free web tracker, fire_lady รู้ทัน “ฟอร์มาลีน” ภัยร้ายในอาหารสด!! • สุขภาพดี

รู้ทัน "ฟอร์มาลีน" ภัยร้ายในอาหารสด!!

อันตราย ฟอร์มาลีน

พูดถึง "ฟอร์มาลีน" เชื่อว่าหลายคนคงนึกถึง ‘น้ำยาอาบศพ’ กลิ่นฉุนที่พบเห็นได้ตามโรงพยาบาลหรือคลินิกบางแห่ง คุณสมบัติหลักของฟอร์มาลีนคือ ช่วยคงสภาพของศพไม่ให้เน่าเปื่อย ช่วยฆ่าเชื้อโรคหรือสิ่งสกปรกภายในห้องผ่าตัดและอุปกรณ์ที่ต้องการความสะอาดเป็นพิเศษ นอกจากนั้นยังนิยมนำฟอร์มาลีนมาเป็นสารตั้งต้นในอุตสาหกรรมสีย้อมผ้า พลาสติกและกาวอีกด้วย

จากข้อความข้างต้น ดูเหมือนว่าฟอร์มาลีนจะเป็นสารเคมีที่มีประโยชน์มาก แต่เมื่อถูกนำมาใช้ผิดวัตถุประสงค์ เช่นนำมาถนอมอาหาร เพิ่ม ‘shelf life’ ให้กับอาหารสด ‘ฟอร์มาลีน ก็สามารถบั่นทอนสุขภาพของผู้บริโภคได้เช่นกัน วันนี้เราชาวสุขภาพดี...จะพาผู้อ่านทุกท่านไปพบกับภัยร้ายจากอาหารที่ปนเปื้อนฟอร์มาลีนกันค่ะ รับรองว่าอ่านจบแล้วหลายคนคงขยาดเจ้าสารชนิดนี้ไปอีกนาน!

ฟอร์มาลีนอยู่ในอาหารประเภทใด?

อาหารที่มีการปนเปื้อนฟอร์มาลีนมากที่สุด คืออาหารทะเล ได้แก่ กุ้ง ปูและปลาหมึก โดยเฉพาะปลาหมึกที่ตรวจพบการปนเปื้อนมากที่สุด ทั้งนี้เพราะ ‘หมึก’ หรือ ปลาหมึก เป็นสัตว์ทะเลที่มีลำตัวค่อนข้างนิ่ม หากทิ้งไว้นานหรือให้ความเย็นไม่เพียงพอจะเปื่อยยุ่ยและเน่าเสีย ผู้ประกอบการรวมไปถึงชาวประมงจึงมักใช้วิธีแช่ปลาหมึกกับฟอร์มาลีน เพื่อคงสภาพให้ปลาหมึกดูสดตลอดเวลา นอกจากนั้นจากการสุ่มตรวจตัวอย่างของกระทรวงสาธารณสุข ยังพบอาหารประเภทอื่นๆ ที่มีการปนเปื้อนฟอร์มาลีนเช่นเดียวกัน เช่น หมู เนื้อแดง หน่อไม้ ผักกาดขาวและถั่วฝักยาวอีกด้วย

ฟอร์มาลีนอันตรายแค่ไหนเมื่อปนเปื้อนมากับอาหาร?

"ฟอร์มาลีน" หากนำมาใช้ถูกวิธีก็ถือเป็นสารที่มีประโยชน์มากชนิดหนึ่ง แต่หากปนเปื้อนมากับอาหารแล้วอาจทำให้ผู้บริโภคเสียชีวิตได้เลยทีเดียว ดังนั้นหัวข้อต่อไปจะว่าด้วยเรื่องของอันตรายของฟอร์มาลินที่คุณอาจเคยรู้มาก่อน ถ้าพร้อมแล้วตามไปหาคำตอบไปกับ‘สุขภาพดี’ กันเลยค่ะ

1. โทษต่อระบบทางเดินอาหาร  อาการเริ่มต้นของผู้ที่ได้รับสารฟอร์มาลีนเข้าไปเป็นจำนวนมาก จะทำมีอาการปากและคอแห้งผิดปกติ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องและถ่ายท้องคล้ายคนท้องเสียหรืออาหารเป็นพิษ นอกจากนั้นในรายที่แพ้จะปวดท้องรุนแรง เกิดแผลในกระเพาะอาหารและกระเพาะอักเสบ หากปล่อยไว้จะทำให้ระบบหมุนเวียนเลือดล้มเหลวตามมาจนหมดสติหรือทำให้เสียชีวิตได้ ในกรณีที่ได้รับฟอร์มาลินในปริมาณตั้งแต่ 60-90 มิลลิลิตรเป็นต้นไป จะทำให้การทำงานของอวัยวะภายในทั้งตับ หัวใจและสมองเสื่อมลง

2. โทษต่อผิวหนัง ทันทีที่ร่างกายได้รับพิษจากฟอร์มาลิน ผิวหนังจะเป็นอวัยวะส่วนแรกที่แสดงออกออกถึงอาการแพ้ โดยอาการเริ่มต้นคือเกิดผื่นคัน ลักษณะผื่นจะคล้ายอาการลมพิษ หรือในบางรายอาจเป็นรอยแดงเป็นปื้นๆ ไปจนถึงผิวหนังไหม้

