free web tracker, fire_lady “อหิวาตกโรค” รักษาไม่ทัน อันตรายถึงขั้นเสียชีวิต • สุขภาพดี

อหิวาตกโรค” รักษาไม่ทัน อันตรายถึงขั้นเสียชีวิต

อหิวาตกโรค

ถ้าพูดถึงโรคที่มีความรุนแรงและยากต่อการรักษาสำหรับคนในสมัยก่อนนั้นคงเป็นโรคอะไรไปไม่ได้นอกจาก “โรคห่า” เพราะเป็นโรคที่มีอาการค่อนข้างรุนแรง ในสมัยนั้นยังไม่ค่อยมียารักษาที่ได้ผล และเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว แต่ในสมัยปัจจุบันหลายคนอาจไม่รู้จักโรคนี้แล้ว แต่ถ้าหากพูดว่า “โรคอหิวาตกโรค” หลายคนก็คงร้องอ๋อในทันที

โรคอหิวาตกโรคเป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่งที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกายโดยการรับประทานอาหาร ซึ่งเชื้อจะเข้าสู่ลำไส้อย่างรวดเร็วและแสดงอาการเป็นพิษอย่างรุนแรง เกิดอาการท้องร่วงอย่างหนัก ถ้าไม่ได้รับการรักษาในทันทีจะทำให้เสียชีวิตได้

สาเหตุการเกิดโรคอหิวาตกโรค

โรคอหิวาตกโรคมีสาเหตุในการเกิดอยู่หลายสาเหตุด้วยกัน แต่ในทุกๆ สาเหตุล้วนก่อให้เกิดอาการของโรคที่รุนแรงพอๆ กัน ดังนี้

1. เกิดจากการรับประทานอาหารที่มีเชื้ออหิวาตกโรคปะปนอยู่ เช่น อาหารที่มีแมลงวันตอม อาหารสุกๆ ดิบๆ หรืออาหารกระป๋องที่หมดอายุแล้ว เป็นต้น

2. เกิดจากเชื้อ Vibrio cholera O group 1

3. เกิดจากเชื้อ Vibrio cholera non O group 1 ซึ่งถ้าเกิดจากสาเหตุนี้บางครั้งมีอาการแทรกซ้อน เช่น มีไข้ อุจจาระมีมูกเลือดปน แต่ไม่ค่อยพบการระบาดจากสาเหตุนี้

4. เกิดจากเชื้อแบคทีเรียรูปแท่งที่มีลำตัวโค้งงอ มี 2 ชนิด คือ ชนิดคลาสสิก และชนิดเอลทอร์

5. เกิดจากการแพร่ระบาดจากอุจจาระของผู้ป่วยโรคอหิวาตกโรคเอง เพราะเชื้ออหิวาต์ที่อยู่ในอุจจาระของผู้ป่วย หากอยู่ในสภาพที่ชื้น จะสามารถแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วมากถึงประมาณ 137,000 ล้านตัวต่อ 9 ชั่วโมง

อาการของโรคอหิวาตกโรค

โดยปกติแล้วอาการของโรคอหิวาตกโรคอาจจะแบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ

  • ระยะฟักตัว ช่วงเวลาประมาณ 1 – 3 วัน ซึ่งอาจพบอาการได้ตั้งแต่ 2 – 3 ชั่วโมงแรก
  • ระยะเป็นไม่รุนแรง ช่วงเวลา 1 – 5 วัน โดยมีอาการถ่ายหลายครั้งต่อ 1 วัน แต่วันละไม่เกิน 1 ลิตร อาจมีอาการปวดท้องและอาเจียนร่วมด้วย สามารถหายเองได้
  • ระยะเป็นรุนแรง ช่วงเวลา 1 – 6 วัน มีอาการถ่ายหลายครั้งมากต่อ 1 วัน และมีปริมาณเกิน 1 ลิตรต่อวัน อุจจาระไหลเองโดยไม่ปวดท้อง อาเจียนโดยไม่คลื่นไส้ ร่างกายจะขาดน้ำอย่างหนัก ถ้าชดเชยน้ำไม่ทันจะมีอาการช็อกและเสียชีวิตได้

ซึ่งอาการที่เราพบจากการป่วยเป็นโรคนี้ คือ

1. ท้องร่วงอย่างรุนแรง โดยอุจจาระจะมีลักษณะเหมือนน้ำซาวข้าว มีเมือกมีเกล็ดสีขาวปนอยู่กับอุจจาระ และมีกลิ่นเหม็นคาวมาก

2. คลื่นไส้และอาเจียน ซึ่งอาการนี้มักจะเกิดในช่วงแรก ๆ ของการเป็นโรคนี้

3. ภาวะขาดน้ำ แน่นอนว่าการถ่ายในปริมาณมากๆ ทำให้ร่างกายของเราสูญเสียน้ำในปริมาณที่มากและในระยะเวลาอันรวดเร็ว ทำให้ร่างกายของเราขาดน้ำแบบกะทันหัน หากสูญเสียน้ำเกิน 10% ของน้ำหนักตัวและชดเชยเข้าไปไม่ทันก็อาจเกิดอันตรายได้

4. เป็นตะคริว เพราะร่างกายเกิดการสูญเสียเกลืออย่างกะทันหัน

5. อาการช็อก อาการนี้เป็นอาการที่เกิดต่อเนื่องมาจากภาวะขาดน้ำ และอาการนี้อาจเป็นผลทำให้เสียชีวิตได้

