free web tracker, fire_lady 6 สมุนไพรช่วยลดไตรกลีเซอไรด์…ไขมันอันตราย ภัยร้ายที่ต้องกำจัด!! • สุขภาพดี

6 สมุนไพรช่วยลดไตรกลีเซอไรด์...ไขมันอันตราย ภัยร้ายที่ต้องกำจัด!!

สมุนไพรช่วยลดไตรกลีเซอไรด์

ไม่ว่าใครก็อยากสุขภาพดีกันทั้งนั้น แต่ถ้าคุณเป็นคนที่มีน้ำหนักตัวมาก ชอบทานอาหารหวานๆ มันๆ ระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดคงพุ่งปรี๊ด จนวันที่จะฉกฉวยสุขภาพดีไปจากคุณ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ดีแน่นอน คงต้องหาวิธีลดไตรกลีเซอไรด์กันหน่อยแล้ว วันนี้จะมาแนะนำสมุนไพรดีๆที่มีคุณสมบัติยอดเยี่ยมในการกำจัดและลดไตรกลีเซอไรด์ออกจากร่างกาย ใครที่สนใจแนวทางการบำบัดจากธรรมชาติ การทานสมุนไพรจัดเป็นแนวทางที่น่าใจไม่น้อย

ไตรกลีเซอไรด์

"ไตรกลีเซอไรด์" เป็นไขมันตัวร้ายในร่างกาย เมื่อสะสมมากๆ สิ่งที่จะสามารถเห็นได้ชัดๆ คือ อ้วน นั่นเอง เพราะไขมันจะสะสมอยู่ตามบริเวณต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพุง ใครที่อ้วนพุงย้อยหรือผอมแต่มีพุง นั่นหมายความว่าคุณกำลังมีระดับไตรกลีเซอไรด์อยู่มาก ไขมันชนิดนี้ถือเป็นภัยร้ายอย่างที่คอยทำลายสุขภาพ ซึ่งผลงานของมันก็มีตั้งแต่อ้วน เหนื่อยง่าย เลือดลมไหลไม่สะดวกเพราะเส้นเลือดตีบ บางคนตีบมากจนเส้นเลือดแตก ซึ่งอันตรายจนถึงแก่ชีวิต นอกจากไตรกลีเซอไรด์แล้ว ร่างกายยังมีไขมันอีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า "คอเลสเตอรอล" ซึ่งถ้าหากมีมากไปก็ส่งผลเสียต่อร่างกายเช่นเดียวกันกับไตรกลีเซอไรด์

ค่าปกติของระดับไขมันในกระแสเลือด

1. ไตรกลีเซอไรด์ เป็นไขมันที่ให้พลังงานแก่ร่างกาย ถ้าร่างกายขาดแคลนพลังงาน ไตรกลเซอไรด์จะถูกนำมาเผาผลาญเพื่อให้ร่ากายนำไปใช้ ในคนปกติควรมีระดับไตรกลีเซอไรด์ไม่เกิน 200 มก./ดล.

2. คอเลสเตอรอล เป็นไขมันที่ไม่ได้พลังงานแก่ร่างกาย แต่ร่างกายจะนำไปใช้ในการสร้างเซลล์ต่างๆ โดยในคนปกติต้องมีคอเลสเตอรอลรวมไม่เกิน 200 มก./ดล.  ซึ่งคอเลสเตอรอลก็สามารถแยกย่อยได้อีก 2 ชนิด ดังนี้

  • LDL Cholesteral หรือไขมันเลว ต้องมีไม่เกิน 130 มก./ดล. เป็นไขมันที่ไม่สร้างประโยชน์ใดๆให้กับร่างกาย หากมีมากไปจะเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดมากยิ่งขึ้น
  • HDL Cholesteral หรือไขมันดี ต้องมีมากกว่า 35 มก./ดล. ไขมันดีทำหน้าที่ช่วยจับไขมันไม่ดีไปกำจัดทิ้งที่ตับ

ไม่ว่าจะไตรกลีเซอไรด์หรือคอเลสเตอรอล หากปริมาณรวมมีมากกว่า 200 มก./ดล. จะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง รวมทั้งโรคความดันโลหิตสูง เนื่องจากไขมันจะไปเกาะอยู่ตามผนังหลอดเลือด เลือดจะไหลเวียนไม่สะดวกเพราะหลอดเลือดตีบตัน

6 สมุนไพรช่วยลดไตรกลีเซอไรด์

1. ขิง ในขิงมีสารในกลุ่มฟีนอลสูง ซึ่งอาจจะมีประโยชน์ในด้านการรักษาโรคหัวใจ รวมทั้งมีน้ำมันหอมระเหยและเรซินที่ละลายน้ำได้น้อย มีการศึกษาทดลองเกี่ยวกับสรรพคุณของขิงที่ช่วยลดไขมัน โดยทดลองกับอาสาสมัคร 2 กลุ่ม ในกลุ่มแรกให้ทานสารสกัดจากขิงในรูปแคปซูล ครั้ง 1 แคปซูล รับประทาน 3 ครั้ง/วัน แต่อีกกลุ่มหนึ่งให้รับประทานยาหลอก ระยะเวลาการทดลองทั้ง 45 วัน พบว่า กลุ่มผู้ทดลองที่ทานสารสกัดขิงมีระดับไตรกลีเซอไรด์และคอเลสเตอรอลลดลงเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก มีงานวิจัยอีกหนึ่งชิ้นที่วิจัยโดยให้ผู้ทดลองทานขิงผงวันละ 1 กรัม เป็นเวลา 45 วัน พบว่าไตรกลีเซอไรด์และคอเลสเตอรอลลดลงเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตามยังมีงานวิจัยที่ได้ผลขัดแย้งกับงานวิจัย 2 ชิ้นแรก โดยปกติแล้วหากนำขิงมาปรุงอาหารรับประทาน จะสามารถทานได้อย่างปลอดภัย แต่ถ้าหากจะรับประทานขิงเพื่อรักษาโรค ทานมากๆ ติดต่อกันนานๆ ควรคำนึงถึงเรื่องดังต่อไปนี้

  • ต้องปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือต้องรับประทานยาใดๆอยู่ก่อนแล้ว เพราะขิงอาจจะไปลดประสิทธิภาพของยาลงหรือไปกระตุ้นบางโรคให้ร้ายแรงยิ่งขึ้น
  • ขิงมีฤทธิ์ร้อน ดังนั้นเมื่อทานอาจจะมีอาการแสบร้อนกลางอก ร้อนใน ปากเป็นแผล บางคนอาจจะปวดท้อง แสบร้อนท้อง มีแก๊สในกระเพาะอาหารมาก ท้องอืดท้องเฟ้อหรือท้องเสียได้
  • ไม่ควรรับประทานขิงมากกว่าวันละ 5 กรัม เพราะจะไปกระตุ้นให้ร่างกายแพ้ขิงมากขึ้น
  • สำหรับสตรีมีครรภ์ การทานน้ำขิงแบบเจือจางจะช่วยกระตุ้นการสร้างน้ำนม แต่ถ้าทานแบบเข้มข้นสูง หรือทานในปริมาณมากอาจจะมีผลต่อความปลอดภัยของลูกน้อยในครรภ์ได้

2. พริกไทยดำ มีสารพิเพอรีนที่ช่วยขัดขวางการดูดซึมของไตรกลีเซอไรด์และคอเลสเตอรอล ช่วยละลายลิ่มเลือด ป้องกันเลือดจับตัวเป็นก่อน ทำให้ระบบไหลเวียนเลือดทำงานได้ดีขึ้น

พริกไทยดำ-สมุนไพรลดไตรกลีเซอไรด์

3. ผักบุ้ง จากการทดลองกับหนูแรทพบว่าผักบุ้งช่วยให้ระดับไตรกลีเซอไรด์และคอเลสเตอรอลลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

4. มะขามป้อม มะขามป้อมเป็นผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง วิตามินซีสูง มีสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์และโพลีฟีนอลซึ่งช่วยลดการสร้างและสังเคราะห์ไขมันในร่างกาย จากการทดลองกับกระต่ายที่มีคอเลสเตอรอลสูงด้วยน้ำมะขามป้อม พบว่าปริมาณคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากช่วยเพื่มการดูดซึมในลำไส้และถูกขับออกไปพร้อมกับอุจจาระ

5กระเทียม กระเทียมเป็นผักสวนครัวที่จัดเป็นเครื่องเทศประจำตัวอาหารไทย เพราะต้องใช้ในการปรุงอาหารหลากชนิด ทำให้มีรสชาติดี มีกลิ่นหอมน่ารับประทานยิ่งขึ้น กระเทียมโดยปกติแล้วมีสรรพคุณทางยามากเพราะมีวิตามิน เกลือแร่ สารต้านอนุมูลอิสระและอีกมากมาย ยังมีสารอัลซิลิน ซึ่งเชื่อกันว่าช่วยลดไขมันในเลือดได้ จึงจัดเป็นสมุนไพรช่วยลดไตรกลีเซอไรด์ได้ โดยมีงานวิจัยหลายชิ้นที่ทดลองในอาสาสมัครที่มีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงเกินกว่า 200 มก./ดล. โดยให้ทานกระเทียมเป็นระยะเวลา 2 เดือน พบว่าระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในเลือดลดลง สำหรับการทานกระเทียมเพื่อเป็นยา เด็ก คนท้องและผู้ป่วยที่ต้องทานยารักษาโรคอยู่แล้วควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทาน ส่วนใครที่ต้องผ่าตัดควรงดรับประทานกระเทียมก่อนผ่าตัดอย่างน้อย 1 อาทิตย์เพราะกระเทียมช่วยลดการแข็งตัวของเลือด อาจะทำให้เลือดออกมากในขณะผ่าหรือหลังผ่าตัดได้ และสำหรับผู้ที่สุขภาพแข็งแรงปกติ การทานกระเทียมในปริมาณมากอาจทำให้มีกลิ่นปากและกลิ่นตัวแรง

6. ชา มีสารแทนนินช่วยต่อต้านการย่อยสลายไขมัน ทำให้ไขมันที่รับประทานเข้าไปไม่สามารถถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายและถูกขับออกไปพร้อมกับอุจจาระ ช่วยลดคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ รวมทั้งยังช่วยเพิ่มไขมันดีให้กับร่างกายด้วย จึงเป็นเครื่องดื่มสมุนไพรที่ช่วยลดไตรกลีเซอไรด์ได้ดี

ข้อควรระวังในการรับประทานสมุนไพรช่วยลดไตรกลีเซอไรด์

สมุนไพรหลายชนิดมีงานวิจัยสนับสนุนเกี่ยวกับผลลัพธ์ที่ช่วยในลดไตรกลีเซอไรด์ ซึ่งจัดเป็นแนวทางการรักษาจากธรรมชาติอีกแนวทางหนึ่งที่น่าสนใจ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะยังมีข้อมูลไม่เพียงพอมาสนับสนุนในด้านความปลอดภัย ดังนั้นก่อนจะเลือกทานสมุนไพรชนิดใดควรปรึกษาแพทย์ก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็ก สตรีมีครรภ์ สตรีที่กำลังให้นมบุตร คนชราและผู้ป่วย เพราะสมุนไพรบางชนิดอาจจะส่งผลข้างเคียงที่รุนแรงได้

แนวทางการลดไตรกลีเซอไรด์

การลดไตรกลีเซอไรด์และไขมันชนิดอื่นๆ ในร่างกาย นอกจากการทานยาสมุนไพรแล้ว การปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตก้สามารถช่วยลดได้เช่นเดียวกัน ดังนี้

1. ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที โดยออก 3-4 วันต่อสัปดาห์

2. เลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ทานให้ครบ 5 หมู่ เน้นอาหารในกลุ่มโปรตีน ผัก ผลไม้ ส่วนไขมันให้เลือกไขมันชนิดดี เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันปลา เป็นต้น

3. ทานอาหารที่มีเส้นใยสูง จะช่วยให้ระบบขับถ่ายดี ไขมันเลวจะถูกขับออกมากขึ้นทางอุจจาระ

4. เลิกสูบบุหรี่และดื่มเหล้าจะช่วยเพิ่มไขมันดีในร่างกาย เมื่อมีไขมันดีมากขึ้น จะช่วยเพิ่มอัตราการกำจัดไขมันเลวออกจากร่างกาย

5. ลดการทานไขมันทรานส์ เป็นไขมันที่ไร้ประโยชน์อย่างสิ้นเชิงกับร่างกาย เพราะย่อยยากและสะสมอยู่ในร่างกาย ไขมันประเภทนี้มักพบในอาหารฟาสฟู๊ด เบเกอรี่ นม เนย ชีท ขนมกรุบกรอบ ขนมแปรรูปต่างๆ หากทานไขมันทรานส์มากๆ จะทำให้ระดับไตรกลีเซอไรด์เพิ่มขึ้น ปริมาณคอเลสเตอรอลรวมมากขึ้นแต่ไขมันดีลดลง ซึ่งส่งเสียในระยะยาวต่อร่างกายเป็นอย่างมาก

การทานสมุนไพรช่วยลดไตรกลีเซอไรด์เป็นทางเลือกหนึ่งจากธรรมชาติ ซึ่งค่อนข้างปลอดภัยหากเป็นผู้ที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงปกติ ส่วนใครที่เป็นบุคคลที่กำลังมีปัญหาด้านสุขภาพ กำลังตั้งครรภ์ กำลังให้นมบุตร ต้องปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทาน และที่สำคัญการลดไตรกลีเซอไรด์ในร่างกายจะเป็นไปได้ด้วยดีถ้าหากปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิตไปในทางที่ใส่ใจสุขภาพมากขึ้น