free web tracker, fire_lady “มะระขี้นก” สรรพคุณ-ประโยชน์ของผักรสขม อุดมด้วยคุณค่าทางอาหาร • สุขภาพดี

มะระขี้นก” สรรพคุณ-ประโยชน์ของผักรสขม ที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหาร

มะระขี้นก สรรพคุณ-ประโยชน์

มะระขี้นก” ผักพื้นบ้านที่หลายๆ คนแค่ได้ยินชื่อแล้วก็รู้สึกถึงความขมของมัน เป็นผักที่เด็กๆ หรือคนอายุน้อยไม่ชอบรับประทานมากเท่าไรนักเนื่องด้วยรสชาติที่ขมจัดจนติดลิ้นติดคอนั่นเอง แต่สุภาษิตไทยบทหนึ่งที่คุ้นหูกันดีก็คือ “หวานเป็นลม ขมเป็นยา” นั้นเป็นเรื่องจริงแท้แน่นอนเพราะเจ้ามะระขี้นกที่สุดแสนจะขมนี่แหละ จัดเป็นยาสมุนไพรชั้นเลิศอีกชนิดหนึ่งที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง ส่วนจะดีเลิศอย่างไร ไปดูสรรพคุณและประโยชน์ของมะระขี้นก ผักรสขมชนิดนี้กันเลย

ที่มาน่ารู้ของมะระขี้นก

มะระขี้นก (Bitter gourd) เป็นพืชที่อยู่ในวงศ์แตง มีชื่อเรียกอื่นๆ หลายชื่อเช่น ผักไซ ผักไห่ (ภาคเหนือ), ผักเหย ผักไห ระ (ภาคใต้) เป็นต้น มะระขี้นกมีถิ่นกำเนิดที่บริเวณเขตร้อนในทวีปเอเชียและทางตอนเหนือของแอฟริกา เป็นมะระขนาดเล็ก มีรสขมจัด เป็นผักพื้นบ้านชนิดหนึ่งที่คนเฒ่าคนแก่นิยมนำมารับประทาน มีคุณค่าทางโภชนาการสูง อุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุและแคลเซียมต่างๆ รวมทั้งมีสรรพคุณทางยาดีๆมากมาย ด้วยเหตุนี้มะระขี้นกจึงถูกนำมาใช้เป็นยากันมาอย่างยาวนาน

มะระขี้นกเป็นพืชที่สามารถเจริญเติบโตได้เองตามธรรมชาติ ดังนั้นนอกจากริมรั้วที่ชาวบ้านปลูกไว้ เราจึงสามารถพบเห็นมะระขี้นกได้ตามสวนทั่วไป

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของมะระขี้นก

ลำต้น เป็นลักษณะเป็นเถาไม้เลื้อยขนาดเล็ก มีมือสำหรับยึดเกาะ ผิวเถาสีเขียว เถามีขนปกคลุม

ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน ใบหยักเว้าลึก ปลายใบแต่หยักแหลม ผิวใบมีขนปกคลุม

ดอก เป็นดอกเดี่ยวแยกเพศ ออกดอกตามซอกใบ กลีบดอกสีเหลืองมี 5 กลีบ ดอกตัวผู้และดอกตัวเมียเจริญเติบโตแยกกันโดยดอกตัวผู้จะเจริญก่อน

ผล มีลักษณะคล้ายกระสวยอันเล็กๆ ผิวขรุขระตลอดทั้งผลและมีปุ่มนูนออกมา ผลดิบสีเขียว ผลสุกมีสีส้มอมเหลือง หากสุกงอมจัดผลจะแตกเป็น 3 แฉก

มล็ด เมล็ดจากผลสุกจะมีเยื่อสีแดงสดหุ้มเอาไว้ ซึ่งนกชอบมาจิกกินเมล็ดแล้วไปขับถ่ายที่อื่นเช่น บนต้นไม้ ตามพื้นดิน เมื่อมีสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต เมล็ดจึงงอก ด้วยเหตุนี้จึงมีชื่อว่า มะระขี้นก นั่นเอง

