต้านจุลินทรีย์อย่างอ่อนๆ ใช้ทาเฉพาะที่แก้เคล็ดบวม ขัดยอก แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย และโรคผิวหนังได้ นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง อาจเกิดอันตรายจากการสูดดม เนื่องจากระคายเคืองระบบทางเดินหายใจ นอกจากนี้ยังมีการนำการบูรมาใส่ในรถยนต์เพื่อปรับอากาศ ทำให้หอมสดชื่น แต่ความเข้มข้นของกลิ่นการบูรมากๆ ทำให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพโดยเฉพาะปอดและตับได้ 

การบูร-สรรพคุณ ประโยชน์ โทษ

3. พิมเสน มีลักษณะเป็นเกล็ดเล็ก ๆ แบน ๆ สีขาวขุ่นหรือแดงเรื่อ ๆ กลิ่นหอมเย็น ถ้าเป็นพิมเสนบริสุทธิ์จะมีรูปร่างเป็นหกเหลี่ยม แต่ปัจจุบันได้จากสารสังเคราะห์ซึ่งจะมีรสเผ็ดกัดลิ้น ถ้าเป็นของแท้จากธรรมชาติจะไม่กัดลิ้นแต่ทำให้เย็นปากคอ พิมเสนใช้สูดดมแก้ลมวิงเวียน ทาแก้เคล็ดขัดยอก แต่อาจเป็นอันตรายได้หากสูดดมในปริมาณมาก ๆ เนื่องจากสารนี้ทำให้เกิดอาการระคายเคืองบริเวณทางเดินหายใจ

พิมเสน สรรพคุณ-ประโยชน์

ยาดมที่ประกอบด้วยสารหลัก 3 ชนิดนี้ เมื่อสูดดมเข้าไปจะทำให้โล่งจมูก รู้สึกเย็นซ่า สดชื่น ตื่นตัว บรรเทาอาการลมวิงเวียน คัดจมูก การใช้ยาดมที่ถูกต้องควรสูดดมใกล้ๆ แต่ไม่สัมผัสโดยตรง เพราะสารทุกตัวอาจทำให้ระคายเคือง ควรหลีกเลี่ยงการใช้หลอดยาดมที่สัมผัสกับจมูกผู้อื่นแล้ว เพราะอาจทำให้ติดเชื้อได้
ยาดมที่เป็นลักษณะน้ำหรือขี้ผึ้ง ให้ป้ายสำลี ผ้าเช็ดหน้า หรือทาบางๆ ที่หน้าอกแล้วสูดไอระเหย หรืออาจทาด้านนอกของจมูกก็ได้ แต่ต้องใช้ยาในปริมาณน้อยๆ และหากมีโรคของโพรงจมูกอยู่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ เพราะอาจระคายเคืองมากขึ้น ที่สำคัญยาดมนี้อันตรายต่อเด็ก ควรเก็บให้พ้นมือเด็กด้วย

ยาดมอาจทำให้เกิดการเสพติดได้ เนื่องจากสารเคมีที่ใช้ผลิตบางชนิด เช่น เมนทอล การบูร เป็นสารที่มีผลต่อระบบประสาท จึงอาจทำให้เกิดการเสพติดได้ การ “ติดยาดม” นั้นจะเป็นรูปแบบที่ทำจนติดเป็นนิสัย โดยสังเกตว่าหากวันไหนที่เราไม่ได้ดมยาดมตลอดวัน เราอาจรู้สึกอยากสูดยาดมบ้าง แต่เมื่อทำกิจกรรมในระหว่างวันเราก็ละเลยความคิดนั้นไปได้ จริงๆ แล้วยาดมเป็นยาสามัญประจำบ้านที่มีประโยชน์ หากใช้อย่างถูกวิธี ไม่สูดดมต่อกันเป็นเวลานาน และใช้เมื่อจำเป็นต้องใช้ ก็เป็นการป้องกันโรคบางอย่างได้

ข้อมูลเกี่ยวกับยาดม

กลุ่มยา :                  ยาดม
ประเภทยา:            ยาที่หาซื้อได้เอง
สรรพคุณ :              ใช้สูดดมบรรเทาอาการคัดจมูก เวียนหัว เป็นลม ใช้ทารักษาอาการคัน บวม แดงจากแมลง    กัดต่อยหรือการสัมผัสพืชบางชนิด
กลุ่มผู้ป่วย :           ผู้ใหญ่ และเด็กที่มีอายุ 6 ปีขึ้นไป
รูปแบบของยา:   ยาน้ำผสมน้ำมันหอมระเหย ยาน้ำแอมโมเนีย 

