free web tracker, fire_lady “โรคแอดดิสัน” อีกหนึ่งโรคเรื้อรัง อันตรายที่ต้องระวัง!! • สุขภาพดี

โรคแอดดิสัน” อีกหนึ่งโรคเรื้อรัง อันตรายที่ต้องระวัง!!

โรคแอดดิสัน สาเหตุ อาการ

ร่างกายของคนเราในปัจจุบันอาจป่วยด้วยโรคต่างๆ ได้มากมาย ซึ่งถ้าเป็นโรคที่พบบ่อยๆ และเคยได้ยินชื่อมาก่อน อย่างโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ก็อาจจะพอเดาอาการและรีบไปพบแพทย์ได้ทันท่วงที แต่หากป่วยเป็นโรคที่ไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อนหรือเคยได้ยินแต่ไม่รู้จัก อาจทำให้สรุปได้ยากว่าตัวเองป่วยเป็นโรคอะไรกันแน่ 

หากพูดถึง “Addison's Disease” หรือ “โรคแอดดิสัน” ถ้าเป็นรุ่นปู่ย่าหรือรุ่นพ่อแม่อาจจะไม่เคยได้ยินชื่อโรคนี้มาก่อนด้วยซ้ำ โรคนี้เป็นความผิดปกติที่เกี่ยวกับต่อมหมวกไต พบได้ไม่บ่อยนัก โดยส่งผลให้ต่อมหมวกไตซึ่งอยู่เหนือไตทั้ง 2 ข้าง ผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอลและฮอร์โมนอัลดอสเตอโรนได้ไม่เพียงพอ ซึ่งฮอร์โมนดังกล่าวมีผลต่ออารมณ์ ระบบเผาผลาญ การทำงานของเนื้อเยื่อ การเจริญเติบโต และการจัดการกับความเครียด ผู้ป่วยโรคนี้จึงจำเป็นต้องได้รับฮอร์โมนสังเคราะห์ทดแทน เพื่อช่วยให้กลไกต่างๆ ในร่างกายทำงานเป็นปกติ ไม่เช่นนั้นอาจเกิดอันตรายถึงชีวิตได้ ส่วนสาเหตุ อาการ วิธีรักษา และป้องกันโรคแอดดิสัน ทำได้อย่างไร เราไปรู้รายละเอียดลึกๆ พร้อมๆ กันได้เลยค่ะ

สาเหตุของการเกิดโรคแอดดิสัน

โรคแอดดิสันนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลัก คือ ภาวะต่อมหมวกไตทำงานบกพร่องแบบปฐมภูมิ และภาวะต่อมหมวกไตทำงานบกพร่องแบบทุติยภูมิ ซึ่งทั้ง 2 ประเภทจะมีสาเหตุการเกิดที่แตกต่างกัน ดังนี้

1. ภาวะต่อมหมวกไตทำงานบกพร่องแบบปฐมภูมิ ภาวะนี้จะเกิดขึ้นเมื่อต่อมหมวกไตได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงจนไม่สามารถผลิตฮอร์โมนได้อีก โดยมักมีสาเหตุมาจากโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติและหันมาทำลายต่อมหมวกไต รวมทั้งอาจเกิดจากอาการเจ็บป่วยอื่นๆ ได้ เช่น วัณโรค การติดเชื้อที่ต่อมหมวกไต มะเร็งต่อมหมวกไต และภาวะมีเลือดออกที่ต่อมหมวกไต เป็นต้น

2. ภาวะต่อมหมวกไตทำงานบกพร่องแบบทุติยภูมิ ภาวะนี้จะเกิดจากความผิดปกติของต่อมใต้สมองที่ทำให้ไม่สามารถผลิตแอดรีโนคอร์ติโคทรอพิกฮอร์โมนได้ (Adrenocorticotropic Hormone: ACTH) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่คอยกระตุ้นให้ต่อมหมวกไตผลิตฮอร์โมนออกมา เมื่อมีแอดรีโนคอร์ติโคทรอพิกฮอร์โมนไม่เพียงพอ ต่อมหมวกไตจึงผลิตฮอร์โมนได้ไม่เพียงพอตามไปด้วย นอกจากนี้ผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เพื่อรักษาโรคเป็นประจำ เช่น โรคหอบหืดหรือโรคข้ออักเสบ เป็นต้น ก็อาจเสี่ยงต่อภาวะต่อมหมวกไตทำงานบกพร่องแบบทุติยภูมิได้หากหยุดใช้ยาอย่างฉับพลัน

อาการของโรคแอดดิสัน

ในช่วงแรกๆ ของการป่วยด้วยโรคแอดดิสันผู้ป่วยจะไม่ปรากฏอาการ แต่ผู้ป่วยมักจะค่อยๆ แสดงอาการในช่วงเวลาหลายเดือนต่อมา โดยมีอาการที่สังเกตได้ของโรคแอดดิสัน มีดังนี้

สาเหตุ อาการของโรคแอดดิสัน

1. รู้สึกเหนื่อยล้า และอ่อนเพลีย
2. กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดกล้ามเนื้อ และปวดตามข้อ
3. ไม่อยากรับประทานอาหาร น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
4. สีผิวเข้มขึ้น
5. ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นช้า
6. รู้สึกวิงเวียนศีรษะ เป็นลมหมดสติ
7. มีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ
8. รู้สึกอยากอาหารเฉพาะอาหารที่มีรสเค็ม
9. มีอาการคลื่นไส้ และอาเจียน
10. ท้องเสีย และปวดท้อง
11. รู้สึกหงุดหงิด หรือซึมเศร้า
12. ขนตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายร่วง
13. ผู้ป่วยเพศหญิงอาจมีภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ

ผู้ป่วยบางรายอาจแสดงอาการอย่างเฉียบพลันหรือมีอาการแย่ลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งถือเป็นภาวะวิกฤติที่ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน ไม่เช่นนั้นอาจก่อให้เกิดภาวะช็อกและเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้ป่วยมีอาการดังต่อไปนี้ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที

1. ปวดบริเวณหลังส่วนล่าง ท้อง หรือขาอย่างรุนแรงและเฉียบพลัน
2. อาเจียนหรือท้องเสียอย่างหนัก
3. มีไข้สูง
4. ความดันโลหิตต่ำ ซึ่งอาจทำให้มีอาการวิงเวียนคล้ายจะเป็นลม และมีผิวซีด
5. มีภาวะโพแทสเซียมสูงและโซเดียมต่ำ ซึ่งอาจทำให้หมดสติหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง

ภาวะแทรกซ้อนของโรคแอดดิสัน

นอกจากที่ผู้ป่วยโรคแอดดิสันจะต้องพบกับอาการดังกล่าวข้างต้นแล้ว ผู้ป่วยบางรายอาจมีโรคหรือภาวะเจ็บป่วยอื่น ๆ เกิดขึ้นตามมาด้วย เช่น โรคเบาหวาน หรือภาวะไฮโปไทรอยด์ เป็นต้น ผู้ป่วยโรคแอดดิสันจะต้องมีวินัยในการรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ เพราะหากไม่รับประทานยาหรือรับประทานยาช้ากว่าเวลาที่กำหนด อาจทำให้รู้สึกเหนื่อยล้าหรือนอนไม่หลับได้

นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจมีอาการแย่ลงอย่างเฉียบพลันหรือที่เรียกว่าภาวะวิกฤติ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากปัจจัยหลายอย่าง เช่น การเจ็บป่วยอื่น ๆ การผ่าตัด ภาวะขาดน้ำ การหยุดใช้ยาหรือลดปริมาณยาที่ใช้รักษาอย่างกะทันหัน เป็นต้น หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจนำไปสู่ภาวะช็อก ชัก และอาการแย่ลงอย่างรุนแรงได้

การวินิจฉัยโรคแอดดิสัน

ในเบื้องต้นการวินิจฉัยแพทย์จะเริ่มจากการสอบถามประวัติสุขภาพและอาการ ตรวจร่างกาย รวมทั้งดูว่าผิวหนังส่วนใดมีสีคล้ำผิดปกติหรือไม่ จากนั้นจึงอาจใช้วิธีอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อระบุผลที่แน่ชัด โดยวิธีการตรวจวินิจฉัยที่นำมาใช้ ได้แก่

1. การตรวจเลือด เป็นวิธีการวัดระดับโซเดียม โพแทสเซียม ฮอร์โมนคอร์ติซอล และแอดรีโนคอร์ติโคทรอพิกฮอร์โมน เพื่อดูว่าเข้าข่ายภาวะต่อมหมวกไตทำงานบกพร่องหรือไม่ รวมทั้งเพื่อวัดปริมาณสารภูมิต้านทานที่สามารถบ่งบอกถึงการป่วยเป็นโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง

2. การตรวจภาวะทำงานผิดปกติของต่อมหมวกไต (ACTH Stimulation Test) โดยวัดระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลในเลือดก่อนและหลังฉีดแอดรีโนคอร์ติโคทรอพิกฮอร์โมน หากต่อมหมวกไตเกิดความเสียหาย ระดับคอร์ติซอลของผู้ป่วยจะไม่เพิ่มขึ้นหลังฉีดฮอร์โมนดังกล่าว

3. การตรวจด้วยภาพถ่าย ได้แก่ การทำซีทีสแกน การทำเอ็มอาร์ไอสแกน และการเอกซเรย์ เพื่อตรวจดูขนาดและความผิดปกติของต่อมหมวกไตและต่อมใต้สมอง ซึ่งช่วยให้ทราบสาเหตุที่ต่อมหมวกไตทำงานบกพร่อง

4. การทดสอบภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำโดยการฉีดอินซูลิน หากคาดว่าผู้ป่วยมีภาวะต่อมหมวกไตทำงานบกพร่องเนื่องจากโรคต่อมใต้สมอง แพทย์อาจตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดและระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลในหลายช่วงเวลาหลังฉีดอินซูลิน ซึ่งหากระดับน้ำตาลลดต่ำลงและคอร์ติซอลเพิ่มสูงขึ้นจะถือว่าเป็นปกติไม่ได้ป่วย

การรักษาโรคแอดดิสัน

โรคแอดดิสินสามารถรักษาได้โดยการรับประทานฮอร์โมนสังเคราะห์ เพื่อทดแทนฮอร์โมนที่ร่างกายผลิตไม่ได้ เช่น รับประทานฮอร์โมนสังเคราะห์ไฮโดรคอร์ติโซน เพรดนิโซน คอร์ติโซนสำหรับทดแทนฮอร์โมนคอร์ติซอล และรับประทานฮอร์โมนสังเคราะห์ฟลูโดคอร์ติโซนสำหรับทดแทนฮอร์โมนอัลดอสเตอโรน เป็นต้น แต่หากผู้ป่วยอาเจียนหรือไม่สามารถรับประทานยาได้ แพทย์อาจฉีดยาเข้าหลอดเลือดแทน แต่ผู้ป่วยจะต้องรับประทานยาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพราะหากไม่ได้รับการรักษาเป็นเวลานานอาการของโรคอาจเข้าสู่ภาวะวิกฤติ ระดับความดันโลหิตลดต่ำ โพแทสเซียมในเลือดสูง และระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ จนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ซึ่งผู้ป่วยที่มีภาวะร้ายแรงต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน โดยแพทย์จะให้ยาไฮโดรคอร์ติโซน สารละลายน้ำเกลือ และน้ำตาลเดกซ์โทรสแก่ผ่านทางหลอดเลือด เพื่อช่วยให้ระดับความดันโลหิต ระดับน้ำตาล และระดับโพแทสเซียมกลับมาเป็นปกติ

การป้องกันโรคแอดดิสัน

โรคแอดดิสันเป็นโรคที่ไม่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดได้ แต่ถ้าป่วยแล้วสามารถป้องกันอาการของโรคกำเริบได้ โดยต้องรับประทานยาตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ปรึกษาแพทย์ทุกครั้งหากต้องการจะหยุดใช้ยา รวมทั้งพกป้ายแสดงประวัติสุขภาพและอุปกรณ์สำหรับฉีดฮอร์โมนคอร์ติซอลเผื่อไว้ในกรณีฉุกเฉินเสมอ นอกจากนี้ควรหมั่นสังเกตอาการ หากมีอาการแย่ลงควรรีบไปพบแพทย์

ข้อแนะนำสำหรับผู้ป่วยโรคแอดดิสัน

1. ผู้ป่วยโรคนี้จะต้องการเกลือโซเดียมมากขึ้น จึงควรรับประทานอาหารให้เค็มจัด รับประทานพวกโปรตีนและคาร์โบไฮเดรตให้มากๆ และรับประทานให้บ่อยกว่ามื้อปกติ

2. โรคนี้ต้องรับประทานยาทุกวันไม่ให้ขาด จึงจะมีมีชีวิตยืนยาวเช่นคนปกติได้

3. อาจทำให้อาการของโรคนี้กำเริบมากขึ้น ถ้าผู้ป่วยเป็นโรคติดเชื้อ ตั้งครรภ์ หรือมีอาการป่วยอื่นๆ ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะต่อมหมวกไตวายเฉียบพลัน

4. ผู้ป่วยควรพกสมุดหรือบัตรติดตัวเป็นประจำเพื่อบอกถึงโรคที่เป็น และพกยาที่ใช้รักษาติดตัว ซึ่งมักจะให้น้ำเกลือและฉีดไฮโดรคอร์ติโซนเข้าทางหลอดเลือดดำขนาด 100 มิลลิกรัมทันที เพื่อป้องกันการเกิดภาวะต่อมหมวกไตวายเฉียบพลัน

ได้รู้ สาเหตุ อาการ วิธีรักษาโรคแอดดิสัน โรคชื่อแปลก ชื่อไม่คุ้นหูกันไปแล้ว หวังว่าคราวต่อไปที่ได้ยินชื่อนี้ จะร้องอ๋อ พร้อมรับมือกับโรคนี้ได้แบบเอาอยู่นะค่ะ