14 สรรพคุณดีๆ ประโยชน์ของมะระขี้นกที่ดีต่อสุขภาพ

1. มะระขี้นกมีเบต้าแคโรทีน บำรุงสายตา แก้อาการตาฟางและช่วยถนอมสายตา

2. มะระขี้นกมีสรรพคุณช่วยชะลอความชรา สารต่อต้านอนุมูลอิสระในมะระขี้นกมีส่วนช่วยในเรื่องการชะลอความชรา การป้องกันโรคมะเร็งและช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย

3. มะระขี้นกเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์เย็น แก้อาการร้อนใน กระหายน้ำ ลดไข้ บำรุงธาตุ บำรุงร่างกาย รสขมของมะระจะช่วยกระตุ้นให้หลั่งน้ำย่อยมากขึ้น ช่วยให้เจริญอาหาร

4. มะระขี้นกมีสรรพคุณใช้เป็นยาระบาย ลดการเกิดริดสีดวง

5. มะระขี้นกช่วยรักษาแผลที่บวม อักเสบ เป็นหนอง ฝี ช่วยสมานแผล

6. สรรพคุณของมะระขี้นกรักษาโรคกระเพาะ โรคบิด ถ่ายเป็นมูกเลือด บรรเทาอาการท่อน้ำดีอักเสบ ลดอาการจุก เสียด แน่นท้อง ช่วยขับลม

7. เมล็ดมะระขี้นกมีสรรพคุณนำมาใช้เป็นยาถ่ายพยาธิได้

8. มะระขี้นกช่วยลดอาการปวดเมื่อยตามข้อมือข้อเท้า ข้อเท้าบวม และรอยฟกช้ำตามร่างกาย

9. มะระขี้นกมีสรรพคุณช่วยรักษาโรคหิด ผดผื่นคันตามผิวหนังหรือโรคผิวหนังต่างๆ โดยการนำผลแห้งของมะระขี้นกมาบดเป็นผงแล้วโรยในบริเวณที่มีอาการ

10. ประโยชน์ของมะระขี้นกช่วยบำรุงตับ ม้ามและน้ำดี

11. มะระขี้นกช่วยลดไข้ ปวดศีรษะ ลดเสมหะในลำคอและอาการไอเรื้อรัง

12. มะระขี้นกมีสรรพคุณที่ช่วยในการฟอกเลือด ขับประจำเดือน ทำให้ประจำเดือนมาปกติ

13. มะระขี้นกช่วยลดความดันโลหิตและลดการหนาตัวของผนังหลอดเลือด

14. มะระขี้นกช่วยลดอาการปากเปื่อย ปากแห้ง ปากลอกเป็นขุยและอาการปวดฟัน

มะระขี้นกช่วยลดเบาหวานได้จริงหรือ?

ในมะระขี้นกมีสารเคมีหลายชนิดที่ทำงานร่วมกันโดยออกฤทธิ์ต่อต้านเบาหวาน ตึงทำให้มะระขี้นกทำงานได้หลายอย่างเช่น ลดระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ เสริมสร้างการเผาผลาญน้ำตาลและลดการผลิตน้ำตาลจากตับ เสริมสร้างการสร้างอินซูลินจากตับอ่อนแต่ยับยั้งการหลั่งกลูโคสที่ลำไส้เล็ก ทำให้ร่างกายไวต่ออินซูลินและทนทานต่อกลูโคสมากยิ่งขึ้น จึงช่วยลดและรักษาระดับน้ำตาลในเลือดได้เป็นอย่างดี ดังนั้นจึงมีผลโดยตรงต่อการรักษาโรคเบาหวานนั่นเอง หากต้องการนำมะระขี้นกมารักษาโรคเบาหวานนั้น ควรใช้วิธีคั้นน้ำจากผลสดหรือปั่นแล้วนำมาดื่ม ร่างกายจะดูดซึมได้ดีและรวดเร็ว สูญเสียธาตุอาหารจากกระบวนการย่อยน้อย ทำให้ผลการรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้การรักษาควรรักษาควบคู่ไปกับการรักษาจากแพทย์แผนปัจจุบัน การออกำลังกายและการควบคุมอาหารจึงจะได้ผลดีที่สุด

มะระขี้นกมีโทษต่อร่างกาย? ข้อควรระวังในการทานมะระขี้นก

1. มะระขี้นกเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์เย็นมาก ผู้ที่มีภาวะกระเพาะเย็นพร่อง ม้ามเย็นพร่อง ไม่ควรรับประทานเพราะจะทำให้ปวดท้อง ท้องเสียได้

2. ในมะระขี้นกสุกมีสารซาโปนินอยู่ปริมาณมาก การรับประทานมะระขี้นกสุกอาจทำให้ ปวดท้อง ท้องเสีย อาเจียนและอาจอันตรายจนถึงแก่ชีวิตได้

3. มะระขี้นกช่วยในเรื่องการขับเลือด ดังนั้นสตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทานมากเกินไป เพราะอาจจะกระตุ้นให้มดลูกบีบตัวรุนแรง จนทำให้ตกเลือดหรือแท้งบุตรได้

4. เมล็ดมะระขี้นกมีสารที่ชื่อ "ไวซิน" ซึ่งอาจมีผลทำให้ผู้ที่รับประทานเข้าไปมีอาการปวดศีรษะ ปวดท้องและเป็นไข้ได้

ผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากมะระขี้นก

1. มะระขี้นกเชื่อม เนื่องจากรสที่ขมจัดของมัน จึงมีการนำมาแปรรูปเพื่อให้รับประทานง่าย มะระขี้นกเชื่อมจากที่ขมๆจะกลับมามีรสชาติหวานอร่อยจนสามารถรับประทานเป็นอาหารทานเล่นได้ ถึงแม้จะสูญเสียคุณค่าทางอาหารอาหารไปบ้าง แต่ก็ยังมีประโยชน์เยอะอยู่จนไม่ควรมองข้าม

2. แคปซูลมะระขี้นก โดยนำมามะระขี้นกมาตากแห้งแล้วบดเป็นผง บรรจุแคปซูล ทำให้รับประทานง่ายมากขึ้นสำหรับผู้ที่ไม่ชอบรับประทานมะระขี้นกสดซึ่งมีรสชาติขมจัดนั่นเอง

3. ชามะระขี้นก ผลิตจากมะระขี้นกแห้งที่ถูกนำมาบดเป็นผง หรือหั่นชิ้นตากแห้ง ซึ่งชามะระขี้นกแต่ละยี่ห้อก็จะมีสูตรแตกต่างกันไปโดยปรับปรุงกลิ่นและรสชาติให้ดื่มง่าย ไม่ขม ไม่เหม็นเขียว

ชามะระขี้นก

ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะระขี้นกส่วนใหญ่ อาจจะสูญเสียวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ไปบ้างในกระบวนการผลิต แต่จะยังคงสรรพคุณในเรื่องการลดระดับน้ำตาลในเลือดและการรักษาโรคเบาหวานอยู่เหมือนเดิม

คำแนะนำในการรับประทานมะระขี้นก

1. หากจะรับประทานมะระขี้นกที่เป็นผลแก่ ต้องคว้านเมล็ดออกก่อน เนื่องจากเมล็ดมีสารไวซินที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้

2. มะระขี้นกมีรสขมจัด สามารถลดความขมลงได้โดยการนำมาลวดในน้ำเดือดจัดที่ใส่เกลือลงไปเล็กน้อย หรือต้มนานหน่อยก็ช่วยลดความขมลงได้เช่นกัน

3. การทำน้ำมะระขี้นกดื่ม ไม่ควรดื่มแบบขมจัด เพราะจะทำให้ตับทำงานหนัก

รู้สรรพคุณและคุณประโยชน์ของมะระขี้นกกันไปแล้ว หลายคนคงเลิกยี้ผักชนิดนี้แล้วหันมาสนใจกันมากขึ้น หากไปเห็นตามริมรั้วหรือริมสวนที่ไหน อย่าลืมเก็บกลับมาต้มจิ้มกับน้ำพริกรับประทานและสำหรับผู้ที่ต้องรับประทานมะระขี้นกเพื่อวัตถุประสงค์ในการรักษาโรคเบาหวานหรือโรคอื่นๆ ควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสมและระมัดระวังเรื่องสารอันตรายในมะระขี้นกสุกด้วย ส่วนการรักษานั้นควรรักษาควบคู่การแพทย์แผนปัจจุบันและการดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงซึ่งจะเป็นวิธีการรักษาที่ได้ผลดีและยั่งยืนที่สุดนั่นเอง