free web tracker, fire_lady “น้ำมันกานพลู” รู้จักไว้ น้ำมันสารพัดประโยชน์ • สุขภาพดี

น้ำมันกานพลู” รู้จักไว้ น้ำมันสารพัดประโยชน์

น้ำมันกานพลู สรรพคุณ ประโยชน์

น้ำมันกานพลู  (Clove oil) คือ น้ำมันหอมระเหยชนิดหนึ่งที่สกัดได้จากการกลั่นโดยใช้ไอน้ำจากพืชชนิดหนึ่งที่เราเรียกกันว่า “ต้นกานพลู”

ประเภทของน้ำมันกานพลู

น้ำมันกานพลูจะมีอยู่ด้วยกัน 3 ประเภท คือ

1. น้ำมันจากดอก ได้มาจากดอกตูมของต้นกานพลู ซึ่งประกอบไปด้วย 60% eugenol , acetyl eugenol , caryophyllene และส่วนประกอบย่อยอื่นๆ

2. น้ำมันจากใบ ได้มาจากใบของต้นกานพลู ประกอบด้วยยูจินอล 82 - 88% ซึ่งอาจจะมีอะซิเตตน้อยหรือไม่มีเลย และยังมีส่วนประกอบย่อยอื่นๆ อีกด้วย

3. น้ำมันจากต้น มาจากกิ่งและเปลือกต้นของต้นกานพลู ประกอบด้วยยูจินอล 90 - 95% และส่วนประกอบย่อยอื่นๆ

ลักษณะของน้ำมันกานพลู

น้ำมันกานพลูมีลักษณะเป็นของเหลว (น้ำมัน) มีกลิ่นเฉพาะตัว ซึ่งจะฉุนเล็กน้อย มีสีใสถึงเหลืองอ่อน หรือสีเหลืองปนน้ำตาลอ่อน มักนำไปใช้เป็นส่วนผสมของยานวด น้ำหอม และผลิตภัณฑ์อื่นๆ รวมถึงใช้ในการปรุงรสของยาเพื่อลดความขมลง

ลักษณะของต้นกานพลู

ชื่อสมุนไพร :  กานพลู
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Syzygium aromaticum (L.) Merr. & Perry
ชื่อวงศ์:   MYRTACEAE
ชื่อพ้อง:  Eugenia caryophyllata Thunb. Eugenia caryophyllus (Spreng.) Bullock & Harrison, Eugenia aromatica Kuntze
ชื่ออังกฤษ : Clove, Clove tree
ชื่อท้องถิ่น : จันจี่ (ภาคเหนือ)

ลักษณะทั่วไป

กานพลูเป็นไม้ยืนต้น ไม่ผลัดใบ สูงประมาณ 5 - 20 เมตร ยอดทึบเป็นรูปกรวยคว่ำ แตกกิ่งต่ำ ลำต้นตรง เปลือกเรียบมีสีน้ำตาลอ่อน มีต่อมน้ำมันมาก ใบกานพลูเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้าม มีก้านใบเล็กเรียว ยาว 1 - 3 เซนติเมตร รูปใบขอบขนานแกมรูปไข่กลับ กว้าง 3 - 6 เซนติเมตร ยาว 6 - 13 เซนติเมตร ปลายใบแหลมหรือเรียวแหลม ขอบเรียบ โคนสอบเป็นรูปลิ่ม แผ่นใบด้านบนเป็นมัน ตอนล่างของใบมีต่อมจำนวนมาก ใบมีเส้นใบจำนวนมาก

ลักษณะต้นดอกกานพลู

สำหรับดอกกานพลูจะออกเป็นช่อดอกสั้นๆ แทงออกบริเวณปลายยอดหรือง่ามใบบริเวณยอด ดอกแตกแขนงออกเป็นกระจุก 3 ช่อ มีจำนวน 6 - 20 ดอก ดอกมีใบประดับรูปสามเหลี่ยม ยาว 2 - 3 มิลลิเมตร มีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ สีเขียวอมเหลืองและมีสีแดงประปราย โคนติดกันเป็นหลอดยาว 5 - 7 มิลลิเมตร มีต่อมน้ำมันมาก กลีบดอกมักร่วงง่าย ผลกานพลูเป็นผลเดี่ยว มี 1 เมล็ด มีรูปไข่กลับแกมรูปรี ยาว 2 - 2.5 เซนติเมตร เมื่อแก่จะมีสีแดงเข้มออกคล้ำ

สารสำคัญที่พบในกานพลู

ดอก – Eugenol 72-90 %– Eugenyl acetate 2-27 %– β-caryophyllene 5-12 %– trans-βcaryophyllene 6.3-12.7 %– Vanillin

ใบ  – Eugenol 94.4 %  – β-caryophyllene 2.9 % สารอื่นๆ ได้แก่ methyl salicylate, methyl eugenol, benzaldehyde, methyl amyl ketone และ rhamnetin

ประโยชน์ และสรรพคุณของน้ำมันกานพลู 

น้ำมันกานพลูเป็นยาชาเฉพาะที่ แก้ปวดฟัน ระงับการกระตุก ตะคริว ขับผายลม แก้ปวดท้อง แก้ท้องอืด ผสมยากลั้วคอ ขับลม แก้ท้องขึ้น ท้องร่วง แก้ไอ  ฆ่าเชื้อโรค แก้ชาปลายมือปลายเท้า บรรเทาอาการจากแมลงสัตว์กัดต่อย แก้โรคลมระงับปวด ใช้ผสมกับเมนทอล เมทิลซาลิไซเลต เป็นยานวดแก้ปวดบวมช้ำได้

ส่วนประโยชน์อื่นๆ ของน้ำมันกานพลู คือ น้ำมันหอมระเหยจากดอกใช้เป็นส่วนผสมของยาฆ่าแมลงหรือไล่ยุง น้ำมันหอมระเหยของกานพลูใช้สำหรับทำให้ปลาสลบใช้โดยการหยด ใช้เป็นส่วนผสมยาต้านเชื้อแบคทีเรียหลายชนิด น้ำมันจากก้านดอกและดอกกานพลูใช้ในการเตรียมสาร eugenol, isoeugenol และvanillin และน้ำมันที่เหลือใช้สำหรับการทำสบู่ ใช้เป็นส่วนผสมของยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก แต่งกลิ่นรสอาหาร และใช้เป็นวัตถุกันเสียได้

อันตรายจากน้ำมันกานพลู

การทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดดอกด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตรวจไม่พบอาการเป็นพิษ  แต่เมื่อฉีดเข้าใต้ผิวหนังของหนู พบว่าขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่งคือ 6.184 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม

การศึกษาการเกิดพิษเฉียบพลันของสารสกัด eugenol  จากดอกกานพลู ทำการทดลองโดยการพ่นสารทดสอบให้หนูทดลองสูดดมเป็นเวลา 4 ชั่วโมง แล้วติดตามอาการของหนูเป็นเวลา 14 วัน  ผลการทดสอบไม่พบการตายของหนู ส่วนอาการและพฤติกรรม พบว่าหนูทดลองมีน้ำลายไหลระดับปานกลาง มีอาการกระวนกระวาย และหายใจลำบาก แต่อาการเหล่านี้หายเองได้ภายในเวลา 1 วัน  แต่เมื่อให้สารนี้ทางหลอดเลือดดำในขนาดเข้มข้น 6.25 โมล/ลิตร พบว่าหนูทดลองมีอาการหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน น้ำท่วมปอด และเลือดออกที่ปอด การฉีด eugenol เข้าระบบไหลเวียนโลหิตโดยตรง จะทำให้ความดันโลหิตและการเต้นของหัวใจลดลงชั่วขณะ โดยไม่ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจเปลี่ยนแปลง eugenol สามารถทำลายโปรตีนในเซลล์ของเนื้อเยื่ออ่อนในปาก การจับตัวของเซลล์ลดลง บวม และเกิดเป็นไต ชั้นใต้ผิวหนังชั้นนอกบวมและกล้ามเนื้ออ่อนแอ

ขนาด-ปริมาณที่ควรใช้

เนื่องจากน้ำมันกานพลู (Cove oil) ส่วนมากแล้วนิยมใช้เป็นส่วนผสมกับผลิตภัณฑ์อื่นๆ ดังนั้นขนาดและปริมาณที่ควรใช้ของน้ำมันกานพลู เป็นดังนี้

1. ใช้ผสมยาสีฟันควรใช้ประมาณ 0.1 - 0.5%
2. ใช้ผสมยาดม ยาหม่อง ควรใช้ประมาณ 3 - 5%
3. ใช้ทำยาสลบปลาควรใช้ 10 - 30% (ผสมกับเอทิลแอลกอฮอล์)
4. ใช้รักษาอาการปวดฟัน ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขนั้น ให้กลั่นเอาเฉพาะส่วนน้ำมันใช้ใส่ฟัน หรือใช้ทั้งดอกเคี้ยวแล้วอมไว้ตรงบริเวณฟันที่ปวด เพื่อระงับอาการปวดฟัน หรือตำกานพลูพอแหลก ผสมกับเหล้าขาวเพียงเล็กน้อยพอแฉะ ใช้สำลีจิ้มอุดฟันที่ปวดและใช้แก้โรครำมะนาดได้ หรืออาจเอาดอกกานพลูแช่เหล้าหยอดฟันก็ได้
5. ใช้สำหรับขับลมและบรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ 0.05 - 0.2 ซีซี 

อนึ่งการใช้กานพลูในปริมาณมากอาจทำให้เลือดแข็งตัวช้าลง จึงต้องระวังการใช้ร่วมกับยาที่มีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น warfarin, aspirin, heparin เป็นต้น และระวังการใช้ร่วมกับยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs; เช่น ibuprofen) รวมถึงระวังการใช้ร่วมกับสมุนไพรหรือยาที่ทำให้เกล็ดเลือดต่ำ และยาลดน้ำตาลในเลือด เช่น  insulin,  metformin

ข้อแนะนำ-ข้อควรระวังในการใช้น้ำมันกานพลู 

1. สาร eugenol จากน้ำมันกานพลูที่มีความเข้มข้นสูง อาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังได้หากใช้ในปริมาณที่สูงและใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน

2. การใช้น้ำมันกานพลูเพื่อรักษาอาการปวดฟัน หรือใช้เพื่อระงับกลิ่นปากโดยตรง หากใช้ในปริมาณมากหรือใช้ติดต่อกันบ่อยครั้ง อาจทำให้ระคายเคืองต่อเหงือกและเยื่อบุในช่องปากได้

3. สาร eugenol สามารถออกฤทธิ์ต้านการทำงานของเกล็ดเลือดได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกับยาในกลุ่ม anticoagulant และยากลุ่ม NSADs

4. ไม่ควรใช้ดอกกานพลูในหญิงมีครรภ์ หญิงให้นมบุตร เด็ก ผู้ป่วยโรคตับ ไต และผู้ป่วยเบาหวาน

"น้ำมันกานพลู" เป็นน้ำมันสมุนไพรสารพัดประโยชน์ แต่แน่นอนว่าอะไรที่มันมากไป หรือน้อยไปก็มักไม่ดีเสมอ ดังนั้นถ้าเราจะใช้น้ำมันกานพลูก็ควรใช้ในปริมาณที่เหมาะสม และระมัดระวังในการใช้ด้วย