free web tracker, fire_lady “โรคสมาธิสั้น” สังเกตให้ดี เด็กซุกซนตามวัย หรือเป็นโรคสมาธิสั้น? • สุขภาพดี

โรคสมาธิสั้น”“โรคสมาธิสั้น” รู้สาเหตุ สังเกตอาการให้ดี เด็กซุกซนตามวัย หรือเป็นโรคสมาธิสั้นกันแน่?

โรคสมาธิสั้น สาเหตุ อาการ

โรคสมาธิสั้น” (Attention Deficit Hyperactivity Disorder: ADHD) คือ โรคที่ขาดสมาธิในการจดจ่อทำสิ่งใดให้สำเร็จ ลืมง่าย อยู่ไม่นิ่ง ไม่อดทน และหุนหันพลันแล่น โดยผู้ป่วยอาจมีอาการตั้งแต่ช่วงอายุ 3 - 6 ปี โดยอาการจะแสดงออกอย่างชัดเจนในช่วงอายุ 6 - 12 ปี โรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุในการเกิดที่แน่ชัด เด็กบางคนอาจมีพฤติกรรมเข้าข่ายโรคสมาธิสั้น แต่อาจเป็นเพียงพัฒนาการตามช่วงวัยเท่านั้น นอกจากนี้เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นจะยังคงเป็นต่อไปจนโตหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม

สาเหตุของโรคสมาธิสั้น

โรคสมาธิสั้นยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าเกิดจากอะไร แต่เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นอาจเกิดจากหลายปัจจัยเหล่านี้รวมกัน

1. พันธุกรรม ผู้ป่วยโรคสมาธิสั้นมักมีพ่อแม่หรือญาติป่วยเป็นโรคนี้เช่นกัน

2. โครงสร้างสมอง อาจเป็นมาตั้งแต่กำเนิดหรือเกิดจากการได้รับบาดเจ็บกระทบกระเทือนทางสมองตั้งแต่ในครรภ์ หรือในช่วงที่เป็นเด็กเล็ก

3. จากการสแกนสมอง คนทั่วไปเทียบกับผู้ป่วยโรคสมาธิสั้น พบว่าพื้นที่บางส่วนของสมองมีขนาดเล็กกว่าและบางส่วนก็มีขนาดใหญ่กว่าคนทั่วไป รวมทั้งขาดความสมดุลของระดับสารสื่อประสาทในสมอง

4. การตั้งครรภ์และการคลอด ผู้เป็นแม่สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ใช้สารเสพติด หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษ มีมลภาวะ รวมไปถึงการคลอดก่อนกำหนด และทารกมีน้ำหนักตัวแรกเกิดต่ำ

5. สภาพแวดล้อมที่เป็นพิษ ผู้ป่วยอาจได้รับสารพิษและสารเคมีที่เป็นอันตรายเข้าสู่ร่างกายในขณะที่ยังเป็นเด็กเล็ก เช่น สารตะกั่ว เป็นต้น

ส่วนที่เชื่อกันว่าการดูโทรทัศน์และการเล่นวิดีโอเกมจะทำให้เด็กเป็นโรคสมาธิสั้นนั้นยังไม่สามารถยืนยันได้แน่ชัด แต่การดูรายการโทรทัศน์หรือการเล่นเกมจะตอบสนองต่อความต้องการของเด็กสมาธิสั้น อย่างไรก็ตามการให้เด็กดูโทรทัศน์ เล่นเกม หรือทำกิจกรรมต่างๆ อย่างพอดีย่อมเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุดในการเลี้ยงดูเด็ก

อาการของโรคสมาธิสั้น

อาการของโรคสมาธิสั้นอาจยังคงอยู่ตลอดไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ โดยรูปแบบอาการอาจเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามวัย การแสดงพฤติกรรมของโรคสมาธิสั้นมีอยู่ด้วยกัน 2 รูปแบบหลัก คือ การขาดสมาธิในการจดจ่อหรือตั้งใจทำสิ่งใด และการอยู่ไม่นิ่งมีความหุนหันพลันแล่น โดยเด็กอาจมีพฤติกรรมรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง หรือปรากฏพฤติกรรมทั้ง 2 รูปแบบรวมกัน

อาการที่พบในเด็กและวัยรุ่น

ด้านการขาดสมาธิจดจ่อตั้งใจ

1. ไม่ตั้งใจฟัง ไม่สนใจในขณะที่มีคนพูดด้วย
2. ไม่ทำอะไรไปตามขั้นตอน ชอบทำอะไรง่ายๆ รวบรัด
3. ไม่ชอบทำอะไรเป็นเวลานานๆ มักเปลี่ยนไปทำกิจกรรมอย่างอื่นแทน
4. ไม่ชอบเรียนรู้เรื่องที่ต้องใช้เวลา
5. มองข้ามเรื่องสำคัญ ไม่ใส่ใจรายละเอียด จนเกิดความผิดพลาดบ่อยๆ
6. มักลืมอุปกรณ์เครื่องใช้หรือสิ่งของจำเป็น
7. มักลืมสิ่งที่ต้องทำหรือสิ่งที่ได้รับมอบหมาย
8. วอกแวกง่ายเมื่อมีสิ่งเร้ามากระตุ้น หรือมีความคิดอื่นมากระตุ้นในขณะทำกิจกรรมใดๆ อยู่
9. จัดลำดับความสำคัญไม่เป็น เรียงลำดับสิ่งที่ควรทำก่อนหลังไม่ได้
10. บริหารจัดการเวลาได้ไม่ดี ไม่สามารถทำงานเสร็จตามกำหนดการ
11. หลีกเลี่ยงและไม่ชอบงานที่ต้องใช้ความพยายามมากๆ
12. มีปัญหากับการทำงานตามกำหนด กฎระเบียบหรือกรอบคำสั่ง

ด้านการตื่นตัว อยู่ไม่นิ่ง และหุนหันพลันแล่น

1. พูดมาก พูดไม่หยุด
2. นั่งนิ่งอยู่กับที่นานๆ ไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อต้องอยู่ในเงียบสงบ
3. ว่องไว เคลื่อนไหวรวดเร็ว ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา
4. มีปัญหาเกี่ยวกับการรอ ไม่ชอบการรอคอย
5. ลุกออกจากที่นั่งบ่อยๆ ในสถานการณ์ที่ควรนั่ง
6. ลุกลี้ลุกลน กระสับกระส่าย
7. ไม่สามารถทำกิจกรรมได้เงียบๆ ตามลำพัง
8. พูดโต้ตอบสวนขึ้นมาในขณะที่อีกฝ่ายยังพูดหรือถามไม่จบ
9. พูดแทรกหรือรบกวนในขณะที่ผู้อื่นกำลังพูดหรือทำกิจกรรมใดๆ อยู่

อาการที่พบในผู้ใหญ่

1. ประมาทเลินเล่อ ขาดความใส่ใจในรายละเอียด
2. ขี้หลงขี้ลืม
3. ร้อนรน กระสับกระส่าย อยู่ไม่สุข
4. อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย
5. ใจร้อน ไม่มีความอดทน
6. ใช้ชีวิตบนความเสี่ยง ประมาท ขับรถเร็ว
7. ไม่สามารถจัดการกับความเครียดได้ หรือจัดการได้ไม่ดี
8. ชอบพูดโพล่งออกมา ไม่ชอบการทนอยู่เงียบๆ
9. พูดแทรก ไม่รอให้ถึงจังหวะหรือลำดับของตนเอง
10. มักทำงานผิดพลาดอยู่เสมอ
11. มีปัญหาเรื่องการจัดการ การจัดลำดับความสำคัญ และการบริหารเวลา
12. มักเริ่มทำงานใหม่โดยที่ยังไม่ได้ทำงานเดิมให้สำเร็จลุล่วง

ภาวะแทรกซ้อนของโรคสมาธิสั้น

ผู้ป่วยโรคสมาธิสั้นจะได้รับผลกระทบในด้านการใช้ชีวิต เนื่องจากผู้ป่วยมักจะมีอารมณ์และแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม จึงอาจเป็นเหตุให้เกิดความล้มเหลวในด้านต่างๆ ได้ หากผู้ป่วยเลือกใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือสารเสพติดเป็นตัวช่วยจะนำไปสู่ปัญหาสุขภาพและปัญหาด้านอื่นๆ ตามมาได้อีก

การวินิจฉัยโรคสมาธิสั้น

หากสงสัยว่า "ลูกอาจเป็นโรคสมาธิสั้น" ควรสังเกต บันทึกอาการ แล้วไปพบแพทย์ โดยการวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมาธิสั้น ผู้ป่วยต้องมีอาการอยู่ในเกณฑ์วินิจฉัยในด้านการขาดสมาธิจดจ่อตั้งใจ หรือในด้านการตื่นตัวอยู่ไม่นิ่งหุนหันพลันแล่น อย่างน้อย 2 สถานการณ์ขึ้นไป และอาการที่พบต้องไม่ใช่ผลข้างเคียงจากการป่วยโรคทางจิตเวชอื่นๆ

เกณฑ์การวินิจฉัยโรคสมาธิสั้น คือ

1. ด้านการขาดสมาธิจดจ่อตั้งใจ ต้องมีอาการ 6 ข้อขึ้นไป ในเด็กถึงวัยรุ่นที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปี หรือมีอาการ 5 ข้อขึ้นไป ในผู้ที่มีอายุ 17 ปีขึ้นไป จึงจะเป็นโรคสมาธิสั้น และมีอาการคือ

  • มักจะล้มเหลวในการทำงานที่ต้องใช้สมาธิ ต้องใส่ใจรายละเอียด และเกิดความผิดพลาด
    จากความประมาท
  • มักมีปัญหาในการจดจ่อตั้งใจทำตามกำหนดการ
  • มักไม่สนใจฟังแม้มีคนกำลังคุยด้วยอยู่ตรงหน้า
  • มักไม่ทำอะไรตามขั้นตอน ขาดความมุ่งมั่นความสนใจ
  • มักมีปัญหาในการบริหารจัดการสิ่งที่ต้องทำ
  • มักจะหลีกเลี่ยงการทำตามกำหนดการ งานที่ใช้ความพยายามและความอดทนสูง
  • มักจะลืมสิ่งของจำเป็นในการเรียน การทำงาน หรือการทำกิจกรรม
  • ใจลอย วอกแวกง่าย ขาดสมาธิ
  • มักลืมสิ่งที่ต้องทำเป็นประจำในแต่ละวัน

2. ด้านการตื่นตัวอยู่ไม่นิ่งและหุนหันพลันแล่น ต้องมีอาการ 6 ข้อขึ้นไป ในเด็กถึงวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 16 ปี หรือมีอาการ 5 ข้อขึ้นไป ในผู้ที่มีอายุ 17 ปีขึ้นไป จึงจะเป็นโรคสมาธิสั้น และมีอาการคือ

  • มักอยู่ไม่นิ่ง กระดิกมือหรือเท้าตลอดเวลา
  • มักลุกออกจากที่นั่งในสถานการณ์ที่ไม่ควรลุกออกไป
  • มักวิ่งไปรอบ ๆ หรือปีนป่ายซุกซนในสถานการณ์ที่ไม่เหมาะสม (ในวัยเด็ก) หรือรู้สึกอึดอัด กระสับกระส่าย (ในวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่)
  • มักไม่สามารถเล่นหรือทำกิจกรรมอย่างเงียบ ๆ ได้
  • มักจะตื่นตัวหรือลุกลี้ลุกลนตลอดเวลา
  • มักจะพูดมาก พูดไม่หยุด
  • มักจะพูดตอบสวนคำถาม โดยไม่รอให้ถามจบก่อน
  • มักมีปัญหาเกี่ยวกับการรอ
  • มักรบกวนหรือก้าวก่ายเรื่องของผู้อื่น ชอบขัดจังหวะระหว่างบทสนทนา

ทั้งนี้ผู้ป่วยสมาธิสั้นสามารถป่วยด้วยอาการด้านใดด้านหนึ่งเพียงด้านเดียว หรือทั้ง 2 ด้านร่วมกันก็ได้ โดยอาการดังกล่าวจะต้องเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป

การรักษาโรคสมาธิสั้น

โดยทั่วไปการรักษาอาการสมาธิสั้นไม่สามารถทำให้อาการหายขาดได้อย่างถาวร โดยการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุด คือ รักษาด้วยยา การบำบัด ร่วมกับการรับประทานอาหาร

