อายุรวัฒน์เวชศาสตร์ โรคภัยใกล้ตัว March 28, 2018 Share 0 Tweet Pin 0 “สายตายาว” ว้าวๆ รักษาอย่างถูกวิธีก็มีโอกาสดีขึ้น คนเราเมื่ออายุเริ่มมากขึ้นปัญหาความเสื่อมของร่างกายนับเป็นปัญหาหลักที่คนส่วนใหญ่มักพบ และสิ่งที่แสดงอาการให้เห็นชัดเจนก็มีหลายอย่างด้วยกัน แต่ปัญหาหนึ่งที่เมื่อแสดงอาการออกมาแล้วนั้น นับว่ามีผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันไม่น้อย คือ ปัญหาสายตา สายตาของเราหากเกิดความผิดปกติก็สามารถพบได้หลายอย่างด้วยกัน ทั้ง สายตาสั้น สายตาเอียง หรือสายตายาว แต่วันนี้เราจะมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหา “สายตายาว” ซึ่งถือเป็นปัญหาที่คนส่วนใหญ่มักคิดว่าไม่ได้รุนแรงอะไรและปล่อยปละละเลย สายตายาว ผิดปกติอย่างไร?"สายตายาว" คือภาวะหักเหแสงของตาผิดปกติ โดยจะมีลูกตาเล็กหรือกระจกตาแบนเกินไป ทำให้ไม่สามารถมองเห็นวัตถุในระยะใกล้ได้ชัดเจน แต่จะมองเห็นวัตถุในระยะไกลได้ชัดเจน หรืออาจเห็นไม่ชัดทั้งสองระยะ ซึ่งสายตายาวเกิดได้ตั้งแต่อายุยังน้อยหรือเกิดขึ้นเมื่อถึงวัย 40 ปีขึ้นไป โดยส่วนใหญ่สายตายาวจะเป็นตั้งแต่กำเนิดมักเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม แต่อย่างไรก็ตามสายตายาวก็ไม่ได้เป็นภาวะที่อันตรายหรือรุนแรง และสามารถแก้ไขได้สาเหตุของสายตายาวโดยปกติแล้วสายตายาวมักจะเกิดได้ตั้งแต่วัยเด็ก เนื่องจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม แต่เมื่อเจริญเติบโตขึ้นอาการสายตายาวก็สามารถหายไปได้เอง แต่ในรายที่การพัฒนาของตาได้หยุดลงช่วงอายุประมาณ 9 ปี อาจจะยังคงมีปัญหาสายตายาวอยู่ แต่ดวงตาจะสามารถปรับโฟกัสของตาเพื่อแก้ไขปัญหาเองได้ แต่เมื่ออายุมากขึ้นการปรับโฟกัสของตาก็อาจทำได้น้อยลงนอกจากนี้เมื่ออายุประมาณ 40 ปี ดวงตาจะโฟกัสวัตถุระยะใกล้ได้น้อยลงหรือที่เรียกว่า สายตายาวผู้สูงอายุ สายตายาวมีสาเหตุมาจากลูกตาเล็กเกินไปหรือกระจกตาไม่โค้งมนเพียงพอ ทำให้ระยะห่างระหว่างกระจกตาและจอประสาทตาสั้นลง เป็นสาเหตุทำให้แสงจากวัตถุไม่โฟกัสบนจอประสาทตา แต่ไปโฟกัสหลังจอประสาทตา ซึ่งส่งผลให้เห็นภาพไม่ชัดเจนอาการสายตายาวหากท่านผู้อ่านเริ่มมีความสงสัยว่าตนเองมีความเสี่ยงในการที่จะสายตายาว ก็ลองตรวจสอบตนเองดูว่ามีอาการเหล่านี้บ้างหรือไม่ หากพบว่ามีอาการเหล่านี้ก็อาจเป็นไปได้ว่าท่านเริ่มมีอาการสายตายาว และควรไปพบแพทย์เพื่อหาวิธีการแก้ไขที่ถูกต้อง ซึ่งอาการสายตายาวที่มักพบ ได้แก่1. มองเห็นวัตถุในระยะใกล้ได้ไม่ชัดเจน เช่น การอ่านหนังสือ การร้อยด้ายกับเข็ม การอ่านฉลากยา2. ไม่สบายตาหรือปวดศีรษะจากการที่ต้องใช้สายตาเป็นเวลานาน3. มองภาพไม่ชัดเจน โดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืน4. มีอาการปวดศีรษะ เนื่องจากกล้ามเนื้อตาทำงานหนักเกินไป มักจะปวดบริเวณหน้าผาก โดยส่วนใหญ่ไม่มีอาการในตอนเช้าแต่จะมีอาการในตอนเย็น ถ้างดใช้สายตาสักพักอาการปวดก็จะหายไปเอง5. ปวดดวงตาหรือปวดบริเวณรอบดวงตา6. แสบตาหรือตาสู้แสงไม่ได้7. ต้องหรี่ตาเพื่อการมองเห็นที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น8. มองใกล้ไม่ชัดเร็วกว่าวัยอันควร โดยคนทั่วไปจะมีภาวะสายตายาวผู้สูงอายุเมื่อมีอายุ 40 ปีขึ้นไป แต่ผู้ที่มีสายตายาวอยู่ก่อนแล้วอาจจะเกิดเร็วขึ้น9. สายตายาวในเด็กมักจะไม่ปรากฏอาการแสดง แต่ในรายที่รุนแรงอาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ ขยี้ตา หรืออาจตาเขได้การวินิจฉัยสายตายาวการวินิจฉัยสายตายาวหรือการตรวจสอบสายตาของเราในเบื้องต้นเพื่อดูว่าสายตามีความผิดปกติหรือไม่นั้น จะเริ่มจากการสอบถามอาการและตรวจสายตาโดยจักษุแพทย์ รวมไปถึงการตรวจดวงตา ส่องตรวจในตา วัดความดันลูกตา ตรวจด้วยเครื่องตรวจตาและอาจรวมไปถึงการทดสอบการมองเห็นแบบอื่นๆ เมื่อทดสอบสายตาแล้วผลปรากฏว่า "สายตายาว" แพทย์ก็จะใช้อุปกรณ์เรติโนสโคปวัดการหักเหของแสงของตา เพื่อหาสาเหตุ นอกจากนี้แพทย์อาจใช้เครื่องวัดกำลังสายตาเพื่อวัดความผิดปกติในการหักเหของแสงร่วมด้วยภาวะแทรกซ้อนของสายตายาวนอกจากอาการต่างๆ ที่คนที่มีสายตายาวจะต้องพบแล้วนั้น อาจยังพบภาวะแทรกซ้อนของสายตายาวอีกและอาจทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา ดังนี้1. อาจทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี ไม่สามารถทำงานหรือทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ2. อาจทำให้ต้องหรี่ตาเพื่อให้มองเห็นได้ชัดเจนขึ้น ทำให้มีอาการปวดตา ตาล้า หรือปวดศีรษะได้3. อาจทำให้เกิดอันตรายหรืออุบัติเหตุต่อตนเองและผู้อื่นได้4. ในเด็กที่มีปัญหาสายตายาวหากรุนแรงอาจมีผลทำให้ตาเหล่ได้วิธีรักษาสายตายาวสำหรับวิธีการรักษาอาการสายตายาวนั้นก็มีหลายวิธีที่พอจะทำให้อาการสายตายาวนั้นดีขึ้น และลดความลำบากในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันลงไปได้ ซึ่งมีวิธีการรักษา ดังนี้1. หากสงสัยว่าตนเองจะมีอาการสายตายาว ควรไปตรวจวัดสายตาที่โรงพยาบาล หรือไปให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ตรวจวินิจฉัย เพื่อดำเนินการแก้ไขอย่างถูกวิธี2. ตัดแว่นชนิดเลนส์นูนมาใส่ ซึ่งจะช่วยให้เห็นได้ชัดเจนมากขึ้นและช่วยลดอาการปวดตาได้ แต่จะต้องหมั่นตรวจสายตาอยู่เป็นประจำ เพราะอาจจะต้องเปลี่ยนแว่นอยู่บ่อยๆ เนื่องจากกำลังในการหักเหแสงของตาจะอ่อนลงไปในขณะที่อายุมากขึ้น3. หากพบว่ามีภาวะตาเขร่วมด้วย ซึ่งในกรณีเช่นนี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการใส่แว่นเพื่อไม่ให้ต้องเพ่งสายตา ส่วนในกรณีที่ไม่มีภาวะตาเขร่วมด้วย การจะใช้แว่นสายตาหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับการใช้สายตาของผู้ป่วย ถ้าใช้สายตามากก็ควรได้รับการแก้ไข แต่ถ้าไม่มีอาการก็อาจใช้วิธีปรับดูจากดวงตาเอาเอง หรือถ้าสายตายาวแต่การมองเห็นยังไม่บกพร่องหรือไม่ก่อให้เกิดผลกระทบในชีวิตประจำวันก็อาจยังไม่ต้องแก้ไขก็ได้4. ในบางรายอาจรักษาสายตายาวด้วยการทำเลสิก (LASIK)5. เมื่อมองไม่ชัดเจนหรือมีการมองเห็นที่ผิดปกติไปจากเดิม ควรไปพบจักษุแพทย์ก่อนเสมอ เพื่อแพทย์จะได้ช่วยตรวจให้แน่ชัดและให้การรักษาที่ถูกต้องต่อไปการป้องกันสายตายาวเนื่องจากอาการสายตายาวเป็นอาการที่ไม่สามารถป้องกันได้ เพราะเกิดจากปัจจัยการถ่ายทอดทางพันธุกรรมหรือความเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติตามกาลเวลา ดังนั้นการป้องกันจึงเป็นเรื่องที่ยาก แต่ก็พอจะมีวิธีที่จะช่วยปกป้องดวงตาและการมองเห็นของตนเองให้เสื่อมประสิทธิภาพช้าลงได้ด้วยวิธีต่อไปนี้1. ควรตรวจสุขภาพดวงตาเป็นประจำ เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพในการมองเห็นหรือตรวจสอบความผิดปกติเกี่ยวกับดวงตา2. เลือกแว่นตาที่เหมาะสมกับสายตาของตนเอง ซึ่งจะช่วยให้การมองเห็นเป็นไปอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ โดยต้องทดสอบสายตาเป็นประจำเพื่อดูความเหมาะสมของแว่นตาที่ใช้อยู่3. ใส่ใจเรื่องดวงตาเมื่อมีโรคประจำตัว โดยหากเป็นผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง อาจมีผลกระทบต่อการมองเห็นได้ หากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม4. หมั่นสังเกตตนเอง ว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นกับดวงตาหรือไม่ เช่น ตาข้างใดข้างหนึ่งมองไม่เห็น เห็นไม่ชัด ตามัว โดยอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของภาวะที่รุนแรงได้ ดังนั้นหากพบอาการต่างๆ ดังกล่าว ควรรีบไปพบแพทย์5. ปกป้องดวงตาจากแสงอาทิตย์หรือรังสีอัลตร้าไวโอเลต (UV) ด้วยการใส่แว่นตากันแดด โดยเฉพาะหากต้องอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน หรือเป็นผู้ที่ต้องใช้ยาที่ส่งผลทำให้ตามีความไวต่อรังสียูวี6. รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะผักใบเขียวและผลไม้ที่มีสีอ่อน เช่น ผักโขม ผักคะน้า แครอท มันเทศและแคนตาลูป เพราะมีส่วนช่วยในการรักษาสภาพของจอประสาทตาให้ดี และสามารถช่วยชะลอความเสื่อมสภาพของเซลล์เยื่อชั้นในของลูกตาได้อีกด้วย7. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของดวงตาได้ โดยเฉพาะการเสื่อมสภาพของเซลล์เยื่อชั้นในของลูกตา8. ใช้สายตาในที่ที่มีแสงสว่าง หากต้องใช้สายตาในการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น อ่านหนังสือหรือเขียนหนังสือ ควรอยู่ในที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอ เพราะจะช่วยให้มองเห็นได้ดีขึ้นและช่วยให้ตาไม่ต้องเพ่งมากจนเกินไป จนส่งผลให้สายตาเสียในระยะยาวได้อาการสายตายาว ที่เราเคยเข้าใจว่าเกิดเฉพาะในผู้ที่มีอายุ 40 ขึ้นไป จนเราปล่อยปละละเลยไม่สนใจ เนื่องจากปัญหาสายตายาวไม่ได้อันตรายหรือมีความรุนแรงแต่อย่างใด แต่จริงๆ แล้วสายตายาวสามารถเกิดได้ตั้งแต่อายุน้อยๆ หากเราไม่ใส่ใจที่จะดูแลรักษาดวงตาหรือตรวจสุขภาพดวงตาอยู่เป็นประจำ ก็อาจส่งผลให้อาการที่มีอยู่นั้นค่อยๆ ทวีความรุนแรงขึ้นไปเรื่อยๆ สร้างความลำบากในการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน ดังนั้นเมื่อรู้ถึงสาเหตุ อาการ และวิธีป้องกันสายตายาวกันไปแล้ว ควรรีบหันมาใส่ใจดูแลดวงตาของเราเสียตั้งแต่วันนี้คงยังไม่สายเกินไป