ภาวะแทรกซ้อนของอหิวาตกโรค

แม้ว่าอาการของโรคจะมีความรุนแรงมากอยู่แล้ว แต่โรคนี้ก็ยังคงมีภาวะแทรกซ้อนซึ่งมีผลมากที่ทำให้อาการของผู้ป่วยแย่ลงและเสียชีวิต ดังนั้นต้องระวังในเรื่องของภาวะแทรกซ้อนด้วย โดยจะปรากฏภาวะ ดังนี้

1. ภาวะขาดน้ำและขาดเกลือแร่ ซึ่งภาวะนี้เป็นภาวะแทรกซ้อนที่มีผลมากต่อการเสียชีวิต โดยที่ผู้ป่วยสามารถเสียชีวิตได้ภายใน 2 – 3 ชั่วโมง

2. ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ อย่างที่เข้าใจกันดีว่าน้ำตาลถือเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญของร่างกาย ดังนั้นเมื่อผู้ป่วยรับประทานอาหารไม่ได้ก็จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงไปด้วย ถือเป็นภาวะที่อันตรายมาก เพราะทำให้เกิดอาการชัก หมดสติ และเสียชีวิต

3. ภาวะเกลือโพแทสเซียมต่ำ ซึ่งภาวะนี้มีผลต่อการทำงานของระบบหัวใจและเส้นประสาทต่างๆ ผลก็คือทำให้เสียชีวิตได้

การรักษาอหิวาตกโรค

การรักษาผู้ป่วยโรคอหิวาตกโรคต้องได้รับการรักษาในทันที เพราะไม่เช่นนั้นมีโอกาสเสียชีวิตได้ในระยะเวลาอันรวดเร็วมาก ดังนั้นจึงควรได้รับการรักษาที่ถูกวิธี ดังนี้

1. รับประทานน้ำเกลือแร่ วิธีการนี้เป็นการชดเชยน้ำและเกลือแร่ที่ร่างกายสูญเสียไป โดยผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้กว่าครึ่งเสียชีวิต และวิธีการนี้สามารถช่วยให้ร้อยละของผู้ที่เสียชีวิตจากโรคนี้ลดลงได้บ้าง

2. การให้สารน้ำทดแทน แน่นอนว่าในขณะที่มีอาการท้องร่วงอย่างรุนแรง ร่างกายจะสูญเสียน้ำในปริมาณที่มาก และหากไม่สามารถรับประทานน้ำเกลือแร่ได้แล้วนั้น จำเป็นต้องได้รับสารน้ำทางน้ำเกลือเพื่อรักษาภาวะขาดน้ำก่อน ไม่เช่นนั้นอาจช็อกเสียชีวิตได้

3. การใช้ยาปฏิชีวนะ จริงๆ แล้วการใช้ยาปฏิชีวนะไม่ได้มีผลโดยตรงต่อการรักษาอหิวาตกโรค แต่ยาบางตัวสามารถช่วยลดเวลาในการเกิดอาการท้องร่วงให้หายเร็วขึ้นได้ เช่น ยาดอกซีไซคลิน หรือยาอะซีโธรมัยซิน

4. การให้ธาตุสังกะสี จากการวิจัยพบว่าการให้แร่ธาตุสังกะสีสามารถช่วยลดระยะเวลาการเกิดอาการท้องร่วงลงได้

วิธีรักษาอหิวาตกโรค

วิธีป้องกันอหิวาตกโรค

ผู้ป่วยอหิวาตกโรคถือว่ามีโอกาสน้อยมากที่จะรอดชีวิต เพราะโรคนี้เกิดการระบาดอย่างรวดเร็ว มีอาการที่รุนแรง ภาวะแทรกซ้อนหลายอาการ และมีโอกาสเสียชีวิตได้ในระยะเวลาอันสั้นหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงที ดังนั้นวิธีการป้องกันการป่วยด้วยโรคนี้ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยมีวิธีการ ดังนี้

1. ล้างมือให้สะอาด ควรล้างมือด้วยสบู่หรือเจลล้างมือเป็นเวลาอย่างน้อย 15 วินาที ทุกครั้งหลังเข้าห้องน้ำ และก่อนรับประทานอาหาร

2. ดื่มน้ำสะอาด หรือถ้าเป็นไปได้ก็ควรดื่มน้ำต้มสุก นอกจากการดื่มน้ำสะอาดแล้วนั้น การล้างผักผลไม้ ล้างหน้า แปรงฟัน เป็นต้น ก็ควรใช้น้ำที่สะอาดหรือน้ำต้มสุกเช่นกัน

3. รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ เช่น ปลาดิบ หรืออาหารทะเลที่ปรุงกึ่งสุกกึ่งดิบ

4. รับประทานผลไม้ที่สามารถปอกเปลือกได้ หลีกเลี่ยงการรับประทานผลไม้ทั้งเปลือก

5. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ทำมาจากเนยหรือนมที่ไม่ได้ผ่านการพาสเจอร์ไรซ์ เพราะอาหารประเภทนี้มักมีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรีย

อหิวาตกโรค” ถือเป็นโรคที่มีความรุนแรงมากโรคหนึ่ง เพราะเกิดการระบาดได้อย่างรวดเร็ว มีลักษณะอาการที่รุนแรง มีภาวะแทรกซ้อนมาก และอาจเสียชีวิตได้ในระยะเวลาที่รวดเร็ว นอกจากนี้วิธีการรักษาก็ยังไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร ดังนั้นสิ่งที่เราสามารถทำได้คือ การป้องกันตนเองไม่ให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดอหิวาตกโรคหรือหลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคก็จะสามารถทำให้เรารอดพ้นจากโรคร้ายนี้ได้