free web tracker, fire_lady ภัยร้ายจาก “สารฟอกขาว” ที่ยิ่งขาว ยิ่งอันตราย!! • สุขภาพดี

ภัยร้ายจาก "สารฟอกขาว" ที่ยิ่งขาว ยิ่งอันตราย!!

อันตราย สารฟอกขาว

"สารฟอกขาว" เป็นสารที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารเพื่อฟอกให้เนื้อสัตว์หรือผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรมีความขาวสะอาดน่ารับประทาน ยกตัวอย่างเช่นลูกชิ้นหมู ตีนไก่ หมูยอ รวมไปถึงถั่วงอกและกระท้อนดองที่ต้องการความสด ขาว สะอาดอยู่เสมอ อย่างไรก็ตามสารฟอกขาวถือเป็นสารที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย

ดังนั้นในฐานะผู้บริโภคเราจึงจำเป็นต้องเลือกรับประทานอาหารที่ดี มีประโยชน์ปราศจากสารปนเปื้อน วันนี้เราชาวสุขภาพดี...จึงอยากพาผู้อ่านทุกๆ ท่านไปทำความรู้จักกับ "สารฟอกขาว" ให้มากขึ้น เพื่อที่จะได้เลือกรับประทานอาหารให้ถูกสุขลักษณะและปราศจากสารพิษ

สารฟอกขาวคืออะไร?

"สารฟอกขาว" คือสารเคมีที่ใช้ฟอกอาหารเพื่อให้คงความสด ขาว สะอาดน่ารับประทาน ซึ่งสารฟอกขาวที่นิยมใช้กันแพร่หลายในประเทศไทยได้แก่ เกลืออนินทรีย์ของกรดซัลฟูรัสซึ่งแตกตัวให้ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และสารประกอบซัลไฟต์ หรือชื่อทางการคือ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ โดยผู้ประกอบการจะผสมสารฟอกขาวลงไปในอาหารหลากหลายชนิด ตั้งแต่ผ้าขี้ริ้ววัว ปลาหมึก ตีนไก่ และลูกชิ้น เพื่อกำจัดคราบสีดำด่างในอาหาร นอกจากนั้นยังพบการเจือปนของสารฟอกขาวในผลไม้ที่ปอกเปลือกเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้นอกจากสารฟอกขาวจะทำให้อาหารขาว สะอาด สดน่ารับประทานแล้ว ยังมีส่วนช่วยในการยับยั้งการเกิดสีน้ำตาลหรือสีคล้ำบนผิวอาหาร การเติมสารฟอกขาวลงไปจึงช่วยไม่ให้ผิวผลไม้ดูช้ำ หรือดำคล้ำ

อย่างไรก็ตามสารฟอกขาวมีทั้งแบบที่อนุญาตและไม่อนุญาตให้เติมลงในอาหารยกตัวอย่างเช่น สารไฮโดรซัลไฟต์ หรือที่เรียกกันติดปากว่า "ยาซัด" โดยสารชนิดนี้เป็นสารที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรมการฟอกและย้อมสีผ้า ซึ่งหากบริโภคเข้าไปมากๆ อาจถึงขั้นเสียชีวิต แต่ในปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุขก็ยังตรวจพบว่าผู้ผลิตหลายรายนำยาซัดมาใช้ในการผลิตอาหารเพื่อฟอกสีให้ดูน่ากิน

อาหารประเภทใดที่พบการปนเปื้อนสารฟอกขาว?

1. อาหารแปรรูปจำพวก หมูยอ ลูกชิ้น จะเห็นว่าอาหารประเภทนี้มักมีสีขาว ทั้งที่ทำมาจากเนื้อสัตว์ซึ่งมีสีชมพูอมแดง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการผสมแป้งที่มีสีขาว แต่อีกส่วนคือการที่ผู้ประกอบการใส่ "สารฟอกขาว" ลงไป เพื่อให้ได้สีที่ขาว สะอาด ดูน่ารับประทาน นอกจากนั้นบางยี่ห้อยังมีการลักลอบใส่ผงกรอบเพื่อเพิ่มความกรอบ เด้งอีกด้วย

2. สัตว์ปีกจำพวก เนื้อไก่ ตีนไก่ และอาหารทะเล จำพวกกุ้ง ปลาหมึก ปูทะเล อาหารเหล่านี้มักมีคราบดินโคลน หรือคราบไคลที่ค่อนข้างสกปรก โดยเฉพาะตีนไก่ หรือเนื้อไก่ ที่หากทิ้งไว้นานจะมีสีน้ำตาลปนเหลืองไม่น่ารับประทาน พ่อค้าแม่ขายก็มักจะนำมาแช่กับสารฟอกขาวเพื่อให้กลับมาขาวสะอาด ดูสดใหม่อีกครั้ง

