free web tracker, fire_lady “โรคไข้สมองอักเสบ” สมองถูกทำร้ายจากเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย • สุขภาพดี

โรคไข้สมองอักเสบ” สมองถูกทำร้ายจากเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย

โรคไข้สมองอักเสบ สาเหตุ อาการ

โรคชนิดหนึ่งที่มีความอันตรายไม่น้อยนั่นคือ “โรคไข้สมองอักเสบ” (Encephalitis) เป็นโรคซึ่งเกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรียที่สมอง หรืออาจเกิดจากปัญหาของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงทีอาจเกิดอาการรุนแรงและภาวะแทรกซ้อนได้ อย่ารอช้า มารู้สาเหตุ อาการ วิธีรักษาโรคไข้สมองอักเสบไปพร้อมๆ กันเลย

สาเหตุของโรคไข้สมองอักเสบ

สาเหตุของโรคไข้สมองอักเสบ คือ การติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรียที่สมอง และปัญหาจากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ซึ่งส่งผลดังนี้

1. สมองอักเสบจากการติดเชื้อโดยตรง (Primary Encephalitis) จะทำให้สมองอักเสบและทำลายสมองโดยตรง ซึ่งมีทั้งสมองติดเชื้อเฉพาะที่ เชื้อแพร่กระจายไปทั่ว หรือเชื้อแฝงตัวอยู่ถูกกระตุ้น

2. สมองอักเสบจากระบบภูมิคุ้มกัน (Secondary (Postinfectious) Encephalitis) เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันทำหน้าที่ผิดพลาดในการต่อสู้กับเชื้อในร่างกาย โดยแทนที่จะทำลายเชื้อกลับทำลายเซลล์สมองไปด้วย มักเกิดในช่วง 2 - 3 สัปดาห์หลังจากติดเชื้อครั้งแรก

โดยเชื้อที่พบได้บ่อยและเป็นสาเหตุของโรคไข้สมองอักเสบ ได้แก่

1. ไวรัสเริม (Herpes Simplex Virus) สามารถแบ่งได้ 2 ประเภท คือไวรัสเริม HSV-1 เป็นตัวการทำให้ผู้ได้รับเชื้อมีไข้ เป็นแผลหรือตุ่มใสบริเวณปาก และไวรัสเริม HSV-2 เป็นตัวการทำให้เกิดแผลเริมบริเวณอวัยวะเพศ ไข้สมองอักเสบที่เกิดจากไวรัสเริม HSV-1 พบได้น้อยแต่ทำให้สมองเสียหายและเสียชีวิตได้

2. ไวรัสเริมชนิดอื่นๆ เช่น ไวรัสเอ็บสไตบาร์ (Epstein-Barr virus) เป็นสาเหตุของโรคโมโนนิวคลิโอสิส และไวรัสวาริเซลลา ซอสเตอร์ หรือไวรัสวีซีววี (Varicella Zoster Virus) เป็นสาเหตุของโรคอีสุกอีใสและโรคงูสวัด เอนเทอร์โรไวรัส (Enteroviruses) รวมถึงโปลิโอไวรัส (Poliovirus) และค็อกแซกกีไวรัส (Coxsackievirus) เป็นสาเหตุของอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ตาแดงอักเสบ และปวดท้อง

3. ไวรัสที่มียุงเป็นพาหะ (Mosquito-Borne Viruses) นอกจากนี้ยังมียุงที่เป็นพาหะนำไวรัสจากสัตว์มาสู่คน ทำให้ติดเชื้อหลังโดนยุงที่เป็นพาหะกัดในช่วง 2 - 3 สัปดาห์

4. ไวรัสโรคพิษสุนัขบ้า (Rabies Virus) เกิดจากการโดนสัตว์ที่ติดเชื้อพิษสุนัขบ้ากัด

การติดเชื้อที่พบมากในวัยเด็ก เช่น โรคคางทูมจากไวรัสมัมส์ (Mumps) โรคหัดจากไวรัสมีเซิลส์ (Measles) หรือโรคหัดเยอรมันจากไวรัสรูเบลลา (Rubella) ในปัจจุบันมีการฉีดวัคซีน MMR เพื่อป้องกันการเกิดโรคคางทูม หัด และหัดเยอรมันในเด็กอายุ 9 - 12 เดือน และ 4 - 6 ปี ทำให้พบผู้ป่วยไข้สมองอักเสบจากการติดเชื้อเหล่านี้น้อยลง

อาการของโรคไข้สมองอักเสบ

อาการของโรคไข้สมองอักเสบมีหลายระดับ โรคนี้ใช้เวลาเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือนจึงค่อยๆ แสดงลำดับอาการรุนแรง โดยสังเกตได้ดังนี้

  • อาการเบื้องต้น ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายโรคหวัด ได้แก่

1. อ่อนแรง มีไข้สูง ปวดศีรษะ
2. ปวดตามข้อและกล้ามเนื้อ
3. มีผื่นหรือตุ่มน้ำพองใสขึ้นที่ผิวหนัง

  • เมื่อมีอาการรุนแรงขึ้น ดังนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

1. สูญเสียการรับรู้เรื่องบุคคล เวลา และสถานที่ (Disorientation)
2. เคลื่อนไหวช้าลง กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือร่างกายบางส่วนเริ่มไร้ความรู้สึก
3. มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เช่น ร้อนรน กระวนกระวาย เห็นภาพหลอน เป็นต้น
4. ปวดศีรษะอย่างรุนแรง มีไข้สูงตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป
5. มีปัญหาด้านการมองเห็น
6. มีปัญหาด้านการได้ยินและการพูด
7. อ่อนเพลีย ง่วงนอน เซื่องซึม และคอเคล็ด
8. ชัก หมดสติ ไม่รู้สึกตัว และเรียกไม่ตื่น

  • เด็กและทารกจะพบอาการ ดังนี้

1. กระหม่อมของทารกโป่งและตึง
2. คลื่นไส้และอาเจียน
3. ร่างกายแข็งเกร็ง หรือขยับตัวไม่ได้
4. อารมณ์ฉุนเฉียว งอแง และร้องไห้ไม่หยุด
5. ไม่ยอมรับประทานอาหาร และซึม 

หากพบอาการขั้นรุนแรงของโรคไข้สมองอักเสบทั้งในทารก เด็ก หรือผู้ใหญ่ ซึ่งอาจปวดศีรษะมากและมีไข้สูง ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน

ภาวะแทรกซ้อนของโรคไข้สมองอักเสบ

หากได้รับการรักษาที่รวดเร็วจะช่วยลดอัตราเสี่ยงต่ออาการที่อาจรุนแรง หรือภาวะแทรกซ้อน รวมไปถึงการเสียชีวิตด้วย ซึ่งภาวะแทรกซ้อนที่พบมาก ได้แก่

1. มีปัญหาด้านความจำ
2. มีปัญหาด้านบุคลิกภาพ
3. มีปัญหาด้านการพูดและการใช้ภาษา
4. มีปัญหาด้านการกลืน
5. มีปัญหาด้านอารมณ์และจิตใจ
6. มีปัญหาด้านสมาธิ
7. มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว และการทรงตัว 

การวินิจฉัยโรคไข้สมองอักเสบ

ในขั้นตอนแรกแพทย์จะซักถามประวัติของผู้ป่วยว่ามีอาการของไข้สมองอักเสบหรือไม่ และตรวจระบบประสาทและสมองอย่างละเอียดแล้วจึงทดสอบร่างกาย การตรวจระบบสมองและประสาททำได้ 2 วิธีดังนี้

1. การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือทีซีสแกน และการทำเอ็มอาร์ไอ โดยการจำลองภาพขึ้นเพื่อดูลักษณะทางกายภาพและโครงสร้างของสมอง เพื่อตรวจดูว่ามีลักษณะสมองอักเสบหรือมีลักษณะโรคทางสมองอื่นๆ หรือไม่

2. การเจาะน้ำไขสันหลัง (Lumbar Puncture) โดยผู้ป่วยต้องนอนตะแคงแล้วกอดเข่าเอาไว้ จากนั้นแพทย์จะฉีดยาชาเฉพาะที่บริเวณหลังส่วนล่าง แล้วสอดเข็มเข้าไปที่กระดูกสันหลังส่วนล่างเพื่อเก็บตัวอย่างน้ำไขสันหลัง เพื่อตรวจหาว่ามีลักษณะการติดเชื้อหรือการอักเสบหรือไม่

นอกจากนี้ยังมีการตรวจในรูปแบบอื่นๆ อีก เช่น

1. การตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะหรือของเหลวอื่นๆ ในร่างกาย

2. การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองหรือการตรวจอีอีจี (Electroencephalogram) โดยใช้ขั้วไฟฟ้าขนาดเล็กวางแนบหนังศีรษะ ซึ่งจะแสดงให้เห็นถึงการทำงานที่ผิดปกติของสมอง

สาเหตุโรคไข้สมองอักเสบ

3. การผ่าตัดส่งชิ้นเนื้อตรวจทางพยาธิวิทยา (Brain Biopsy) โดยการนำตัวอย่างเนื้อเยื่อสมองไปทดสอบการติดเชื้อ แพทย์จะตรวจด้วยวิธีนี้ในกรณีที่ไม่สามารถระบุสาเหตุของอาการสมองบวมได้ด้วยวิธีอื่น แต่ไม่เป็นที่นิยม เพราะจะทำให้เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนสูง

การรักษาโรคไข้สมองอักเสบ

การรักษาโรคไข้สมองอักเสบทำได้โดยการรักษาตามสาเหตุของโรคและรักษาตามอาการ เพื่อบรรเทาและฟื้นฟูร่างกายให้แข็งแรงขึ้น โดยมีวิธีการดังนี้

1. การใช้ยาต้านไวรัส จะใช้ในกรณีที่มีสาเหตุมาจากไวรัสเริม ไวรัสวาริเซลลา ซอสเตอร์หรือไวรัสวีซีววี ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคอีสุกอีใสและโรคงูสวัด โดยจะฉีดเข้าเส้นเลือดดำ 2 ครั้งต่อวัน เป็นเวลา 2 - 3 สัปดาห์ ตัวอย่างยาที่นิยมใช้ ได้แก่ อะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) แกนซิโคลเวียร์ (Ganciclovir) และฟอสคาเนต (Foscarnet) เป็นต้น การใช้อาจส่งผลข้างเคียงได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง หรือปวดตามข้อและกล้ามเนื้อ และอาจรุนแรงถึงขั้นส่งผลให้ตับหรือไตทำงานผิดปกติได้

2. การฉีดสเตียรอยด์ จะใช้ในกรณีที่มีสาเหตุเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

3. การบำบัดด้วยอิมมูโนโกลบูลิน (Immunoglobulin Therapy) โดยให้ยาที่ช่วยควบคุมระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

4. การฟอกเลือด (Plasmapheresis) เป็นการกำจัดพิษออกจากร่างกายที่แฝงอยู่ในเลือด วิธีนี้ใช้ในกรณีที่รักษาด้วยการบำบัดด้วยอิมมูโนโกลบูลินแล้วอาการไม่ดีขึ้น

5. การใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาต้านเชื้อรา ซึ่งจะใช้ในกรณีที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือเพื่อป้องกันเชื้อรา

โรคไข้สมองอักเสบทำให้ร่างกายของผู้ป่วยมีความเครียด และส่งผลให้เกิดอาการต่างๆ ตามมาได้ ทำให้ต้องได้รับการรักษาเพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิด อาการ และความรุนแรง โดยมีวิธี ดังนี้

1. การใช้เครื่องช่วยหายใจ เพื่อช่วยให้ปอดทำงานดีขึ้น
2. การให้สารน้ำ (Intravenous Fluids) เพื่อรักษาปริมาณน้ำและระดับแร่ธาตุในร่างกายให้เหมาะสม
3. การใช้ยาแก้อักเสบ เช่น ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ เพื่อลดความดันและอาการบวมในกะโหลกศีรษะ
4. การใช้ยากันชัก เช่น ยาเฟนิโทอิน (Phenytoin) 

การฟื้นฟูสภาพของผู้ป่วยโรคไข้สมองอักเสบอาจทำได้ช้า ยาก และใช้เวลานานกว่าจะหายกลับมาเป็นปกติ จึงจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูอย่างต่อเนื่องจากผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งทำได้ดังนี้

1. การฟื้นฟูอาการบาดเจ็บที่สมอง โดยนักประสาทจิตวิทยา (Neuropsychologist)
2. การบำบัดเกี่ยวกับการพูด เพื่อช่วยฟื้นฟูการควบคุมกล้ามเนื้อที่ใช้ในการพูดและการสื่อสาร
3. การทำกิจกรรมบำบัด เพื่อพัฒนาทักษะและนำใช้ในชีวิตประจำวัน
4. การทำกายภาพบำบัด
5. การทำจิตบำบัด 

การป้องกันโรคไข้สมองอักเสบ

การป้องกันโรคไข้สมองอักเสบทำได้โดยหลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่ที่มีอัตราเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย รวมทั้งวิธีต่างๆ ดังนี้

1. มีสุขอนามัยที่ดี ล้างมือให้สะอาดหลังเสร็จธุระในห้องน้ำและก่อนมื้ออาหาร
2. ไม่ใช้ช้อน ส้อม หรือแก้วน้ำร่วมกับผู้อื่น
3. ฉีดวัคซีนเป็นประจำ รวมทั้งควรปรึกษาแพทย์เรื่องการฉีดวัคซีนก่อนเดินทางไปยังประเทศต่าง ๆ ที่มีอัตราเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรียอันเป็นสาเหตุของการเกิดโรค

วัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบ

ดังนั้นเมื่อสงสัยว่าตนเองอาจจะป่วยเป็น "โรคไข้สมองอักเสบ" ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อวินิจฉัยโรคและหาแนวทางในการรักษาให้ถูกต้องเหมาะสม เพื่อป้องกันการเกิดอาการที่รุนแรงมากขึ้นหรือช่วยให้หายจากการป่วยด้วยโรคนี้ได้