free web tracker, fire_lady “ฮีทสโตรก” (Heat Stroke) โรคอันตราย ที่มาพร้อมกับอากาศร้อนจัด • สุขภาพดี

"ฮีทสโตรก" (Heat Stroke) โรคอันตราย ที่มาพร้อมกับอากาศร้อนจัด

ฮีทสโตรก (Heat Stroke)

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเราคงรู้สึกคล้ายๆ กันว่า เมืองไทยมีอากาศรอบตัวที่ร้อนเสียจนก็แอบคิดว่าตลอดทั้งปีเป็นหน้าร้อนไปแล้ว ฉะนั้นเมื่อใดที่เข้าสู่ฤดูร้อนก็ไม่ต้องคิดมากเลยทีเดียวว่าจะร้อนสักแค่ไหน หากไม่คอยดูแลเอาใจใส่สุขภาพกันดีๆ ด้วย ย่อมสามารถส่งผลให้ไม่สบายหรือเจ็บไข้ได้ป่วยกะทันหันได้ “โรคฮีทสโตรก(Heat Stroke) คือโรคหนึ่งที่มักเป็นกันมากในช่วงหน้าร้อน และถ้าปล่อยให้ร่างกายเกิดโรคนี้โดยไม่รีบรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้มีอันตรายถึงแก่ชีวิต

โรคฮีทสโตรก (Heat Stroke) เกิดจาก?

โรคฮีทสโตรก (Heat Stroke) หรือจะเรียกว่า โรคลมแดด ก็ได้เช่นกัน เป็นโรคที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงของความเจ็บป่วยที่เกิดจากความร้อน (Heat Illness) ซึ่งมีความรุนแรงมากสุด ตามมาด้วยภาวะอ่อนเพลียจากความร้อน (Heat Exhaustion) ภาวะตะคริวจากความร้อน (Heat Cramps) และภาวะลมแดด (Heat Syncope) ที่มีความรุนแรงน้อยสุด เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วเราควรเตรียมรับมือกับอากาศร้อนๆ กันดีกว่า เพื่อช่วยลดความเสี่ยงจะเกิดโรคนี้

อาการแบบนี้แหละที่ใช่โรคฮีทสโตรก

โรคฮีทสโตรกเป็นโรคที่เกิดจากความร้อน และจะเกิดเมื่อเราได้รับความร้อนจนอุณหภูมิในร่างกายมีปริมาณสูงมากเกิน 40 องศาเซลเซียส โดยจะมีอาการเตือนต่อไปนี้ เมื่อยล้า อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน กระหายน้ำมาก ปวดศีรษะ หน้ามืด ไม่มีเหงื่อออก ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆ รูขุมขนปิดจนระบบเหงื่อระบายออกไม่ได้ หายใจเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ เกร็งกล้ามเนื้อ ชัก รูม่านตาขยาย ความรู้สึกตัวค่อยๆ ลดลง อาจหมดสติ หัวใจเต้นเร็วแต่แผ่วเบา ซึ่งจะมีผลกระทบต่อระบบการไหลเวียนของเลือดและระบบสมอง หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันเวลา หัวใจอาจหยุดเต้นและถึงแก่ชีวิต

ทั้งนี้กลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสจะเกิดโรคฮีทสโตรกสูง ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ผู้ที่ต้องทำงานในสถานที่มีสภาพอากาศร้อนชื้น ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคอ้วน ฯลฯ นักกีฬา ทหารที่ไม่ได้เตรียมความพร้อมของร่างกายเพื่อเจอกับอากาศร้อนจัด

เมื่อเกิดโรคฮีทสโตรกจะทำเช่นไร?

หากยังพอมีสติและสังเกตว่าตัวเองมีอาการเบื้องต้นของโรคฮีทสโตรก คือไม่มีเหงื่อแม้อากาศร้อนจัด แถมตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆ รู้สึกตัวเองกระหายน้ำมากกว่าปกติ วิงเวียนหรือปวดศีรษะ มึนงง และอยากจะอาเจียน ให้รีบพาตัวเองไปพักทันที แต่ในกรณีที่เราไปพบผู้ที่เกิดอาการของโรคฮีทสโตรก ควรปฐมพยาบาลโดยรีบพาผู้ป่วยออกจากบริเวณนั้นแล้วนำเข้าในที่ร่ม มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก จัดผู้ป่วยให้นอนราบ เท้าทั้งสองข้างยกสูง คลายเสื้อผ้าผู้ป่วยให้หลวม (ถ้าผู้ป่วยยังไม่หมดสติสามารถดื่มน้ำเย็นได้ หรือถ้าอาเจียนให้นอนตะแคงก่อนแล้วค่อยนอนราบ) พร้อมกับใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตามตัวหรือจะพ่นละอองน้ำเย็นใส่ตัวผู้ป่วยก็ได้ เปิดพัดลมเป่าช่วยระบายความร้อน เพื่อให้อุณหภูมิที่สูงลดต่ำลงเร็วที่สุด หากผู้ป่วยไม่ฟื้น ให้รีบนำตัวส่งโรงพยาบาลโดยด่วน

วิธีป้องกันตัวเองจาก "โรคฮีทสโตรก"

1. ถ้าเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่มีอากาศร้อนจัด

2. ในช่วงหน้าร้อนหากต้องออกจากบ้าน ควรดื่มน้ำก่อน 1-2 แก้ว

3. หากรู้ตัวล่วงหน้าว่าต้องไปทำงานในสภาพที่มีอากาศร้อนจัดนานๆ เพื่อให้ร่างกายทนต่อความร้อนได้ ควรออกกำลังกายนอกอาคารอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที

4. การอยู่ในที่มีอากาศร้อนจัดหรือออกกำลังกายท่ามกลางอากาศร้อนจัด ควรดื่มน้ำให้ได้ชั่วโมงละ 1 ลิตร แม้จะไม่กระหายน้ำก็ตาม

5. การอยู่ในที่ร่มแต่ว่าอากาศข้างนอกร้อนจัดก็ควรดื่มน้ำให้เพียงพออย่างน้อย 6-8 แก้วต่อวัน

6. เสื้อผ้าที่สวมใส่ช่วงหน้าร้อนควรเลือกที่สามารถกันแดดได้ มีสีอ่อนดีกว่าสีเข้ม บางเบา ระบายอากาศร้อนได้ดี

7. การใช้ครีมกันแดดทุกวันเป็นสิ่งที่ควรทำ โดยต้องเลือกที่มีค่า SPF 30 ขึ้นไป (แม้ไม่ใช่หน้าร้อนครีมกันแดดก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องใช้เสมอ)

8. ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด เพราะจะทำให้อุณหภูมิในร่างกายยิ่งสูงขึ้น

9. ในช่วงหน้าร้อนควรดูแลเด็กและผู้สูงอายุเป็นพิเศษ โดยเฉพาะไม่ควรปล่อยให้อยู่ในรถที่ปิดสนิทและจอดในที่มีแดดและอากาศร้อนจัด พยายามให้อยู่ในที่ร่มและอากาศถ่ายเทสะดวก

เนื่องจากโรคฮีทสโตรกหรือโรคลมแดดมีอาการรุนแรงกว่าภาวะลมแดดมากนัก และสามารถจะเกิดได้ง่ายหากมีอากาศร้อนจัดแล้วร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไป ดังนั้น การป้องกันตัวเองตามคำแนะนำก็จะช่วยให้เรารอดพ้นจากโรคนี้ไปได้

บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวกับโรคภัยใกล้ตัว