อายุรวัฒน์เวชศาสตร์ โรคภัยใกล้ตัว August 28, 2015 Share 0 Tweet Pin 0 "อาหารต้านมะเร็ง" ช่วยห่างไกลโรคมะเร็ง ไม่น่าเชื่อว่าการรับประทานอาหารของเราทุกวันนี้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีการศึกษาเกี่ยวกับผลของการรับประทานอาหารต่อโรคมะเร็งอยู่พอสมควร ซึ่งบ่งชี้ชัดเจนว่า “อาหารบางชนิดมีผลต่อการเกิดหรือป้องกันการเกิดโรคมะเร็งได้” เช่น อาหารที่มีสารไฮโดรคาร์บอนที่เกิดจากการเผาไหม้ ปิ้ง และย่างจนเกรียม อาหารก่อมะเร็ง ได้หรือไม่? อย่างไร? อาหารที่มีส่วนผสมของไนเตรตจากสารรักษาสภาพอาหารที่ไม่ถูกต้อง อาหารหมักดอง อาหารแห้ง อาหารที่มีความชื้นและมีเชื้อราปนเปื้อน ทำให้มีโอกาสเกิดมะเร็งมากกว่าอาหารชนิดอื่น ส่วนอาหารประเภทเนื้อสัตว์ที่ปรุงโดยการทอดหรือผัด ที่มีไขมันสูงจนทำให้เกิดโรคอ้วนก็มีแนวโน้มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งสูงขึ้นเช่นกัน นอกจากนั้นยังมีทฤษฎีที่ว่าโรคมะเร็งอาจเกิดจาก “ผลของสารอนุมูลอิสระ” (Oxygen Free Radical) ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาของการเผาผลาญอาหาร นั่นคือ ถ้ามีอนุมูลอิสระมากเกินไป เซลล์ปกติอาจกลายพันธุ์เป็นเซลล์มะเร็งได้ การรับประทานอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระที่เรียกว่า “แอนติออกซิแดนต์” (Antioxidant) พบมากในผักและผลไม้บางชนิด เช่น ชาเขียว ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว ฯลฯ มีส่วนช่วยต้านสารอนุมูลอิสระ ซึ่งจะช่วยลดโอกาสการเกิดมะเร็งได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดี การเกิดโรคมะเร็งไม่ได้เกิดขึ้นจากผลของอาหารเพียงอย่างเดียว เพราะไม่เช่นนั้นแล้วครอบครัวเดียวกันที่มีใครคนใดคนหนึ่งเป็นมะเร็ง สมาชิกคนอื่นในครอบครัวที่รับประทานอาหารคล้ายกันก็น่าจะเป็นมะเร็งเช่นเดียวกัน อาหารชนิดใดชนิดหนึ่งไม่มีอิทธิพลมากพอที่จะทำให้ผู้รับประทานเกิดมะเร็งโดยตรง แต่น่าจะเป็นปัจจัยเสี่ยงหากรับประทานต่อเนื่องเป็นประจำ เราจึงควรเลือกอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน หลากหลาย ไม่ควรบริโภคอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งเพียงอย่างเดียว เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน ผู้ป่วยโรคมะเร็งก็ต้องการสารอาหารที่มีประโยชน์เช่นกัน สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งจะมีความต้องการสารอาหารแตกต่างจากคนปกติ เพราะผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การฉายรังสี การรับยาเคมีบำบัด การผ่าตัด ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่ต้องการสารอาหารที่เพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ เพื่อใช้ในการซ่อมแซมเซลล์ปกติ และช่วยให้ร่างกายสามารถรับการรักษาได้ครบถ้วนตามแนวทางของแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่การรักษาอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย เบื่ออาหาร แผลอักเสบเยื่อบุช่องปากหรือหลอดอาหาร ฯลฯ ทำให้ผู้ป่วยมีแนวโน้มที่จะขาดสารอาหาร หรือมีน้ำหนักตัวลดลง ผู้ป่วยจึงควรพยายามรักษาน้ำหนักตัวให้คงที่ในระหว่างการรักษาด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีสารอาหารครบถ้วนตามความต้องการของร่างกาย อาหารต้องสุกและสะอาด หลีกเลี่ยงอาหารไม่สุกต่าง ๆ เช่น หอยนางรม กุ้งเต้น ปลาดิบ เป็นต้น ที่ผ่านมาผู้ป่วยโรคมะเร็งมักได้รับการบอกเล่าว่าให้รับประทานแต่อาหารประเภทผักและเนื้อปลา เพราะมะเร็งชอบอาหารโปรตีนจากเนื้อสัตว์อื่นที่ไม่ใช่ปลา ทำให้ผู้ป่วยหลายรายประสบกับภาวะขาดสารอาหารจากการปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัดตามความเชื่อดังกล่าว นอกจากนี้ยังเกิดความวิตกกังวลมากจนเกินพอดีกับการที่จะรับประทานอาหารนอกกฎที่ตั้งไว้ ผลคือผู้ป่วยน้ำหนักตัวลดลง ทนต่อการรักษาได้น้อยลง การรักษาจึงไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ทำให้การรักษาไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร ทั้งนี้ เซลล์มะเร็งเป็นเซลล์ในร่างกายของผู้ป่วย แต่มีความสามารถบางอย่างสูงกว่าเซลล์ปกติ แม้ว่าผู้ป่วยจะอดอาหารโดยไม่รับประทานอะไรเลย เซลล์มะเร็งก็ยังมีความสามารถเจริญเติบโตได้ เนื้อสัตว์หนึ่งคำที่รับประทานเข้าไปย่อมกระจายไปสู่เซลล์ต่างๆ ทั่วร่างกาย ไม่ได้เลือกที่จะวิ่งไปสู่ก้อนมะเร็งเพียงที่เดียว ดังนั้น ถ้าร่างกายผู้ป่วยไม่แข็งแรงอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นของโรคมะเร็งตามมาได้ เลือกทาน "อาหารต้านมะเร็ง" มากคุณค่าต่อกรกับโรคมะเร็ง การเลือกรับประทานอาหารเพื่อรับมือและต้านโรคมะเร็ง จึงควรรับประทานอาหารที่มีคุณค่าครบถ้วนและสมดุล สุกสะอาด ไม่เลือกรับประทานอาหารเพียงชนิดใดชนิดหนึ่ง คนที่ยังไม่เป็นโรคควรรับประทานอาหารที่ช่วยลดความเสี่ยง โดยรับประทานอาหารให้ครบห้าหมู่ เน้นรับประทานโปรตีนจากถั่ว ไข่ เนื้อสีขาว เช่น เนื้อไก่ไม่ติดหนัง เนื้อปลา ฯลฯ ลดอาหารประเภทเนื้อสีแดง เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว ฯลฯ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง รับประทานผักและผลไม้ให้มาก ผักผลไม้ที่มีส่วนช่วยต้านโรคมะเร็ง อาทิ พืชผักจำพวกหัวกะหล่ำ ได้แก่ บร็อคโคลี กะหล่ำปลี ดอกกะหล่ำ ซึ่งพืชเหล่านี้จะมีสารอินโดลที่มีฤทธิ์ต้านมะเร็ง พืชตระกูลเห็ด เช่น เห็ดชิตาเกะ เห็ดไรชิ เห็ดไมตาเกะ มีสารต้านมะเร็งสูงมาก ถั่วและเมล็ดพืชที่มีเปลือกมีสารไอโซฟลาโวนและสารไฟโตเอสโตรเจนที่มีฤทธิ์ต้านมะเร็งได้ ส่วนอาหารประเภทแป้งควรเลือกข้าวไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ถั่วทั้งเมล็ด ขนมปังโฮลวีต ฯลฯ รับประทานน้ำตาลแต่น้อยหรือไม่รับประทานเลยยิ่งดี อาหารก่อมะเร็งที่ควรหลีกเลี่ยง อาหารประเภทเนื้อสัตว์ปิ้ง-ย่างจนเกรียมอาหารประเภทเนื้อสัตว์ที่ถนอมด้วยการใส่ดินประสิวหรือรมควันอาหารที่มีไขมันสูง เช่น ของทอดด้วยน้ำมันชนิดต่าง ๆ โดยเฉพาะน้ำมันที่ใช้ซ้ำจนมีสีดำ อาหารที่มีเชื้อราปนเปื้อน เช่น ถั่วลิสง พริกป่นหรือข้าวโพดที่ขึ้นรา เชื้อราอาจสร้างสารอัลฟาท็อกซินเจือปนในอาหาร อาหารที่มีสีฉูดฉาดอาจผสมด้วยสีย้อมผ้า ลูกชิ้นเด้ง ถั่วงอกฟอกขาว ฯลฯ อาหารที่ทำจากเนื้อปลาน้ำจืดดิบ เช่น ปลาร้า ส้มฟัก ฯลฯ เพราะอาจมีตัวอ่อนของพยาธิใบไม้ตับอาศัยอยู่ ถ้าจะรับประทานควรปรุงให้สุกด้วยความร้อนสูง ใส่ใจอาหารสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง รับประทานอาหารให้ครบห้าหมู่ สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งและกำลังรักษาด้วยแผนปัจจุบัน ควรเลือกรับประทานอาหารให้ครบห้าหมู่ ปรุงสุก สะอาด ไม่ควรงดโปรตีนจากเนื้อสัตว์อย่างที่ส่วนใหญ่เข้าใจผิดกัน เพราะจะทำให้ผู้ป่วยมีภาวะขาดสารอาหาร ทำให้ทนต่อการรักษาได้ไม่ดี หลีกเลี่ยงการรับประทานผักสดหรือผลไม้ที่ต้องกัดรับประทานทั้งเปลือก เพราะอาจมีการใช้ปุ๋ยคอกรดทำให้มีเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อนได้ ถ้าต้องการรับประทานจริง ๆ ต้องล้างอีกรอบด้วยน้ำยาล้างผัก/ผลไม้ เพิ่มอาหารว่างในระหว่างมื้อ หากผู้ป่วยมีอาการเบื่ออาหาร รับประทานได้น้อย ควรเพิ่มอาหารว่างในระหว่างมื้อ เช้า บ่าย และก่อนนอนด้วย เช่น ผลไม้ คุกกี้ น้ำเต้าหู้ ไอศกรีม โยเกิร์ต ฯลฯ จะช่วยให้ผู้ป่วยได้พลังงานมากขึ้น และควรมีอาหารเบาๆ ติดไว้ข้างเตียงเสมอ เมื่อผู้ป่วยรู้สึกอยากอาหารจะได้หยิบมารับประทานได้ทันที ข้อแนะนำเหล่านี้คงช่วยให้ผู้อ่านเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสม สามารถรับมือ ดูแลตนเองและคนรอบข้างได้ไม่มากก็น้อย แหล่งข้อมูลอ้างอิง :มะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวกับโรคมะเร็ง รู้ตัว!! ก่อนสายเกินแก้ “อาการมะเร็งปากมดลูกระยะสุดท้าย” เรื่องน่ารู้…"สมุนไพรรักษามะเร็งรังไข่" 4 พืชผักผลไม้ต้านมะเร็ง สุดอัศจรรย์!! 5 ผักหลากสี…ต้านโรคร้าย รักษามะเร็ง