free web tracker, fire_lady ภัยร้ายจาก “ยาฆ่าแมลง” ที่คุณอาจไม่เคยรู้!! • สุขภาพดี

ภัยร้ายจาก "ยาฆ่าแมลง" ที่คุณอาจไม่เคยรู้!!

อันตราย ยาฆ่าแมลง

ในปัจจุบันการซื้อหา ‘ผัก’ และ ‘ผลไม้’ เป็นเรื่องที่ทำได้ง่าย เพียงแค่เดินเข้าไปในตลาดหรือห้างสรรพสินค้า ก็จะพบกับผักผลไม้หลากหลายชนิดหลากหลายสายพันธุ์ ที่ทั้งสดทั้งน่ารับประทานตลอดเวลาอีกด้วย อย่างไรก็ตามแม้ผักและผลไม้ทั่วไปจะสามารถซื้อได้ง่าย แต่ผักและผลไม้ที่สะอาดปราศจากสารพิษกลับหาซื้อได้ค่อนข้างยาก อาจกล่าวได้ว่าแม้ผักผลไม้ที่วางขายกันทั่วไปจะดูน่ารับประทานเพียงใด แต่ก็อาจแฝงภัยร้ายโดยที่เราไม่รู้ตัวก็เป็นได้ ซึ่งภัยร้ายที่ว่านี้ก็คือ สารตกค้างจาก "ยาฆ่าแมลง" ที่เกษตรกรใช้เพื่อให้ได้ผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพ ส่งขายได้ราคา

ยาฆ่าแมลงคืออะไร?

"ยาฆ่าแมลง" คือ สารเคมีที่ผลิตขึ้นเพื่อกำจัด ลดจำนวนหรือป้องกันการแพร่ขยายของแมลง โดย ‘ยาฆ่าแมลง’ ถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับพืชผักที่ปลูกเพื่อมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยนอกจากจะใช้ด้านเกษตรกรรมแล้ว ยาฆ่าแมลงยังนำมาใช้อย่างแพร่หลายในด้านอุตสาหกรรมและการแพทย์อีกด้วยอย่างไรก็ตาม "ยาฆ่าแมลง" ถือเป็นสารที่มีผลข้างเคียงต่อระบบนิเวศมากเช่นเดียวกัน

อาหารชนิดใดที่มักตรวจพบว่ามีสารพิษตกค้างพวกยาฆ่าแมลง?

ยาฆ่าแมลงสามารถพบในทั้งอาหารสดและอาหารแห้ง ในอาหารสดเช่น ผักและผลไม้สดที่ไม่ทนต่อโรคหรือแมลง เช่น พริก ถั่วฝักยาว แตงกวาและผักใบเขียวจำพวก คะน้า กวางตุ้งและผักกาด ซึ่งจากการสุ่มตรวจของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า ‘ถั่วฝักยาว’ เป็นผักที่พบการปนเปื้อนของยาฆ่าแมลงมากที่สุด อย่างที่เกริ่นไปในตอนต้นว่า "ยาฆ่าแมลง" ไม่ได้ปนเปื้อนกับอาหารสดเท่านั้น หากแต่อาหารแห้งจำพวก ปลาเค็ม เนื้อแดดเดียวหรือปลาหมึกตากแห้ง ต่างก็มีการใช้ยาฆ่าแมลงเพื่อป้องกันไม่ให้ แมลงวันตอมหรือมาไข่ทิ้งไว้

การใช้ยาฆ่าแมลงดูเหมือนจะถูกใช้เพื่อกำจัดศัตรูพืช ป้องกันสิ่งสกปรกในอาหารก่อนส่งถึงมือผู้บริโภค แต่หารู้ไม่ว่าการฉีดพ่นหรือใช้ยาในปริมาณมากย่อมเกิดการตกค้างของสารเคมีที่ร้ายแรงกว่าการปล่อยให้อาหารถูกแมลงกัดแทะเสียอีก

เชื่อว่าหลายคนคงทราบว่า "ยาฆ่าแมลง" เป็นสารเคมีที่ก่อให้เกิดอันตราย แต่เชื่อว่าบางคนยังไม่ทราบว่าอันตรายที่ว่ามีอะไรบ้าง วันนี้เราชาวสุขภาพดี...จะขอหยิบยกข้อมูลที่น่าสนใจจากกระทรวงสาธารณสุขมาบอกเล่า เพื่อให้ผู้อ่านตระหนักถึงพิษภัยของยาฆ่าแมลงและไม่ตกเป็นเหยื่อของผู้ประกอบการบางรายที่ฉีดพ่นยาฆ่าแมลงเพื่อให้ได้ผัก ผลไม้สดน่ารับประทาน แต่ทำร้ายสุขภาพของผู้บริโภค

อันตรายจากยาฆ่าแมลงที่หลายคนยังไม่รู้

1. อันตรายต่อระบบประสาทและสมอง โดยผู้ที่รับประทานอาหารที่ปนเปื้อนยาฆ่าแมลงมาเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดความผิดปกติกับระบบประสาทและสมอง เช่น เกิดภาวะความจำเสื่อมทั้งที่อายุยังไม่มาก นอกจากนั้นยังพบปัญหาสมาธิสั้นในวัยผู้ใหญ่อีกด้วย

2. ทำให้เป็นมะเร็งตับ เนื่องจากสารพิษต่างๆ จะถูกกำจัดบริเวณตับ แต่หากรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนสารพิษเข้าไปเป็นจำนวนมาก จะทำให้ตับทำงานหนักขึ้นและกำจัดได้ไม่หมด สารพิษที่เหลือจะยังตกค้างอยู่บริเวณตับและสะสมจนเกิดเป็นมะเร็งตับในที่สุด

3. เกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์ เนื่องจากยาฆ่าแมลงส่งผลโดยตรงกับระบบประสาทและสมอง ดังนั้นมารดาที่รับประทานอาหารที่ปนเปื้อนยาฆ่าแมลงเข้าไป สารพิษดังกล่าวถูกดัดแปลงเป็นสารกลายพันธุ์และถ่ายทอดไปยังเด็กที่อยู่ในครรภ์ ในบางรายลูกที่คลอดออกมาจะมีลักษณะศีรษะลีบแบน และมีรูปร่างพิการ

4. รบกวนระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย  ยาฆ่าแมลงส่งผลโดยตรงต่อระบบภูมิคุ้มกันและฮอร์โมน (ต่อมไร้ท่อ) ในร่างกาย ทำให้ป่วยง่าย โดยโรคที่เป็นมักเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมน เช่นต่อมไทรอยด์อักเสบ ที่อาจก่อให้เกิดภูมิแพ้ หรือโรคแอดดิสัน ที่เกิดจากต่อมหมวกไตสร้างฮอร์โมนสเตอรอยด์ได้น้อยกว่าปกติ

ป้องกันตนเองอย่างไรให้รอดพ้นจากพิษของยาฆ่าแมลง?

ในเมื่อเราไม่สามารถควบคุมปริมาณสารพิษของยาฆ่าแมลงที่อาจปนเปื้อนมากับพืชผักที่เราซื้อตามตลาดหรือห้างสรรพสินค้าได้ เราจึงมีความจำเป็นต้องป้องกันตัวเอง ด้วยการเลือกผักที่มีรอยกัดแทะของแมลง เพราหากแมลงกัดแทะผักหรือผลไม้นั้นๆได้บางส่วนแสดงว่าไม่มีการปนเปื้อนยาฆ่าแมลงหรือหากปนเปื้อนก็อยู่ในปริมาณต่ำนอกจากนั้นควรล้างผักและผลไม้ให้ถูกวิธี เช่น

1. เปิดน้ำให้ไหลผ่านผักหรือผลไม้ และต่อด้วยการแช่ด้วยด่างทับทิมเป็นเวลา 15-20 นาที

2. วิธีล้างอาจทำได้โดยใช้โซเดียมไบคาร์บอเนต (ผงฟู) โดยใช้ผงฟู 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำอุ่น 1 กะละมัง (20 ลิตร) แช่ผักนาน 15 นาที ต่อด้วยการล้างด้วยน้ำสะอาดจะช่วยลดปริมาณสารพิษในผักลงได้ 90 – 92%

3. ทำความสะอาดด้วยการใช้น้ำส้มสายชู (เลือกความเข้มข้นประมาณ 5%) 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำ 1 กะละมัง แช่นาน 30 -45 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด ปริมาณสารพิษที่ลดลงด้วยวิธีนี้คือ 60 – 84% หรืออาจล้างผักโดยให้น้ำไหลผ่าน ใช้มือช่วยคลี่ใบผัก นาน 2 นาที วิธีนี้ลดปริมาณสารพิษลงได้ 50 - 63% แต่ถ้าใช้การต้มหรือลวกผักด้วยน้ำร้อน ปริมาณสารพิษจะลดลง 48 – 50%

จากข้อมูลข้างต้นคงทำให้ทราบว่า อาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างผักและผลไม้ ก็สามารถทำลายสุขภาพได้หากมีการปนเปื้อนสารเคมีโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ยาฆ่าแมลง’ ดังนั้นหากอยากรับประทานให้ได้สุขภาพอย่างแท้จริง ก็ควรเลือกบริโภคอาหารที่ปราศจากการปนเปื้อนหรือทำความสะอาดก่อนรับประทานให้ถูกวิธี เพียงเท่านี้คุณก็จะปลอดภัยจากสารเคมีตัวร้ายอย่างเจ้า ‘ยาฆ่าแมลง’ แล้วล่ะค่ะ!

บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวกับสารปนเปื้อนในอาหาร