free web tracker, fire_lady 7 อาหารต้าน “อนุมูลอิสระ” ป้องกันความแก่ ต้านทานโรคภัย • สุขภาพดี

7 อาหารต้าน “อนุมูลอิสระ” ป้องกันความแก่ ต้านทานโรคภัย

อาหารต้านอนุมูลอิสระ

ทุกคนคงเคยได้ยินและรู้จักกับคำว่า “อนุมูลอิสระ” กันดี ซึ่งไม่ดีต่อระบบต่างๆ ในร่างกายคนเรา แถมยังพบได้รอบตัวตลอดเวลา เพราะมันสามารถจะเกิดขึ้นได้ทั้งจากการที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเอง อย่างในกระบวนการเผาผลาญของร่างกาย ความเครียด การออกกำลังกายแบบหักโหมหรือหนักมาก นอกจากนี้ก็มีปัจจัยอื่นภายนอกร่างกาย เช่น รังสียูวีจากแสงแดด การสูดดมควันและไอเสีย มลพิษในอากาศ ฝุ่นละออง การสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กินอาหารที่มีสารเคมีเจือปน อาหารปิ้งย่างจนไหม้ ฯลฯ

รู้เท่าทัน ห่างไกล “อนุมูลอิสระ” และโรคภัย

เห็นไหมว่ารอบๆ ตัวเราล้วนมีความเสี่ยงจะทำให้ได้รับอนุมูลอิสระทุกวินาที แม้ว่าในร่างกายสามารถสร้างสารต้านอนุมูลอิสระได้ก็ไม่เพียงพอที่จะใช้กำจัดให้หมดไป และถ้าสะสมไปเรื่อยๆ ในระยะยาวอาจเป็นอันตรายก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะโรคเรื้อรังตั้งแต่โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน หรือโรคอัลไซเมอร์ ที่สำคัญเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของความแก่ก่อนวัยด้วยดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องกินอาหารที่เป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระมากๆ ซึ่งมีประโยชน์ในการช่วยยับยั้งฤทธิ์ของอนุมูลอิสระ แล้วสารต้านอนุมูลอิสระนั้นมีอะไรบ้าง และมีอยู่ในอาหารประเภทไหน อย่ารอช้าเราไปดูพร้อมกันเลย

7 กลุ่มอาหารต้านอนุมูลอิสระ แบบเอาอยู่

วิตามินอี ส่วนใหญ่จะพบมากในน้ำมันพืชต่างๆ ตัวอย่างเช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันรำข้าว น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันเมล็ดข้าวสาลี น้ำมันเมล็ดฝ้าย น้ำมันเมล็ดอัลมอนด์ ฯลฯ วิตามินอีนั้นละลายได้ในไขมันซึ่งจะทำหน้าที่ปกป้องผนังเซลล์โดยการดักจับอนุมูลอิสระที่ผ่านเข้ามาแล้วทำให้สิ้นฤทธิ์

วิตามินซี ใครที่ไม่ชอบกินผักและผลไม้ต่างๆ บอกเลยว่าต้องหันมากินกันบ้างนะ เพราะเป็นแหล่งของวิตามินซีที่ร่างกายไม่สามารถสร้างได้เอง จำเป็นต้องได้รับจากการกินอาหารเท่านั้น เช่น ส้ม มะนาว ฝรั่ง มะขามป้อม มะละกอสุก มะเขือเทศ ผักคะน้า บรอกโคลี ดอกขี้เหล็ก ดอกสะเดา พริกชี้ฟ้าเขียว ผักหวาน ฝักมะรุม มะระขี้นก ฟักข้าว ตำลึง ผักบุ้ง ผักกาดเขียว ฯลฯ วิตามินซีจะช่วยต้านอนุมูลอิสระจากสิ่งแวดล้อมได้ดี และสามารถป้องกันโรคที่เกิดจากอนุมูลอิสระ

วิตามินเอและเบต้าแคโรทีน แหล่งอาหารที่พบจากเครื่องในสัตว์ ตับ ไข่แดง เนย และผักใบเขียวเข้มหรือใบเหลือง ผลไม้สีส้มออกเหลือง อาทิ ผักบุ้ง แคร์รอต ผักกวางตุ้ง ฟักทอง ผักตำลึง ผักโขม พริก มันเทศ ใบยอ ใบชะพลู ปวยเล้ง มะเขือเทศ มะม่วงสุก มะละกอสุก แคนตาลูป หรือลูกพีช ซึ่งนอกจากช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระแล้วยังบำรุงสายตา เสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรค ทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่งมีน้ำมีนวล

ลูทีน ซึ่งมีส่วนอย่างมากที่ช่วยทำลายสารอนุมูลอิสระ โดยเฉพาะการป้องกันประสาทตาเสื่อม ทำให้เซลล์ตาแข็งแรง ชะลอความเสื่อมของดวงตา สามารถพบได้ในอาหารธรรมชาติอย่างเช่น ดอกดาวเรือง โกจิเบอร์รี ข้าวโพด ต้นอ่อนกะหล่ำดาว ถั่วลันเตา ถั่วพิสตาชิโอ ถั่วแขก อโวคาโด แตงกวา บวบ ไข่ ฯลฯ

ไลโคปีน แหล่งอาหารพบได้มากที่สุดคือ ฟักข้าว และ มะเขือเทศ ซึ่งว่ากันว่าไลโคปีนมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระมากกว่าเบต้าแคโรทีนถึง 2 เท่า และในการวิจัยของประเทศไทยเองก็พบว่า ฟักข้าวมีไลโคปีนมากกว่ามะเขือเทศถึง 20-70 เท่า

ซีลีเนียม เป็นแร่ธาตุที่ร่างกายต้องการต่อวันน้อย แต่จำเป็นต้องได้รับทุกวัน และยังมีหน้าที่สำคัญโดยช่วยประสานการทำงานระหว่างวิตามินเอ วิตามินซี และวิตามินอี ในการกำจัดอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นในร่างกาย หากจะหาแหล่งอาหารของสารซีลีเนียมมีอยู่ในอาหารทะเล เนื้อสัตว์ ตับ ไต ข้าว บะหมี่ ขนมปังโฮลวีต กระเทียม หอมแดง หอมหัวใหญ่ ต้นหอม เป็นต้น

สังกะสี คือแร่ธาตุ ที่มีความสำคัญต่อกระบวนการควบคุมการทำงานของเอนไซม์ที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายดีขึ้น ซ่อมแซมผิวหนัง ลดอาการอักเสบ สุขภาพเล็บและเส้นผมแข็งแรง อาหารที่อุดมด้วยสังกะสีคือ เนื้อสัตว์และหอยนางรม แต่ควรหลีกหลี่ยงการกินร่วมกับชาและกาแฟ เพราะจะทำให้ร่างกายดูดซึมสังกะสีได้น้อยลง ถ้ากินร่วมกับอาหารประเภทโปรตีนจะดีกว่า

อาหารถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สามารถจะช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระได้เป็นอย่างดี ถ้าคุณกินอาหารต่างๆ ที่อุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระเป็นประจำ เราก็ยืนยันว่าจะสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้หลายโรค ทำให้สุขภาพแข็งแรงไม่เจ็บป่วยง่าย ดูแลเซลล์ต่างๆ ไม่ให้เสื่อมสภาพเร็ว บำรุงผิวพรรณให้สวยสดใส และเสริมสร้างให้ระบบการทำงานของร่างกายทั้งภายในและภายนอกเป็นปกติดี

บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องน่ารู้...คู่สุขภาพดี