free web tracker, fire_lady "เส้นเลือดขอด" รู้สาเหตุ-อาการ รักษาได้ไม่ยากอย่างที่คิด! • สุขภาพดี

"เส้นเลือดขอด" รู้สาเหตุ-อาการ รักษาได้ไม่ยากอย่างที่คิด!

เส้นเลือดขอด สาเหตุ อาการ

"เส้นเลือดขอด" อาการที่มีเส้นเลือดปูดโปนใต้ผิวหนัง ซึ่งโดยปกติแล้วไม่อันตรายต่อร่างกาย แต่ก็สร้างความกังวลใจให้ผู้ที่เป็นไม่น้อย โดยเฉพาะกับผู้หญิงที่ต้องใส่ประโปรง กางเกงขาสั้นในบางโอกาส ปัญหาเส้นเลือดขอดจึงควรถูกแก้ไขโดยด่วน เพราะหากปล่อยเอาไว้นานๆ ผลข้างเคียงด้านอื่นๆ อาจจะตามมาได้ หลายคนอยากรักษาเส้นเลือดขอด แต่กลัวเจ็บตัวในขณะรักษา ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะในปัจจุบันมีเทคโนโลยีมากมายที่ช่วยรักษาเส้นเลือดได้โดยไม่ต้องเจ็บตัวเลย ใครที่กำลังศึกษาข้อมูลการรักษาเส้นเลือดขอด คุณมาถูกทางแล้วค่ะ เพราะเราได้รวบรวมข้อมูลดีๆ วิธีรักษาเส้นเลือดขอดไว้เพียบ ส่วนจะมีวิธีใดบ้างมาดูกัน

เส้นเลือดขอด เกิดจาก?

เส้นเลือดขอด (Varicose Veins) เกิดจากเลือดดำไปค้างอยู่ในหลอดเลือด เมื่อเลือดมาสะสมอยู่ปริมาณมาก หลอดเลือดขยายตัวจนโป่งพอง เป็นความผิดปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้กับหลอดเลือดดำทั่วทั้งร่างกาย แต่ที่พบมากคือบริเวณขาและเท้า เพราะเส้นเลือดบริเวณนี้อยู่ใกล้กับผิวหนังมาก จนสามารถสังเกตเห็นเส้นเลือดสีฟ้าหรือม่วงเข้มโป่งนูนออกมาได้ชัด

ภาวะเส้นเลือดขอดพบได้มากถึง 23% ของผู้ใหญ่ พบได้ทุกเพศแต่จะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ยิ่งอายุมากขึ้นยิ่งพบมากขึ้น ในคนที่อายุ 60-69 ปี มีอัตราการเป็นโรคนี้สูงถึง 72% โดยปกติไม่ส่งผลอันตรายใดๆต่อร่างกาย แต่หากเป็นในจุดที่มองเห็นได้ชัด จะส่งผลในเรื่องความสวยงามหรือความมั่นใจเสียมากกว่า นอกจากจะปล่อยไว้นานเป็นสิบๆ ปีโดยไม่ยอมรักษา ก็อาจมีภาวะแทรกซ้อนได้

ผู้ที่มีความเสี่ยงในการเป็นเส้นเลือดขอดคือ ผู้ที่ต้องยืนทำงานนานๆ สตรีตั้งครรภ์ ผู้ที่มีน้ำหนักมาก ผู้ที่ต้องยกของหนักบ่อยๆ และคนสูงอายุ

เส้นเลือดขอดที่ขา สาเหตุ-อาการ เป็นอย่างไร?

เส้นเลือดที่ขอดที่ขา กลไกการเกิดก็เหมือนกันกับเส้นเลือดขอดบริเวณอื่นๆ แต่แตกต่างกันตรงที่เป็นเส้นเลือดฝอยหรือเส้นเลือดขนาดเล็กมากกว่า เนื่องจากเส้นเลือดที่ขาและเท้าอยู่ตื้นมากในชั้นใต้ผิวหนัง เมื่อเกิดการอุดตันของเลือด จึงสังเกตเห็นว่าเส้นเลือดปูดนูนขึ้นมาได้โดยง่าย (ในบทความนี้จะกล่าวถึงเส้นเลือดขอดที่ขาและเท้าเป็นหลัก)