คำเตือนในการใช้ยาดม

1. ห้ามเก็บหรือทิ้งบรรจุภัณฑ์ยาน้ำแอมโมเนียใกล้แหล่งกำเนิดความร้อนหรือที่มีประกายไฟ
2. ห้ามใช้ยาดมติดต่อกันเป็นเวลานาน และไม่ควรสูดดมยาที่ผสมเมทิลซาลิซีเลต
3. ห้ามทายาดมบริเวณผิวหนังที่บอบบาง หรือมีแผลเปิด และห้ามให้ยาเข้าตา หากยาสัมผัสกับผิวหนังบริเวณดังกล่าวหรือยาเข้าตา ให้ผู้ป่วยล้างบริเวณนั้นด้วยน้ำสะอาดอย่างน้อย 20 นาที โดยห้ามถูหรือทาขี้ผึ้ง แล้วรีบไปพบแพทย์ทันที
4. ห้ามรับประทานยาดมโดยเด็ดขาด หากกลืนยาโดยอุบัติเหตุให้ดื่มน้ำมากๆ แล้วรีบไปพบแพทย์
5. ผู้ที่ตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาดม
6. ไม่ควรใช้ยาดมในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี หรือถ้าต้องใช้ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น
7. ผู้ที่กำลังใช้ยารักษาโรคประจำตัวอื่น ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาดม
8. ห้ามใช้ยาดม หากแพ้น้ำมันหอมระเหยหรือแอมโมเนีย
9. ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาดม
10. ผู้ที่หน้ามืดหรือหมดสติบ่อย ๆ ควรปรึกษาแพทย์มากกว่าใช้ยาดม
11. ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์หากอาการเจ็บป่วยไม่ทุเลาลงหรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ เกิดขึ้น
12. ผู้ป่วยอาจติดการสูดยาดมเป็นนิสัยได้หากใช้เป็นเวลานาน 

ปริมาณการใช้ยาดม

ให้ใช้สำลีชุบยาเพียงเล็กน้อยแล้วสูดดม หรืออาจสูดดมยาจากบรรจุภัณฑ์โดยตรงก็ได้ โดยสูดดมช้าๆ หรือใช้สำลีชุบยาน้ำแอมโมเนียเล็กน้อยแล้วสูดดมช้าๆ โดยถือสำลีให้ห่างจากจมูกของผู้ป่วยประมาณ 4 นิ้ว หากใช้ทาให้ทาบางๆ บริเวณผิวหนังที่มีอาการ

ข้อแนะนำในการใช้ยาดม

1. ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวหรือกำลังรับประทานยารักษาโรคอื่นๆ ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากผลิตภัณฑ์อย่างเคร่งครัด หรือควรปรึกษาแพทย์เสมอ
2. สำหรับการสูดดมยาดม ให้ใช้สำลีหรือผ้าเช็ดหน้าชุบยาน้ำที่อยู่ในแท่งยาดมแล้วสูดดม หรือสูดดมยาจากบรรจุภัณฑ์โดยตรงก็ได้ โดยถือยาให้ห่างจากจมูกเล็กน้อย
3. หากต้องสูดดมยาอย่างต่อเนื่อง ให้ใช้ปริมาณเล็กน้อย เพราะทำให้เยื่อบุโพรงจมูกระคายเคืองได้
4. ควรเช็ดบรรจุภัณฑ์ให้สะอาดและปิดฝาให้มิดชิด ไม่ควรใช้ยาดมของผู้อื่น เพราะเสี่ยงติดเชื้อ
5. ควรเก็บยาไว้ในอุณหภูมิห้อง และเก็บให้พ้นจากมือเด็กและแสงแดด
6. ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์หากมีอาการป่วยรุนแรง 

ผลข้างเคียงจากการใช้ยาดม

ยาดมอาจทำให้ระบบทางเดินหายใจเกิดการระคายเคืองได้ และผู้ที่สูดดมยาน้ำแอมโมเนียอาจไอหรือน้ำตาไหลเล็กน้อยได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยต้องไปพบแพทย์ทันทีหากมีอาการข้างเคียงที่รุนแรง

ยาหลอดเล็กๆ ที่เรียกว่า “ยาดมเป็นยาที่หากเราใช้อย่างถูกวิธีก็มีประโยชน์ไม่น้อย ดังนั้นการมียาดมติดตู้ยาไว้ก็คงไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร