free web tracker, fire_lady “กรดยูริค” คืออะไร…อันตรายหรือไม่ เช็คด่วน! • สุขภาพดี

"กรดยูริค" คืออะไร...อันตรายหรือไม่ เช็คด่วน!

กรดยูริค คือ

โรคเก๊าต์เป็นอีกโรคหนึ่งที่คุ้นหูกันเป็นอย่างดี หลายๆคนกำลังเผชิญกับความเจ็บปวดทรมานกับการปวดข้อปวดกระดูกเพราะโรคนี้กันอยู่ สาเหตุของโรคนี้มาจากการมี “กรดยูริค” สะสมอยู่มากจนเกินไป ซึ่งกรดยูริคนี้จริงๆ แล้วก็เป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย ร่างกายสามารถสังเคราะห์เองได้ แต่ทำไมสิ่งที่ร่างกายสร้างขึ้นได้เองกลับย้อนมาสร้างความเจ็บปวดให้ร่างกายได้ หาคำตอบได้ที่นี่ค่ะ

กรดยูริค คือ?

กรดยูริค เป็นสารประกอบชนิดหนึ่งที่เกิดจากการย่อยสลายสารพิวรีนมาเป็นกรดยูริค กรดยูริคจัดเป็นของเสียที่ไตกำจัดออกมา โดถูกขับออกมาพร้อมกับปัสสาวะประมาณ 75% กับอุจจาระประมาณ 25% โดยปกติแล้วหากกรดยูริคถูกร่างกายกำจัดออกมาหมดก็ไม่มีผลอะไรต่อร่างกาย แต่หากมีการสร้างกรดยูริคมากเกินไปหรือมีการกำจัดออกน้อยกว่าที่สร้าง จะเกิดการสะสมอยู่ในเลือดสูง เมื่อปริมาณกรดยูริคในเลือดสูงเป็นเวลานานๆ จะทำให้จับตัวและตกผลึกอยู่ตามข้อกระดูก ทำให้เกิดอาการปวดตามข้อ หรือที่เรียกว่า "โรคเก๊าต์"

ค่าปกติของกรดยูริค

ค่าของกรดยูริคในเลือดจะแตกต่างกันไปตามเพศ อายุ รวมทั้งพฤติกรรมการใช้ชีวิต ค่าปกติทั่วไปของกรดยูริค มีดังนี้

  • ผู้ชาย ค่าปกติของกรดยูริค อยู่ระหว่าง 4.0-8.5 mg/dl
  • ผู้หญิง ค่าปกติของกรดยูริค อยู่ระหว่าง 2.7-7.3 mg/dl
  • เด็ก ค่าปกติของกรดยูริค อยู่ระหว่าง 2.5-5.5 mg/dl
  • ค่าวิกฤติของกรดยูริค คือ มากกว่า 12 mg/dl ขึ้นไป

โดยปกติแล้วกรดยูริคสูงมักจะเกิดจากกระบวนการสร้างและกำจัดกรดยูริคที่ผิดปกติของร่างกาย เช่น ไตขับกรดยูริคออกมาน้อย ร่างกายสร้างมากเกินไป เป็นต้น แต่พฤติกรรมการใช้ชีวิตก็ส่งผลเช่นกัน เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ การทานอาหารที่มีสารพิวรีนสูง การทานอาหารที่มีไขมันสูง เป็นต้น

สาเหตุของกรดยูริคสูง

ก่อนที่รู้ถึงอันตรายของกรดยูริคสูง มารู้จักสาเหตุที่ทำให้เกิดกรดยูริคสูงกันก่อนดีกว่า ส่วนจะมีสาเหตุใดบ้าง มารู้ที่มากันเลยค่ะ

1. การรับประทานอาหารที่มีสารพิวรีนสูง อาหารหลายชนิดมีสารพิวรีนอยู่สูง ควรทานแต่น้อย เช่น เครื่องในสัตว์ เนื้อสัตว์บกสีแดงอย่าง เนื้อวัว เนื้อควาย เนื้อหมู เป็นต้น เนื้อสัตว์ที่ได้จากการล่าเช่น กระต่าย แย้  กบ กิ้งก่า อาหารทะเล เห็ดต่างๆ ยอดผักเกือบทุกชนิด หน่อไม้ฝรั่ง กระถิน ชะอม ดอกสะเดา เป็นต้น

2. ภาวะเม็ดเลือดแดงแตก เมื่อเม็ดเลือดแดงแตก กรดนิวคลีอิกจะหลุดออกมาและแปรสภาพเป็นกรดยูริค กรดยูริคในกระแสเลือดจึงเพิ่มมากขึ้น

3. โรคกล้ามเนื้อสลาย มีสารเคมีหลายประเภทเกิดขึ้นจากการสลายกล้ามเนื้อแล้วละลายอยู่ในกระแสเลือด ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือกรดยูริค

4. โรคไต เมื่อไตมีปัญหา จะทำให้การขับของเสียออกจากร่างกายทำได้แย่ลง สารเคมีต่างๆ รวมทั้งกรดยูริคที่ร่างกายต้องกำจัดออกโดยไต จะตกค้างสะสมอยู่ในร่างกายมากขึ้น

5. โรคนิ่วในไต ก้อนนิ่วในไตอาจจะอุดตันท่อปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะไหลไม่สะดวก การกำจัดของเสียออกไปกับปัสสาวะก็ไม่ดีเหมือนเดิม กรดยูริคจะสะสม ในผู้ป่วยบางราย การมีค่ากรดยูริคในเลือดสูงอาจจะบ่งบอกได้ว่า กำลังเป็นโรคนิ่วในไตอยู่ก็ได้

6. โรคพิษสุราเรื้อรัง การดื่มแอลกอฮอล์ก็ทำให้กรดยูริคในเลือดสูงได้เนื่องจาก แอลกอฮอล์จะไปเร่งให้ตับส่งของเสียและกรดยูริคเข้ากระแสเลือด เมื่อไตไม่สามารถกำจัดกรดยูริคออกได้ทัน จึงคั่งค้างสะสมอยู่ในกระแสเลือดนั่นเอง

7. โรคเบาหวาน น้ำตาลจากโรคเบาหวานจะไปปิดช่องกรวยไต ทำให้การขับของเสียออกจากร่างกายของไตทำได้ไม่ดี กรดยูริคถูกกำจัดออกน้อยจึงเหลือสะสมในร่างกาย

8. ยารักษาโรค การใช้ยาบางชนิดนั้นทำให้กรดยูริคในเลือดเพิ่มปริมาณได้ เช่น ยาแอสไพริน ยารักษาโรคพาร์กินสัน ยารักษาโรควัณโรค เป็นต้น

อันตรายของกรดยูริคสูง

1. โรคเก๊าต์

โรคเก๊าต์เกิดจากการที่กรดยูริคสะสมอยู่ในเลือดปริมาณมาก เมื่อสะสมตกต้างนานเกินไป กรดยูริคจะตกผลึกสะสมอยู่ตามข้อกระดูก จนทำให้ปวดบวมที่ข้ออย่างรุนแรง

2. โรคนิ่วในไต

สาเหตุมาจากการตกผลึกเช่นเดียวกันกับโรคเก๊าต์ เพียงแต่ว่าเปลี่ยนจากสะสมตามจ้อไปตกตะกอนในไต จึงทำให้เกิดนิ่วในไตแทน

3. ความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนจากกรดยูริคสูงที่มีผลกับโรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติทางโรคหัวใจและหลอดเลือด

  • ผู้ป่วยโรคหัวใจที่มีปริมาณกรดยูริคในเลือดสูงมีอัตราการเสียชีวิตมากกว่าผู้ป่วยที่มีกรดยูริคในเลือดในเกณฑ์ปกติ
  • ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง หากมีภาวะกรดยูริคในเลือดสูงด้วยจะพบภาวะแทรกซ้อนเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดมากกว่าผู้ป่วยที่มีกรดยูริคในเลือดต่ำ
  • ผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวที่มีกรดยูริคในเลือดสูงมีอัตราการเสียชีวิตมากกว่าผู้ป่วยที่มีกรดยูริคในปริมาณปกติ

กรดยูริคต่ำกว่าเกณฑ์อันตรายไหม?

ภาวะกรดยูริคในเลือดต่ำ อาจจะเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การได้รับแร่สังกะสีน้อยเกินไป การทานยาคุมกำเนิด การเป็นโรคไตเรื้อรัง  จากการศึกษาวิจัยในเรื่องระดับกรดยูริคในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง พบว่ามีระดับต่ำกว่าผู้ที่มีสุขภาพปกติอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นภาวะกรดยูริคต่ำอาจจะเป็นข้อบ่งชี้สำหรับผู้ป่วยโรคนี้ได้ หากต้องการเพิ่มกรดยูริค การทานอาหารที่อุดมไปด้วย Zinc (สังกะสี) อาจจะช่วยเพิ่มระดับกรดยูริคได้

วิธีตรวจหากรดยูริค ทำอย่างไร?

การตรวจหากรดยูริค ทำได้โดยการเจาะเลือดตรวจและต้องงดน้ำและอาหารก่อนเจาะเลือด 12 ชั่วโมง เพราะหากทานอาหารใกล้ๆ กับเวลาที่ต้องเจาะเลือด ค่ากรดยูริคที่ออกมามีแนวโน้มสูงมาก คลาดเคลื่อนกับความเป็นจริง การตรวจกรดยูริคมีประโยชน์หลายเรื่อง เช่น ตรวจวินิจฉัยหรือติดตามความคืบหน้าของโรคเก๊าต์ ตรวจสอบสุขภาพไต

สำหรับผลการตรวจ "กรดยูริค" หากค่าที่ได้นั้นสูง ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการทานอาหาร ต้องระมัดระวังโดยหลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารพิวรีนสูง เพื่อไม่ให้ไปเพิ่มกรดยูริคในร่างกายอีก และที่สำคัญต้องไปพบแพทย์เพื่อติดตามระดับกรดยูริคว่าส่งผลต่อร่างกายมากน้อยเพียงใด พร้อมกับค้นหาแนวทางที่เหมาะสมในการรักษาต่อไป