อาการของเส้นเลือดขอด

อาการเริ่มแรกจะสังเกตเห็นเส้นเลือดดำสีฟ้าหรือสีม่วงเข้ม คดเคี้ยวหรือนูนออกมาเล็กน้อยใต้ผิวหนัง โดยมากจะพบที่น่อง อาจจะพบทั้งสองข้างหรือข้างเดียวก็ได้ เมื่อเป็นนานมากขึ้นอาการอื่นๆ จะเริ่มตามมา ดังนี้

  • ปวดหน่วงหรือเมื่อยขา
  • เป็นตะคริวที่ขาได้ง่ายกว่าปกติ กล้ามเนื้อสั่นเป็นจังหวะ
  • เมื่อยืนเป็นเวลานานหรือนกของหนักบ่อยๆจะรู้สึกเจ็บหรือปวดมากขึ้น
  • คันบริเวณเส้นเลือดขอด
  • แสบร้อนที่ขาท่อนล่าง อาจมีอาการบวมแดงร่วมด้วย
  • อาจมีเลือดออกจากเส้นเลือดที่ขอด เมื่อไหลแล้วหยุดยากเนื่องจากความดันในเส้นเลือดสูง
  • มีอาการอักเสบ บวมแดงของผิวหนังบริเวณใกล้ๆ กับเส้นเลือดที่ขอด ซึ่งนี่เป็นอาการในระดับรุนแรงแล้ว ต้องรีบได้รับการรักษา

สาเหตุการเกิดเส้นเลือดขอด

เส้นเลือดดำจะมีลิ้น (Valve) ที่คอยควบคุมการไหลเวียนของเลือด ทำหน้าที่คอยเปิดให้เลือดไหลผ่าน แล้วปิดกั้นเพื่อไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับ ผนังหลอดเลือดโดยปกติจะมีความยืดหยุ่นสูง แต่เมื่อยืดหยุ่นมากๆ จนอ่อนแอลง ลิ้นจะเสื่อมสภาพตามลงไปด้วย ระบบไหลเวียนของเลือดดำที่ดี เมื่อเลือดถูกบีบจนไหลกลับขึ้นสู่หัวใจ ลิ้นจะปิดสนิทไม่ให้เลือดไหลกลับลงด้านล่าง เมื่อลิ้นเสื่อมสภาพจนไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ กลไกการไหลเวียนเลือดดำจะเสียไป เลือดจะไหลย้อนกลับและคั่งอยู่ตามร่างกายส่วนล่าง ผนังหลอดเลือดที่อ่อนแอก็จะตึง โป่งพองจนปูดนูนและสังเกตเห็นได้บนผิวหนังในที่สุด

อีกสาเหตุหนึ่งที่ลิ้นทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพคือ ลิ้นไม่สามารถปิดกั้นเลือดได้สนิท เกิดจากความดันสูงเรื้อรังในหลอดเลือด สาเหตุเช่น ยืนทำงานนานๆ มีการอุดตันกดทับหลอดเลือด ตั้งครรภ์ ท้องผูก สาเหตุการเกิดเส้นเลือดขอดเหล่านี้ทำให้มีเลือดคั่งอยู่เป็นจำนวนมากในหลอดเลือด ผนังเส้นเลือดจะยืดออก โป่งพองจนลิ้นปิดกั้นไม่สนิทได้ในที่สุด 

ปัจจัยที่ทำให้เกิดเส้นเลือดขอด

สาเหตุที่ทำให้ผนังหลอดเลือดขยายตัวจนโป่งพองนั้น ไม่สามารถทราบได้อย่างแน่ชัด แต่ว่ามีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดได้ ดังนี้

