free web tracker, fire_lady “โรคเท้าช้าง” เรื่องใหญ่ที่เกิดได้จากยุงตัวเล็กๆ • สุขภาพดี

โรคเท้าช้าง” เรื่องใหญ่ที่เกิดได้จากยุงตัวเล็กๆ

โรคเท้าช้าง

โรคชนิดหนึ่งที่เราอาจจะเคยได้ยินมาก่อนแต่ไม่ค่อยให้ความสนใจ เพราะคิดว่าโรคนี้ไม่ค่อยพบผู้ป่วยบ่อยนัก เราก็เลยไม่ให้ความสนใจในรายละเอียดของโรคนี้เท่าไร แต่อย่าลืมว่าเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บเป็นเรื่องที่เราทุกคนไม่สามารถหลีกเลี่ยงหากจำเป็นจะต้องเกิด ดังนั้นการรู้ถึงที่มาที่ไปของโรคภัยต่างๆ จึงมีความสำคัญพอที่จะทำให้เรารับมือกับโรคต่างๆ ได้ โรคที่กล่าวถึงนี้ คือ “โรคเท้าช้าง

"โรคเท้าช้าง" เป็นอย่างไรหนอ?

โรคเท้าช้าง (Elephantiasis) เป็นโรคที่เกิดจากพยาธิตัวกลม มีอยู่ 3 ชนิด แต่ละชนิดก็พบในพื้นที่ที่แตกต่างกันไป ซึ่งพยาธิตัวกลมที่ทำให้เกิดโรคเท้าช้างนี้เป็นพยาธิตัวกลมที่อยู่ในกลุ่มของพยาธิตัวกลม Filarial para sites โดยพยาธิในกลุ่มนี้สามารถก่อให้เกิดโรคได้หลายโรค แต่ถ้าหากก่อให้เกิดโรคเท้าช้างก็จะเรียกว่า Lymphatic filariasis ซึ่งพยาธิที่ก่อให้เกิดโรคเท้าช้างนี้จะอาศัยอยู่ในต่อมน้ำเหลืองและท่อน้ำเหลือง การระบาดของโรคเท้าช้างพบว่ามีจำนวนผู้ป่วยที่ป่วยด้วยโรคเท้าช้างนี้ลดลงเรื่อยๆ ในปี 2558 พบผู้ป่วยโรคเท้าช้างเพียง 0.36 รายต่อประชากรไทยหนึ่งแสนคน และพบได้ในทุกช่วงอายุ และพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง

สาเหตุการเกิดโรคเท้าช้าง

ดังที่ได้กล่าวในข้างต้นว่าโรคเท้าช้างมีสาเหตุสำคัญมาจากพยาธิตัวกลม โดยชนิดที่เป็นสาเหตุ คือ หนอนพยาธิ Wuchereria bancrofti , Brugia malayi และ  Brugia timori ซึ่งเชื้อเหล่านี้จะอาศัยอยู่ในร่างกายของคนโดยอาศัยยุงเป็นพาหะนำโรค ซึ่งอาศัยได้ทั้ง ยุงลาย ยุงรำคาญ ยุงลายเสือ และยุงก้นปล่อง ยุงแต่ละชนิดก็จะเป็นพาหะนำเชื้อพยาธิแต่ละชนิดแตกต่างกันไปด้วย

สำหรับวงจรของพยาธิตัวกลมนี้จะเริ่มจากที่ยุงตัวเมียที่มีเชื้อพยาธิเท้าช้างในระยะที่สามารถติดเชื้อได้ คือตัวอ่อนในขั้นที่ 3 มากัดดูดเลือดคน เชื้อพยาธิเท้าช้างนี้ก็จะเคลื่อนที่เข้าสู่ผิวหนังตรงจุดที่ยุงกัดแล้วเดินทางไปยังท่อน้ำเหลือง หลังจากนั้นจะเปลี่ยนรูปร่าง 2 ครั้งภายในเวลาประมาณ 9 เดือน จนกลายเป็นตัวเต็มวัยที่มีทั้งตัวผู้และตัวเมีย หลังจากนั้นตัวเต็มวัยเหล่านี้ก็จะอาศัยอยู่ในท่อน้ำเหลืองและต่อมน้ำเหลือง เมื่อเกิดการผสมพันธุ์กันก็จะได้ตัวอ่อนที่เรียกว่า Microfilaria

ตัวอ่อน Microfilaria จะเคลื่อนที่จากท่อน้ำเหลืองหรือต่อมน้ำเหลืองเข้ามาอยู่ในหลอดเลือดแทน และเมื่อยุงมากัดดูดเลือดคนที่มีพยาธิตัวอ่อนนี้ยุงก็จะรับเชื้อนี้เข้าไปด้วยและพร้อมที่จะแพร่เชื้อสู่คนอื่นๆ อีกต่อไป ระยะเวลาตั้งแต่ยุงรับเชื้อเข้าไปและสามารถแพร่เชื้อสู่คนอื่นได้จะกินเวลาประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ และพยาธิตัวเต็มวัยจะสามารถมีชีวิตอยู่ในร่างกายของคนได้ถึงประมาณ 5 ปี

ในประเทศไทยของเราพบเชื้อโรคเท้าช้างเฉพาะแบบ Wuchereria bancrofti และ Brugia malayi เท่านั้น โดยแบ่งเชื้อทั้ง 2 ชนิด ออกเป็น 4 ชนิดย่อยตามการปรากฏตัวของพยาธิตัวอ่อน Microfilaria ในกระแสเลือด คือ

สาเหตุ-อาการโรคเท้าช้าง

1. Wuchereria bancrofti , nocturnally periodic type เชื้อชนิดนี้ตัวเต็มวัยจะผลิตตัวอ่อน Microfilaria ในกระแสเลือดในช่วงเวลากลางคืน โดยมียุงลายและยุงรำคาญเป็นพาหะของโรค

2. Wuchereria bancrofti , nocturnally subperiodic type เชื้อชนิดนี้ตัวเต็มวัยจะผลิตตัวอ่อน  Microfilaria ในกระแสเลือดในทุกช่วงเวลา แต่จะเป็นช่วงเวลากลางคืนมากกว่ากลางวัน โดยมียุงลายป่าเป็นพาหะของโรค

3. Brugia malayi , nocturnally subperiodic type เชื้อชนิดนี้ตัวเต็มวัยจะผลิตตัวอ่อน Microfilaria ในกระแสเลือดในทุกช่วงเวลา แต่จะเป็นช่วงเวลากลางคืนมากกว่ากลางวัน มียุงลายเสือ 6 ชนิดย่อยเป็นพาหะของโรค โดยยุงลายเสือนี้เป็นยุงที่พบมากในพื้นที่ป่าพรุ

4. Brugia malayi , diurnally  subperiodic type เชื้อชนิดนี้ตัวเต็มวัยจะผลิตตัวอ่อน Microfilaria ในกระแสเลือดในทุกช่วงเวลา แต่จะเป็นช่วงเวลากลางวันมากกว่ากลางคืน มียุง Coquilletidia crassipes ซึ่งเป็นยุงที่มีสายพันธุ์ใกล้เคียงกับยุงลายเสือเป็นพาหะของโรค

อาการของโรคเท้าช้าง

อาการของผู้ที่ป่วยเป็นโรคเท้าช้างนั้น การได้รับเชื้อในครั้งแรกจะไม่ทำให้เกิดอาการใดๆ และพยาธิก็ไม่สามารถเพิ่มจำนวนในร่างกายของคนได้ แต่หากถูกยุงที่มีเชื้อกัดซ้ำๆ ทำให้พยาธิมีปริมาณมากและอยู่ในร่างกายเป็นเวลานานก็จะทำให้ปรากฏอาการออกมา อาการของผู้ที่ป่วยด้วยโรคเท้าช้างจะสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

1. กลุ่มที่ไม่แสดงอาการ เป็นกลุ่มที่พบมากที่สุด ต้องได้รับการตรวจจากห้องปฏิบัติการเท่านั้นจึงจะพบสิ่งผิดปกติต่าง ๆ เช่น พบเม็ดเลือดแดงหรือโปรตีนในปัสสาวะ ท่อน้ำเหลืองขยายตัวและคดกว่าปกติ หรือท่อน้ำเหลืองที่บริเวณหนังหุ้มอัณฑะขยายตัว เป็นต้น

2. กลุ่มที่มีอาการท่อน้ำเหลืองหรือต่อมน้ำเหลืองอักเสบเฉียบพลัน โดยจะมีอาการไข้สูง มีการอักเสบของท่อน้ำเหลืองที่เกิดขึ้นได้ทั่วร่างกาย ท่อน้ำเหลืองมีสีแดง แข็ง ปวดหรือเวลากดจะเจ็บ ผิวหนังบริเวณที่ใกล้ท่อน้ำเหลืองจะบวม ต่อมน้ำเหลืองจะโตที่บริเวณขาหนีบและรักแร้ อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นซ้ำๆ ทุก 6 – 10 วัน โดยผู้ป่วยในกลุ่มนี้ก็จะกลายเป็นผู้ป่วยในกลุ่มเรื้อรังต่อไป

3. กลุ่มที่มีอาการเรื้อรัง เมื่อเวลาผ่านไปนานหลายปี อาการท่อน้ำเหลืองหรือต่อมน้ำเหลืองอักเสบยังคงเป็น ๆ หายๆ ก็จะเกิดการอุดตัน ส่งผลให้น้ำเหลืองเหล่านี้ต้องไหลไปสู่ท่อน้ำเหลืองที่ใหญ่กว่า และน้ำเหลืองก็จะซึมออกจากท่อน้ำเหลืองและคั่งอยู่ในเนื้อเยื่อรอบ ๆ ทำให้เกิดอาการบวมโต ในช่วงแรก ๆ เมื่อกดจะยุบตัวได้ แต่พอเวลาผ่านไปก็จะบวมจนไม่สามารถยุบได้ ซึ่งอวัยวะที่จะบวมได้แก่ แขน ขา เต้านม โดยจะค่อยๆ บวมขึ้นจนเสียรูปทรง ผิวหนังหนาขึ้น ไม่มีความยืดหยุ่น ขรุขระ จนมีลักษณะเหมือนขาหรือเท้าของช้างนั่นเอง

นอกจากจะมีอาการใน 3 กลุ่มที่กล่าวมาแล้วนั้น ผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการทีพีอีร่วมด้วย โดยมักพบในคนเอเชียและเป็นผู้ชายมากกว่า ซึ่งมีอาการไข้ต่ำๆ ไอ หายใจหอบ น้ำหนักลด ถ้าเจาะเลือดจะพบเม็ดเลือดขาวชนิดอีโอซิโนฟิลสูง เป็นอาการของการแพ้ต่อหนอนพยาธิตัวกลม

การรักษาโรคเท้าช้าง

โรคเท้าช้างนั้นไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ แต่ต้องได้รับเชื้อนั้นบ่อยๆ และเป็นเวลานาน ดังนั้นรักษาจึงมุ่งไปที่การป้องกันการแพร่เชื้อติดต่อมากกว่า โดยการรับยากำจัดพยาธิเพื่อลดปริมาณของพยาธิ ซึ่งยาที่ให้นั้นจะมี 2 ชนิด ได้แก่ การให้อัลเบนดาโซล 400 มิลลิกรัมร่วมกับยาไอเวอร์เมคติน 150 – 200 ไมรโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หรือการให้ยาไดเอทิลคาร์บามาซีนไซเตรต 6 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยรับประทานแค่ปีละครั้งเท่านั้น แต่ต้องเข้าใจก่อนว่ายานี้ลดปริมาณการเกิดของพยาธิแต่ไม่สามารถฆ่าพยาธิตัวเต็มวัยได้ทั้งหมด นอกจากนี้หากผู้ป่วยอยู่ในภาวะต่อมน้ำเหลืองบวมโตแล้วนั้นก็ยังสามารถเกิดได้ จึงต้องได้รับการรักษาภาวะต่อมน้ำเหลืองบวมโดยเฉพาะ โดยปฏิบัติ ดังนี้

1. ทำความสะอาดบริเวณที่บวมด้วยสบู่และน้ำสะอาดด้วยความระมัดระวังอย่างสม่ำเสมอ

2. ป้องกันการติดเชื้อในบริเวณที่เกิดแผล หากเป็นแผลอาจใช้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราได้หากจำเป็น

3. ออกกำลังกายเบาๆ ในส่วนแขนหรือขาที่มีอาการบวม เพื่อให้ต่อมน้ำเหลืองที่บวมมีการเคลื่อนไหวและเพิ่มการไหลเวียนได้มากขึ้น

การป้องกันโรคเท้าช้าง

แน่นอนว่าการป้องกันการเกิดโรคเท้าช้างมีความสำคัญมากกว่าการรักษาโรคเท้าช้างเสียอีก เพราะการป่วยเป็นโรคนี้นั้นรักษาได้ยาก และไม่ได้มีวิธีการรักษาที่หายขาดแน่นอน ดังนั้นป้องกันไว้จะดีกว่า ซึ่งวิธีการป้องกันมีดังนี้

1. หลีกเลี่ยงไม่ให้ยุงกัด เช่น นอนในมุ้ง ทายากันยุง สวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว เป็นต้น

2. กำจังยุงซึ่งเป็นพาหะของโรค เช่น กำจัดลูกน้ำตามแหล่งต่างๆ

3. ในกรณีที่อาศัยอยู่ในเขตที่มีการแพร่ระบาดของโรคนี้มาก ให้รับประทานยาฆ่าเชื้อหนอนพยาธิที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคปีละครั้ง เพื่อตัดวงจรการแพร่เชื้อ

"โรคเท้าช้าง" เป็นโรคที่ฟังดูแล้วไม่ได้น่ากลัวมากนัก เพราะไม่ได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและไม่ได้พบบ่อยนัก แต่อาการเมื่อป่วยเป็นโรคนี้แล้วก็นับว่าสร้างความทุกข์ทรมานไม่ใช่น้อย ที่สำคัญการรักษาก็ยังไม่มีวิธีการที่เฉพาะเจาะจงและหายขาดไปได้ ดังนั้นการไม่ประมาท รู้จักหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการเกิดโรค และดูแลรักษาสุขภาพของตนเองให้ดีเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะไม่ว่าจะโรคอะไร รุนแรงหรือไม่รุนแรง หายขาดหรือไม่หายขาด ก็ล้วนแต่สร้างความทุกข์ใจให้กับเราอยู่ดี