สมุนไพรน่ารู้ อายุรวัฒน์เวชศาสตร์ September 11, 2018 Share 76 Tweet Pin 0 15 สมุนไพรแก้โรคซึมเศร้า...ช่วยใจสบาย ผ่อนคลายความเครียด"โรคซึมเศร้า" เป็นโรคที่พบได้มากในปัจจุบัน อาจจะเนื่องมาจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้คนเราใช้ชีวิตอย่างเคร่งเครียดกันจนไม่รู้ตัว สุดท้ายก็เจ็บป่วยในที่สุด การรักษาโรคซึมเศร้าในปัจจุบันจะเน้นการใช้ยาเป็นหลัก และจะต้องทานติดต่อกันไปเรื่อยๆ จนกว่าอาการจะดีขึ้น ซึ่งบางคนอาจจะประสบผลข้างเคียงจากการทานยาได้ แต่ว่าการใช้ยาแผนปัจจุบันไม่ใช่แนวทางเดียวสำหรับการรักษาโรคนี้ การใช้แนวทางธรรมชาติด้วยสมุนไพรแก้โรคซึมเศร้าก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง...สำหรับใครที่มองหาการรักษาในแบบผสมผสาน ซึ่งก็มีสมุนไพรหลายชนิดที่มีสรรพคุณช่วยบรรเทาภาวะนี้ได้ แต่ก่อนจะรู้ว่ามีสมุนไพรอะไรบ้างนั้น เราไปทำความรู้จักกับโรคซึมเศร้ากันก่อนดีกว่าค่ะ โรคซึมเศร้า เป็นอย่างไร?โรคซึมเศร้า (Depression) เป็นโรคที่ผู้ป่วยนั้นมีความผิดปกติทางอารมณ์ โดยอาจจะรู้สึกเศร้าสร้อย หมดอาลัยตายอยากในชีวิต รู้สึกหมดพลังไม่อยากทำสิ่งใด หมดหวังในเรื่องต่างๆ รู้สึกเหมือนตัวคนเดียวหรือไร้ค่าในสายตาคนอื่น ในรายที่อาการรุนแรงอาจจะถึงกับฆ่าตัวตายได้ อาการซึมเศร้านั้นอาจจะเกิดกับผู้ป่วยเป็นพักๆ บางครั้งอาจจะแค่ไม่นานแล้วก็ดีขึ้น แต่บางคนเป็นหนักจนส่งกระทบในการใช้ชีวิตประจำวันเลยทีเดียวโรคซึมเศร้าเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่จะพบมากในวัย 20-30 ปี โดยตัวโรคมักจะพัฒนามาจากปัญหาต่างๆ ที่ประสบมาตั้งแต่วัยรุ่น ยิ่งปัญหาที่เจอรุนแรงมาก อาการของโรคก็จะหนักมาก สำหรับประเทศไทยเองคาดว่าน่าจะมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทั้งวินิจฉัยแล้วยังไม่ได้วินิจฉัยรวมๆ กันแล้วมากกว่า 1.2 ล้านคน ซึ่งก็เป็นจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียวสาเหตุของโรคซึมเศร้าโรคซึมเศร้ามีสาเหตุมาจากการที่สารเคมีในสมองไม่สมดุลกัน หรือการทำงานของสมองบางส่วนมีความปกติ ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น การได้รับความกระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรง การอยู่ภายใต้ความกดดันเป็นระยะเวลานาน ความตึงเครียดสะสม อาการป่วยและยารักษาโรคบางชนิด