free web tracker, fire_lady “สารไซบูทรามีน” ผอมเร็ว ผอมไว แต่อาจถึงตาย!! • สุขภาพดี

สารไซบูทรามีน” ผอมเร็ว ผอมไว แต่อาจถึงตาย!!

สารไซบูทรามีน อันตราย

ปัญหาเรื่องน้ำหนักตัวเป็นเรื่องใหญ่ หลายคนจึงหาตัวช่วยที่ช่วยให้สวยผอมทางลัด หนึ่งในตัวช่วยสำคัญที่บางคนเลือกก็คือ “ยาลดน้ำหนัก” นั่นเอง ตอนทานก็ดูเหมือนช่วยให้น้ำหนักลดได้จริง แต่เอ๊ะ ทำไมทานแล้วหน้ามืด ใจสั่น หิวน้ำตลอดเวลา  ไหนจะท้องผูกท้องอืด ผอมแต่รู้สึกไม่สบายตัวเอาเสียเลย นั่นก็เพราะยาที่คุณทานอยู่อาจจะมีส่วนผสมอันตรายอย่าง “สารไซบูทรามีน” ว่าแต่สารนี้คืออะไร อันตรายอย่างไร ทำไมต้องมาอยู่ในยาลดน้ำหนัก สามารถหาคำตอบได้ที่นี่ค่ะ

สารไซบูทรามีน คือ?

สารไซบูทรามีน (sibutramine) คือสารที่ถูกนำมาใช้เป็นลดน้ำหนัก โดยออกฤทธิ์ยับยั้งการดูดกลับสารสื่อสมองบางชนิดเช่น เซโรโทนิน โนพามีน เป็นต้น โดยกลไกการออกฤทธิ์คือทำให้รู้สึกอิ่ม ไม่อยากอาหาร

ในปัจจุบันสารไซบูทรามีนถูกสำนักคณะกรรมการอาหารและยาถอนออกจากตลาดแล้ว เนื่องจากมีผลข้างเคียงร้ายแรงต่อร่างกาย แต่ยังมีการลักลอบใส่สารนี้ลงไปในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหลายชนิด

ผลิตภัณฑ์ที่มักพบสารไซบูทรามีน

สารไซบูทรามีนนี้เป็นสารอันดับต้นๆ ที่มีการลักลอบใส่ลงไปในยาลดน้ำหนักและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่างๆ แต่ทั้งหมดไม่มีการแจ้งว่าผสมลงไป โดยบอกแค่ว่ามีส่วนผสมจากสมุนไพร มีส่วนช่วยในการลดน้ำหนัก ด้วยรูปลักษณ์แพคเกจที่สวยงามและการโหมโฆษณาทางอินเตอร์เน็ต ทำให้หลายคนหลงเชื่อซื้อมาทานโดยไม่ตระหนักถึงอันตรายที่จะตามมา

สรรพคุณของไซบูทรามีน

ไซบูทรามีนออกฤทธิ์กับระบบประสาทส่วนกลาง โดยยับยั้งการดูดกลับการสื่อประสาทเช่น เซโรโทนิน นอร์อีพีเนฟรินและโดพามีน บริเวณสมองส่วนไฮโพธาลามัส ทำให้รู้สึกอิ่ม ลดความอยากอาหาร ช่วยกระตุ้นระบบเผาผลาญของร่างกาย แต่ว่าด้วยโครงสร้างและการออกฤทธิ์ที่คล้ายกับเมทแอมเฟตามีน ดังนั้นหากได้รับนานๆ จะมีอาการเหมือนเสพติดและมีอาการทางสมองตามมา

ผลข้างเคียง-โทษ-อันตราย

  • ระบบประสาท หากได้รับมากจะทำให้นอนไม่หลับ มีอาการทางประสาท ประสาทหลอน ซึมเศร้า กังวล หวาดระแวง ชัก
  • ระบบหายใจ ความดันโลหิตในปอดเพิ่มขึ้น เหนื่อยหอบ หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก
  • ระบบโลหิต มีภาวะเลือดออกจากการใช้ยา ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหัวใจทำงานผิดปกติ  หัวใจเต้นผิดปกติ หัวใจทำงานผิดปกติ  หัวใจล้มเหลว
  • ระบบทางเดินอาหาร ปากแห้ง คอแห้ง เบื่ออาหาร
  • ระบบขับถ่าย ท้องอืด ​ท้องผูก ไม่สบายท้อง