1. การรักษาด้วยยา กลุ่มยาที่ใช้รักษาโรคสมาธิสั้นในประเทศไทย ได้แก่ กลุ่มยากระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งจะออกฤทธิ์ต่อสารสื่อประสาทภายในสมองส่วนที่ควบคุมสมาธิ ความคิดและพฤติกรรม อย่างสารโดปามีนและนอพิเนฟรีน เช่น ยาเมทิลเฟนิเดต ใช้กับเด็กอายุตั้งแต่ 6 ปีไปจนถึงวัยรุ่น และยาอะโทม็อกซีทีน ใช้กับเด็กอายุตั้งแต่ 6 ปีไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ ยาจะไม่ได้ทำหน้าที่ไปกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง แต่จะยับยั้งการดูดกลับสารนอร์อะดรีนาลีน จึงช่วยควบคุมอาการหุนหันพลันแล่นและเพิ่มการจดจ่อสมาธิของเด็ก

วิธีรักษาโรคสมาธิสั้นด้วยยา

ส่วนยาบางกลุ่มที่ออกฤทธิ์ต่อระดับสารโดปามีนและสารนอร์อะดรีนาลีนในสมอง ได้แก่ ยาโคลนิดีน และยาต้านเศร้าเป็นยาที่มีประสิทธิภาพน้อยกว่าจึงไม่ควรนำมาเป็นยาหลักในการรักษา นอกจากนี้การใช้ยารักษาเด็กสมาธิสั้นต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์และต้องไปพบแพทย์เพื่อติดตามผลการรักษาอยู่เสมอ

2. การเข้ารับการบำบัด เด็กควรรับการบำบัดควบคู่ไปกับการรับยา วิธีต่างๆ ที่เป็นการบำบัดภายใต้การดูแลของแพทย์ ได้แก่

  • การให้ความรู้ทางสุขภาพจิต (Psychoeducation) เป็นวิธีการที่ให้เด็กกล้าที่จะพูดคุยถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเป็นโรคสมาธิสั้น เพื่อให้เด็กทำความเข้าใจและเตรียมวิธีรับมือกับอาการที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม
  • พฤติกรรมบำบัด (Behavior Therapy) เป็นการวางแผนจัดการกับพฤติกรรมอย่างเป็นระบบ ผู้ปกครองและครูควรช่วยกัน เช่น การให้รางวัลหรือคำชมเชยเมื่อทำดี และการลงโทษเมื่อทำไม่เหมาะสม จะทำให้เด็กหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
  • การเข้าโปรแกรมฝึกหัดและการให้ความรู้แก่ผู้ปกครอง
วิธีรักษาโรคสมาธิสั้น
  • การบำบัดโดยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy: CBT) นักบำบัดจะพูดคุยให้ผู้ป่วยทำความเข้าใจโรคและอาการที่เป็นอยู่ แล้ววางแผนหาทางแก้ไขหรือรับมือกับอาการที่เกิดขึ้น วิธีการบำบัดแบบนี้สามารถทำได้ทั้งแบบรายบุคคลและแบบกลุ่ม
  • การฝึกทักษะสังคม พ่อแม่ของเด็กสมาธิสั้นสามารถฝึกให้เด็กปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสมตามสถานการณ์ต่างๆ ได้

3. การรับประทานอาหาร ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เสริมสร้างสมดุลของสารเคมีภายในร่างกาย เพราะสารอาหารบางประเภทอาจกระตุ้นให้เกิดอาการอยู่ไม่นิ่งหรือหุนหันพลันแล่นได้ เช่น สารปรุงแต่งในอาหารน้ำตาล และคาเฟอีน ดังนั้น ผู้ป่วยควรสังเกตอาการที่เกิดขึ้นหลังรับประทานอาหาร และพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการควบคุมอาหาร

การป้องกันโรคสมาธิสั้น

การป้องกันการเกิดโรคสมาธิสั้นทำได้โดยการลดความเสี่ยงของปัจจัยต่างๆ ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ได้แก่ ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุรา ไม่ใช้สารเสพติด หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีหรือการอยู่ในบริเวณที่มีมลพิษ ในด้านการป้องกันไม่ให้ผู้ที่ป่วยเป็นโรคสมาธิสั้นแสดงอาการที่ไม่พึงประสงค์ ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาและดูแลอย่างถูกวิธี เพื่อปรับพฤติกรรมและรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม

ได้รู้ถึง อาการ สาเหตุ และวิธีป้องกัน รักษาโรคสมาธิสั้นกันไปแล้ว ผู้ปกครองที่เห็นบุรหลานเข้าข่าย สมาธิสั้น หรือตัวผู้ใหญ่เองหากเสี่ยงเป็นโรคนี้ ก็รีบดูแล แก้ไขตามที่แนะนำมานะค่ะ