เป็นต้นอาการของโรคซึมเศร้าผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะมีอาการแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ระดับความรุนแรงก็จะไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่าง เช่น อายุ เพศ ความหนักหน่วงของเหตุการณ์ที่เป็นสาเหตุของโรคซึมเศร้า แต่โดยพื้นฐานแล้ว มักจะมีอาการหดหู่ สิ้นหวัง รู้สึกไร้ค่า หมดอาลับตายอยากในชีวิต โมโหง่าย อารมณ์แปรปรวน นอนเยอะหรือนอนน้อยเกินไป ซึ่งบางคนยังอยู่ในระดับที่พอควบคุมตัวเองได้ก็จะสามารถใช้ชีวิตตามปกติ แต่บางคนอาการหนักจนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันและคนรอบข้าง ไม่สามารถเรียนหรือทำงานได้ อาการของโรคอาจจะแย่ลงไปอีกจนคิดฆ่าตัวตายได้สมุนไพรแก้โรคซึมเศร้า1. กล้วย กล้วยมีกรดอะมิโนที่ชื่อว่า สารทริปโตแฟน ซึ่งเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะถูกเปลี่ยนรูปเป็นสารเซโรโทนิน สารนี้ถ้ามีมากขึ้น จะช่วยปรับอารมณ์ให้กลับมาดีขึ้น ช่วยผ่อนคลายความเครียด การทานจะทานแบบไหนก็ได้ตามแต่ที่เราชอบเลย ไม่ว่าจะทานสด ทำสมูทตี้อร่อยๆ ทำขนม นำไปทอด ปิ้งหรือทำกล้วยตาก ก็อร่อยและได้ประโยชน์ทั้งนั้น กล้วยจึงจัดเป็นผลไม้ที่เป็นสมุนไพรด้วย สามารถนำมารับประทานในแง่การรักษาโรคได้ รวมทั้งมีพลังงานสูง มีคุณค่าทางอาหารมาก จึงไม่ได้เหมาะแค่กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเท่านั้น แต่เหมาะกับคนทุกเพศทุกวัยเลยค่ะ2. พืชในกลุ่มแตง เช่น แตงทั้งหลาย ฟัก แฟง น้ำเต้า มีลักษณะเป็นพืชที่เนื้อชุ่มฉ่ำน้ำ มีฤทธิ์เย็น ช่วยทำให้ร่างกายเย็นลง ช่วยบรรเทาอาการฟุ้งซ่าน การไม่ร่าเริง ลดความเครียด บำรุงเลือด กระตุ้นการทำงานของระบบไหลเวียนโลหิต พืชเหล่านี้ไม่ต้องนำไปปรุงยาอะไรให้มากความ แค่นำไปประกอบอาหารตามปกติ ก็อร่อยแถมมีประโยชน์ต่อร่างกาย3. ใบบัวบก สมุนไพรที่เรารู้จักกันดีว่าช่วยแก้ช้ำใน จึงมักได้ยินคำแนะนำให้คนอกหักใหม่ๆ ไปหาใบบัวบกมาทาน แล้วจะรู้สึกดีขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ได้เกี่ยวกันเลยค่ะ ที่จริงแล้วสรรพคุณที่โดดเด่นของใบบัวบกจะอยู่ที่ลดบวม แก้อาการผิวหนังอักเสบ ฟกช้ำดำเขียว นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ในด้านการบำรุงระบบประสาทและสมอง ช่วยฟื้นฟูความจำ เพิ่มสมาธิ ลดความเครียด ช่วยฟื้นฟูสมองที่เหนื่อยล้าจากการทำงานและ แก้ปวดศีรษะได้เป็นอย่างดี เวลาจะทานใบบัวบกให้ทานทั้งต้นโดยจะทำมาทานสดจิ้มกับน้ำพริก หรือจะลวกจิ้มก็ได้ ใครมีเวลาว่างหน่อยก็ปั่นหรือคั้นน้ำสดๆ ใส่น้ำแข็ง เติมน้ำผึ้งนิดหน่อย หวานอร่อยชื่นใจ หรือถ้าใครไม่ชอบกลิ่นและรสของบัวบกสดๆ จะเลือกรับประทานบัวบกแบบแคปซูลก็ได้ค่ะ แต่บัวบกจะมีข้อควรระวังเล็กน้อยคือ ไม่ควรใช้กับผู้ที่มีปัญหาเลือดแข็งตัวช้าหรือผู้ป่วยที่ใช้ยาละลายลิ่มเลือดอยู่ เพราะจะทำให้เลือดหยุดไหลยาก อาจเกิดอันตรายได้ถ้าร่างกายมีบาดแผล4. ลูกยอ ลูกยอเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์ร้อน มีสรรพคุณช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต ลดความหงุดหงิด ทำให้จิตใจสงบลง ทำให้นอนหลับได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลูกยออาจจะรสชาติไม่ค่อยอร่อยมากนัก จึงควรปรุงรสชาติเพื่อทำให้ทานง่ายขึ้นโดยอาจจะเอาลูกยอสดมาทำส้มตำลูกยอ ก็อร่อยเลิศ หรือจะดองน้ำผึ้งก็จะเก็บไว้ทานได้นานค่ะ วิธีการดองคือ นำลูกยอสุกมาล้างให้สะอาด นำไปเรียงใส่โหลแก้ว จากนั้นเทน้ำผึ้งลงไปให้ท่วม ปิดฝาให้แน่น ทิ้งไว้ 3 เดือนถึงนำมาทานได้ เวลาจะทานก็นำยาดองลูกยอ 1 ช้อนโต๊ะผสมกับน้ำเปล่า 1 แก้ว ดื่มเป็นประจำเช้าเย็น แต่ถ้าดองลูกยอนานกว่าหนึ่งปี ให้ลดปริมาณยาดองลง เพราะจะมีความเข้มข้นมากเกินไปนั่นเอง ยาลูกยอดองน้ำผึ้งนี้ แท้จริงแล้วเป็นสูตรยาอายุวัฒนะของคนโบราณ ทานแล้วช่วยต้านอนุมูลอิสระได้เป็นอย่างดี จึงถือว่าเป็นผลพลอยได้ของการทานลูกยอเพื่อรักษาโรคซึมเศร้าก็ว่าได้ค่ะ5. ใบขี้เหล็ก ยอดอ่อนและดอกตูมของขี้เหล็กนั้นมีสารแอนไฮโดรบาราคอล ( Anhydrobarakol ) สรรพคุณของมันคือช่วยผ่อนคลายความเครียด ทั้งยังมีฤทธิ์เป็นยานอนหลับอย่างอ่อน จึงช่วยให้นอนหลับสบาย แก้ปัญหาคนนอนหลับยากได้เป็นอย่างดี สำหรับการปรุงยาบรรเทาอาการซึมเศร้าจากใบขี้เหล็กนั้นทำได้ 2 วิธีง่ายดังนี้ดองเหล้า ใช้ยอดอ่อนและดอกตูมสด 50 กรัมใส่โหลแก้ว เทเหล้าขาวลงไปพอท่วม หรือจะใช้ดอกแห้งก็ได้ แต่ลดปริมาณลงเล็กน้อย จากนั้นหมั่นคนบ่อยๆ ดองให้ครบ 7 วัน นำน้ำยาดองที่ได้มาจิบวันละ 1 ช้อนชาทุกวันก่อนนอนชาใบขี้เหล็ก เอาใบขี้เหล็กอ่อนไปตากให้แห้งสนิท ใช้ใบแห้ง 1 กำมือ ต้มกับน้ำ 1 ลิตร กรองเอากากออก ดื่มน้ำที่ได้วันละ 1 แก้วก่อนนอน สูตรนี้ไม่เหมาะกับคนธาตุอ่อน เพราะอาจะทำให้ท้องเสียได้ รวมถึงในผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงปกติ ก็ไม่ควรดื่มมากเกินไปเช่นกัน6. พริกไทย นำต้นพริกไทยสดมาหั่นเป็นท่อนๆ จากนั้นตากให้แห้ง แล้วนำมาคั่วให้เกรียม นำต้นพริกไทยคั่วไปแช่ในน้ำร้อน สามารถจิบได้ทั้งวัน ช่วยให้รู้สึกโล่งสบาย สมองปลอดโปร่ง บรรเทาความเครียด คลายความเหนื่อยล้า7. ชุมเห็ดไทย เป็นอีกหนึ่งสมุนไพรแก้โรคซึมเศร้า เพราะ่มีสรรพคุณช่วยลดความเครียด กล่อมประสาท ทำให้นอนหลับง่าย นำเมล็ดประมาณ 15 กรัมมาคั่วให้เกรียม จากนั้นนำมาต้มกับน้ำเปล่า1 ลิตร เคี่ยวจนเหลือน้ำ 600 มิลลิลิตร กรองเอากากออก ดื่มน้ำยาที่ได้ครั้งละ 200 มิลลิลิตร 3 ครั้งหลังมื้ออาหาร8. ดีบัว ดีบัวคือส่วนที่เป็นเหมือนยอดอ่อนต้นเล็กๆ ที่อยู่ในเมล็ดบัว ซึ่งเป็นส่วนของใบเลี้ยงนั่นเอง ดีบัวมีรสขมชุ่มเย็น ช่วยกล่อมประสาทปรับสมดุลฮอร์โมน ทำให้นอนหลับง่าย ในดีบัวมีสารสำคัญหลายตัวโดยแต่ละตัวออกฤทธิ์แตกต่างกันเช่น สาร Demathylcoclaurine จะช่วยคลายกล้ามเนื้อเรียบ สารneferine ช่วยลดความดันโลหิต ทำให้หัวใจเต้นเป็นปกติ หรือสารmethyl corypalline ที่ช่วยขยายหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ เป็นต้น ด้วยสรรพคุณทั้งหลายเหล่านี้จึงช่วยบำรุงหัวใจและผ่อนคลายความเครียดได้เป็นอย่างดี ดีบัวนิยมรับประทานในรูปแบบของชา โดยบัวสายพันธ์ที่ได้รับความนิยมคือ บัวหลวงค่ะ9. บัวหลวง จากด้านบนใช้แค่ดีบัว จะพบข้อเสียเล็กน้อยคือดีบัวนั้นมีปริมาณไม่มากค่ะ การจะชงชาดีบัวสักแก้วคงต้องเก็บบัวหลายดอกเลย ดังนั้นสามารถใช้กลีบดอกของบัวหลวงทดแทนได้ โดยนำกลีบบัวที่ใกล้จะบานแล้วประมาณ 5 ดอก ต้มกับน้ำสะอาด 1 ลิตร รอจนเดือด เคี่ยวนาน 10 นาทีแล้วยกลง ทิ้งไว้ให้เย็น ดื่มครั้งละ 1 แก้ว 2-3 แก้วต่อวัน บัวหลวงมีรสฝาดหอม ดื่มแล้วทำให้หัวใจชุ่มชื่น แก้อาการอ่อนเพลีย ทำให้รู้สึกสดใส ช่วยให้นอนหลับสบาย10. ดอกมะลิ สำหรับดอกมะลิเน้นไปที่การบำบัดด้วยกลิ่น เพราะกลิ่นหอมของมะลิเมื่อถูกสูดดมเข้าไป จะส่งผลต่อการรับรู้ของสมองในส่วนลิมบิค ร่างกายจะกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนออกมา จึงเริ่มปรับกลับมาสู่ความสมดุล นอกจากนี้กลิ่นหอมเย็นของมะลิ ยังช่วยลดความวิตกกังวล ทำให้จิตใจสงบลง ผ่อนคลายความเครียด ลดการซึมเศร้าได้ ใครที่เครียดอยู่บ่อยๆ ลองจิบชามะลิอุ่นๆทุกเช้า หรือนำดอกมะลิมาลอยน้ำสะอาดเพื่อดื่มในแต่ละวันก็ได้ ถ้าหากชอบกลิ่นหอมอ่อนๆในเวลานอน แนะนำให้เอาเอามะลิ 2-3 ดอกมาวางใกล้ๆ หมอน ก็จะช่วยให้นอนหลับสบายมากขึ้น ทั้งนี้การใช้ดอกมะลิมีข้อควรระวังอย่างหนึ่งคือ สารเคมีตกค้างเยอะ ดังนั้นเลือกแหล่งซื้อที่ไว้ใจได้ แต่ถ้าจะให้ดีที่สุดก็ลงมือปลูกเองเลยค่ะ ดูแลง่าย สามารถเก็บดอกมาใช้ได้ตลอด11. พลู หรือใบพลูที่คุณย่าคุณยายใช้เคี้ยวหมากนี่แหละ ช่วยลดเครียดได้อย่างชะงัดนัก เพียงนำเถาพลูมาตากให้แห้ง แล้วนำไปคั่วให้เกรียมหอม นำมาไปแช่ในน้ำร้อน จะดื่มเป็นแก้วๆวันละ 2-3 ครั้งหรือจิบทีละน้อยตลอดทั้งวันก็ได้ ชาใบพลูจะมีกลิ่นหอมซ่าเฉพาะตัว และรสเผ็ดเล็กน้อย ดื่มแล้วทำให้รู้สึกสดชื่น หูตาสว่าง ร่างกายปลอดโปร่ง คลายความเครียดได้เป็นอย่างดี12. มะละกอ นอกจากเมนูเด็ดอย่างส้มตำแล้ว มะละกอก็นำมาแก้ซึมเศร้าได้นะ นำมะละกอขนาดประมาณ 1 กิโลกรัมมาปลอกเปลือกแล้วล้างยางออกให้หมด หากมีเมล็ดก็เอาออกด้วย จากนั้นนำมาหั่นเป็นชิ้นบางๆ แล้วนำมาต้มกับน้ำเปล่า 1 ลิตร เคี่ยวนาน 15-20 นาทีแล้วยกลง ตั้งทิ้งไว้จนอุ่น กรองเอากากออก แล้วนั้นตั้งไฟใหม่ ใส่ใบชาอะไรก็ได้ลงไปนิดหน่อย ต้มให้เดือดอีกรอบก็ปิดไฟ พักให้เย็นลง นำมาจิบได้ตลอดทั้งวัน ดื่มแล้วจะรู้สึกผ่อนคลาย สบายตัว ช่วยให้หลับสนิทและตื่นขึ้นมาอย่างสดใส มีพลัง13. สะระแหน่ ใบสะระแหน่มีวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด รวมทั้งยังมีกลิ่นที่หอมเย็นสดชื่น การนำสะระแหน่แห้งมาชงชาดื่มบ่อยๆ จะช่วยให้ร่างกายผ่อนคลายความตึงเครียดลงได้ ลดความวิตกกังวล แก้เครียดได้เป็นอย่างดี14. ลำไย ลำไยเป็นผลไม้รสชาติหวานหอม อุดมไปด้วยวิตามินธรรมชาติหลายชนิด บางคนชอบทานแบบสด แต่บางคนชอบทานแบบแปรรูปก็มี สำหรับผู้ที่ซึมเศร้าหรือเครียดบ่อยๆ แนะนำให้นำลำไยอบแห้งมาเติมน้ำลงไปในปริมาณที่เหมาะสม เคี่ยวให้เริ่มเหนียวเล็กน้อย ทิ้งไว้จนอุ่นแล้วดื่มวันละ 2 ครั้ง ช่วยลดอาการกระวนกระวายใจ ลดวิตกกังวล กลิ่นหอมของน้ำลำไยทำให้รู้สึกผ่อนคลายได้ ช่วยคลายเครียด ทำให้นอนหลับดี15. คาโมมายล์ มาถึงสมุนไพรแก้โรคซึมเศร้าชนิดสุดท้ายกับแล้วค่ะ คาโมมายล์เป็นพืชที่เดาว่าหลายคนคุ้นหน้าคุ้นตากันในรูปแบบของชาที่ดื่มแล้วช่วยให้หลับสบาย ซึ่งก็เป็นความจริง เนื่องจากว่าคาโมมายล์มีสารอะพิจีนีน(Apigenin) ที่มีสรรพคุณช่วยลดความกังวล ทำให้จิตใจรู้สึกสงบ จึงมีงานวิจัยหลายๆ ชิ้นสนับสนุนให้ดื่มชาคาโมมายล์ก่อนนอนนั่นเอง ดังนั้นใครที่รู้สึกว่าร่างกายหรือจิตใจตัวเองกำลังตึงเครียดมากเกินไป แนะนำให้จิบชาคาโมมายล์หอมๆ สักแก้ว จะช่วยให้อาการที่เป็นอยู่ดีขึ้นได้แน่นอนค่ะวิธีป้องกันโรคซึมเศร้าโรคซึมเศร้านั้นเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ซึ่งบางอย่างนั้นหลีกเลี่ยงได้ยากและอยู่เหนือการควบคุม เช่น ความเจ็บป่วย ยารักษาโรค ความกดดันจากการทำงาน เป็นต้น แต่ว่าเราสามารถลดความเสี่ยงในการเป็นโรคซึมเศร้าได้โดยการจัดการปัจจัยที่เราควบคุมได้ ดังนี้1. ออกกำลังกาย การออกกำลังกายนั้นจะกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารเอนโดรฟิน ซึ่งเป็นสารแห่งความสุข ใครที่ออกกำลังกายบ่อยๆ จะสังเกตได้ว่า หลังออกกำลังกาย แม้จะเหนื่อยมาก แต่ร่างกายจะรู้สึกดีเยี่ยม เหมือนได้ปลดปล่อยความเครียดออกไป นอกจากนี้ยังช่วยให้สุขภาพแข็งแรง ไม่เจ็บป่วยง่าย2. รักษาจิตใจให้แจ่มใส พยายามปล่อยวางในเรื่องที่ไม่สามารถแก้ไขได้ อย่าเก็บคำพูดของทุกคนมาคิด จงทำความเข้าใจว่า “เราไม่สามารถทำทุกอย่างให้ถูกใจคนทุกคนได้” ดังนั้นเลือกทำในกิจกรรมที่ช่วยเสริมสร้างความสุขของตัวเอง (อยู่ในขอบเขตที่ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน) ใช้เวลาเพื่อตัวเองบ้าง เช่น วันหยุดจะตื่นสายบ้างก็ได้ รวมทั้งหัดปฏิเสธคนให้เป็น เมื่อมีใครมาชวนไปข้างนอกในเวลาที่เราควรได้จะได้พักผ่อน เป็นต้น3. ปรึกษาคนอื่นบ้าง เชื่อว่าทุกคนจะมีบุคคลที่เราไว้ใจ ในบางครั้งหากมีเรื่องเครียดๆ อย่าเก็บทั้งหมดไว้คนเดียว ปรึกษาครอบครัว เพื่อนสนิท หรือแม้กระทั่งบ่นกับน้องหมาน้องแมวก็ช่วยระบายความเครียดในใจออกไปได้ค่ะ4. รักษาสมดุลการใช้ชีวิต แน่นอนว่าอะไรที่มากเกินไปย่อมไม่ดีอย่างแน่นอน ดังนั้นเริ่มจัดการชีวิตให้ลงตัวเสียที โดยเริ่มจากปรับพฤติกรรมการกิน การนอน กินอย่างพอดี กินให้มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอในแต่ละวัน งานที่ทำพยายามทำให้เสร็จในที่ทำงานแล้วทิ้งความเครียดไว้ที่นั่น พยายามให้บ้านคือสถานที่พักผ่อนอย่างแท้จริง ฝึกระเบียบวินัยในการใช้ชีวิต โดยอาจจะแพลนสิ่งที่ต้องทำในแต่ละวัน เพื่อที่จะได้ใช้เวลาอย่างคุ้มค่า แต่ว่าต้องไม่ตึงมากจนเกินไป เป็นต้นสำหรับการรักษาโรคซึมเศร้านั้น หากคุณกำลังรักษาด้วยการแพทย์แผนปัจจุบันอยู่แล้ว ห้ามหยุดยาเองเด็ดขาด การทานสมุนไพรแก้โรคซึมเศร้าเหมาะสำหรับใช้รักษาแบบควบคู่ไปด้วยมากกว่า อีกทั้งการหยุดยาเองแบบกะทันหัน อาจทำให้ตัวโรครุนแรงยิ่งกว่าเก่า ดังนั้นก่อนจะทำอะไร ควรปรึกษาแพทย์ให้ดีก่อน แต่ถ้าใครแค่เครียด วิตกกังวล รู้สึกไม่ค่อยสบายใจ หรือนอนหลับไม่ค่อยสนิท ลองนำสมุนไพรที่แนะนำด้านบนมาใช้กันได้ค่ะ รับรองว่าได้ผลดีและปลอดภัยต่อสุขภาพแน่นอนค่ะ