3. ผักสด จำพวกถั่วงอก หน่อไม้ และผลไม้แปรรูป พืชผักผลไม้ดังกล่าวมักเหี่ยวเฉาง่าย หากวางทิ้งไว้จะเกิดอาการลีบแบนและเฉา จนไม่น่ารับประทาน หลายคนจึงเลือกใช้วิธีการจุ่มกับน้ำที่มีสารฟอกขาวผสมอยู่ เพื่อให้อาหารดูสดและกรอบอร่อยทั้งวัน

4. อาหารเส้นจำพวก เส้นก๋วยเตี๋ยว ขนมจีนและวุ้นเส้น อาหารจำพวกเส้นที่มีความขาวและเหนียวนุ่ม บางชนิดจะถูกนำมาผลิตกับสารฟอกขาวเพื่อให้เส้นดูขาวน่ารับประทาน โดยเฉพาะเส้นก๋วยเตี๋ยวที่ลักษณะของเส้นมักจะขาวและเหนียวเป็นพิเศษ เพราะไม่แน่ว่านอกจากผสมกับแป้งที่ให้ความขาวแล้ว ผู้ประกอบการจะแอบผสมสารฟอกขาวลงไปด้วยหรือไม่

5. น้ำตาลทราย ในกระบวนการผลิตน้ำตาลทรายพบว่ามีการใส่สารฟอกขาวมากกว่าน้ำตาลอื่นๆ ทั้งนี้เนื่องจากน้ำตาลทรายขาวจะมีราคาค่อนข้างแพง และดูน่ารับประทานมากกว่า ผู้ผลิตจึงมีการผสมสารฟอกขาวเพื่อให้ได้น้ำตาลที่มีสีขาวบริสุทธิ์และมีความละเอียดสูง

โทษของสารฟอกขาวที่คุณอาจไม่เคยรู้!!

โดยปกติหากร่างกายได้รับสารฟอกขาวชนิดไม่รุนแรงจำพวก ‘สารซัลไฟต์’ ร่างกายจะเปลี่ยนสารดังกล่าวให้กลายเป็น ‘ซัลเฟต’ และขับออกมาทางไตได้ แต่ในบางรายร่างกายกลับไม่สามารถขับสารออกมานอกร่างกายได้ตามปกติ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีโรคประจำตัว เช่นโรคหอบหืด ร่างกายของผู้ป่วยจะไวต่อสิ่งแปลกปลอมเป็นพิเศษ เมื่อได้รับสารฟอกขาวเข้าไป จะมีอาการแน่นหน้าอก หายใจลำบาก เนื่องจากหลอดลมตีบจากอาการแพ้ และหากได้รับสารฟอกขาวเข้าไปเป็นจำนวนมากอาจถึงขั้นช็อก หมดสติและเสียชีวิตได้

นอกจากนั้นในรายที่มีปัญหาเรื่องการขับถ่ายปัสสาวะ สารฟอกขาวที่ควรจะถูกขับออกจากทางร่างกาย ก็อาจจะไปตกค้างบริเวณท่อปัสสาวะ โดยจะสะสมไปเรื่อยๆ เป็นเวลานานและทำให้เกิดมะเร็งได้

อย่างไรก็ตามแม้กระทรวงสาธารณสุขจะอนุญาตให้ผู้ประกอบการใช้ "สารฟอกขาว" บางชนิดได้ แต่เราก็ต้องระมัดระวังเรื่องของสารพิษตกค้าง และให้ความสำคัญเกี่ยวกับประเภทของสารฟอกขาวที่พ่อค้าแม่ขายบางรายแอบลักลอบใส่เข้าไปในอาหารเพื่อเพิ่มความน่ารับประทานและมูลค่า

ในฐานะผู้ผลิตจึงควรมีจรรยาบรรณและซื่อสัตย์ต่อผู้บริโภค ไม่ใช้สารฟอกขาวในเกินขนาดและใส่ลงไปในอาหารบางชนิดตามที่กระทรวงสาธารณสุขอนุญาต ในส่วนผู้บริโภคก็ควรใส่ใจและให้ความสำคัญในการเลือกบริโภคอาหาร หากสงสัยว่าอาหารมีการปนเปื้อนสารฟกขาวก็สามารถทำการทดลองเพื่อพิสูจน์โดยใช้ชุดอุปกรณ์ที่สามารถสั่งซื้อได้ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หรือใช้วิธีป้องกันเบื้องต้นด้วยการล้างทำความสะอาดอาหารทุกครั้งก่อนรับประทาน ที่สำคัญควรใช้ความร้อนให้เพียงพอที่จะสามารถฆ่าเชื้อโรคหรือชะล้างสารพิษได้

บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวกับสารปนเปื้อนในอาหาร