free web tracker, fire_lady “สะเดา” สรรพคุณ-ประโยชน์ของสะเดา ผักรสขม มีสรรพคุณทางยา • สุขภาพดี

สะเดา” สรรพคุณ-ประโยชน์ของสะเดา ผักรสขมที่อุดมไปด้วยสรรพคุณทางยา

สะเดา สรรพคุณ-ประโยชน์

เมื่อนึกถึงผักที่มีรสขม นอกจากมะระแล้วก็มี “สะเดา” นี่เองที่สามารถทำให้หลายๆ คนไม่ชอบเพียงแค่ได้ยินชื่อแล้วรู้กิตติศัพท์ความขมของมัน สะเดาจึงเป็นผักที่คนทั่วๆ ไปไม่นิยมรับประทานกันมากนัก นอกเสียจากคนสูงอายุหน่อยที่จะชอบนำสะเดามาลวกกินกับน้ำปลาหวานอย่างเอร็ดอร่อยจนดูเหมือนว่าสะเดามีรสชาติที่อร่อยชวนรับประทานเสียเหลือเกิน    ถึงแม้ว่าจะขมไปหน่อยแต่อย่างที่รู้กันว่า หวานเป็นลม ขมเป็นยา ดังนั้นสะเดาจึงจัดเป็นพืชแห่งยาชนิดหนึ่งที่นอกจากดอกและยอดอ่อนสะเดาจะมีประโยชน์มากแล้ว ส่วนประกอบอื่นๆ ของสะเดาก็มีประโยชน์อีกเพียบเช่นกัน

ที่มาน่ารู้ของสะเดา

สะเดา” เป็นไม้ยืนต้นชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์กระท้อน มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นอื่นๆหลายชื่อเช่น สะเลียม(ภาคเหนือ), สะเดา (ภาคกลาง), เดา กระเดา กะเดา (ภาคใต้) เป็นต้น มีถิ่นกำเนิดที่ประเทศอินเดีย ปัจจุบันสามารถพบได้ทั่วไปตามป่าแล้งในประเทศอินเดีย มาเลเซีย พม่า อินโดนีเซีย ศรีลังกา ปากีสถานและประเทศไทย เป็นพืชยืนต้นขนาดใหญ่ที่เจริญเติบโตง่ายและเร็ว สามารถทนต่อสภาพความแห้งแล้งได้เป็นอย่างดี

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของสะเดา

ลำต้น เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูงได้ถึง 15-20 เมตร เปลือกลำต้นสีน้ำตาลอมเทา ขรุขระมาก แตกเป็นร่องๆหรือเป็นแผ่นเมื่อแก่จัดแต่เปลือกของกิ่งจะเรียบมากกว่า เรือนยอดค่อนข้างเป็นพุ่มหนาตลอดทั้งปี เนื้อไม้ด้านในสีน้ำตาลอมแดง มีความแข็งแรงทนทานมาก

ใบ สะเดาเป็นพืชที่มีใบจำนวนมากและหนาทึบ ลักษณะเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ก้านใบยาวประมาณ 15-35 เซนติเมตร ใบย่อยออกเป็นคู่ๆ ตรงข้ามกันประมาณ 6-7 คู่ ปลายก้านมีใบย่อยเพียงใบเดียว ใบอ่อนมีสีแดงอมเขียว ใบแก่สีเขียวเข้ม โคนใบแหลมและเบี้ยวอย่างชัดเจน ส่วนปลายใบจะยาวและแหลมกว่าโคนใบมาก ขอบใบหยักแหลมเหมือนฟันปลา ผิวใบค่อนข้างเรียบ ปลายที่อยู่ปลายก้านจะมีขนาดใหญ่ที่สุด ในช่วงฤดูแล้งใบส่วนล่างๆ จะร่วงหล่นและแตกขึ้นมาใหม่อย่างรวดเร็วหลังจากนั้นไม่นาน

ดอก ดอกออกเป็นช่อตามซอกใบหรือปลายกิ่ง ประกอบไปด้วยดอกย่อยจำนวนมาก ก้านดอกยาว กลีบดอกสีขาวมี 5-6 กลีบแยกจากกัน มีขนนุ่มและสั้นปกคลุมอยู่ ตรงกลางมีเกสรและอับเรณู ดอกมีกลิ่นหอม

ผล เป็นรูปทรงไข่ เป็นพวงคล้ายองุ่น ผิวเนียนเรียบ ผลอ่อนสีเขียว ผลสุกสีเหลือง ผิวและเนื้อบาง รสหวานเล็กน้อย

เมล็ด มีขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับขนาดผล หนึ่งผลมีหนึ่งเมล็ด รูปร่างกลมรี ผิวค่อนข้างเรียบ มีร่องตื้นๆ เล็กๆอยู่ เปลือกเมล็ดมีสีเหลืองซีดหรือสีน้ำตาล ในเมล็ดมีน้ำมันหอมระเหยอยู่ในปริมาณมาก

ลักษณะของต้นสะเดา

ชนิดของสะเดา

1.สะเดาไทย หรือสะเดาบ้าน ขอบใบหยักเหมือนฟันปลาและที่ปลายหยักจะทู่มน โคนใบเบี้ยว ปลายใบแหลม สามารถพบเห็นได้ทั่วไป มี 2 ชนิดคือ สะเดามันและสะเดาขม สามารถสังเกตชนิดได้จากสีของดอก สะเดามันจะมีดอกสีขาว สะเดาขมจะมีดอกสีแดง

2.สะเดาอินเดีย มีลักษณะคล้ายกับสะเดาไทยแต่ขอบใบที่หยักจะมีปลายแหลมกว่า โคนใบเบี้ยวและปลายใบเรียวแหลมมากกว่าสะเดาไทย

3.สะเดาช้าง หรือสะเดาเทียม จะมีขนาดใบและผลที่ใหญ่กว่าสะเดา 2 ชนิดด้านบน ขอบใบเรียบกว่าเล็กน้อย

สะเดาไทยกับสะเดาช้างจริงๆ แล้วเป็นสะเดาชนิดเดียวกันเพียงแต่คนละสายพันธุ์ส่วนสะเดาช้างนั้นเป็นสะเดาคนละชนิดกับ 2 ชนิดแรกแต่เป็นพืชที่อยู่วงศ์เดียวกัน

27 สรรพคุณ และประโยชน์ของสะเดาในการรักษาโรค

1. สะเดามีสรรพคุณช่วยบำรุงธาตุ บำรุงร่างกาย บำรุงเลือด

2. สะเดาช่วยกระตุ้นการหลั่งน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร ทำให้เจริญอาหาร ลดอาการเบื่ออาหาร ช่วยรักษาโรคซูบผอมจากการขาดสารอาหารหรือ โรคซูบผอมที่เป็นโรคแทรกซ้อนจากโรคอื่นๆ

3. สะเดามีฤทธิ์ช่วยคลายเครียด ลดความกังวลและช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น

4. สะเดาช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งหรือเนื้องอกในร่างกาย ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน

5. สะเดาช่วยดับพิษร้อนในร่างกาย ลดไข้ ปวดศีรษะ เป็นหวัด น้ำมูกไหล แก้ไอ ขับเสมหะในปากและลำคอ หากมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัวคล้ายๆ จะมีไข้ก็สามารถรับประทานสะเดาก่อนได้ อาการจะดีขึ้น

6. สะเดามีสรรพคุณแก้อาการร้อนใน กระหายน้ำ ช่วยรักษาแผลในปากที่เกิดจากอาการร้อนใน

7. สะเดาช่วยลดกลิ่นปาก ฆ่าเชื้อโรคในปากและลำคอโดยนำกิ่งอ่อนสะเดามาสีฟันและเคี้ยว จะทำให้ฟันลื่น ขาวสะอาดและเหงือกแข็งแรง ในระหว่างสีฟันหากมีขนจากกิ่งอ่อนหลุดสามารกลืนไปได้เลยไม่มีอันตรายใดๆ

8. ประโยชน์ของสะเดารักษาโรครำมะนาด เหงือกอักเสบ ฟันโยกคลอน เสียวฟันโดยใช้กิ่งสะเดามาสีฟัน และถ้าเจ็บคอ ริมฝีปากหรือช่องปากเป็นแผลให้รับประทานยอดสะเดา อาการจะดีขึ้น

9. สะเดาช่วยรักษาอาการปวดท้อง ท้องเสีย ท้องร่วง โรคบิด ขับถ่ายเป็นมูกเลือด โดยรับประทานสะเดาแก่ต้มกับน้ำ อาการถ่ายจะหยุดและอาการปวดท้องจะทุเลา

10. สรรพคุณของสะเดาช่วยขับลม ช่วยย่อยอาหาร ลดอาการท้องอืดท้องเฟ้อ ทำให้อุจจาระนิ่มขึ้น ขับถ่ายสะดวกจึงมีส่วนลดลดอาการท้องผูกและรักษาโรคริดสีดวงทวาร

11. สะเดาช่วยบำรุงหัวใจในผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ หัวใจเต้นผิดปกติ ช่วยขยายหลอดเลือด ช่วยให้ระบบไหลเวียนเลือดทำงานได้ดีขึ้น

12. ประโยชน์ของสะเดาใช้เป็นยาถ่ายพยาธิได้

13. สะเดามีสรรพคุณช่วยขับปัสสาวะ แก้อาการปัสสาวะขัดแสบ ปัสสาวะออกยากหรืออกแบบกระปริดกระปรอย