วิธีทดสอบสารไซบูทรามีน

การทดสอบทำได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นการตรวจหาจากในร่างกายหรือตรวจสอบจากผลิตภัณฑ์ทั่วไป ดังนั้นหากจะซื้อผลิตภัณฑ์อาหารเสริมใดมาทานควรระมัดระวังให้ดี

ผู้ที่ห้ามใช้สารไซบูทรามีน

  • ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดและหัวใจ
  • ผู้ป่วยโรคไทรอยด์เป็นพิษ
  • ผู้ป่วยโรคต้อหิน
  • ผู้ป่วยโรคลมชัก
  • ผู้ป่วยโรคต่อมลูกหมากโต
  • ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โรคจิต
  • บุคคลที่มีประวัติติดสุรา
  • สตรีตั้งครรภ์และสตรีให้นมบุตร
  • เด็กอายุต่ำกว่า 16 ปีและผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 65 ปี
  • ข้อควรระวังในการใช้สารไซบูทรามีน

    1. ห้ามซื้อยามาทานเอง ห้ามปรับลดเพิ่มขนาดยาหรือรับประทานยาติดต่อกันนานเกินเวลาที่แพทย์สั่ง

    2. เก็บรักษายาในที่แห้งและเย็น มิดชิด พ้นจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง หากยาเปลี่ยนสภาพห้ามรับประทานเด็ดขาด

    3. ห้ามใช้ยานี้ห้ามเป็นโรคที่กล่าวถึงทั้งหมดด้านบน

    4. ห้ามใช้ยานี้หากมีโรคประจำตัวที่ต้องทายาอยู่แล้ว เพราะจะไปทำปฏิกิริยากับยาที่ทานอยู่ อาจจะลดประสิทธิภาพยาหรือมีผลข้างเคียงที่รุนแรงตามมา

    5. ห้ามใช้ในผู้แพ้ยานี้

    6. ห้ามรับประทานยานี้ร่วมกับยาลดน้ำหนักประเภทอื่น

    7. ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่น

    8. หากทานนานเกินขนาด หรือในขณะทานเกิดผลข้างเคียง เช่น ใจสั่น หน้ามืด เป็นลม ประสาทหลอน ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที

    9. ห้ามใช้ไซบูทรามีนร่วมกับยาแอสไพริน เพราะอาจจะให้เกิดภาวะเลือดออกง่ายได้

    การใช้ยาไซบูทรามีนที่ถูกต้อง ต้องใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ ซึ่งต้องผ่านการตรวจเช็คสภาพร่างกายก่อนว่ามีข้อห้ามในการใช้ยาหรือไม่ จากนั้นจะให้ยาในขนาดที่เหมาะสมกับความพร้อมของร่างกาย การปรับขนาดยาเองจึงอันตรายอย่างยิ่ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นในประเทศไทยไม่มียานี้ขายแบบถูกต้องเพราะถูกสำนักคณะกรรมการอาหารและยาเพิกถอนไปนานแล้ว ดังนั้นจึงมีแต่กลุ่มที่ลักลอบนำมาใส่ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเท่านั้น ซึ่งความน่ากลัวอยู่ตรงที่ไม่สามารถรู้ได้ว่าใส่ไซบูทรามีนลงไปเยอะแค่ไหน ซึ่งเป็นอันตรายอย่างมากโดยเฉพาะผู้ที่มีสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรงหรือมีโรคประจำตัว ดังนั้นใครอยากผอมหุ่นดี หันมาควบคุมอาหารและออกกำลังกาย เห็นผลช้าแต่ชัวร์ หุ่นดียังไม่พอ สุขภาพยังแข็งด้วยค่ะ