free web tracker, fire_lady สารกันบูด…ยิ่งบริโภค ยิ่งเสี่ยงโรคภัย!! • สุขภาพดี

สารกันบูด...ยิ่งบริโภค ยิ่งเสี่ยงโรคภัย!!

สารกันบูด อันตราย

โดยธรรมชาติของอาหารหากเก็บไว้นานเกินไปย่อมทำให้เกิดภาวะเน่าเสียได้ หลายคนจึงพยายามคิดค้น "วิธีถนอมอาหาร" ที่จะช่วยยืดอายุของอาหารให้ยาวนานขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการถนอมอาหารด้วยวิธีธรรมชาติ ทั้งหมัก ตากแห้ง ดอง หรือวิธีการใช้สารเคมีอย่าง "สารกันบูด" ซึ่งแน่นอนว่าการใช้สารเคมีในการถนอมอาหารย่อมส่งผลกับผู้บริโภคทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ในวันนี้เราชาวสุขภาพดี...จึงไม่พลาดที่จะหยิบยกเรื่องราวที่น่าสนใจของการใช้ "สารกันบูด" มาฝากผู้อ่านทุกๆ ท่าน ซึ่งรับรองว่าข้อมูลที่เรานำมาบอกเล่าในวันนี้จะสามารถทำให้ผู้อ่านรอดพ้นจากอาหารที่ปนเปื้อนสารกันบูดได้อย่างแน่นอน ถ้าพร้อมแล้วเลื่อนไปอ่านบรรทัดถัดไปได้เลยค่ะ

สารกันบูดคืออะไร ?

"สารกันบูด" หรืออีกชื่อคือ ‘วัตถุกันเสีย’ เป็นสารที่นิยมใช้อย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมอาหาร โดยสารดังกล่าวจะออกฤทธิ์ควบคุมการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์และทำลายชิ้นส่วนของเซลล์จุลินทรีย์ทำให้อาหารเน่าเสียช้าและยังรักษารสชาติให้น่ารับประทานเหมือนปรุงเสร็จใหม่ โดยสารกันบูดจะมีกลไกการทำงานดังนี้

1. ทำลายผนังเซลล์ของจุลินทรีย์ในอาหาร โดยสารกันบูดจะออกฤทธิ์แทรกซึมตามส่วนต่างๆ ของเซลล์ โดยจะค่อยๆ ทำลายเซลล์จุลินทรีย์ จนเซลล์ไม่สามารถทำงานได้ปกติและตายไปในที่สุด

2. ยับยั้งการทำงานเอนไซม์ในจุลินทรีย์ โดยสารกันบูดจะค่อยๆ ออกฤทธิ์เพื่อทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานของเอนไซม์ลดน้อยลง เมื่อไม่มีเอนไซม์ที่ทำหน้าที่ย่อยจุลินทรีย์ จุลินทรีย์ก็จะไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้

3. ส่งผลต่อสารพันธุกรรมในจุลินทรีย์ คุณสมบัติอีกข้อหนึ่งของ "สารกันบูด" คือมีฤทธิ์ทำลายสารพันธุกรรมของจุลินทรีย์จำพวก RNA และ DNA โดยจะส่งผลให้สารพันธุกรรมไม่สามารถแบ่งเซลล์ได้ จนเซลล์มีรูปร่างผิดปกติ และไม่สามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้

อันตรายจากสารกันบูดที่คุณคาดไม่ถึง!!

1. กรดอินทรีย์ กรดอินทรีย์ถือเป็นกรดที่นิยมใช้กันมากในอุตสาหกรรมถนอมอาหาร โดยเป็นกรดที่สามารถใส่ลงไปเพื่อถนอมอาหารได้ แต่ผู้ประกอบการต้องควบคุมปริมาณกรดในอาหารให้เป็นไปตามกฎของกระทรวงสาธารณสุข อย่างไรก็ตามกรณีที่ผู้บริโภคได้รับกรดอินทรีย์ที่ปนเปื้อนมากับอาหารมากจนเกินไป จะทำให้เกิดกรดเกินในกระเพาะอาหาร เสี่ยงต่อโรคแผลในกระเพาะอาหารหรือกระเพาะอักเสบได้ นอกจากนั้นในบางรายอาจมีปัญหาเกี่ยวกับลำไส้ร่วมด้วย

2. เกลือซัลไฟต์ และ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ โดยเกลือทั้งสองชนิดนี้มีคุณสมบัติในการยับยั้ง และทำลายเชื้อแบคทีเรีย รวมไปถึงชื้อราโดยทั่วไปนิยมใช้กับผลิตภัณฑ์พวกผัก ผลไม้ และเครื่องดื่ม อาทิเช่น ไวน์ น้ำผลไม้ รวมไปถึงผลิตภัณฑ์จำพวกเนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์ปลาอีกด้วย ทั้งนี้เกลือซัลไฟต์และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ จะเป็นอันตรายกับผู้บริโภคผู้ที่โรคประจำตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยโรคหืด (asthmatics) ซึ่งเมื่อได้รับอาหารที่มีเกลือซัลไฟต์และซัลเฟอร์ไดออกไซด์จะทำให้เกิดอาการกำเริบอย่างรุนแรง อาการเริ่มต้นคือหายใจติดขัด หลอดลมตีบ และอาจชักจนเสียชีวิตได้

3. พาราเบนส์ (parabens) พาราเบนส์เป็นสารกันบูดที่นิยมเติมลงไปในอาหารเพื่อยับยั้งการทำงานของราและยีสต์ ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ที่ปนเปื้อนพาราเบนส์ ได้แก่ น้ำผลไม้ น้ำหวาน แยม ขนมหวานต่างๆ และสารปรุงแต่งกลิ่นรส โดยปกติแล้วร่างกายของคนเราจะมีกระบวนการในการกำจัดพาราเบนส์อยู่แล้ว โดยกระบวนการนี้มีชื่อว่า ปฏิกิริยาไฮโดรลีซิส (hydrolysis) อย่างไรก็ตามแม้ร่างกายจะสามารถกำจัดสารปนเปื้อนเองได้ แต่หากได้รับในปริมาณมากหรือสะสมมาเป็นเวลานาน สารพิษบางส่วนก็จะตกค้างอยู่ในร่างกาย เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคทางเดินอาหารได้

4. โซเดียมเบนโซเอต เป็นวัตถุกันเสียที่เติมลงไปที่ใช้ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย และเชื้อราบางชนิด ถึงแม้ ‘โซเดียมเบนโซเอต’ จะเป็นสารกันบูดที่ปลอดภัยที่สุดในบรรดาสารกันบูดทุกชนิด แต่ก็พบว่ามีผู้แพ้สารดังกล่าวอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้นอกจากนั้นยังทำให้เกิดการระคายเคืองบริเวณกระเพาะอาหารและเนื้อเยื้อ นอกจากนั้นหากหญิงตั้งครรภ์ได้รับสารดังกล่าวในปริมาณมาก จะทำให้เกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์ได้

จะเห็นได้ว่า "สารกันบูด" ส่งผลเสียต่อร่างกายค่อนข้างมาก ดังนั้นก่อนจะซื้ออาหารมารับประทาน ควรเลือกให้ดีเสียก่อน ยกตัวอย่างเช่นอาหารสำเร็จรูปที่มีบรรจุภัณฑ์ไม่ว่าจะเป็นกล่องหรือขวด ให้เลือกผลิตภัณฑ์ที่ระบุอย่างชัดเจนว่า "ไม่ใส่สีผสมอาหาร สารกันบูด หรือเจือสีสังเคราะห์" หากไม่มีข้อมูลดังกล่าวให้สังเกตฉลากว่ามีวันเดือนปีที่ผลิต และหมดอายุหรือไม่ หากอายุของผลิตภัณฑ์อาหารนานผิดปกติให้สงสัยว่าใส่สารกันบูด นอกจากนั้นหากเป็นอาหารที่บรรจุในถุงพลาสติกธรรมดาหรือใส่กล่องโฟมให้เลือกที่ขายวันต่อวัน และหลีกเลี่ยงอาหารที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง อาทิเช่น แหนม กุนเชียง และน้ำพริกชนิดต่างๆ

บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวกับสารปนเปื้อนในอาหาร