  • เพศ เส้นเลือดขอดนั้นพบได้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายถึง 3 เท่า เนื่องจากผู้หญิงสามารถตั้งครรภ์ได้ การตั้งครรภ์จะมีกลไกหนึ่งที่ทำให้เส้นเลือดดำถูกกดทับรวมไปถึงมีความดันในเลือดสูงขึ้น เส้นเลือดจึงคั่งและโป่งพองได้ง่าย อีกสาเหตุหนึ่งคือเมื่อหมดประจำเดือน ฮอร์โมนเพศจะลดลง ทำให้ผนังหลอดเลือดอ่อนแอลง เพราะฮอร์โมนเพศนั้นมีส่วนช่วยให้ผนังหลอดเลือดยืดหยุ่น
  • อายุ เมื่ออายุมากขึ้น อวัยวะทุกอย่างรวมทั้งหลอดเลือดในร่างกายจะอ่อนแอลง ผนังหลอดเลือดขาดความยืดหยุ่นและเสื่อมประสิทธิภาพ ลิ้นจะไม่สามารถทำหน้าที่ปิดกั้นเลือดได้ดีอีกต่อไป เส้นเลือดขอดพบได้มากถึง 70% ในผู้ที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป
  • พันธุกรรม มีงานวิจัยพบว่า หากมีสมาชิกในครอบครัวเป็นเส้นเลือดขอด จะทำให้มีโอกาสเป็นโรคนี้มากขึ้นในสมาชิกรุ่นถัดๆ มา
  • เชื้อชาติ พบอาการเส้นเลือดขอดในคนชนชาติตะวันตกมากกว่าชาวเอเชีย สาเหตุอาจจะมาจากพฤติกรรมการทานอาหาร
  • อาชีพ อาชีพที่ต้องยืนหรือนั่งนาน รวมไปถึงอาชีพที่ต้องยกของหนักบ่อยๆ มีโอกาสพบอาการเส้นเลือดขอดได้มากกว่า เช่น ครู ทหาร ตำรวจ พนักงานออฟฟิศ เป็นต้น
  • สตรีตั้งครรภ์ การตั้งครรภ์ทำให้มีปัจจัยเพิ่มหลายอย่างที่ส่งผลต่อความดันและการคั่งของเลือด เช่น น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไปน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การท้องผูกบ่อยๆ  เหล่านี้มีผลต่อความยืดหยุ่นผนังหลอดเลือด บางสาเหตุทำให้เลือดคั่งมากขึ้น เส้นเลือดจึงขอดและโป่งพองในที่สุด แต่ถ้าหากเส้นเลือดขอดเพราะตั้งครรภ์ อาการจะดีขึ้นเมื่อคลอดบุตรแล้ว
  • อ้วน เมื่อน้ำหนักตัวมากเกินไป จะไปเพิ่มความดันในช่องท้อง มีผลทำให้เส้นเลือดดำโป่งพอง
  • ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง การตั้งครรภ์ การเข้าสู่วัยทอง รวมไปถึงการทานยาที่ส่งผลกับฮอร์โมนอย่างยาคุมกำเนิดก็ทำให้เส้นเลือดขอดได้เช่นกัน
  • ท้องผูก ผู้ที่ท้องผูกบ่อยๆ จะมีปัญหาความดันในช่องท้องเยอะ เพราะต้องเบ่งอุจจาระเป็นประจำ
  • การนั่งโถส้วมนาน คนที่ชอบนั่งเล่นมือถือ อ่านหนังสือในขณะนั่งทำกิจธุระนาน จะทำให้มีความดันในช่องท้องเยอะเช่นเดียวกัน
  • ขาดการออกกำลังกาย ผู้ที่เคลื่อนไหวน้อย ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย เลือดจะไหลเวียนได้ไม่ดีเท่าที่ควร กล้ามเนื้อขาจะทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ รวมกันแล้วจะทำให้เลือดคั่งในหลอดเลือดได้ง่ายขึ้น

ชนิดของเส้นเลือดขอด

เส้นเลือดขอดแบ่งตามลักษณะได้ 2 ประเภทคือ

1. เส้นเลือดโป่ง ( Varicose Veins ) เป็นเส้นเลือดขนาดใหญ่กว่า มีสีเขียวอมม่วง เกิดจากผนังหลอดเลือดบางจนโป่งพอง มีลักษณะหยักขดไปมา

ชนิดของเส้นเลือดขอด Varicose Veins

2. เส้นเลือดฝอยแบบใยแมงมุม ( Spider Veins ) เส้นเลือดขนาดเล็กกว่า อยู่ตื้นมากใต้ผิวหนัง มีสีแดงหรือสีม่วง ลักษณะคล้ายใยแมงมุม

ประเภทเส้นเลือดขอด Spider Veins

การวินิจฉัยเส้นเลือดขอด

สำหรับการวินิจฉัยเส้นเลือดขอด แพทย์จะเริ่มจากการซักประวัติและตรวจร่างกาย จากนั้นตรวจเช็คเส้นเลือดเพื่อสังเกตการณ์บวมทั้งในขณะนั่งและยืน หากผู้ป่วยมาเพราะอยากรักษาในด้านความสวยงาม ไม่ได้มีความเจ็บปวดอะไรแพทย์อาจจะไม่ได้ตรวจอะไรเพิ่มเติมกว่านี้ แต่ถ้าผู้ป่วยมาเพราะเจ็บป่วย แพทย์อาจทำการอัลตราซาวด์เพื่อหาลิ่มเลือดอุดตันเผื่อจะเป็นสาเหตุของอาการเจ็บปวดนั้น

แต่ถ้าแพทย์ซักประวัติแล้วสงสัยว่าผู้ป่วยอาจจะภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ เพราะผู้ป่วยมีปัญหาเกี่ยวกับเส้นเลือดมาก่อน แพทย์จะพิจารณาตรวจด้วยวิธีอื่น เช่น ตรวจด้วยเรื่องแม่เหล็กไฟฟ้า การฉีดสีทึบเข้าหลอดเลือดแล้วเอกซเรย์ เป็นต้น เพื่อที่จะได้ประเมินอาการ และหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมและปลอดภัย

10 วิธีการรักษาเส้นเลือดขอด

เส้นเลือดขอดโดยปกติแล้วไม่สร้างความเจ็บปวดแก่ผู้ป่วย จึงไม่มีผลต่อการใช้ชีวิตมากนัก นอกจากเรื่องความมั่นใจและเรื่องความสวยงาม ทั้งนี้ผู้ป่วยสามารถปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินชีวิตหากไม่อยากให้เส้นเลือดขอดมากไปกว่าเดิม หรือถ้าหากอยากแก้ไขให้ดูดีขึ้น เส้นเลือดขอดสามารถแก้ไขได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับขนาดและความรุนแรงของโรค ดังนี้

วิธีรักษาเส้นเลือดขอด

1. ดูแลตัวเอง คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งก็คือการรักษาตามอาการแบบหนึ่ง ผู้ที่มีอาการเส้นเลือดขอดควรเริ่มที่หันมาออกกำลังกาย โดยออกอย่างสม่ำเสมอ 3-4 วัน/สัปดาห์ ครั้งละอย่างน้อย 30 นาที หากทำงานหนักโดยเฉพาะอย่างยิ่งงานที่ต้องนั่งหรือยืนนานๆ ให้หาเวลาเปลี่ยนอิริยาบถบ้าง ลุกเดินหรือนวดขาขึ้นลงบ่อยๆ ก็ช่วยได้ไม่น้อย เลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดการปรุงอาหารด้วยเกลือหรือโซเดียมเพราะจะทำให้บวมจากการคั่งของน้ำมากขึ้น ลดการทานของมันของทอด ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ตามเกณฑ์ที่เหมาะสม ช่วยลดความดันในช่องท้อง เลือกทานอาหารที่อุดมไปด้วยใยอาหารและดื่มน้ำให้มากๆ เพื่อป้องกันการท้องผูก ใส่กางเกงที่รัดมากเกินไปเพราะไปทำให้การไหลเวียนของเลือดไม่ดี หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูง หันมาใส่ส้นเตี้ยจะช่วยในเรื่องการไหลเวียนเลือดได้ดีกว่า เวลานอนควรนอนให้ขาสูงกว่าระดับหัวใจ โดยเอาหมอนมาวางซ้อนกัน 2-3 ลูก ก็ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้นเช่นกัน ถ้าหากปฏิบัติตามนี้แล้วยังไม่ดีขึ้น ให้ไปพบแพทย์ แพทย์จะพิจารณารักษาตามความรุนแรงของโรค

2. ถุงน่องสำหรับรักษาเส้นเลือดขอด (Compession Stocking) เป็นถุงน่องที่ออกแบบมาเพื่อรักษาเส้นเลือดขอดโดยเฉพาะ โดยถุงน่องจะมีความดันที่ข้อเท้า 20-25 มิลลิเมตรปรอท ช่วยปรับความดันในร่างกายส่วนล่าง ทำให้ระบบไหลเวียนเลือดทำงานดีขึ้น วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่เส้นเลือดขอดขนาดเล็กมากๆ มีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 1 มิลลิเมตรเท่านั้น ถุงน่องควรใส่ในเวลานอน ขณะนอนควรหนุนปลายเท้าให้สูงกว่าศีรษะประมาณ 30 เซนติเมตร เพื่อให้เลือดไหลเวียนได้สะดวก ถุงน่องนี้เหมาะสำหรับผู้ที่เส้นเลือดขอดในระยะเริ่มต้นหรือนำไปใช้ร่วมกับการรักษาวิธีอื่น เพราะไม่ได้ช่วยให้เส้นเลือดขอดหายไป สิ่งสำคัญที่ลืมไม่ได้คือ ต้องหมั่นตรวจเช็คชีพจรที่ข้อเท้าทุกครั้งก่อนใช้ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะขาดเลือด ซึ่งอันตรายจนอาจจะต้องตัดขาได้

3. การฉีดสารเข้าเส้นเลือดดำ วิธีนี้สามารถใช้กับเส้นเลือดขอดขนาดเล็กและปานกลาง การฉีดยาเข้าไปจะทำให้ผนังเลือดบางและบวม ซึ่งจะเป็นแผล เส้นเลือดจะติดกันจนตีบตัน เลือดจะไม่สามารถไหลผ่านได้ในที่สุด เส้นเลือดที่โป่งพองจะทุเลาลงภายในเวลา 2-3 สัปดาห์ การฉีดยาอาจะต้องฉีดซ้ำมากกว่า 1 ครั้ง ซึ่งเป็นวิธีที่ได้ผลดีมากพอสมควรถ้าหากฉีดอย่างถูกวิธี สารที่ใช้ฉีดมีหลายตัว แต่ตัวที่นิยมคือ Hydroxpolyethoxidoxecaine ( Aethoxysclerol ) ซึ่งมีความเข้มข้นตั้งแต่ 1-3% ส่วนค่ารักษาจะอยู่ที่ 10,000 บาทขึ้นไป

  • วิธีนี้เหมาะสำหรับหลอดเลือดที่มีขนาดเล็กกว่า 3 มิลลิเมตร เป็นหลอดเลือดเดี่ยวๆที่ไม่มีความผิดปกติของลิ้นที่ปิดกั้นเลือด หรือเป็นเส้นเลือดขอดที่ผ่านการรักษามาแล้วแต่ยังมีเส้นเลือดขอดฝอยขนาดเล็กหลงเหลืออยู่ และต้องเป็นเส้นเลือดที่อยู่ใต้เข่าเท่านั้น
  • ห้ามใช้วิธีนี้กับผู้ที่แพ้ยานี้ รวมไปถึงผู้ที่หลอดเลือดขอดอักเสบ หลอดเลือดขนาดใหญ่ที่มีปัญหากับหลอดเลือดดำที่อยู่ในส่วนลึก
  • การรักษาด้วยการฉีดยาจะดีขึ้นแต่ไม่หายขาด และมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีก
  • ผลข้างเคียงที่เกิดจากการฉีดยานั้นพบได้น้อย แต่ถ้าพบแล้วก็อันตรายมากเช่นกัน เช่น อาจจะเกิดอาการบวมแดง อักเสบ มีรอยเขียวช้ำ มีเลือดออก เป็นต้น สำหรับอันตรายนั้นจะเกิดกับผู้ที่แพ้ยา เพราะอาจจะช็อกจนเสียชีวิตได้ แต่ว่าพบได้น้อย

4. การฉีดสารโฟมเข้าหลอดเลือดดำ เป็นเทคนิควิธีการที่ช่วยรักษาเส้นเลือดขอดขนาดใหญ่ โดยจะใช้เครื่องอัลตราซาวด์มาช่วยดูเส้นเลือด เพื่อความแม่นยำในการฉีดสารโฟม สารนี้เมื่อฉีดเข้าไปแล้วจะเข้าไปอุดตันเส้นเลือด ทำให้หลอดเลือดดำหยุดการทำงานและหายไป