3.โทษต่อระบบทางเดินหายใจ การสูดดมสารฟอร์มาลินต่อกันหลายๆ ชั่วโมงจะเกิดอาการระคายเคืองบริเวณเยื่อบุโพรงจมูก (อาจมีอาการระคายเคืองบริเวณดวงตาและผิวหนังร่วมด้วย) ในรายที่อาการแพ้ร่วมด้วยอาจเกิดภาวะหายใจไม่ออก แน่นหน้าอกและน้ำท่วมปอดจนเสียชีวิตในที่สุด แต่หากสูดดมในปริมาณเล็กน้อยจะทำให้เกิดอาการไอ หายใจติดขัด  ซึ่งเป็นภาวะเริ่มต้นของหลอดลมอักเสบเนื่องจากได้รับสารเคมีเป็นเวลานาน

4. เพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็ง จากการวิจัยพบว่าฟอร์มาลินและสารฟอร์มาลดีไฮด์ (formaldehyde) เป็นตัวการสำคัญในการเพิ่มมะเร็งกระเพาะอาหารและตับ โดยเมื่อร่างกายได้รับสารพิษไม่ว่าชนิดใดก็ตาม สารพิษเหล่านั้นมักจะถูกนำไปกำจัดที่ตับ และหากกำจัดไม่หมดจะสะสมจนเป็นมะเร็งได้

จะเห็นได้ว่าโทษของฟอร์มาลินค่อนข้างร้ายแรง โดยสามารถนำไปสู่การเสียชีวิตได้แต่เนื่องจากเราแทบจะไม่สามารถแยกอาหารที่ถูกแช่ฟอร์มาลินด้วยตาเปล่าได้ หลายคนจึงสะสมสารพิษดังกล่าวจากการรับประทานอาหารโดยไม่รู้ตัว แต่คงจะดีไม่น้อยหากเราสามารถลดความเสี่ยงจากฟอร์มาลินที่ปนเปื้อนมากับอาหารได้ โดยจากข้อมูลของ คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดลได้เปิดเผยวิธีการตรวจสอบสารฟอร์มาลินในอาหารด้วยการ ‘ดมกลิ่น’ เนื่องจากฟอร์มาลินเป็นสารไม่มีสีจึงมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าเมื่อเจือปนมากับอาหาร แต่กลิ่นของฟอร์มาลินจะค่อนข้างฉุน

วิธีทดสอบ ฟอร์มาลีน ในผัก-เนื้อสัตว์

หากต้องการทดสอบอาหารประเภทผักให้เด็ดใบหรือหักก้าน จากนั้นลองดมดู หากมีกลิ่นฉุนจนแสบจมูก แสดงว่าผักประเภทนั้นๆ มีฟอร์มาลิน แต่หากต้องการตรวจสอบอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ให้สังเกตลักษณะของสี หากมีสีสดเกินไป แม้วางทิ้งไว้หลายชั่วโมงให้สงสัยว่ามีฟอร์มาลินเจือปนอยู่

นอกจากนั้น ‘การล้างทำความสะอาด’ อาหารสดที่ซื้อมาก็เป็นเรื่องสำคัญ สำหรับพืชผักอย่าลืมล้างโดยให้น้ำจากก๊อกไหลผ่าน 2-3 รอบ หากไม่รีบนำไปประกอบอาหารให้แช่ด้วยน้ำส้มสายชูหรือด่างทับทิมเพื่อลดความรุนแรงของสารพิษ ในส่วนของเนื้อสัตว์ก่อนรับประทานต้องลากให้สะอาดและเมื่อนำไปประกอบอาหารควรความร้อนที่เพียงพอเพื่อฆ่าเชื้อ

อย่างไรก็ตามแม้กฎหมายจะระบุว่า ‘ฟอร์มาลิน’ เป็นสารพิษที่ห้ามใส่ลงไปในอาหารแต่ก็ยังมีการตรวจพบผู้ฝ่าฝืนหลายราย ดังนั้นในฐานะผู้ผลิตจึงควรมีจรรยาบรรณ ไม่นำอาหารที่ใกล้เน่าเสียมาแช่ฟอร์มาลินเพื่อหลอกขายให้กับลูกค้า นอกจากนั้นในส่วนของลูกค้าหรือผู้บริโภคก็ควรใส่ใจในการเลือกรับประทานอาหารให้มาก เลือกอาหารที่ไม่สดผิดปกติ กล่าวคือหากเป็นเนื้อสัตว์ที่แม้จะสัมผัสกับอากาศทั้งวันก็ยังสดน่ารับประทานอยู่ หรือพืชผักที่ไม่มีรอยกัดจากแมลงเลย ให้สงสัยไว้ว่าอาจมีการแช่น้ำยาฟอร์มาลินมาในปริมาณมาก

เชื่อว่าสุขภาพจะดีหรือไม่ดีนั้น...ส่วนสำคัญคือการรับประทานอาหาร หากรับประทานของสด สะอาด ปราศจากสารปนเปื้อน ผู้บริโภคก็จะมีสุขภาพแข็งแรงและและมีชีวิตที่ยืนยาว ตามคำกล่าวที่ว่า ‘You are what you eat’ กินอย่างไร ได้อย่างนั้น

บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวกับสารปนเปื้อนในอาหาร