free web tracker, fire_lady 9 ข้อห้ามสำหรับคนเป็นอีสุกอีใส…อยากกลับมาสวยใส ต้องระวัง!! • สุขภาพดี

9 ข้อห้ามสำหรับคนเป็นอีสุกอีใส…อยากกลับมาสวยใส ต้องระวัง!!

ข้อห้ามสำหรับคนเป็นอีสุกอีใส

"อีสุกอีใส" เป็นโรคที่พบการแพร่ระบาดได้บ่อย หลายคนเคยเป็นกันมาแล้วตั้งแต่เด็ก ซึ่งบางทียังทิ้งรอยแผลเป็น..ให้ช้ำใจเล่นๆ บางคนที่ยังไม่เคยเป็นตอนเด็ก ก็มาเป็นตอนช่วงเป็นผู้ใหญ่ก็มี ซึ่งโรคอีสุกอีใสไม่ได้เป็นโรคที่อันตรายมากนัก แต่ในขณะที่เป็นบอกได้เลยว่าสร้างความเจ็บปวดได้มากพอสมควร เนื่องจากตุ่มใสทั่วร่างกายจะทำให้รู้สึกคัน และเจ็บแสบมากหากตุ่มน้ำเหล่านั้นแตก แล้วอย่างนี้...เราจะมีวิธีรับมือกับโรคอีสุกอีใสอย่างไร มารู้ 9 ข้อห้าม ข้อควรปฎิบัติสำหรับคนเป็นอีสุกอีใสกันดีกว่่า

โรคอีสุกอีใส เกิดจาก?

"อีสุกอีใส" เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสวาริเซลลา-ซอสเตอร์ มักเป็นมากในเด็กเล็กๆ พบการระบาดได้ตลอดทั้งปี โดยพบการแพร่ระบาดมากที่สุดในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน

การติดต่อ เกิดจากการสัมผัสเชื้อโรคโดยตรงจากตุ่มน้ำ หรือจากการสัมผัสข้าวของเครื่องใช้อย่าง แก้วน้ำ จาน ช้อน ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ผ้าเช็ดตัว ของผู้เป็นโรคอีสุกอีใส หรืออาจได้รับเชื้อโรคที่ลอยในอากาศจากละอองน้ำลายหรือเสมหะที่ผู้ป่วยไอหรือจามก็เป็นได้

อาการของโรคอีสุกอีใส จะเริ่มต้นที่มีไข้ต่ำๆ จากนั้นจะมีตุ่มเล็กๆ ขึ้น ซึ่งตุ่มจะขยายใหญ่ขึ้นและมีน้ำใสๆ อยู่ด้านใน ผู้ป่วยจะรู้สึกอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยตามตัว มีแผลในช่องปาก โดยปกติอาการต่างๆ มักจะค่อยๆ ดีขึ้นในเวลาไม่นาน แต่หากเกิดขึ้นในเด็กที่อายุต่ำกว่า 1 ปี อาการของโรคอาจรุนแรงกว่าปกติได้

ข้อห้ามสำหรับคนเป็นอีสุกอีใส

1. ห้ามทายยาแอสไพริน คนเป็นโรคอีสุกอีใสห้ามทานยาแอสไพรินโดยเด็ดขาด เพราะเสี่ยงต่อการเกิดอาการไรย์ ซึ่งก็คือความผิดปกติของสมองและตับ ทำให้สมองอักเสบและตัวเหลือง หากปล่อยไว้อาจจะเกิดอันตรายร้ายแรงได้ ถ้าไข้สูงให้ทานยาพาราเซตามอลร่วมกับการเช็ดตัวเพื่อลดไข้

2. ห้ามปล่อยเล็บยาว เพราะเล็บเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคชั้นดี หากไปแกะ เกาตุ่มอีสุกอีใส จะเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ ดังนั้นหมั่นล้างมือให้สะอาดและตัดเล็บให้สั้นอยู่เสมอ

3. ห้ามแกะเกาตุ่มอีสุกอีใส เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อซ้ำซ้อนและอาจทำให้เป็นแผลเป็นได้ เนื่องจากมือและเล็บเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคชั้นดี หากมีอาการคันมาก ให้แจ้งหมอ อาจมีการพิจารณาให้ทานยาคลอเฟนิรามีน ช่วยบรรเทาอาการคันลงได้

4. หลีกเลี่ยงการออกจากบ้าน ในขณะที่กำลังป่วยโรคอีสุกอีใส ควรงดเว้นการออกจากบ้านจนกว่าจะหายดี เพราะโรคนี้ติดต่อกันได้ง่ายมาก อีกทั้งร่างกายยังอ่อนแอ มีบาดแผลอยู่เต็มไปหมด เสี่ยงต่อการรับเชื้อโรค อื่นๆ เพิ่มเข้าไปในร่างกาย

5. ไม่ใช้ยาสเตียรอยด์ รวมไปถึงยาหม้อ ยาลูกกลอนและยาอื่นๆ นอกเหนือจากยาตามแพทย์สั่ง เพราะอาจจะทำให้โรคลุกลามได้ง่าย

6. งดอาหารหมักดอง อาหารหมักดองมักมีกระบวนการผลิตที่ไม่สะอาดหรือเป็นอาหารสุกดิบๆ อาจจะมีเชื้อโรคปนเปื้อน เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคเพิ่ม

การป้องกันโรคอีสุกอีใส

1. หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่เสี่ยง เมื่อโรคนี้เกิดการแพร่ระบาด งดเดินทางเข้าไปในพื้นที่เสี่ยง นอกจากนี้ควรระมัดระวังหากต้องเดินทางไปในพื้นที่ที่แออัดหรือมีผู้อาศัยอยู่อย่างหนาแน่น เพราะโรคนี้ติดต่อกันได้ง่ายมาก

2. ล้างมือบ่อยๆ รักษาความสะอาดของร่างกายอยู่เสมอ โดยเฉพาะมือ เพราะในแต่ละวัน มือสัมผัสสิ่งต่างๆมากมาย ง่ายต่อการสะสมเชื้อโรค ต้องล้างมือให้สะอาดก่อนทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำและก่อนสัมผัสใบหน้า

3. ฉีดวัคซีน ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสแล้ว ในเด็กที่ยังไม่เคยเป็นโรคนี้มาก่อน สามารถฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่อายุ 12-18 เดือน ฉีดสองเข็มโดยเข็มที่สองต้องฉีดห่างจากครั้งแรกอย่างน้อย 3 เดือน หากฉีดตั้งแต่เด็กจะมีภูมิคุ้มกันร่างกายตลอดชีวิต หากฉีดในช่วงอายุ 13 ปีขึ้นไป จะมีภูมิคุ้มกันประมาณ 20 ปี การฉีดวัคซีนหากฉีดครบโดสจะสามารถป้องกันโรคได้มากกว่า 95% หรือถึงแม้จะติดเชื้อ โรคจะลดความรุนแรงลงละยังช่วยลดการเกิดรอยแผลเป็นด้วย

จะเห็นได้ว่า "โรคอีสุกอีใส" ไม่ใช่โรคที่รุนแรงมากนัก หากดูแลรักษาร่างกายตัวเองให้แข็งแรง รักษาความสะอาด ไม่ไปแกะเกาตุ่มใส ทานอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำและพักผ่อนให้เพียงพอ ร่างกายจะเริ่มดีขึ้นในเวลาไม่นาน แต่อาการอาจจะรุนแรงได้หากเป็นในเด็กเล็กๆ หรือผู้ป่วยไม่ใส่ใจในเรื่องความสะอาด ดังนั้นหากเป็นโรคอีสุกอีใส แค่ดูแลตัวเองดีๆ ก็ไม่มีอะไรที่ต้องน่ากังวลแล้วค่ะ และทำตาม 9 ข้อห้ามสำหรับคนเป็นอีสุกอีใสด้วยนะค่ะ