5. การผ่าตัดเอาเส้นเลือดออก จะผ่าตัดเอาเส้นเลือดที่ขอดออกตลอดทั้งเส้น รักษาได้หายขาดแลป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำได้ เหมาะสำหรับผู้ที่มีเส้นเลือดขอดขนาดใหญ่และยาวมากๆ จนไม่สามารถรักษาด้วยวิธีการฉีดยาได้ การผ่าตัดมีหลายรูปแบบให้เลือก เช่น

  • การผ่าตัดด้วยการเจาะรูเล็ก เป็นการผ่าตัดเล็ก แพทย์จะใช้ยาชาทาบริเวณที่จะผ่าเพื่อระงับความรู้สึก จากนั้นเจาะรูขนาดเล็กที่ผิวหนังเพื่อเอาเส้นเลือดขอดออกมา เมื่อผ่าตัดเสร็จสามารถกลับบ้านได้ทันที ไม่ต้องนอนพักฟื้นในโรงพยาบาล
  • การผ่าตัดส่องกล้อง วิธีนี้โดยปกติจะใช้ในรายที่มีอาการเส้นเลือดขอดอย่างรุนแรง ขอดจนอักเสบหรือรักษามาหลายวิธีแค่ไม่ประสบความสำเร็จในการรักษา จะเจาะรูขนาดเล็กแล้วส่องกล้องลงเพื่อให้เห็นเส้นเลือดได้ชัดเจนขึ้น จากนั้นปิดเส้นเลือดที่ขอดแล้วตัดออกมา

6. การเลเซอร์ด้วยคลื่นแสงความยาวสูง เป็นวิธีการรักษาแบบใหม่ โดยจะใช้คลื่นแสงความยาวสูง 1,064 นาโนเมตร ยิงลงไปที่ผิวหนังบริเวณที่เส้นเลือดขอด ความร้อนที่ส่งผ่านผิวหนังจะไปทำลายและสลายผนังหลอดเลือดและลิ่มเลือด เหมาะสำหรับเส้นเลือดขอดที่ขนาดไม่เกิน 2 มิลลิเมตรเพราะว่าถ้าหากมีขนาดใหญ่กว่านี้การรักษาอาจจะไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร การผ่าตัดด้วยเลเซอร์นั้นได้รับความนิยมค่อนข้างสูง เพราะได้ผลค่อนข้างดี ไม่เจ็บและไม่มีแผลเป็น

7. การเลเซอร์ด้วยคลื่นแสงความยาวต่ำ จะส่งพลังงานลงไปจากคลื่นแสงลงไปที่หลอดเลือด ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ลดการบวมน้ำและการคั่งของเลือดในเส้นเลือด บรรเทาอาการเกร็งของกล้ามเนื้อในบริเวณนั้นด้วย รักษาได้ทั้งเส้นเลือดขอดขนาดใหญ่และเส้นเลือดฝอย เลเซอร์เสร็จแล้วก็สามารถกลับบ้านได้เลย ไม่เจ็บ ไม่มีแผลเช่นเดียวกัน

8. การผูกและดึงหลอดเลือด วิธีนี้แพทย์จะทำการผูกหลอดเลือดก่อนที่จะไปติดรวมกับหลอดเลือดที่อยู่ลึกลงไป จากนั้นนำหลอดเลือดที่ผูกออกโดยการผ่าตัด การนำหลอดเลือดออกไม่ส่งผลต่อระบบไหลเวียนเลือดแต่อย่างใด หลังรักษาเสร็จสามารถกลับบ้านได้เลย ไม่ต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาล

9. การรักษาด้วยคลื่นความถี่วิทยุ ( Radiofrequency Ablation-RFA )  เป็นเทคนิคที่ใช้ขดลวดที่ทำจากเส้นใยแก้วนำแสง(Fiberoptic) มาช่วย โดยแพทย์จะทำการเจาะรูขนาดเล็กด้วยเข็ม แล้วใส่ขดลวดลงไปในเส้นเลือดที่มีปัญหา พลังงานความร้อนถูกส่งลงไปตามเส้นลวด ทำให้ผนังหลอดเลือดดำยุบตัวและฝ่อไปในที่สุด ในระยะแรกเส้นเลือดจะฝ่อลงประมาณ 50% และจะฝ่อ 90-100% ในระยะเวลา 6-8 สัปดาห์ หากดูแลร่างกายดีๆ จะมีโอกาสกลับมาเป็นน้อยมากๆ หากเป็นก็จะเป็นแบบเส้นเลือดฝอย ซึ่งรักษาได้ง่ายๆ ด้วยการฉีดยา

