free web tracker, fire_lady "อาหารเสริมเด็ก" ตามวัยของลูกน้อย ควรทานอะไร? • สุขภาพดี

อาหารเสริมเด็ก ตามวัยของลูกน้อย

อาหารเสริมเด็ก

แน่นอนว่าในวัยทารกนั้นอาหารที่ดีที่สุดคือ “นมแม่” แต่เมื่อลูกน้อยอายุ 6 เดือนขึ้นไปแล้ว การให้แค่นมแม่เพียงอย่างเดียวนั้นคงจะไม่เพียงพอ ครั้นจะให้ลูกทานอย่างอื่นด้วย คนเป็นแม่ก็กลัวสารพัด กลัวลูกท้องเสียบ้าง กลัวลูกยังกลืนหรือเคี้ยวอาหารไม่เป็นบ้าง หลากหลายเรื่องที่น่าเป็นห่วง แล้วอะไรล่ะที่เหมาะสมสำหรับเป็นอาหารเสริมเด็กของลูกน้อย วันนี้เรามีเมนูอาหารเสริมเด็กที่เหมาะสมสำหรับทารกมาฝากกันค่ะ

เตรียมพร้อมก่อนถึงเวลาอาหารเสริมมื้อแรก

เด็กเล็กเมื่อถึงเวลากินอาหารเสริม ครั้งแรกอาจมีปฏิเสธบ้างเนื่องจากความไม่คุ้นชิน เพราะเคยกินแต่นมแม่เพียงอย่างเดียวโดยไม่ได้รับอาหารอื่นเลย เมื่อโตขึ้นถึงวัยที่ต้องกินอาหารเสริม ลูกจึงปฏิเสธการกินได้ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา...สิ่งสำคัญของอาหารมื้อแรกของลูก แต่วัตถุประสงค์สำคัญในการให้อาหารเสริมกับลูกไม่ใช่เรื่องที่ทำเพื่อให้ลูกกินได้เยอะๆ แต่เป็นการฝึกให้ลูกได้รับรส ฝึกนั่งชันคอ และลองใช้ลิ้นสัมผัสสิ่งที่ต่างไปจากนม เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรคาดหวังว่าลูกจะต้องกินให้ได้ในปริมาณเยอะๆ ในครั้งแรกถ้าลูกกินได้แค่ 1-2 ช้อนก็ถือว่าประสบผลสำเร็จแล้ว

อาหารเสริมตามวัย กินอย่างไรจึงจะดี

ทารกวัย 0-4 เดือนแรก แน่นอนว่านมคืออาหารหลักของลูกรัก ในช่วงนี้จึงไม่จำเป็นต้องป้อนอาหารเสริมอื่นๆเลย เนื่องจากในนมแม่ก็มีแร่ธาตุและวิตามินเพียงพอแล้ว และในทารกที่ยังไม่สามารถชันคอได้ ระบบการกลืนอาจยังทำงานไม่สัมพันธ์กันดี ทำให้มีโอกาสสำลักเอาอาหารเสริมที่ไม่ได้บดละเอียดเข้าไปในหลอดลมได้ ดังนั้นให้กินนมอย่างเดียวจะเป็นการดีที่สุด อีกทั้งการให้อาหารเสริมอย่างอื่นยังเสียงต่อการที่ลูกจะมีอาการท้องเสีย ท้ออืดท้องเฟ้อ และอาหารไม่ย่อยตามมา เพราะกระเพาะอาหารของทารกในวัยนี้ยังทำงานได้ไม่เต็มที่

ทารกวัย 4-6 เดือน ในวัยนี้พ่อแม่ควรเริ่มฝึกให้ลูกเริ่มชันคอได้แล้ว เพื่อเตรียมตัวให้ลูกสามารถกินอาหารเสริมที่ไม่ใช่นมได้ หรือลองหาอาหารจำพวกธัญพืชเป็นอาหารที่ย่อยง่าย เช่น ข้าว ข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เล่ย์ มอลต์ นำมาบดให้ละเอียด ถ้าเป็นแบบสำเร็จรูปก็สามารถนำมาผสมกับนมผงชงอุ่นๆ เพื่อให้ลูกคุ้นเคยกลิ่นและรส โดยให้ลูกกินโดยใช้ช้อนชาป้อน เพื่อฝึกให้ลูกกินโดยใช้ช้อนไปด้วยในตัว

ทารกวัย 6-8 เดือน เพื่อให้เด็กๆ ได้รับสัมผัสและฝึกกล้ามเนื้อปาก คุณพ่อคุณแม่อาจหั่นอาหารให้มีรูปร่างต่างกันให้ลูกได้กินบ้าง เช่น เส้นสปาเก็ตตี้กลมๆ หั่นสั้นๆ จากนั้นจึงลองเสริมผลไม้ให้ลูก เช่นกล้วยหอมบด หรืออาจให้ลูกได้ฝึกกินอาหารที่มีความกรอบ ความเหนียวบ้าง เช่น ข้าวตังหรือข้าวเหนียว เพื่อให้ลูกได้ฝึกการเคี้ยว เพราะเด็กวัยนี้เริ่มมีฟันงอกขึ้นมาบ้างแล้ว

ทารกวัย 8-12 เดือน ช่วงนี้ลูกสามารถกินได้ 2-3 มื้อต่อวัน และอาหารที่จะช่วยพัฒนากล้ามเนื้อปากของลูกได้เป็นอย่างดีก็คืออาหารจำพวกฟิงเกอร์ฟู้ดส์ เช่น แครอต ฟักทอง แตงกวาหั่น เป็นต้น พ่อแม่อาจให้ลูกถือกัดเล่นๆ แต่ต้องล้างมือลูกให้สะอาด เพื่อป้องกันท้องเสีย และให้ลูกอยู่ในความดูแลตลอดเวลา เนื่องจากเด็กวัยนี้ชอบนำสิ่งแปลกปลอมเข้าปากและจมูก

ทารกวัย 12 เดือนขึ้นไป ตอนนี้ลูกสามารถกินข้าวเป็นอาหารหลักได้แล้ว และสามารถให้ลูกกินอาหารของผู้ใหญ่บางอย่างได้ด้วย แต่ต้องเน้นที่มีลักษณะนุ่มๆ รสไม่จัด เช่น ข้าวผัด หรือต้มจืด เป็นต้น

นอกจากอาหารกลุ่มข้าวแล้วคุณพ่อคุณแม่ยังสามารถเลือกใช้ธัญพืชธัญหารอื่นๆ เช่น ถั่วแดง ถั่วเขียว ลูกเดือย รวมถึงผลิตภัณฑ์ มาปรุงอาหารเสริมได้เช่นกัน เพราะอาหารแต่ละชนิดก็ให้คุณค่าที่แตกต่างกัน เพียงแต่ให้สักเกตุอาหารที่อาจบ่งบอกถึงปฏิกิริยาการแพ้อาหารชนิดใหม่ทุกครั้งที่เริ่มให้รับประทาน และต้องได้รับอาหารครบ 5 หมู่ เพื่อให้ได้คุณค่าทางโภชนาการที่ครบถ้วน

หลักการให้อาหารเสริมเด็ก

  • การให้อาหารเสริมกับลูกน้อยควรเริ่มทีละน้อยๆ อย่างเช่น เริ่มจาก 1 ช้อนชา แล้วค่อยเพิ่มเป็น 2-3 ช้อนโต๊ะ หรือครึ่งถ้วยแล้วแต่ชนิดของอาหาร
  • อาหารเสริมใหม่ๆ หลากหลายรสชาติ ควรเว้นระยะสัก 1-2 สัปดาห์แล้วค่อยเริ่มให้อาหารใหม่แต่ละชนิด เผื่อว่าลูกอาจมีอาการผื่นตามผิวหนัง บวม หรือมีอาการหอบหืดเพราะแพ้อาหาร
  • หากลูกไม่คุ้นหรือไม่ชอบอาหารชนิดใดชนิดหนึ่ง ควรงดไว้ก่อน แล้วรอสัก 3-4 วันแล้วค่อยลองใหม่จนกว่าลูกจะยอมรับ
  • งดน้ำหวานต่างๆ เพราะจะทำให้ลูกติดหวานและไม่รู้สึกหิว พาลเบื่อไม่ยอมกินอาหารเสริมได้
  • สังเกตอาการแพ้ทุกครั้งที่เริ่มอาหารชนิดใหม่ โดยให้อาหารชนิดนั้นๆ อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3-5 วัน ก่อนเปลี่ยนชนิดใหม่ ไม่ควรให้อาหารชนิดใหม่พร้อมกัน เพราะจะทำให้สังเกตอาการแพ้ได้ยาก

การให้อาหารเสริมเด็กอย่างถูกต้องเหมาะสม จะช่วยให้ทารกเจริญเติบโต และมีพัฒนาการสมวัย แต่หากให้อาหารเสริมก่อนวัยอันควร ก็อาจก่อให้เกิดผลเสียตามมาได้มากมาย ดังนั้น ก่อนจะให้อาการเสริมเด็ก ควรพิจารณาหลักเกณฑ์การเลือกใช้ ประเภทของอาหารเสริม และส่วนประกอบคุณค่าทางโภชนาการ ให้เหมาะสมกับความต้องการ ระบบทางเดินอาหารของทารก และช่วงวัยของทารกด้วย

บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาหารเสริมเด็ก

อาหารเสริมเด็ก

10 สารอาหาร เสริมพัฒนาการเด็ก