14. สะเดาช่วยบำรุงถุงน้ำดี บรรเทาอาการถุงน้ำดีอักเสบ กระตุ้นให้น้ำดีมีมากขึ้น ทำให้ย่อยไขมันได้ดีขึ้น

15. สะเดาช่วยรักษาโรคผิวหนังต่างๆ เช่น โรคหิด โรคเรื้อน อาการคันตามผิวหนัง ผดผื่นต่างๆ และลมพิษ เป็นต้น

16. สรรพคุณของสะเดาช่วยรักษาแผล โดยใช้เปลือกลำต้นต้มกับน้ำใช้ล้างแผลและฆ่าเชื้อโรค

17. สะเดามีสรรพคุณช่วยรักษาฝี ฝีหนอง แผลอักเสบพุพองมีน้ำหนองไหล

18. สะเดาช่วยบรรเทาและถอนพิษจากการถูกแมลงสัตว์กัดต่อย ลดการปวดบวมและอักเสบของกล้ามเนื้อบริเวณที่มีอาการ

19. สะเดาช่วยรักษาโรคเบาหวาน โดยจะช่วยปรับสมดุลของน้ำตาลในเลือดให้ดีมากขึ้น

20. ประโยชน์ของสะเดานำมารับประทานเช่น ลวกจิ้มน้ำพริก จิ้มกับน้ำปลาหวาน สะเดาจัดเป็นพืชชนิดหนึ่งที่ให้คุณค่าทางอาหารสูงและมีสรรพคุณทางยามาก

21. สะเดามีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญเติบโต ขับไล่และกำจัดศัตรูพืชได้หลายชนิด เช่น ตั๊กแตน เพลี้ยกระโดดชนิดต่างๆ มอด แมลงวันผมไม้ หนอนกอข้าว หนอนใยผัก เป็นต้น โดยการนำสะเดาแก่ ข่า ตะไคร้หอม มาตำให้ละเอียดผสมกับน้ำแล้วหมักทิ้งไว้ 1 คืน นำน้ำหมักที่ได้มาผสมกับน้ำแล้วไปฉีดพ่นตามสวนผักผลไม้ ซึ่งน้ำหมักสะเดาที่ได้จะไม่เป็นพิษต่อร่างกาย ไม่ตกค้างตามธรรมชาติอีกด้วย หากจะให้ได้ผลดียิ่งขึ้นควรใช้เมล็ดสะเดาแทนใบสะเดาในการหมัก

22. สะเดาสามารถใช้รักษาเหาได้ โดยนำใบสะเดาแก่มาโขลกให้ละเอียดผสมน้ำเล็กน้อยแล้วชโลมศีรษะ คลุมด้วยพลาสติกหรือผ้าทิ้งไว้ จะช่วยฆ่าทั้งตัวเหาและไข่เหาได้

23. ประโยชน์ของไม้สะเดานำมาทำเป็นเชื้อเพลิงและเฟอร์นิเจอร์ได้ เนื่องจากไม้สะเดาเป็นไม้เนื้อแข็ง และมีความแข็งแรงทนทานมาก มีสีสวย เหมาะสำหรับนำมาทำเป็นเสาบ้านหรือเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ภายในบ้าน ส่วนกิ่งก้านที่เหลือสามารถนำมาเผาเป็นเชื้อเพลิงใช้สำหรับหุงต้ม

24. สะเดามีสรรพคุณช่วยรักษาโรคเรื้อนในสุนัข โดยนำใบสะเดาแก่มาโขลกให้ละเอียดแล้วนำไปชโลมที่ตัวสุนัขทิ้งไว้ แล้วล้างออก จะช่วยรักษาโรคเรื้อนได้ นอกจากโรคเรื้อนสะเดายังช่วยกำจัดเห็บ หมัดตามตัวสุนัขได้อีกด้วย

25. สะเดาสามารถนำมาสกัดเป็นสีสำหรับย้อมผ้าได้ โดยยางสะเดาจะให้สีเหลือง ส่วนเนื้อไม้จะให้สีแดง

26. น้ำมันที่สกัดได้จากเมล็ดสะเดา สามารถนำมาผลิตน้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันหล่อลื่นให้เครื่องยนต์ และเนื่องจากมีคุณสมบัติในต่อต้านเชื้อแบคทีเรียและรักษาโรคผิวหนัง จึงมีการนำมาผสมในสบู่ ยาสระผมสำหรับรักษาโรคเชื้อราบนหนังศีรษะ ยาสีฟัน ยาทารักษาโรคผิวหนังและยารักษาสิวต่างๆ เป็นต้น

27.เมล็ดและเนื้อเมล็ดสะเดามีธาตุอาหารสำหรับพืชสูงมาก จึงมีการนำมาหมักเป็นปุ๋ยซึ่งช่วยเพิ่มธาตุอาหารและปรับปรุงคุณภาพดินได้เป็นอย่างดี

สะเดาทำอะไรได้บ้าง?