10. การทานยารักษาเส้นเลือดขอด สำหรับผู้ที่เป็นเส้นเลือดในระยะแรกเป็นเป็นเฉพาะเส้นเลือดฝอย การทานยาในเฮสเพอริดินและไดออสมิน ช่วยยับยั้งการอักเสบและทำให้ลิ้นที่ทำหน้าที่ปิดกั้นเลือดกลับมาเป็นปกติได้ อย่างที่บอกว่าได้ผลดีเฉพาะเส้นเลือดฝอยขอดระยะแรกเท่านั้น หากเป็นเส้นเลือดในลักษณะอื่นควรใช้วิธีอื่นในการรักษา

ภาวะแทรกซ้อนของเส้นเลือดขอด

เส้นเลือดโดยทั่วไปแล้วไม่อันตรายหรือมีภาวะแทรกซ้อนใดๆ กับร่างกาย นอกเสียจากว่าจะปล่อยทิ้งไว้ระยะเวลานานๆ จนเส้นเลือดอุดตันมากเกินไป จนทำให้ระบบไหลเวียนเลือดทำงานแย่ลงมากๆ ภาวะแทรกซ้อนจากเส้นเลือดขอดมีดังนี้

  • เลือดออก อาจมีเลือดออกได้ง่าย ถ้าเส้นเลือดที่ขอดที่อยู่กับผิวหนังมาก เพราะมีความเสี่ยงในการเกิดการกระทบกระทั่งกับเส้นเลือด เส้นเลือดที่ขอด ผนังหลอดเลือดมักจะเปราะบางและแตกง่ายกว่าปกติ เมื่อเลือดไหลแล้วอาจจะหยุดไหลได้ยากเพราะว่ามีความดันในหลอดเลือดมากกว่าปกติ การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ไม่ควรตกใจมากเกินไป ทำให้ขาและเท้าอยู่สูงกว่าศีรษะ หาหมอนมาหนุน 2-3 ใบก็ได้ แล้วกดแผลเอาไว้เพื่อให้เลือดหยุดไหลไวยิ่งขึ้น แต่ว่าถ้าเลือดยังไหลไม่หยุด ควรไปพบแพทย์
  • แผลหายช้า เกิดแผลที่ขาและเท้าได้ง่าย แผลจะหายช้าเพราะระบบไหลเวียนทำงานไม่ดี หากมีดบาดหรือหกล้มแค่แผลเล็กๆ เลือดอาจจะออกรุนแรงได้
  • ผนังหลอดเลือดดำอักเสบ ถ้าหากเกิดลิ่มเลือดที่หลอดเลือดที่อยู่ใกล้ผิวหนังมากๆ หลอดเลือดอาจจะอักเสบได้ เมื่ออักเสบแล้วผิวหนังจะบวมแดง แสบร้อน ปวดบวมที่ขา ถ้าหากมีลิ่มเลือดมาก สามารถพัฒนาไปเป็นภาวะหลอดเลือดอุดตันได้ ในกรณีร้ายแรงกว่านั้น อาจจะเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด ซึ่งอันตรายอย่างมาก แต่ว่าพบได้น้อยมากๆ
  • หลอดเลือดดำบกพร่อง เมื่อเส้นเลือดขอด แน่นอนว่าประสิทธิการทำงานของระบบไหลเวียนเลือดจะแย่ลง การลำเลียงสารอาหาร ออกซิเจนรวมไปถึงการขับถ่ายของเสียที่ทำโดยผิวหนังนั้นจะผิดปกติ เมื่ออยู่ในภาวะนี้นานๆ จะทำให้มีภาวะอื่นๆตามมาเช่น ผิวหนังที่ขาส่วนล่างอักเสบ ชั้นผิวหนาขึ้น สีผิวเข้มขึ้น ผิวอาจจะอักเสบได้
  • แผลจากเส้นเลือดขอด สำหรับผู้ที่เป็นเส้นเลือดอย่างรุนแรง ผิวหนังบริเวณนั้นอาจจะแตกและเป็นตามมาได้

แนวทางการปฏิบัติในขณะรักษาเส้นเลือดขอด

  • ผู้ที่เป็นเส้นเลือดขอดในระยะเริ่มแรก เส้นเลือดฝอยขอด ควรใส่ถุงน่องสำหรับรักษาเส้นเลือดขอดเมื่อต้องยืนหรือนั่งเป็นเวลานาน
  • ผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น สตรีตั้งครรภ์ คนอ้วน คนสูงอายุ ก็ควรใส่ถุงน่องสำหรับเส้นเลือดขอดด้วยเช่นเดียวกัน เพื่อป้องกันการเกิดเส้นเลือดขอด
  • เมื่อเป็นเส้นเลือดขอด อย่าปล่อยปละละเลย ต้องหมั่นสังเกตอาการและภาวะแทรกซ้อนอยู่เสมอ หากพบว่าเส้นเลือดโป่งพองมากกว่าปกติ บวมแดง อักเสบ มีเลือดออกไม่หยุด หรือมีอาการใดๆก็ตามที่ส่งกระทบต่อการใช้ชีวิต ควรไปพบแพทย์เพื่อจะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

ป้องกันเส้นเลือดขอดอย่างไรไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ

คำแนะนำนี้ควรปฏิบัติควบคู่กับไปการรักษาเส้นเลือดขอด ช่วยให้ผลการรักษาดีขึ้น ทำให้เส้นเลือดที่เป็นอยู่ไม่ขยายใหญ่ไปกว่าเดิม ทั้งยังช่วยป้องกันเส้นเลือดขอดเกิดใหม่ ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถป้องกันได้ 100% แต่ก็ช่วยได้มากทีเดียว จะมีอะไรกันบ้างนั้น มาดูกัน

  • หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงพฤติการณ์การนั่ง/นอน/ยืน เป็นเวลานาน หากหลีกเลี่ยงไม่ได้อย่างเช่น คนทำงานในออฟฟิศ ทหาร ตำรวจ ที่ต้องนั่ง/ยืนทำงานบ่อยๆ ให้หาเวลาเปลี่ยนอิริยาบถบ้าง เพื่อให้ระบบไหลเวียนเลือดทำงานได้เป็นปกติ กล้ามเนื้อแข็งแรง ลดความเสี่ยงในการเป็นเส้นเลือดขอด
  • หลีกเลี่ยงการการนั่งไขว่ห้างเป็นเวลานานๆ
  • หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูงเป็นเวลานานๆ หากต้องใส่ควรหารองเท้าส้นเตี้ยมาสับเปลี่ยน
  • เลือกทานอาหารที่ดี มีประโยชน์ ทานในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพราะถ้าน้ำหนักเกินจะเป็นเส้นเลือดขอดได้ง่าย
  • หลีกเลี่ยงการสวมใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกางเกงยีนส์ที่รัดแน่นเฉพาะตัว เพราะทำให้เลือดไหลเวียนได้ไม่สะดวก
  • หลีกการทานอาหารรสเค็มจัด ลดการปรุงรสอาหารจากชูรส เพื่อป้องกันการบวมคั่งของน้ำ
  • ทานอาหารที่มีไฟเบอร์เยอะๆ ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อร่างการต้องการ ป้องกันโรคท้องผูก
  • ในเวลากลางคืน ควรนอนยกขาให้สูงกว่าหัวใจโดยนำหมอนมาหนุนตั้งแต่ช่วงข้อพับขาจนถึงปลายเท้า

จะเห็นได้ว่าการรักษาเส้นเลือดนั้นไม่ได้น่ากลัวเลย บางวิธีไม่ก่อให้เกิดความเจ็บด้วยซ้ำ ดังนั้นอย่าปล่อยปละละเลยเส้นเลือดขอดให้อยู่กับเรานานเกินไป เพราะอาจจะมีผลข้างเคียงที่คาดไม่ถึงตามมา รีบรักษาและดูแลตัวเองเพื่อขาเนียนใส จะได้ใส่ขาสั้นอวดขาสวยๆ โดยที่ไม่ต้องอายอีกต่อไป