free web tracker, fire_lady "ธรรมชาติบำบัด" ท้องอืด อาหารไม่ย่อย ด้วยสมุนไพรเหล่านี้! • สุขภาพดี

ธรรมชาติบำบัด ท้องอืด อาหารไม่ย่อย

น้อยคนนักที่จะไม่เคยมีอาการท้องอืดท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อยเกิดขึ้นเลย โดยเฉพาะคนเมืองที่มีพฤติกรรมการทานอย่างเร่งรีบ ชอบทานอาหารสุกๆ ดิบๆ ซึ่งบางครั้งอาจเป็นหนักถึงขั้นคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย หลายคนเลือกวิธีการรักษาที่สะดวกคือ หาซื้อยามาทานเอง แต่รู้หรือไม่ว่าวิธีธรรมชาติก็สามารถบำบัดอาการเหล่านี้ได้

สาเหตุของโรคท้องอืด

ทุกครั้งที่เกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียดแน่นท้องจะทำให้รู้สึกอึดอัดไม่สบายตัว สาเหตุส่วนใหญ่เป็นเพราะกระบวนการย่อยอาหารไม่สมบูรณ์หรืออาหารไม่ย่อย อาจเกิดจากพฤติกรรมการทานอาหารที่เร่งรีบเกินไปทำให้เคี้ยวไม่ละเอียด ทานอาหารที่ย่อยยาก อาหารรสจัด อาหารสุกๆดิบๆ หรือการล้มตัวลงนอนหลังจากทานอาหารเสร็จใหม่ๆ จนเกิดลมในกระเพราะอาหารและดันขึ้นมาแน่นที่ยอดอกเป็นผลทำให้อึดอัดในท้องได้ ส่วนสาเหตุรองลงมาคือ โรคของระบบทางเดินอาหาร หรือจากการใช้ยาบางชนิด ดื่มแอลกอฮอล์ คาเฟอีน หรือสูบบุหรี่

ชนิดของอาหารที่มีผลต่อท้องอืดโดยตรง

  • อาหารที่มีไขมันสูง เช่น แกงกะทิต่างๆ ช็อกโกแลต เนย นม (โดยเฉพาะคนเอเชียเป็นกันมาก)
  • อาหารรสจัด ไม่ว่าจะเปรี้ยวจัด เค็มจัด เผ็ดจัด หรือของหมักดองทุกชนิด
  • อาหารที่ย่อยได้ยาก จำพวกเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว หรือกากใยอาหารบางชนิด เช่น เห็ดต่างๆ

ปรับพฤติกรรม แก้อาการอาหารไม่ย่อย

บางคนที่มีอาการท้องอืด และอาหารไม่ย่อยเป็นประจำ ลองปรับนิสัยการทานและเปลี่ยนอาหารบางอย่างดูสักนิด อาจช่วยให้อาการอึดอัดแน่นท้องที่เป็นอยู่บ่อยๆ หายเป็นปลิดทิ้งได้

  • อย่าดื่มน้ำมากกว่า 1 แก้ว ก่อนและระหว่างทานอาหารยังไม่เสร็จ โดยควรดื่มน้ำก่อนอาหาร 15 นาทีและหลังอาหารแล้ว 40 นาที
  • ลดการบริโภคเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มน้ำตาลสูงหรืออัดแก๊ส
  • ไม่ทานอาหารให้อิ่มจนเกินไป ควรเว้นช่วงมื้ออาหารให้ห่างกันนานกว่า 4 ชั่วโมง และควรทานอาหารมื้อสุดท้ายก่อนเวลานอนอย่างน้อย 3 ชั่วโมง
  • เลิกทานอาหารที่ทำให้เกิดอาการแพ้หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรทานในปริมาณน้อยๆ
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ที่สำคัญควรแกว่งแขนหลังทานอาหารเสร็จในแต่ละมื้อ เพราะจะช่วยให้กระเพาะอาหารและสำไส้มีการเคลื่อนไหว

4 สมุนไพรไทยช่วยให้สบายท้อง

อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ เรอเปรี้ยว สามารถรักษาและบรรเทาได้ด้วยสมุนไพรไทยหลายชนิดที่ทั้งหาง่าย และราคาถูก โดยจะเลือกทานเป็นส่วนประกอบในการปรุงอาหาร เครื่องดื่ม หรือบางประเภทสามารถทานแบบสดๆ ได้

ขิง (Ginger)

แก้อาการท้องอืด แน่นเฟ้อ จุกเสียดแน่น ส่วนที่นำมาใช้คือ เหง้าแก่สด ซึ่งมีรสเผ็ดร้อนช่วยในการแก้จุดเสียด ขับลม แก้คลื่นไส้อาเจียน ช่วยบำรุงธาตุ ให้นำสมุนไพรขิงว่านที่เป็นเหง้าขิงสด(แก่)ขนาดประมาณหัวแม่มือมาทุบให้พอแตก นำไปต้มในน้ำเดือดแล้วเอาแต่น้ำมาดื่มหรือจะทำเป็นขิงผงเก็บไว้ชงกับน้ำร้อนก็ได้ โดยหั่นเหง้าขิงสดเป็นชิ้นเล็กๆ ตากแดดให้แห้งแล้วบดให้เป็นผงละเอียด เวลาจะใช้ชงดื่มกับน้ำร้อนให้ใช้อัตราส่วนของขิงผง 1 ช้อนชาต่อน้ำร้อน 1 แก้ว

ใบกะเพรา(Hot Basil Leaves)

ช่วยขับลม ปรับสมดุลกรดในกระเพาะอาหาร ช่วยเร่งการย่อยอาหาร ได้ผลดีเยี่ยมกับคนที่เป็นโรคในลำไส้เล็ก เช่น จุกเสียดในลำไส้เล็ก (โรคนี้เวลาเป็นเหมือนถูกแทงในลำไส้) วิธีทำให้นำกะเพรา 1 กำ (ทั้งลำต้นและใบ) มาแช่ล้างให้สะอาด จากนั้นนำไปต้มใช้ไฟปานกลางค่อนข้างอ่อน ต้มประมาณ 10-20 นาที พอน้ำเดือดให้ปิดแก๊สทันที ดื่มหลังอาหาร 1 แก้ว ถ้าน้ำกะเพราเย็นลง หรือดื่มไม่หมด ไม่ต้องอุ่นหรือต้มซ้ำ ให้แช่เย็นไว้ดื่มจนหมด

ขมิ้นชัน (Tumeric)

แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกแน่น ใช้ส่วนที่เป็นเหง้าซึ่งมีสรรพคุณบรรเทาอาการท้องอืดท้องเฟ้อ และรักษาแผลในกระเพาะอาหาร วิธีทำให้ล้างเหง้าขมิ้นชันให้สะอาด หั่นเป็นชิ้นบางๆ ตากแดดให้แห้ง แล้วบดให้ละเอียดโดยผสมกับน้ำผึ้งเล็กน้อย แล้วปั่นเป็นเม็ดเล็กๆ ประมาณปลายนิ้วก้อยเก็บไว้กินครั้งละ 2-3 เม็ด วันละ 2-3 ครั้ง หลังอาหารเช้า กลางวัน เย็นและก่อนนอน ข้อควรระวังคือ บางคนที่มีอาการท้องเสียหลังจากกินขมิ้นชันเข้าไปให้หยุดยาทันที

ใบแมงลัก (Hairy Basil)

แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ คุณสมบัติของใบแมงลักจะมีรสเผ็ดร้อน วิธีทำให้ใช้ใบสดหรือใบแห้งก็ได้จำนวน 10 ใบมาล้างให้สะอาด บดให้พอแหลกใส่น้ำต้มสุกนิดหน่อยแล้วคั้นเอาเฉพาะน้ำมาผสมน้ำผึ้งนิดหน่อยใช้จิบเรื่อยๆ ช่วยขับลมในท้องได้ดี

การใช้สมุนไพรแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียดแน่น เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ สิ่งที่ควรทำไปพร้อมๆกับการใช้สมุนไพรคือ การป้องกันที่สาเหตุของอาการท้องอืดโดยการทานอาหารให้ถูกต้องตามหลักโภชนาการ อย่ารีบทานอาหาร เคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนกลืน หลีกเลี่ยงการทานอาหารที่ย่อยยาก รสจัด สุกๆ ดิบๆ เพียงเท่านี้อาการท้องอืด และอาหารไม่ย่อยก็ไม่มากวนใจแล้วค่ะ

บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวกับ สมุนไพรน่ารู้

Click here to add a comment

Leave a comment: