free web tracker, fire_lady 4 วิธีช่วยอาการนอนไม่หลับ • สุขภาพดี

4 วิธีช่วยอาการนอนไม่หลับ

การนอนไม่หลับกลายเป็นปัญหามากขึ้นในสังคมปัจจุบัน ความเครียด ความกดดัน สภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม รวมถึงวิถีขีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตอย่างรวดเร็ว เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้หลายๆคนมีอาการนอนไม่หลับและอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพในระยะยาวได้ ไม่ว่าจะเป็นอาการเบลอ ปวดหัว ไมเกรน สมองขาดออกซิเจน หรือแม้กระทั่งโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาท อาทิ โรคพาร์กินสัน

นอนกี่ชั่วโมงจึงจะเพียงพอ

การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉลี่ยคนเราควรให้เวลากับการนอนหลับประมาณ 7-8 ชั่วโมง แต่บางคนเช่นผู้สูงอายุอาจใช้เวลานอนเพียง 5-6 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งมีวิธีสังเกตุได้ง่ายๆ ว่าเรานอนหลับเพียงพอหรือไม่จากการตื่นขึ้นมาแล้ว รู้สึกสดชื่น สมองปลอดโปร่งแจ่มใส ไม่อ่อนเพลีย ไม่ง่วงหงาวหาวนอน มีสมาธิในการทำงาน ตัดสินใจแก้ปัญหาได้ดี  เป็นตัวบ่งชี้ว่าเรานอนหลับเพียงพอแล้ว แต่หากรู้สึกตรงกันข้ามกับที่กล่าวมา เราควรปรับเวลานอนให้เร็วขึ้น เพื่อเพิ่มชั่วโมงในการนอนให้มากขึ้น ให้เพียงพอต่อการพักผ่อนของสมองและร่างกาย

อาการนอนไม่หลับ เป็นอย่างไร

อาการนอนไม่หลับของแต่ละคนจะแตกต่างกัน บางคนเข้านอนแล้วกว่าจะหลับนั้นยาก ข่มตานอนอย่างไรก็นอนไม่หลับเสียที บางคนอาจตื่นกลางดึกจากนั้นก็หลับต่อไม่ได้ นอนพลิกตัวไปพลิกตัวมาจนถึงเช้า หรือบางคนนอนหลับๆ ตื่นๆ ทั้งคืน หลับไม่สนิท เมื่อตื่นขึ้นมาก็มีอาการนอนไม่พอ อ่อนเพลีย สมองไม่ปลอดโปล่ง ง่วงในตอนกลางวัน ทำให้รู้สึกหงุดหงิด อารมณ์ไม่ดีตลอดทั้งวัน ขาดสมาธิในการเรียนการทำงาน 

โรคนอนไม่หลับ แบ่งเป็นกี่ประเภท

โรคนอนไม่หลับ สามารถจำแนกออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

1. นอนไม่หลับแบบครั้งคราว คือมีอาการนอนไม่หลับ 2-3 วัน แต่ไม่ถึงสัปดาห์หรือหลายๆสัปดาห์ติดต่อกัน ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากความวิตกกังวล ความเครียด หรือมีเรื่องที่คิดไม่ตก ต้องตัดสินใจอะไรบางอย่าง กระตุ้นให้สมองต้องคิดต้องทำงานอยู่ตลอดจนทำให้นอนไม่หลับ โดยอาการเหล่านี้จะหายไปเอง เมื่อคลายความวิตกกังวล หรือจัดการกับปัญหาเรียบร้อยแล้ว

2. นอนไม่หลับแบบต่อเนื่อง คือมีอาการนอนไม่หลับเกิดขึ้นติดต่อกันมากกว่า 1-2 สัปดาห์ โดยไม่มีสัญญาณว่าจะหายหรือดีขี้น ซึ่งผู้ที่ประสบกับปัญหานอนไม่หลับแบบต่อเนื่องส่วนใหญ่คือ ผู้ที่เครียดกับปัญหาใหญ่ที่แก้ยาก หรือกระทบต่อความคิด ความรู้สึกรุนแรง เช่น ปัญหาครอบครัว ปัญหาทางเศรษฐกิจ การเงิน ตกงาน โดยสามารถกลับมานอนได้เป็นปกติ หากปัญหาต่างๆ ได้คลี่คลายไป แต่ต้องใช้เวลาในการแก้ปัญหามากกว่าการนอนไม่หลับแบบชั่วคราว

3. นอนไม่หลับแบบเรื้อรัง คือมีอาการนอนไม่หลับติดต่อกันนานเป็นเดือน หรือเป็นปี ซึ่งสาเหตุมิได้เกิดจากความเครียดเพียงอย่างเดียว แต่มีเรื่องของความกลัวการนอนไม่หลับเข้ามาร่วมด้วย จนถึงขั้นวิตกจริตคิดมากว่าคืนนี้จะนอนหลับหรือไม่ ต้องสรรหาวิธีการต่างๆ ร้อยแปดพันเก้าเพื่อช่วยให้นอนหลับ ซึ่งหากเป็นโรคนอนไม่หลับแบบเรื้อรัง นอกจากจะทรมานทางด้านร่างกายแล้ว ยังต้องทรมานทางด้านจิตใจอีกด้วย ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาแนวทางรักษาโดยด่วน

เมื่อตัวคุณหรือคนใกล้ตัวเกิดอาการนอนไม่หลับ จะนับแกะก็แล้ว สวดมนต์นั่งสมาธิก็แล้ว ก็ยังไม่สามารถหลับได้ ให้ลองวิธีดังต่อไปนี้อาจช่วยให้หลับปุ๋ยได้ง่ายขึ้น

1. ดื่มน้ำผึ้งอุ่นๆ หรือนมอุ่นๆ ผสมน้ำผึ้ง เนื่องจากน้ำผึ่งมีฤทธิ์เป็นยาระงับประสาทอ่อนๆ จะทำให้รู้สึกผ่อนคลายขึ้น

2. อาบน้ำอุ่น โดยค่อยๆ เพิ่มอุณหภูมิให้สูงขึ้น เริ่มต้นจาก 35 ถึง 39 องศาเซลเซียส เนื่องจากน้ำอุ่นสามารถกล่อมประสาทให้ง่วงนอนได้

3. แช่เท้าในน้ำอุ่นแล้วนวดให้ผ่อนคลาย น้ำอุ่นจะช่วยผ่อนคลายเส้นประสาท เส้นโลหิต หลอดน้ำเหลืองได้ ส่วนการนวดเท้าซึ่งเป็นศูนย์รวมจุดประสาททั้งหมดในร่างกายนั้น สามารถผ่อนคลายความตึงเครียดในระบบประสาทและกล้ามเนื้อที่เขม็งเกร็งได้อย่างไม่น่าเชื่อ

4. การสร้างบรรยากาศในการนอนก็เป็นสิ่งสำคัญ ควรปิดเครื่องมือสื่อสารและอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิดก่อนเข้านอน หลายๆครั้งที่คนเราไม่สามารถหลับได้เพราะเสียงโทรศัพท์ เสียงเตือนการสื่อสารออนไลน์ ไม่ว่าจะเฟสบุ๊ค หรือไลน์ ดังเรื่อยๆ ทำให้ต้องโต้ตอบสื่อสารไปมาจนเลยเวลาเข้านอนและเกิดอาการ ตาค้างได้

การนอนหลับพักผ่อนเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับร่างกายและสมองของมนุษย์ โทรศัพท์ยังต้องชาร์ตแบตทุกวัน นับประสาอะไรกับคนที่ต้องการนอนหลับเพื่อชาร์ตแบตให้สมองแจ่มใส ร่างกายสดชื่น

เมื่อรู้อย่างนี้แล้วไม่ควรมองข้ามความสำคัญในเรื่องของการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอนะคะ

บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับ โรคนอนไม่หลับ

Click here to add a comment

Leave a comment: