free web tracker, fire_lady ฮอร์โมนทดแทนวัยทอง ในอาหารธรรมชาติ • สุขภาพดี

ฮอร์โมนทดแทน วัยทอง ในอาหารธรรมชาติ

การลดลงของฮอร์โมนสำหรับผู้หญิงและผู้ชายมีความแตกต่างกัน โดยสังเกตว่าผู้หญิงจะดูแก่กว่าผู้ชายในช่วงอายุเท่ากัน นั่นเป็นเพราะผู้หญิงมีการลดลงของฮอร์โมนมากกว่าผู้ชาย จึงแสดงผลความเปลี่ยนแปลงชัดเจนกว่า

รู้จักกับฮอร์โมนเอสโตรเจน

เอสโตรเจน (estrogen) เป็นฮอร์โมนที่พบได้ทั้งในเพศหญิงและเพศชาย แต่จะมีปริมาณมากในเพศหญิง เอสโตรเจนมีหน้าที่ทำให้ร่างกายเจริญเติบโตพร้อมแสดงลักษณะเด่นของเพศหญิง สำหรับผู้หญิงร่างกายผลิตเอสโตรเจนในช่วงวัยเจริญพันธ์ โดยไข่ (ในรังไข่) เป็นตัวกระตุ้นให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนออกมา ซึ่งหากร่างกายมีฮอร์โมนนี้ในระดับที่เหมาะสมจะส่งผลให้ลักษณะความเป็นผู้หญิงเด่นชัด ได้แก่ ผิวพรรณเรียบเนียน เปล่งปลั่ง รูปร่างมีส่วนโค้งส่วนเว้า อีกทั้งเป็นตัวประสานให้วิตามินดีรวมเข้ากับแคลเซียมเพื่อสร้างกระดูก สรุปได้ว่าเป็นฮอร์โมนที่ทำให้ระบบต่างๆในร่างกายทำงานได้เป็นปกติ

ผู้หญิงแต่ละคนมีฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ไม่เท่ากัน หากใครมีมากเกินไป จะส่งผลให้มีรูปร่างไม่สมส่วน อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย และมีความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งหลายๆ ชนิด ในทางตรงกันข้ามหากมีฮอร์โมนเอสโตรเจนน้อยเกินไป จะทำให้ร่างกายผอมแห้ง ไม่มีทรวดทรง รอบเดือนไม่ปกติ ผิวพรรณเหี่ยวย่น และเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจ

สาเหตุและอาการขาดเอสโตรเจน

สำหรับผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือน “วัยทอง” โดยเฉลี่ยอายุประมาณ 40 ปลายๆ จะเป็นช่วงที่ฮอร์โมนในร่างกายขาดความสมดุล การสร้างเอสโตรเจน (estrogen) ลดลง เพราะรังไข่หยุดผลิตไข่ในแต่ละเดือนที่ทำหน้าที่กระตุ้นการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจน ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในแต่ละคนอาจแตกต่างกัน

สำหรับอาการที่พบบ่อย คือ อาการร้อนวูบวาบตามร่างกาย เหงื่อออกในตอนกลางคืน ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ มีอารมณ์แปรปรวน ซึมเศร้า หงุดหงิด กังวลใจ โดยไม่รู้สาเหตุ ระบบการฟังและความจำเริ่มเสื่อมลง สมาธิสั้น อ่อนเพลียง่าย ผิวหนังแห้งเหี่ยวย่น บางรายอาจมีอาการผมแห้ง ผมร่วง ตาแห้ง ที่สำคัญควรระวังการปวดตามกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ปวดตามข้อ เนื่องจากการขาดแคลเซียม ดังนั้นการดื่มนมที่มีแคลเซียมสามารถช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุนได้อีกทาง การลดลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนนี้ยังมีผลกระทบต่อกระดูก หัวใจ และสมอง

เสริมเอสโตรเจนโดยอาหารธรรมชาติ

ดังนั้นผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือนที่มีอาการมักจะได้รับการรักษาโดยให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนทดแทนเพื่อลดอาการร้อนวูบวาบ และควบคุมการสูญเสียมวลกระดูก โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีหลังหมดประจำเดือน แต่การใช้ฮอร์โมนทดแทนนี้อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมและมะเร็งเยื่อบุมดลูก การศึกษาทางระบาดวิทยาพบว่าคนในแถบเอเชียจะมีภาวะโรคกระดูกพรุน มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ มะเร็งต่อมลูกหมาก และโรคหัวใจน้อยกว่าคนในแถบตะวันตก เนื่องจากคนเอเชียรับประทานถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองมากกว่าชาวตะวันตก ในถั่วเหลืองมีสารอโซฟลาโวน (isoflavones) ซึ่งเป็นเอสโตรเจนที่มาจากพืช (phytoestrogen) มีคุณสมบัติคล้ายฮอร์โมนเพศเอสโตรเจน

จากการทดลองพบว่าการรับประทานอาหารจากถั่วเหลืองเพียงสัปดาห์ละครั้งในช่วงวัยรุ่น จะลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมได้ การรับประทานโปรตีนจากถั่วเหลืองจะช่วยลดการขับแคลเซียมออกมาในปัสสาวะ และเอสโตรเจนจากถั่วเหลืองยังช่วยชะลอการสูญเสียมวลกระดูก

นอกจากถั่วเหลืองแล้วในน้ำมะพร้าวก็มีเอสโตรเจนเช่นกัน มีส่วนสำคัญต่อการสร้างคอลลาเจนและอีลาสติน ทำให้ผิวกระชับยืดหยุ่น และชะลอการเกิดริ้วรอยก่อนวัย ทราบอย่างนี้แล้ว หนุ่มสาววัยทองอย่าลืมหาผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง เช่น เต้าหู้สด เต้าหู้ก้อน น้ำเต้าหู้ นมถั่วเหลือง และน้ำมะพร้าวมาติดไว้ที่บ้าน ทานเป็นประจำนะคะ

บทความอื่นๆ ที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจน

Click here to add a comment

Leave a comment: