อายุรวัฒน์เวชศาสตร์ โรคภัยใกล้ตัว August 15, 2018 Share 0 Tweet Pin 0 “วัณโรค” สาเหตุ-อาการ-วิธีรักษา...รู้ป้องกันโรคติดต่อ อันตรายถึงชีวิต!!“โรควัณโรค” (Tuberculosis) คือโรคติดต่อที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียรุนแรง สามารถติดต่อกันผ่านทางอากาศได้ด้วยการหายใจ การจาม การไอ หรือการอยู่ร่วมกับผู้ป่วยวัณโรค และมักเกิดขึ้นในผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี (HIV) เนื่องจากภูมิคุ้มกันบกพร่องทำให้ติดเชื้อและแสดงอาการได้ง่าย แต่วัณโรคสามารถรักษาให้หายได้หากผู้ป่วยรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง สาเหตุของการเกิดวัณโรคสาเหตุหลักของวัณโรคคือการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า “เชื้อไมโครแบคทีเรียทูเบอร์คูโลซิส” ซึ่งสามารถแพร่กระจายในอากาศจากคนสู่คนได้ผ่านทางการไอ จาม การพูด และการหายใจ นอกจากนี้จะยิ่งเสี่ยงมากขึ้นหากอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค ปัจจัยที่อาจทำให้มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อวัณโรค คือ1. เคยพักอาศัยในพื้นที่ที่มีผู้ป่วยวัณโรค2. มีการติดต่อหรือสัมผัสอย่างใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค3. อาศัยอยู่ในพื้นที่แออัด4. มีระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอเนื่องจากโรคต่าง ๆ เช่น ติดเชื้อเอชไอวี โรคมะเร็ง เป็นต้น5. อยู่ในระหว่างการรักษาที่ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง เช่น การรักษาด้วยเคมีบำบัด 6. ผู้ที่มีอายุน้อยมาก ๆ หรือแก่ชรามาก ๆ เนื่องจากมีสุขภาพอ่อนแอกว่าคนวัยอื่น ๆ7. มีสุขภาพที่ไม่ดี หรือมีโภชนาการที่ไม่ดีผู้ที่มีสุขภาพและภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะทำลายเชื้อนี้ไปเองตามธรรมชาติ หรือถ้าหากได้รับเชื้อก็จะไม่แสดงอาการใดๆ ออกมาอาการของวัณโรคเมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อไมโครแบคทีเรียทูเบอร์คูโลซิสแล้ว อาจไม่ปรากฏอาการโดยทันที เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันจะทำหน้าที่ป้องกันเชื้อในร่างกาย ทำให้เชื้อชนิดนี้ค่อยๆ พัฒนาไปอย่างช้าๆ วัณโรคสามารถแบ่งออกเป็น 2 ระยะใหญ่ๆ ได้แก่1. ระยะแฝง (Latent TB) ในระยะแฝงนี้ผู้ป่วยจะไม่มีอาการใดๆ แสดงให้เห็น แต่เชื้อแบคทีเรียก็ยังคงอยู่ในร่างกายสามารถก่อให้เกิดอาการจนเข้าสู่ระยะแสดงอาการได้ หากตรวจพบเชื้อในช่วงระยะแฝง แพทย์อาจให้เข้ารับการรักษาและควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อ รวมถึงลดความเสี่ยงที่อาการจะเข้าสู่ระยะแสดงอาการ ในระยะนี้จะไม่มีอาการป่วยและไม่สามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ ผู้ป่วยที่มีการพัฒนาของเชื้อจะป่วยหลังจากได้รับเชื้อภายใน 2 ปี หรือนานกว่านั้น และหากไม่ได้รับการรักษาอาจเสียชีวิตภายใน 2 ปี2. ระยะแสดงอาการ (Active TB) คือ ระยะที่เชื้อแบคทีเรียได้รับการกระตุ้นจนแสดงอาการออกมา ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้หลังจากการติดเชื้อไปจนถึงหลายปีหลังจากได้รับเชื้อ โดยส่วนใหญ่จะแสดงอาการในปอด หรืออาจพบบ้างในส่วนอื่นๆ ของร่างกาย โดยอาการของวัณโรคที่เกิดในปอดมีดังนี้1. ไอติดต่อกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ขึ้นไป2. ไอเป็นเลือด3. เจ็บหน้าอกขณะหายใจหรือไอ4. อ่อนเพลีย5. มีไข้ หนาวสั่น6. มีเหงื่อออกชุ่มในเวลากลางคืน (Night Sweats)7. น้ำหนักลดโดยไม่มีสาเหตุ8. ไม่อยากรับประทานอาหารนอกจากนี้เชื้อวัณโรคที่แสดงอาการกับส่วนอื่นๆ ของร่างกาย เช่น ต่อมน้ำเหลือง กระดูกและข้อ หรือแม้แต่กับระบบประสาทและสมอง จะมีอาการดังนี้1. ต่อมน้ำเหลืองบวมขึ้นเรื่อย ๆ2. ปวดบริเวณท้อง3. ปวดตามกระดูกและข้อ หรือไม่สามารถเคลื่อนไหวได้4. สับสน มึนงง5. ปวดศีรษะเรื้อรัง6. มีอาการชักหากเชื้อแบคทีเรียแพร่กระจายไปยังบริเวณกระดูกสันหลังก็อาจทำให้เกิดอาการปวดหลัง หรือหากแพร่ไปยังไตก็อาจทำให้ปัสสาวะเป็นเลือด การติดเชื้อวัณโรคที่ส่วนอื่นๆ ของร่างกายนั้นเกิดขึ้นได้น้อย มักจะเกิดขึ้นกับผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ โดยเฉพาะผู้ป่วยเอชไอวี หรือผู้ที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีเคมีบำบัดภาวะแทรกซ้อนของวัณโรคโดยภาวะแทรกซ้อนที่เกิดมีตั้งแต่อาการไม่รุนแรงไปจนถึงขั้นทำให้เสียชีวิต ซึ่งภาวะแทรกซ้อนที่มักเกิดขึ้นมีดังนี้1. ปวดบริเวณหลัง ซึ่งเป็นอาการที่พบได้บ่อย2. ข้อต่อเสียหาย ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นที่บริเวณสะโพกและเข่า3. เยื่อหุ้มสมองอักเสบ จนทำให้ปวดหัวเรื้อรัง ซึ่งอาจส่งผลระยะยาวต่อสุขภาพจิตได้4. ปัญหาเกี่ยวกับตับและไต เชื้ออาจส่งผลให้ทั้ง 2 อวัยวะนี้เกิดปัญหาในระยะยาวจนไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ5. โรคหัวใจ เกิดขึ้นได้น้อย โดยเชื้อจะเข้าไปจู่โจมบริเวณเนื้อเยื่อใกล้ๆ กับหัวใจจนทำให้เกิดการอักเสบและคั่งของของเหลว ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้เชื้อวัณโรคอาจส่งผลให้ไอเป็นเลือด เกิดฝีในปอด และภาวะน้ำในช่องหุ้มปอดซึ่งเป็นอันตรายอย่างมากต่อผู้ป่วย นอกจากนี้ยังสามารถพบอาการดื้อยาจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้แพทย์ต้องนำตัวอย่างเสมหะไปเพาะเลี้ยงเชื้อ เพื่อทดสอบความไวต่อยาก่อนเริ่มทำการรักษา ซึ่งผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการดื้อยา คือ1. ผู้ป่วยที่เคยได้รับการรักษามาก่อน แล้วเกิดอาการดื้อยา2. ผู้ป่วยที่กำลังรักษา แต่ยังพบเชื้อแม้จะสิ้นสุดการรักษา3. ผู้ป่วยที่มีประวัติเคยสัมผัสกับผู้ป่วยที่มีกรณีดื้อยา ในการรักษากรณีดื้อยา แพทย์จะต้องได้รับผลที่แน่ชัดก่อนว่าดื้อยาจริงๆ แพทย์จึงรักษาโดยปรับเปลี่ยนยาตามความเหมาะสมการวินิจฉัยวัณโรคการวินิจฉัยวัณโรคสามารถทำได้ 2 ทาง ดังนี้1. การวินิจฉัยด้วยตนเอง การวินิจฉัยวัณโรคด้วยตนเองสามารถทำได้ก็ต่อเมื่ออยู่ในระยะแสดงอาการแล้วเท่านั้น ซึ่งถ้าหากมีอาการควรรีบไปพบแพทย์ทันที2. การวินิจฉัยโดยแพทย์ เมื่อไปพบแพทย์ ในขั้นตอนแรกแพทย์จะตรวจดูลักษณะของต่อมน้ำเหลืองว่ามีอาการบวมหรือไม่ ร่วมกับการใช้อุปกรณ์สเต็ตโทสโคป (Stethoscope) เพื่อฟังเสียงการทำงานของปอดในขณะที่หายใจ จากนั้นแพทย์จะตรวจเบื้องต้นด้วยวิธีการตรวจคัดกรองวัณโรค (Purified Protein Derivative: PPD) วิธีนี้มักจะใช้กับเด็กที่ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันวัณโรคมาก่อน ผู้ที่เคยได้รับวัคซีนมาก่อนการตรวจด้วยวิธี PPD จะไม่ได้ผลเท่าที่ควร วิธีการตรวจคือ แพทย์จะฉีดยาซึ่งเป็นโปรตีนสารสกัดจากเชื้อวัณโรคเข้าไปบริเวณท้องแขน และปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 48 - 72 ชั่วโมง หลังจากนั้นหากมีความเปลี่ยนแปลงที่บริเวณรอยฉีดยา แพทย์จะสรุปว่ามีเชื้อวัณโรคหรืออาจต้องทำการตรวจเพิ่มเติม เพื่อยืนยันให้แน่ชัดอีกครั้งนอกจากนี้หากผู้ป่วยมีอาการผิดปกติที่สงสัยว่าจะติดเชื้อวัณโรค แต่ผลออกมาว่าไม่ติดเชื้อ แพทย์อาจตรวจด้วยวิธีอื่นๆ ดังนี้1. การตรวจเลือด จะช่วยให้ทราบว่าผู้ป่วยมีเชื้อวัณโรคหรือไม่ และบอกระยะของวัณโรคได้2. การตรวจหาเชื้อวัณโรคในระยะแฝง (Interferon Gamma Release Assay: IGRA) จะช่วยให้แพทย์สามารถระบุได้ว่าผู้ป่วยมีเชื้อวัณโรคภายในร่างกายหรือไม่3. การเอกซเรย์ปอด จะช่วยให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของปอด และบอกได้ว่าเป็นวัณโรคปอดหรือไม่4. การตรวจเสมหะ โดยวิธีการตรวจนี้แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ วิธีตรวจเชื้อด้วยการส่องกล้องจุลทรรศน์เป็นวิธีที่สามารถระบุเชื้อวัณโรคได้ อีกวิธีหนึ่งคือ วิธีเพาะเชื้อจะช่วยให้สามารถสั่งจ่ายยาที่ให้ผลดีที่สุดได้ โดยการตรวจนี้จะใช้เวลาประมาณ 4 - 8 สัปดาห์5. การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์และการอัลตราซาวด์ จะช่วยให้สามารถเห็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อวัณโรคตามอวัยวะต่าง ๆ ได้6. การตรวจด้วยการส่องกล้อง (Endoscopy) มักจะใช้กับผู้ป่วยวัณโรคที่มีอาการแสดงที่อวัยวะอื่นๆ ซึ่งจะช่วยให้เห็นร่องรอยของการติดเชื้อได้7. การตรวจตัวอย่างชิ้นเนื้อ (Biopsy) แพทย์จะเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อบริเวณที่มีอาการไปตรวจด้วยวิธีการส่องกล้อง จะช่วยให้แพทย์วางแผนการรักษาได้ชัดเจนขึ้น8. การตรวจน้ำไขสันหลัง (Lumbar Puncture) ผู้ป่วยวัณโรคที่สมองและระบบประสาท การเจาะน้ำไขสันหลังจะช่วยให้แพทย์ยืนยันผลได้ชัดเจนขึ้นการรักษาวัณโรคการรักษาวัณโรคจะมุ่งเน้นไปที่การใช้ยา เพราะจะช่วยควบคุมและรักษาโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ทั้งนี้ผู้ป่วยต้องมีการดูแลสุขภาพควบคู่กันไปด้วย ดังนี้1. ควรแบ่งอาหารรับประทานเป็นมื้อเล็กๆ วันละหลายๆ ครั้ง แทน2. ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีแคลอรี่สูง ๆ เพื่อเพิ่มเติมสารอาหารให้กับร่างกาย3. ปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีออกกำลังกายที่เหมาะสม 4. พบแพทย์ตามนัดและรับประทานยาตามแพทย์สั่ง 5. แจ้งแพทย์ทุกครั้งที่มีอาการของผลข้างเคียงจากการใช้ยา 6. หากจะย้ายที่อยู่ขณะที่ทำการรักษา ควรแจ้งแพทย์เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ต่อเนื่องการรักษาวัณโรคด้วยการใช้ยา แพทย์อาจใช้ผลจากการตรวจเพาะเชื้อเสมหะของผู้ป่วย เพื่อพิจารณาว่ายาชนิดใดเหมาะกับผู้ป่วยมากที่สุด และต้องรับประทานอย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป โดยยาที่นิยมใช้ในการรักษาวัณโรค ได้แก่ไอโซไนอาซิด (Isoniazid)ไรแฟมพิซิน (Rifampicin)อีแทมบูทอล (Ethambutol)ไพราซินาไมด์ (Pyrazinamide)แต่หากผู้ป่วยมีอาการดื้อยาอาจต้องมีการปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มตัวยาบางชนิด ซึ่งยาที่มักใช้ในกรณีดื้อยา ได้แก่ สเตรปโตมัยซิน (Streptomycin) และยาลีโวฟลอกซาซิน (Levofloxacin) เป็นต้น การใช้ยารักษาวัณโรคเป็นยาที่มีผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เนื่องจากยาที่ใช้จะมีสารที่เป็นพิษต่อตับ ซึ่งอาจพบอาการข้างเคียงทั่วไป ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน คัน นอนไม่หลับ ซึ่งจะเป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่หากพบอาการเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์ทันที1. ความอยากอาหารลดลง2. ผิวซีดเหลือง3. ปัสสาวะมีสีเข้ม4. มีไข้ติดต่อกัน 3 วันขึ้นไป โดยไม่มีสาเหตุ5. หายใจลำบาก6. หน้าท้องแข็งหรือบวมผิดปกติ7. บวมที่หน้า ริมฝีปาก ลิ้น หรือคอ8. มีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น โดยเมื่อพบอาการข้างต้น แพทย์อาจหยุดยาและให้ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจอื่น ๆ เพื่อกำหนดแนวทางในการรักษาที่เหมาะสมต่อไป อาการต่างๆ ของวัณโรคจะค่อยๆ ดีขึ้นในเวลา 1 - 2 สัปดาห์หลังจากเริ่มรักษา อาการจะดีขึ้นชัดเจนภายใน 3 เดือน และจะมีอาการดีขึ้นมากหลังจาก 4 เดือน ทั้งนี้ระยะเวลาในการรักษาผู้ป่วยแต่ละรายจะแตกต่างกันไป แต่ผู้ป่วยต้องรับประทานยาติดต่อกันอย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป โดยมีการตรวจเสมหะและเอกซเรย์ปอดเป็นระยะการป้องกันการเกิดวัณโรควัณโรคเป็นโรคอันตรายที่สามารถป้องกันได้ ด้วยการดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ไม่ควรอยู่ใกล้ผู้ป่วยวัณโรค หรือหากจำเป็นต้องอยู่ใกล้ผู้ป่วยก็ควรสวมหน้ากากอนามัย นอกจากนี้ยังสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีด “วัคซีนบีซีจี” (BCG)วัคซีนป้องกันวัณโรค (Bacillus Calmette-Guérin: BCG) การทำงานของวัคซีนคือ เชื้อที่ฤทธิ์อ่อนลงจะเข้าไปกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้สามารถรับมือกับเชื้อวัณโรคได้ ในประเทศไทยวัคซีนบีซีจีเป็นวัคซีนพื้นฐานที่ต้องฉีดให้เด็กแรกเกิดทุกคน เมื่อฉีดแล้วภูมิคุ้มกันจะเกิดหลังจากนั้น 4 - 6 สัปดาห์ และอยู่ได้นาน 10 ปี สามารถป้องกันวัณโรคและลดความเสี่ยงโรควัณโรคที่เยื่อหุ้มสมองในเด็ก แต่ไม่สามารถป้องกันวัณโรคปอดในผู้ใหญ่ได้ ผู้ที่เคยฉีดวัคซีนบีซีจีมาแล้วก็ยังมีโอกาสต่อการเป็นวัณโรคปอดได้ส่วนในผู้ใหญ่วัคซีนบีซีจีจะใช้ในกลุ่มคนที่ทำงานกับเชื้อโรค ผู้ที่ต้องดูแลผู้สูงอายุ และผู้ที่ทำงานในพื้นที่แออัด วัคซีนนี้ไม่สามารถฉีดได้กับทุกคน กลุ่มคนที่ไม่สามารถรับวัคซีนได้ คือ1. ผู้ที่เคยรับวัคซีนบีซีจีมาก่อน2. ผู้ที่เคยมีประวัติการติดเชื้อวัณโรค3. ผู้ที่มีผลการตรวจทางผิวหนังที่ค่อนข้างรุนแรง4. ผู้ที่มีอาการแพ้ส่วนประกอบวัคซีนบีซีจีอย่างรุนแรง5. เด็กแรกเกิดที่อาศัยอยู่กับผู้ติดเชื้อวัณโรค6. ผู้ที่มีระดับภูมิคุ้มกันต่ำ โดยวัคซีนนี้จะฉีดที่บริเวณต้นแขนซ้าย หลังจากได้รับวัคซีนแล้วอาจมีอุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น และรู้สึกไม่สบายตัว ประมาณสัปดาห์ที่ 2 จะมีตุ่มนูนเกิดขึ้นและแตกออกเป็นแผลเล็กๆ ที่มีหนอง อาการจะเป็นๆ หายๆ อยู่ประมาณ 6 สัปดาห์ จึงหายเป็นปกติ โดยในช่วงนี้การป้องกันเชื้อยังไม่เริ่มทำงานจนกว่าอาการต่างๆ จะเข้าสู่ภาวะปกติ ส่วนในสตรีที่อยู่ระหว่างตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรก็สามารถฉีดวัคซีนได้ แต่ภูมิคุ้มกันจะทำงานได้ช้ากว่าคนปกติได้รู้ถึง สาเหตุ อาการ วิธีป้องกันและรักษาวัณโรค กันไปแล้ว หากพบคนรอบตัวที่เป็นวัณโรค หรือคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค ก็สามารถนำความรู้ การฉีดวัคซีนป้องกันไปแนะนำเพื่อความปลอดภัยต่อตนเอง และคนรอบข้างในสังคมนะค่ะ