"ติดเชื้อในกระแสโลหิต" น่ากลัวกว่าที่คิด

ในช่วงที่ผ่านมามีข่าวใหญ่ทั้งทางทีวี หนังสือพิมพ์ สื่อออนไลน์ ไม่เว้นแม้แต่โต๊ะข่าวดารา ได้มุ่งประเด็นไปที่การเสียชีวิตของหมอดูคนดังสาเหตุเพราะติดเชื้อในกระแสโลหิต ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในสังคมไทย ว่าการติดเชื้อในกระแสเลือด มันรุนแรงน่ากลัวจนทำให้คนสามารถเสียชีวิตได้ในเวลารวดเร็วจริงหรือ? เราไปทำความเข้าใจและรู้จักกับภาวะติดเชื้อในกระแสโลหิตกันเลยดีกว่าค่ะ
ติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นอย่างไร?
การติดเชื้อในกระแสเลือด เกิดจากการที่ร่างกายคนเราได้รับเชื้อเข้าสู่ภายในอวัยวะใดอวัยวะหนึ่ง เช่น เชื้อโรคเข้าสู่ปอด หลังจากนั้นเชื้อโรคอาจเข้าสู่กระแสเลือด ถ้ารักษาไม่ทัน หรือร่างกายอ่อนแอ อาจมีภาวะช็อกและทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งในกรณีของผู้ป่วยคนดังมีปัญหาด้านสุขภาพมาก่อน ทำให้ร่างกายไม่แข็งแรง อีกทั้งต้องเข้าเรือนจำมีสภาพแวดล้อมที่อับชื้น จึงเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคอย่างดี ด้วยสภาพร่างกายและจิตใจที่อ่อนแอ ทำให้ภูมิคุ้มกันเชื้อโรคจึงต่ำ ก่อให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดได้ง่ายกว่าคนทั่วไป เมื่อร่างกายไม่สามารถกำจัดเชื้อโรคได้ เชื้อโรคจึงเข้าไปทำให้ระบบการทำงานต่าง ๆ ภายในร่างกายล้มเหลว และนำไปสู่การเสียชีวิตในที่สุด
เชื้อโรคที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสโลหิต
เชื้อโรคที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด มีโอกาสเป็นได้ทั้งเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อรา
เราสามารถรับเชื้อโรคได้จากทางไหน
1. จากภายในร่างกายของเราเอง โดยปกติเราจะมีเชื้อโรคที่อาศัยอยู่ภายในร่างกายของเรา ได้แก่ ทางเดินปัสสาวะ ทางเดินอาหาร ซึ่งถ้าร่างกายแข็งแรงก็จะสามารถกำจัดให้หายไปเองได้
2. จากภายนอก เช่น เข้ามาทางบาดแผลต่าง ๆ การหายใจ ดังเราจะเคยได้ยินว่า "ไม้จิ้มฟันทิ่มเหงือก ก็เสือกตาย" นั่นเป็นผลมาจากร่างกายของผู้ป่วยอ่อนแอ เมื่อเชื้อโรคที่ติดมากับไม้จิ้มฟันได้เข้าสู่ร่างกายลุกลามจนเข้ากระแสเลือด ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้แม้จะเป็นเพียงบาดแผลเล็กน้อยก็ตาม
ปัจจัยที่ทำให้เกิดการติดเชื้อทางกระแสเลือด
• ความเจ็บป่วย เมื่อร่างกายอ่อนแอ ทำให้ภูมิต้านทานต่ำ เชื้อโรคจะสามารถผ่านเข้าไปในกระแสเลือดได้
• คนมีโรคประจำตัว เช่น ตับแข็ง เพราะตับเป็นตัวกรองเชื้อโรค เมื่อตับไม่สามารถทำงานได้จึงเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดได้ง่าย
• สาเหตุอื่น ๆ ได้แก่ การสอดใส่อุปกรณ์ทางการแพทย์แก่ผู้ป่วย เพราะโรงพยาบาลเป็นแหล่งเชื้อโรค เมื่อมีการสอดใส่อุปกรณ์การแพทย์เข้าไป จึงทำให้เชื้อโรคอาจติดกับอุปกรณ์เข้าไปด้วย จนอาจเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดได้
ระดับความรุนแรงของโรค
ระดับที่ 1 ไม่รุนแรง มีแต่ไข้ สำหรับคนที่ร่างกายแข็งแรง จะสามารถกำจัดเชื้อโรคได้เอง
ระดับที่ 2 เริ่มมีความรุนแรง อวัยวะต่าง ๆ เริ่มทำงานปกติ
ระดับที่ 3 ภาวะช็อก ความดันต่ำ จนนำไปสู่การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ล้มเหลว และเสียชีวิตในที่สุด
อาการของการติดเชื้อในกระแสเลือด
1. อาการเฉพาะที่ หรือเฉพาะอวัยวะที่ติดเชื้อ เช่น เกิดการไอ เจ็บหน้าอกเวลาหายใจ อาจเกิดจากการติดเชื้อที่ปอด
2. อาการทางผิวหนัง เช่น เกิดจากการที่เชื้อหรือพิษของเชื้อโรคกระจายไปตามกระแสเลือด และเข้ามาสู่บริเวณผิวหนังทำให้เกิดรอยขึ้น เช่น ตุ่มหนอง แผลพุพอง
3.การที่ร่างกายตอบสนองต่อการติดเชื้อ เช่น ไข้สูงเกิน 38 องศา ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการหนาวสั่นร่วมด้วย ชีพจรเต้นเร็วเกิน 90 ครั้งต่อนาที หายใจเร็วเกิน 24 ครั้งต่อนาที
การรักษาติดเชื้อในกระแสโลหิต
โดยปกติแพทย์จะนำเลือดไปเพาะเชื้อหาสาเหตุ แต่เนื่องจากกว่าจะเพาะเชื้อได้ต้องใช้เวลา 3-5 วัน ดังนั้นแพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะที่ครอบคลุมรักษาอาการติดเชื้อไปก่อน ในกรณีที่ได้รับเชื้อรุนแรง ถ้าได้รับยาปฏิชีวนะภายใน 1-2 ชั่วโมง ก็อาจจะมีชีวิตรอด แต่ถ้าให้ไม่ทันก็อาจจะเสียชีวิตได้

ทำไมผู้ป่วยบางรายถึงใช้ยาปฏิชีวนะรักษาไม่ได้ผล
เพราะเกิดจากได้รับเชื้อดื้อยาเข้าสู่ร่างกาย จึงไม่สามารถรักษาได้ ซึ่งอาการเชื้อดื้อยาเกิดได้ดังนี้
• การรับประทานผักผลไม้ หรืออาหารที่ไม่สุก จนได้รับเชื้อดื้อยาที่ปนเปื้อนอยูในอาหารเหล่านั้นเข้าไป
• การรับเชื้อดื้อยาจากอุปกรณ์การแพทย์ การสวนทวาร การสอดท่อทางจมูก เพราะปกติโรงพยาบาลเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค ดังนั้นเชื้อดื้อยาเหล่านี้จะอาศัยอยู่ในโรงพยาบาลมากที่สุด
• การรับประทานยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น เช่น การรับประทานยาปฏิชีวนะเมื่อเป็นหวัด ทั้งๆ ที่โรคหวัดสามารถรักษาให้หายเองได้ ทำให้เชื้อโรคภายในเกิดการดื้อยา หรือการเก็บยาปฏิชีวนะไว้รักษาตัวเองในครั้งต่อไป ไม่กินยาตามแพทย์สั่ง
• การใช้เข็มร่วมกันในรายที่ติดยาเสพติด
วิธีห่างไกลจากการติดเชื้อในกระแสเลือด
1. รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายอยู่เสมอ
2. อย่าซื้อยาปฏิชีวนะทานด้วยตัวเอง ควรทานตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดเท่านั้น
3. รับประทานอาหารที่ปรุงสุก สะอาดอยู่เสมอ
4. การฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่าง ๆ
5. ถ้าไม่จำเป็นอย่าไปโรงพยาบาล โดยเฉพาะเด็กเล็กและคนชราซึ่งร่างกายอ่อนแอ เพราะในโรงพยาบาลเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของเชื้อดื้อยา
6. ถ้าหากมีโรคประจำตัวต้องปฏิบัติตามที่หมอสั่ง และทานยาตามหมอสั่งอย่างเคร่งครัด
การติดเชื้อในกระแสเลือด น่ากลัวกว่าที่เราคิดมากนะคะ หากว่าร่างกายเราอ่อนแอ และเชื้อที่ได้รับเป็นเชื้อดื้อยาแล้ว สามารถทำให้เราเสียชีวิตได้ในเวลารวดเร็ว ดังนั้นสิ่งที่จะช่วยคุณได้ดีที่สุดคือการมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ทานอาหารให้ครบห้าหมู่ ออกกำลังกาย ไม่ทานยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ เมื่อเกิดบาดแผลควรรีบทำความสะอาด อย่าชะล่าใจโดยเด็ดขาด สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ต้องทานยาตามหมอสั่ง และ ต้องขยันไปพบหมอทุกครั้งที่มีนัด เพื่อหลีกให้ห่างจาก การติดเชื้อในกระแสเลือด เพราะมันน่ากลัวกว่าที่คุณคิด
บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวกับ โรคภัยใกล้ตัวที่อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่รู้ตัว