1. สะเดาน้ำปลาหวาน เป็นเมนูยอดนิยมสำหรับสะเดา เลือกสะเดาอ่อนที่เป็นสะเดาชนิดมันมาล้างให้สะอาด ต้มน้ำจนเดือดแล้วใส่สะเดาลงไป ลวกโดยพลิกไปพลิกมาจนสุกไม่ต้องต้มทิ้งไว้นานๆ ตักขึ้นมาแล้วนำไปแช่ในน้ำเย็นจัด สะเดาจะสีเขียวสดน่ารับประทาน ส่วนน้ำปลาหวานนั้นวิธีทำแสนง่ายโดยการผสมน้ำตาล น้ำมะขามเปียกข้นๆ และน้ำปลาเข้าด้วยกัน ตั้งไฟแล้วเคี่ยวให้เหนียว โรยหน้าน้ำปลาหวานที่ได้ด้วยพริกแห้งทอดกรอบ หอมและกระเทียมเจียว รับประทานคู่กับสะเดาและปลาดุกย่าง อร่อยอย่าบอกใคร

สะเดาน้ำปลาหวาน

2. รับประทานเป็นเครื่องเคียงอาหารอื่นๆ โดยดอก ช่อดอก ยอดอ่อน สามารถนำมารับประทานสดหรือลวกรับประทานคู่กับลาบ แกงหน่อไม้ น้ำพริก เป็นต้น

โทษและข้อควรระวังในการรับประทานสะเดา

1. สตรีที่กำลังให้นมบุตรไม่ควรรับประทานสะเดา เพราะอาจจะทำให้ไม่มีน้ำนมได้

2. สะเดาเป็นพืชที่มีฤทธิ์เย็น คนที่มีธาตุเย็นไม่ควรรับประทานมากเพราะจะให้ท้องอืด และมีลมในกระเพาะมาก

3. สะเดาช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ผู้ที่ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ หรือผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตต่ำควรระมัดระวังในการรับประทานเพราะหากรับประทานมาก อาจจะทำให้หน้ามืดหรือเป็นลมหมดสติได้ง่าย

4. สะเดาไม่เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นโรคไต เนื่องจากสะเดามีโพแทสเซียมในปริมาณมาก

5. ผู้ที่มีภาวะผิดปกติเกี่ยวกับกรดในกระเพาะอาหารเช่น เรอเปรี้ยว กรดไหลย้อน ไม่ควรรับประทานสะเดามากเพราะสะเดาช่วยกระตุ้นให้กระเพาะอาหารหลั่งย่อยมากขึ้น อาจทำให้อาการที่เป็นอยู่แย่ลงได้

วิธีเลือกซื้อสะเดาและการเก็บรักษา

1. การเลือกสะเดามารับประทานต้องเลือกสะเดามันเท่านั้น โดยสังเกตที่ดอกสะเดาจะเป็นสีขาว หากเป็นสะเดาขมดอกจะเป็นสีแดง รสชาติไม่อร่อย เลือกยอดที่อ่อนๆ ไม่ช้ำ ไม่ดำและไม่มีจุดดำๆ

2. การเก็บรักษา หากเน้นอยากรับประทานสดให้ห่อด้วยใบตองหรือห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์แล้วแช่ตู้เย็นในช่องแช่ผัก จะสามารถเก็บไว้ได้ราวๆ 1 อาทิตย์ แต่ถ้าหากอยากเก็บไว้นานๆหลายเดือนให้ลวกให้สุกแล้วแช่น้ำเย็น รอให้แห้งสะเด็ดน้ำ เก็บใส่ถุงแล้วนำไปแช่ในช่องแช่แข็ง เมื่อต้องการรับประทานก็นำออกมาลวกอีกครั้ง รสชาติจะคงเดิมไม่เปลี่ยน

หากมองข้ามรสขมๆ ที่ไม่อร่อยนี้ไป จะเห็นได้ว่าสะเดาเป็นพืชสมุนไพรที่เต็มไปด้วยประโยชน์มากมาย ซึ่งนอกจากมีประโยชน์ต่อร่างกายแล้ว ยังมีประโยชน์ในด้านความสวยความงาม ด้านการเกษตรแถมยังนำมากำจัดสัตว์ตัวจิ๊ดที่น่ารำคาญอย่างเหา หรือเห็บ หมัดในสุนัขได้อีกด้วย ทั้งสรรพคุณและประโยชน์เต็มๆ ของสะเดามีมากขนาดนี้ ก็อย่าลืมไปซื้อหามาไว้รับประทาน หรือถ้าจะให้ดีก็ซื้อกิ่งพันธุ์มาปลูกจะสามารถเก็บรับประทานได้ยาวๆ ไปเลย